โลกทางเพศของเลโก้จึงทำให้เราเห็นโลกทางเพศของของเล่น ที่เป็นสนามประลองกำลังของคนที่เชื่อว่าเรื่องเพศเป็นเรื่อง ‘ประกอบสร้าง’ กับเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ ที่เกิดติดตัวเรามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก
1
ผมเล่นเลโก้มาตั้งแต่เด็กๆ โดยไม่เคยสำเหนียกเลยว่า วิธีเล่นเลโก้ของตัวเองเป็นแบบไหน
เป็นชาย – หรือเป็นหญิง!
2
เลโก้ (Lego) เป็น ‘ของเล่น’ ที่ทำจากพลาสติก ผลิตขึ้นโดยบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในเมืองบิลลุนด์ (Billund) ทางตอนเหนือของเดนมาร์ก ผมเคยไปที่นั่นครั้งหนึ่ง มันเป็น Lego Land ที่อลังการงานสร้างอย่างยิ่ง เต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือน ระบบชลประทาน การคมนาคม ที่ทั้งหมดทำจากตัวต่อเลโก้ทั้งหมด
ในความคิดและการรับรู้ของผม เลโก้คือของเล่นที่เต็มไปด้วยตรรกะและจินตนาการ แต่ผมไม่เคยคิดเลยว่า เลโก้ถูกมองว่าเป็นของเล่นที่ ‘มีเพศ’ ด้วย
หลายปีก่อน เคยมีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งเขียนจดหมายไปถึงบริษัทเลโก้ เธอบอกว่าตัวเธอชอบการเล่นเลโก้มาก แต่พบว่าเลโก้ไม่ค่อยมี ‘ที่ทาง’ ให้กับเด็กผู้หญิงเท่าไหร่ ดูจากตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ ว่าตัวละครเลโก้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักดับเพลิง ตำรวจ คนขับรถไฟ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายทั้งนั้น ไม่เห็นมีผู้หญิงอยู่ใน ‘จักรวาลเลโก้’ สักเท่าไหร่เลย หรือถ้าจะมี ตัวละครเลโก้ผู้หญิงเหล่านั้นก็มักจะกำลังเดินช็อปปิ้งอยู่ในเมืองเลโก้ นอนอาบแดด หรือทำกับข้าวอยู่บ้าน ในขณะที่พวกผู้ชายมีงานทำ แถมยังเป็นงานประเภทที่ออกไปช่วยชีวิตคนอื่นหรือไปผจญภัยด้วย
นั่นเป็นหนึ่งในจดหมายที่ทำให้เลโก้ตัดสินใจทำวิจัยเกี่ยวกับ ‘ไลน์เด็กผู้หญิง’ ของตัวเอง เพื่อจะผลิตเลโก้สำหรับเด็กหญิงออกมาบ้าง
ที่จริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเลโก้ เพราะตลอดมา เลโก้ถูกมองว่าเป็นของเล่นสำหรับตลาดเด็กผู้ชาย มีการสำรวจพบว่า ในสหรัฐอเมริกา ตลาดเลโก้ราว 90% มีลูกค้าเป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งในแง่หนึ่ง ผู้บริโภคอาจรู้สึกว่าเลโก้เอียงข้างทางเพศหรือแม้กระทั่งมีอคติทางเพศหรือเปล่า แต่ถ้ามองในแง่ของผู้ผลิตและผู้ขาย เลโก้กลับรู้สึกอีกแบบหนึ่ง นั่นคือรู้สึกว่ายังมี ‘ตลาด’ ของเด็กผู้หญิงอยู่อีกที่เลโก้เข้าไม่ถึง
ด้วยเหตุนี้ เลโก้เลยทำสำรวจขนานใหญ่ ใช้เวลาหลายปี เพื่อดูว่าเด็กชายกับเด็กหญิงเล่นเลโก้ต่างกันอย่างไร
ผลที่ได้ออกมาก็คือ เลโก้พบว่าเด็กสองเพศเล่นไม่เหมือนกันนะครับ แม้ว่าจะให้เล่นก้อนเลโก้แบบเดียวกัน คือไม่ได้มีเซ็ตติ้งที่เป็นฉากอะไร เป็นแค่ก้อนสีเขียวเหลืองแดง แต่เด็กชายกับเด็กหญิงก็ ‘ปฏิบัติ’ ต่อก้อนเลโก้พวกนั้นไม่เหมือนกัน
แล้วไม่ได้ไม่เหมือนกันตอนอายุสักเจ็ดขวบเท่านั้นนะครับ แม้แต่ตอนที่ยังเด็กมากๆ (คือสามขวบ) เด็กชายกับเด็กหญิงก็เล่นเลโก้ต่างกันแล้ว!
นี่แปลว่าความต่างทางเพศเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ กระนั้นหรือ?
ก่อนตอบคำถามนี้ ไปดูกันว่าเด็กชายกับเด็กหญิงเล่นเลโก้ต่างกันยังไงก่อนดีกว่าครับ
วิธีทดลองก็คือ เขาให้กลุ่มเด็กชายกับกลุ่มเด็กหญิงมาเล่นเลโก้ โดยบอกให้เด็กๆ ต่อเป็นปราสาททั้งคู่ เขาพบว่า ในกลุ่มเด็กผู้ชาย เมื่อได้เลโก้ปุ๊บ ก็จะเอามาต่อเป็นปราสาท มีม้ามีปืนใหญ่ เสร็จแล้วก็เล่นต่อสู้กัน คือใช้ปราสาทเป็น ‘ฉากหลัง’ ของ ‘สนามรบ’
ส่วนเด็กผู้หญิงนั้น แม้จะต่อออกมาเป็นปราสาทเหมือนกัน แต่เด็กผู้หญิงจะสนใจ ‘ตัวปราสาท’ ในฐานะที่มันเป็นปราสาท คือจะดูว่า เอ๊ะ! ข้างในปราสาททำไมว่างเปล่าแบบนี้ แล้วด้านนอกล่ะ จะมีต้นไม้ มีของประดับตกแต่งอะไรไหม แล้วก็พยายามสร้างของตกแต่งต่างๆ ขึ้นมา
ทั้งกลุ่มเด็กชายและเด็กหญิงต่างบอกว่าชอบเล่นสร้างปราสาทด้วยเลโก้ทั้งคู่ แต่รายละเอียดในการสร้าง เป้าหมายในการสร้าง และสิ่งที่เด็กสองกลุ่มนี้มองหานั้นแตกต่างกัน
คำถามก็คือ – ความแตกต่างนี้มาจากไหน?
มันเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติติดตัว (Innate) มาตั้งแต่เกิดเลยหรือเปล่า
ในปี 2003 เคยมีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Educational Psychology เป็นงานของ Isabelle D. Cherney กับคณะจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเนแบรสกา สำรวจในเด็กวัย 18-47 เดือน (ก็คือขวบครึ่งจนถึงเกือบๆ จะสี่ขวบ) ว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมการเล่นของเล่นของเด็กตั้งแต่ยังเล็กมากๆ
ข้อสรุปของงานวิจัยนี้ก็คือ ต่อให้เป็นเด็กทารกวัยแค่ 18 เดือน ก็เริ่มแสดงพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับเพศ (gender-related behaviors) ออกมาแล้ว เวลาที่เล่นกับของเล่นบางอย่าง แล้วการ identify ของเล่นเข้ากับ ‘เพศ’ ของตัวเองนั้น ก็จะมีผลอย่างใหญ่หลวงต่อไปในอนาคตของเด็กด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกชอบของเล่นหรือการสำรวจของเล่นต่างๆ
เขาบอกว่า ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง มักจะอยากได้ของเล่นที่มีลักษณะดึงดูด สร้างสรรค์ ต้องฟูมฟักทะนุถนอม และมีลักษณะสำคัญคือ Manipulable คือควบคุมมันได้ และมีความซับซ้อนมากกว่า ในขณะที่ของเล่นที่เด็กผู้ชายชอบ จะมีลักษณะแข่งขัน ก้าวร้าว หรือต้องประกอบสร้างขึ้นมามากกว่า คือเป็นการออกแบบเพื่อให้เกิดทักษะในการเข้าสังคมและสะท้อนความเป็นจริงมากกว่าของเล่นของเด็กผู้หญิง
งานวิจัยนี้ไม่ได้ให้ข้อสรุปที่แน่นอนชัดเจนต่อ ‘แพทเทิร์น’ ที่พบ (แม้ว่าจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างก็ตาม) แต่ก็มีคนเสนอว่า เป็นไปได้ไหมที่งานวิจัยนี้จะแสดงให้เราเห็นว่า การ ‘ประกอบสร้างทางเพศ’ (Sexual Construction) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กยังเล็กมากๆ (เช่นก่อน 18 เดือน) คือการ ‘ประทับตรา’ อัตลักษณ์ทางเพศลงไปในตัวเด็กนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กยังแทบไม่รู้เรื่องอะไร แล้วเลยติดตรึงอยู่กับตัวเองมาตั้งแต่บัดนั้น ส่งผลต่อการ ‘เลือกของเล่น’ ในเวลาถัดมา
ทั้งกลุ่มเด็กชายและเด็กหญิงต่างบอกว่าชอบเล่นสร้างปราสาทด้วยเลโก้ทั้งคู่ แต่รายละเอียดในการสร้าง เป้าหมายในการสร้าง และสิ่งที่เด็กสองกลุ่มนี้มองหานั้นแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจทั้งหลายแหล่ เลโก้ก็ได้ประมวลออกมาจนกระทั่งกลายเป็นของเล่นในซีรีส์ใหม่ที่มีลักษณะ ‘เฉพาะเพศ’ มากขึ้น ได้แก่ซีรีส์ Lego Friends กับ Lego Elves ซึ่งแม้ชื่อจะไม่ได้บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นของเล่นสำหรับเด็กหญิง แต่รูปลักษณ์ สีสัน และการออกแบบนั้น ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการ ‘เลือกเพศ’
ที่สำคัญก็คือ ยอดขายของเลโก้พุ่งทะยานขึ้นมาอีกครั้งหลังวางตลาดเลโก้เหล่านี้ ซึ่งก็คือความสำเร็จในการ ‘เจาะตลาด’ ลูกค้าที่เป็นเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เลโก้ไม่เคยทำได้มาก่อน
ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย อย่างหนึ่งที่พูดกันมากก็คือ การที่เลโก้ใส่ ‘เพศ’ ลงไปในของเล่นที่ไม่เคยมีเพศมาก่อน คือการตอกย้ำสิ่งที่เรียกว่า gender stereotypes ลงไปในตัวเด็ก โดยบางคนบอกว่า เลโก้แต่ก่อนเก่าไม่เคยมีเพศ มันเป็นแค่ก้อนสีๆ ที่เอามาต่อกันตามจินตนาการ แต่การที่เลโก้เริ่มเจาะตลาดไปที่เด็กผู้หญิงจะไปสร้างมายาคติทางเพศให้เกิดขึ้น ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้อง ‘มีเพศ’ ก็ได้ คนแต่ละเพศสามารถเล่นได้โดยไม่ต้องนำกรอบเรื่องเพศเข้ามาจำกัด
แต่ในเวลาเดียวกันก็เกิดเสียงวิพากษ์ในด้านกลับด้วย เช่นว่า ก็แล้วถ้าเด็กผู้หญิงชอบเลโก้แบบนี้ มันจะเป็นอะไรไปเล่า เราเป็นใครถึงจะมีสิทธิไปบอกว่าความชอบนี้มีอาการ Sexist อยู่ในตัว รวมไปถึงเสียงวิพากษ์ที่ว่า ทีก่อนหน้านี้เลโก้มี ‘ความเป็นชาย’ แทรกอยู่ในทุกอณู (แต่ไม่เคยบอกว่าเป็นชาย) กลับไม่เห็นมีใครว่าอะไร พอเลโก้ออกโปรดักต์ที่เป็นหญิงมาเท่านั้น กลับเดือดเนื้อร้อนใจกันเป็นการใหญ่
‘โมเมนตัม’ ของการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ตีกลับไปกลับมาอยู่พักใหญ่ ว่าเลโก้ควรจะเป็นของเล่นที่ ‘เป็นกลางทางเพศ’ หรือเปล่า โดยปล่อยให้เกิดวิธีเล่นที่เป็นธรรมชาติในหมู่เด็กขึ้นมาเอง ไม่ต้องไปตีกรอบทางเพศเอาไว้ตั้งแต่แรก แต่ไม่ว่าจะเถียงกันให้ตายอย่างไร ที่สุดก็อยู่ที่ ‘ยอดขาย’ นั่นแหละครับ เพราะเลโก้ในฐานะผู้ผลิตสินค้าอย่างหนึ่ง ก็ย่อมอยากขายสินค้าของตัวเอง ถ้ามันขายได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปเลิกผลิต
อย่างไรก็ตาม ก็มีการสำรวจเพิ่มเติมหลังจากนี้ เพื่อดูว่าการที่ตลาดเด็กผู้หญิงโตขึ้นนั้น แปลว่าเด็กผู้หญิงเลือกของเล่นที่ ‘เข้ากับเพศ’ ของตัวเองใช่ไหม คำตอบก็คือใช่ แต่ไม่ได้ ‘มาก’ เท่ากับเด็กผู้ชาย
มีการสำรวจพบว่า เด็กผู้หญิงถึงราวครึ่งหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าจะต้องเลือกของเล่นที่ ‘ถูกเซ็ต’ (Predominantly Set) มาให้เป็นของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิง แต่กลับเลือกของเล่นที่มีความเป็นกลางทางเพศมากกว่า ในขณะที่เป็นเด็กผู้ชายต่างหากที่มักเลือกของเล่นที่ถูกวางเป้ามาเพื่อขายเด็กชาย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับของเล่นที่ระบุว่าของเล่นประเภทที่ดูเป็นผู้ยิ้งผู้หญิง เช่น เครื่องครัวหรือบ้านตุ๊กตา เป็นของเล่นที่มีรูปแบบการเล่นที่สลับซับซ้อนที่สุดด้วย
3
โลกทางเพศของเลโก้จึงทำให้เราเห็นโลกทางเพศของของเล่น ที่เป็นสนามประลองกำลังของคนที่เชื่อว่าเรื่องเพศเป็นเรื่อง ‘ประกอบสร้าง’ กับเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ ที่เกิดติดตัวเรามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก และแม้กระทั่งในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีคำตอบที่เป็นที่ยอมรับกันว่าต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
เมื่ออ่านเรื่องราวเหล่านี้ ผมจึงเพิ่งค้นพบว่า ตอนเด็กๆ ผมชอบเล่นเลโก้ด้วยวิธีแบบเด็กผู้หญิง นั่นคือค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ คิด และค่อยๆ ใส่รายละเอียดต่างๆ ลงไป ผมไม่ชอบเลยหากเพื่อนผู้ชายจะต่อเลโก้เป็นจรวดแล้วยิงลงมาที่บ้านที่ผมสร้างเพื่อคุกคามทำลาย ในขณะที่เพื่อนๆ ที่เป็นเด็กผู้ชายด้วยกันจะชอบเล่นแบบนี้มาก
ผมไม่รู้หรอกว่า วิธีคิดเกี่ยวกับการเล่นมันมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เมื่อไหร่
รู้แต่ว่า – ความคิดเรื่องเพศที่ซับซ้อนและก่อปัญหานานาให้มนุษย์นั้น ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เรายังเป็นเด็กมากๆ โน่นแล้ว,
ในของเล่น…
ภาพประกอบโดย คุณเค
Tags: Toy, Lego, Gender, BoyandGirl