การเสียชีวิตของนักปฏิวัติคนสำคัญแห่งยุคสมัยและน่าจะเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ตัวจริงเสียงจริงแห่งยุคอย่าง ฟิเดล คาสโตร ไม่ได้ทำให้ฉันอยากเขียนถึงการปฏิวัติหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ทว่าการตายของเขาทำให้เราได้นึกถึงความหมายและความสำคัญของ ‘เครา’
ฟิเดล คาสโตร พูดในหนังสือ My Life: A Spoken Autobiography ว่า
“เรื่องราวเกี่ยวกับเคราของพวกเรา ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย ชีวิตเกือบทั้งหมดของพวกเราเป็นนักรบกองโจรสู้อยู่ในป่า ไม่มีทั้งมีดโกน ไม่มีทั้งใบมีดโกน มันเลยต้องปล่อยหนวดปล่อยเครายาวไปแบบนั้นและมันกลายเป็นยี่ห้อของเราไปเลย เครายังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น ถ้าหากจะมีพวกสายลับมาแทรกซึมอยู่กับเรา ไอ้สปายพวกนั้นมันต้องเตรียมตัวนานเลยนะกว่าเครามันยาวจนเหมือนเรา – เคราเลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของนักรบกองโจร และแม้เราจะได้รับชัยชนะในเวลาต่อมา เราก็จะเก็บเครานี้ไว้เป็นสัญลักษณ์เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ในป่าของเรา
“ยิ่งไปกว่านั้น การไม่โกนหนวด มันช่วยคุณประหยัดตั้งหลายอย่าง ประหยัดเวลาวันละ 15 นาที เท่ากับคุณจะได้เวลาเพิ่มขึ้นปีละ 5,500 นาที เอาเวลานี้ไปเล่นกีฬา ไปอ่านหนังสือจะมีประโยชน์กว่าไหม? ยังไม่นับว่าได้ประหยัดน้ำ ประหยัดสบู่ ประหยัดมีดโกน
“ข้อเสียของมันมีอย่างเดียวคือ เวลาเคราเริ่มหงอกนี่ มันจะทำให้เราดูแก่มากๆ”
โอ้…เคราคือสัญลักษณ์ของนักปฏิวัติและนักรบกองโจร
เราคงขมวดคิ้วอีกที เพราะสำหรับคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี อาจนึกถึงเคราในฐานะที่เป็นความ ‘คูล’ ของฮิปสเตอร์ ที่ตอนนี้เขาบอกว่ามันไม่คูลแล้วกัน ไอ้คนฮิปๆ ทั้งหลายไปโกนเคราด่วนๆ
พวกนักวิทยาศาสตร์ก็พยายามอธิบายว่าทำไมฮิปสเตอร์ต้องมีเครา บางคนก็บอกว่าผู้ชายก็เหมือนลิงตัวผู้นั่นแหละ ต้องเลี้ยงขนที่คางเยอะๆ หนาๆ มันเรียกตัวเมียได้ดีนักแล บ้างว่าภายใต้ใบหน้าที่โกนขนออกอย่างเกลี้ยงเกลา จิตวิญญาณของลูกผู้ชายมันก็คล้ายเคราที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหนังที่รอวันระเบิดออกมารุงรังเต็มคางอยู่เสมอ – เพราะมันคือสัญลักษณ์ของผู้ชาย!
เอ๊ะ – แต่ทำไมนักการเมืองกระแสหลัก ส่วนใหญ่ไม่มีใครไว้เคราเลยนะ?
หนวด เคราของผู้ชาย หรืออาจเรียกรวมๆ ว่าขนบนใบหน้านั้น มีความหมาย และประวัติศาสตร์ของมันซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ
ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ หนวดและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครา ไม่ได้เป็นเพียง ‘ขน’ แต่ทำหน้าที่บอกอุดมการณ์ หรือตัวตนของคนที่เป็นเจ้าของ ‘ขน’ นั้น เครา เคยเป็นทั้งสัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ความ ‘แมน’ เป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธาในศาสนา เป็นสัญลักษณ์ของการสมยอมต่อบรรทัดฐานทางสังคม และในหลายช่วงของประวัติศาสตร์สำหรับบางสังคม มันคือสัญลักษณ์ของการขบถด้วย
เพราะฉะนั้นการไว้หนวด ไว้เครา จึงไม่ได้เป็นเรื่องแค่คนขี้เกียจโกน ‘ขน’ หรือ ไม่มีมีดโกนดีๆ ใช้ – แม้ว่าในการต่อมา การเกิดขึ้นของมีดโกนหนวด Gillette จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของ ‘ขน’ และการ ‘โกน’ ขน ทั้งของผู้ชายและผู้หญิงไปอีกมาก
ในยุคต้นอารยธรรม เครามีประโยชน์ในฐานะที่มันช่วยทำให้กรามของผู้ชายดูบึกบึนขึ้น และน่าเกรงขามต่อศัตรู ขณะเดียวกันก็ช่วยป้องกันความหนาวเย็น เป็นประหนึ่งเสื้อเกราะให้ผิว เนื่องจากผู้ชายต้องใช้ชีวิตในกลางแจ้งเสียเป็นส่วนใหญ่
ในหลายสังคมเครายังหมายถึงเกียรติยศของเจ้าของเครา ด้วยเหตุดังนั้น การที่ใครต้องกลายเป็นนักโทษ หรือเป็นทาส สิ่งแรกที่ต้องทำคือ จับคนคนนั้นมาโกนหนวด โกนเคราออกเสีย – การจับคนมาโกนขนโกนเคราออกจึงเท่ากับเป็นการ ‘ฆ่า’ ศักดิ์ศรีของคนคนนั้นไปในตัว
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เคยออกคำสั่งให้ทหารทุกคนโกนเคราทิ้ง เพราะ ‘เครา’ กลายเป็นเป้าโจมตีของศัตรู และง่ายต่อการที่ศัตรูจะกระชากเคราเอาไว้ แล้วทำให้เกิดความได้เปรียบในการต่อสู้
ในอียิปต์โบราณ Postiche หรือเครื่องประดับใบหน้าของผู้ชายและผู้หญิงในชนชั้นปกครองก็คือ ‘เครา’ ประดิษฐ์นั่นเอง แสดงให้เห็นถึงความหมายของเคราที่สัมพันธ์กับสถานะทางสังคมว่ามันสำคัญถึงขั้นที่พัฒนากลายเป็น ‘เครื่องประดับยศ’ ที่สวยงาม มีขนาดใหญ่โต และทำด้วยโลหะสูงค่าขึ้นเรื่อยๆ
อารยธรรมที่ร่วมสมัยกับอียิปต์โบราณ ทั้งอัซวาเรียน ซีเรีย นอกจากจะไว้เคราแล้ว ยังย้อมเคราให้เป็นสีดำหรือสีแดงจากเฮนนา บรรดาชายผู้มั่งคั่งถึงกับมีแฟชั่นประดับลูกปัดหรือร้อยเมล็ดเครื่องเทศไว้กับเคราด้วย (ไหนใครบอกว่าผู้ชายแต่งตัวไม่เยอะ!!!)
ทางฝั่งอินเดียและเติร์ก เคราเป็นเครื่องหมายของความลุ่มลึกทางปัญญา การถูกจับไปโกนเครา ถือเป็นการหยามเกียรติกันอย่างให้อภัยไม่ได้
กรีกกับโรมันก็นิยมไว้เคราเช่นกัน ทางกรีกนิยมเคราม้วนหลอด แต่โรมันนิยมเคราที่แต่งเล็มอย่างประณีต ภายหลังเริ่มเสื่อมความนิยม เพราะเริ่มกระแสโกนเคราเพื่อสุขอนามัย แต่บรรดานักปรัชญากลับดึงดันไว้เคราต่อ เพราะเคราทำให้ดูฉลาด ดูลุ่มลึก ดูมีของ
แต่เรื่องแฟชั่นนี้ก็แปลกจริง เพราะมันดันเกิดมีร้านตัดผมขึ้นมาในเอเธนส์ แล้วก็มีแต่คนมีสตางค์ร่ำรวยเท่านั้นที่จะไปอุปถัมภ์ร้านตัดผมได้ การได้โกนเครา ตัดผม จึงกลายเป็นของหรูไปซะงั้น กระแสไว้เคราเลยหายไป จากนั้นคนเอเธนส์ก็เลยเดินหน้าดูถูกคนจากอารยธรรมอื่นที่ไว้เครา โดยเฉพาะพวกยุโรปตะวันออกและยุโรปเหนือว่าเป็นพวก ‘บาร์บาเรียน’ ทั้งนี้คำว่า ‘บาบา’ หรือ Barba ในภาษาละตินแปลว่า ‘เครา’ นั่นเอง
คำว่า บาร์บาเรียน จึงแปลว่า ‘ไอ้พวกคนมีเครา’ ซึ่งหมายถึง ‘คนป่าไร้อารยะ’
แต่สถานะของเคราไม่ได้เท่ากับคนป่าไปตามแฟชั่นเอเธนส์ทั้งหมด เผ่าเคลติกเห็นว่าเคราคือสัญลักษณ์แห่งความเป็นชาย
ในยุคกลาง เครากับความเป็น ‘ชาย’ ในระดับเคร่งครัดถึงขั้นการไปแตะต้องเคราของคนอื่นถือเป็นการ ‘ละเมิด’ ขั้นรุนแรง (อารมณ์คนไทยเอาตีนไปก่ายหัวคนอื่น)
แต่ในศตวรรษที่ 7 ไม่รู้เกิดอะไรกับพระในคริสตจักรที่มองว่าเคราคือ กิเลส และความบาป พระทุกรูปต้องโกนเครา จนกระทั่งพวกนอร์แมนมาครองอังกฤษ บรรดาสมาชิกราชวงศ์ต่างพากันไว้หนวด สุดท้ายกษัตริย์วิลเลียมยกเลิกกฎหมายบังคับการโกนหนวดเคราไปเสีย – คือมันเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นต้องออกเป็นกฎหมาย
ช่วงสงครามครูเสด เครากลับมาเป็นแฟชั่นระบาดไปทั่วยุโรปอีกครั้ง ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องกับการที่ผู้ชายทุกคนต้องไปเป็นทหารเลยไม่ค่อยได้โกนหนวด โกนเครากันหรือเปล่า
อย่างไรก็ตาม หลังสงคราม เครากลายเป็นแฟชั่นจริงจังจนพัฒนาสไตล์ของการไว้เคราออกมาอย่างหลากหลาย เริ่มมี ‘ทรง’ ของการโกน การเลี้ยง การขลิบหนวดเคราให้สะอาดสะอ้าน –เรียกได้ว่ามีการแต่งทรง ‘ขน’ ที่หน้ากันจริงจังมาก
แฟชั่นเครามาฮิตพีกสุดๆ ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 16 ผู้นำแฟชั่นนี้คือพระเจ้าเฮนรีที่ 13 ทรงฮิตคือ stilletto และ forked beard
ส่วนในอเมริกา เครามาฮิตอย่างพีกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และ ‘เคราในตำนาน’ ของอเมริกาคือ เคราของ อับราฮัม ลินคอล์น บิดาแห่งวาทะ ‘ประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน’ นั่นเอง
หลังจากนั้นประธานาธิบดีของอเมริกาทุกคนไว้ ‘ขน’ ที่หน้า ไม่หนวดก็เครา จนมาถึงประธานาธิบดีคนที่ 27 คือ วิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ (ดำรงตำแหน่งในปี 1909-1913 ) – ว่ากันว่าในยุคนั้นใครอยากเป็น candidate ตำแหน่งประธานาธิบดี สิ่งแรกที่ต้องมีคือ ‘เครา’
หลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ไม่มีประธานาธิบดีอเมริกาคนไหนไว้ ‘ขน’ ที่ใบหน้าอีกเลย
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ว่ากันว่า สาเหตุของการที่ ‘เครา’ ไม่เป็นที่ต้อนรับในการดำรงตำแหน่งนักการเมืองที่น่าเชื่อถือ มาจากสาเหตุ 2 ประการคือ อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ และความเฟื่องฟูของฮิปปี้
จะด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน ที่อยู่ๆ ไอ้พวกคนที่ฝักใฝ่ในลัทธิมาร์กซิสต์ อ่านหนังสือ Das Kapital มันต้องมีหนวด มีเคราไปเสียทุกคน หรืออีกทีก็เป็นพวกฮิปปี้ที่หวนหาธรรมชาติ เลยเลิกตัดผม โกนหนวด และอยากจะมีชีวิตอยู่แบบไม่ต้องใส่เสื้อใส่ผ้า
ในทศวรรษที่ 1960 ไอคอนทางการเมืองของโลกและคนที่เกลียดอเมริกาเข้าไส้อย่าง ฟิเดล คาสโตร ดันประกาศออกมาอีกว่า “เคราคือเครื่องหมายที่เตือนให้ตระหนักถึงการต่อสู้ของนักปฏิวัติ”
เมื่อเครากลายเป็นสัญลักษณ์ของนักรบกองโจรของประเทศคอมมิวนิสต์ที่ตั้งหน้าตั้งตาเกลียดอเมริกาหนักมากอย่างคิวบา จึงไม่มีนักการเมืองอเมริกันคนไหนกล้าไว้เคราอีกเลย เพรากลัวจะไปสะเทือนใจบรรดาผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่โตมาในยุคสงครามเย็น หรือไม่ก็อาจถูกมองว่าเป็นพวกฮิปปี้ สูบกัญชาไปวันๆ
จนถึงทุกวันนี้ หนวดและเครายังมีสถานะที่ ‘ไม่ลงรอย’ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะบอกว่ามันคือการแสดงออกซึ่งการขบถต่อคุณค่าของชนชั้นกลางไม่ได้ เพราะตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ของมันก็มีสถานะของการมีซึ่งอารยธรรม แต่คำว่า บาร์บาเรียนดันหมายถึงพวกที่มี ‘ขน’ จะบอกว่ามันคือ แฟชั่นคูลๆ ของคนอินดี้นอกกระแส แต่แล้วอินดี้ก็พากันไปโกนเครา ทิ้งกลุ่มอินดี้ ฮิปสเตอร์ผู้มาทีหลัง เด๋อๆ เลี้ยงเคราไว้ตามลำพัง
ส่วนหนวดและเคราในการรับรู้ของคนไทยนั้น ถ้ามีการศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องนี้กันจริงจังก็น่าสนไม่น้อย ดังจะเห็นว่าสุภาพบุรุษชนชั้นสูงของไทยเริ่มไว้หนวดตามแฟชั่นยุโรปเช่นกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นทรงหนวดโง้งงามเหนือริมฝีปาก
ส่วนหนวดของป๊อปไอคอนไทยที่คลาสสิกมากคงเป็น คุณเต๋อ-เรวัติ พุทธินันทน์ และคนที่เครางามที่สุดตอนนี้ก็น่าจะเป็น คุณโต-ซิลลีฟูลส์
– http://www.theeastafrican.co.ke/magazine/434746-676886-ee33gu/index.html
– http://www.percynobleman.com/blogs/news/29309185-a-history-of-the-beard
– http://www.politicalcampaigningtips.com/why-politicians-dont-have-mustaches-beards-facial-hair/
– www.slate.com/articles/news_and_politics/politics/2012/04/beards_in_politics_there_hasn_t_been_a_bearded_major_party_
presidential_nominee_in_almost_100_years_why_.html
FACT BOX:
สิ่งน่ารู้เรื่องเครา
- ปี 1770 มีการประดิษฐ์มีดโกนหนวดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ฝรั่งเศส โดยช่างตัดผมชื่อ ฌอง-ฌาค เปเรต์ (Jean–Jacques Perret) และเขายังเขียนหนังสือ ศิลปะแห่งการโกนขนด้วยตัวเอง
- ปี 1789–1861 ประธานาธิบดีคนที่ 15 ของอเมริกา เป็นคนที่ไม่มีเคราคนแรก
- ปี 1895 คิง ยิลเล็ตต์ (King Gillette) ประดิษฐ์มีดโกนที่เปลี่ยนใบมีดได้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก และมันคือการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ว่าด้วยการ ‘โกน’ ขนของมนุษยชาติ
- ปี 1928 มีดโกนหนวดไฟฟ้าอันแรกถูกประดิษฐ์ขึ้นมาโดย เจค็อบ ชิคก์ (Jacob Schick)
- ปี 1930 กองทัพอเมริกันออกกฎให้ทหารทุกคนต้องโกนหนวดให้เกลี้ยงเกลา
- ภาษาท้องถิ่นอย่างภาษาเหนือ เรียกเคราว่า ‘หมอยปาก’ เรียกหนวดว่า ‘หมอยคาง’ – มีนัยแห่งการไม่ชอบคนมี ‘ขน’ เท่าไหร่นัก