เราจะโรดโชว์ไปขายของหรือดึงต่างชาติมาลงทุนกี่รอบก็ได้
แต่เราไม่สามารถห้ามไม่ให้พวกเขาออกไปหาแหล่งผลิตในต้นทุนที่ต่ำกว่าได้
ตราบใดที่เราไม่สร้างความรู้และเทคโนโลยีและมีระบบที่พึ่งพาตนเองได้
นี่จะเป็นวังวนแห่งความหวังและผิดหวังไม่รู้จบ

ราวกับมีใครเผลอกดปุ่ม Playback ค้างเอาไว้

เมื่อภาพเหตุการณ์ในอดีตถูกแชร์บนหน้าฟีดอย่างถาโถม…ต่อเนื่อง

เคยมีคนอธิบายให้ฟังอยู่เหมือนกันว่า ทำไมฝรั่งถึงใช้คำว่า Playback กับการเล่นเพลงหรือวิดีโอ แทนที่จะใช้คำว่า Play เฉยๆ แต่ก็คร้านที่จะจำ

จนเมื่อเวลานี้มาถึง จึงเริ่มเข้าใจความหมายที่บอกไว้ว่า มันคือการหยิบเอาสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ก่อนหน้ามาเล่นใหม่ และถึงคำนี้จะยังคงมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Playback คือศัพท์ของโลกแอนะล็อก

เช่นเดียวกับสิ่งที่ถูกนำมาเล่นใหม่ในวันนี้ ที่กลายเป็นภาพขาวดำไปทั้งหมดเสียแล้ว

แม้จะมีน้ำตาบ้างบางคราว หากก็เป็นเพียงน้ำตาที่ไหลให้กับความคิดถึง โลกไม่ได้จะแตกดับไปตรงหน้าเพราะทุกอย่างก็เป็นไปตามเวลาของมัน

มีความสุขกับการเปิดเพลงพระราชนิพนธ์ฟังซ้ำๆ เมื่อถึงเพลง Oh I Say ก็ยังคงยักไหล่ใส่จังหวะสวิงตามอย่างที่ทำมาตลอดชีวิต ไม่รู้ว่าจะปฏิเสธสิ่งที่โตมาด้วยนี้ไปทำไม

แต่ในขณะเดียวกันสำนึกบางอย่างก็เด่นชัด เราเองที่โตมากับโลกแอนะล็อกก็เป็นอดีต ไม่ต่างจากภาพขาวดำที่ถูก Playback ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จริงๆ ความรู้สึกแบบนี้มีมาพักใหญ่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เหมือนเป็นหมุดปักเพื่อบ่งบอกความเป็นทางการของมัน ถึงเวลาปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ในการตัดสินว่าอนาคตควรจะไปทางไหน

ว่าแต่อนาคตจะเป็นอย่างไร?

แม้จะเป็นโลกใบเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมก็คือการเกี่ยวร้อยทุกอย่างไว้ด้วยกันที่แน่นขึ้นทุกที

ความสัมพันธ์แบบใหม่นี้มีการนิยามไว้ด้วยคำว่า Interdependence หรือการพึ่งพาซึ่งกันและกัน แน่นอนว่ามันมีทั้งด้านบวกและลบ เช่นเดียวกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา

มันอาจหมายถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้น การแบ่งงานกันทำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไปจนถึงความร่วมมือที่มากขึ้น แต่มันก็ทำให้เราต้องอยู่กับความไม่แน่นอนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละรอบ มันกลับไม่ได้หมายถึงการฟื้นฟูเพื่อรอเติบโตครั้งใหม่อย่างที่ควรจะเป็น หากกลายเป็นการเงี่ยหูฟังว่าเมื่อไรคลื่นลมระลอกใหม่จะซัดเข้ามาอีก

คำถามก็คือ เรามีระบบเศรษฐกิจที่มีรากฐานแข็งแรงพอที่จะต้านทาน หรือยืดหยุ่นพอที่จะเอนไหวไปกับแรงลมที่อาจจะซัดมาทางไหนเมื่อไรก็ได้นี้หรือไม่

อาจเพราะเรารักพระองค์มากเกินไป ไม่ว่าท่านจะตรัสเรื่องอะไร
เราก็พร้อมที่จะรับมาทูนไว้
เสียดายที่เราไม่ค่อยจะฟังและทำความเข้าใจอย่างแท้จริง
กลายเป็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือความมัธยัสถ์
ที่จับต้องได้ยากสำหรับคนส่วนใหญ่
สำหรับราชการหลายแห่งบางทีมันก็เป็นแค่การใส่เสื้อม่อฮ่อมถ่ายรูป

ย้อนหลังกลับไปไม่กี่วัน ในช่วงที่ชาวไทยกำลังกังวลเรื่องพระอาการประชวร ทั้งโลกก็กำลังกังวลกับปัญหาธนาคารดอยซ์แบงก์

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมายืนยันว่า ประเทศไทยสามารถรับมือกับความเสี่ยงต่อระบบ (Systemic Risk) ได้หากดอยซ์แบงก์ล้มขึ้นมาจริงๆ (นั่นคือ หากดอยซ์แบงก์ล้ม ระบบการเงินของเราจะไม่ล้มตาม) แต่เมื่อหันมามองโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังคงพึ่งพาการส่งออกอย่างหนัก ในทางหนึ่งมันหมายถึงความพร้อมที่จะร่วงก่อนและฟื้นทีหลัง เมื่อเกิดปัญหากับระดับอุปสงค์จากภายนอก ปัญหาของทุกคนในโลก จึงเป็นปัญหาของเราอย่างไม่ต้องสงสัย

โลกที่เคลื่อนเข้าสู่การพึ่งพาซึ่งกันและกันจึงทำให้เราต้องหันกลับมาตอบคำถามให้ได้ว่า เรามีระดับความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกมากเพียงใด เรามีการบริหารความเสี่ยงหรือไม่ และอะไรคือยุทธศาสตร์ของการไปต่อในระยะยาว

เราจะโรดโชว์ไปขายของหรือดึงต่างชาติมาลงทุนกี่รอบก็ได้ แต่เราไม่สามารถห้ามไม่ให้พวกเขาออกไปหาแหล่งผลิตในต้นทุนที่ต่ำกว่าได้ ตราบใดที่เราไม่สร้างความรู้และเทคโนโลยีและมีระบบที่พึ่งพาตนเองได้ นี่จะเป็นวังวนแห่งความหวังและผิดหวังไม่รู้จบ

การลงทุนจากต่างชาติไม่ใช่เรื่องผิด แต่มันต้องมาพร้อมกับการถ่ายโอนความรู้ และเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะที่ยุทธศาสตร์ควรจะเป็นการใช้ความได้เปรียบมาสร้างมูลค่า และเป็นมูลค่าที่สร้างให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว

การนึกถึงคำว่า ‘ภูมิคุ้มกัน’ ทำให้ผู้เขียนได้แต่ภาวนาว่า แนวคิด ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ จะไม่ถูกทำให้กลายเป็นภาพขาวดำไปพร้อมกับอย่างอื่นเร็วนัก

ไม่ว่าเราจะกำหนดขอบเขตของ ‘ระบบ’ อย่างไร ครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ หรือไปไกลถึงภูมิภาค ระบบจะมีเสถียรภาพได้ นั่นหมายถึงการมีระดับความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

คำว่า ‘พออยู่ พอกิน’ จึงน่าจะหมายถึงดุลยภาพระหว่างความต้องการและความสามารถในการผลิต (ผลิตอย่างไรให้พอกิน ถ้าวันหนึ่งส่วนเกินของการผลิตขายไม่ได้แล้วยังพอกินหรือไม่) ซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ชาตินิยมแต่อย่างใด

พระราชประวัติบอกให้เรารู้อย่างชัดแจ้งว่าในหลวงทรงมีความเป็น ‘ตะวันตก’ สูงมาก ไม่เพียงด้วยสถานที่ประสูติและเจริญพระชนม์ แต่ยังรวมถึงสุนทรียภาพ ความหลงใหลในเทคโนโลยี และวิธีคิดเชิงวิศวกรรม ไม่มีอะไรที่ทรงทำเป็นเรื่องเล่น แต่คือการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องยาวนานทั้งชีวิต

หากไม่เข้าใจโลก แล้วจะอยู่ในโลกได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อยังล้าหลังกว่าชาวบ้าน

อาจเพราะเรารักพระองค์มากเกินไป ไม่ว่าท่านจะตรัสเรื่องอะไร เราก็พร้อมที่จะรับมาทูนไว้

เสียดายที่เราไม่ค่อยจะฟังและทำความเข้าใจอย่างแท้จริง

ในวันนี้ท่านจะไม่พูดอะไรกับเราอีกแล้ว ถึงตาเราที่จะ Playback
และค่อยๆ ทบทวนสิ่งที่ท่านพูดมาทั้งหมด

กลายเป็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือความมัธยัสถ์ที่จับต้องได้ยากสำหรับคนส่วนใหญ่ สำหรับราชการหลายแห่งบางทีมันก็เป็นแค่การใส่เสื้อม่อฮ่อมถ่ายรูป ทั้งที่ในความเป็นจริง แค่คำว่า ‘พออยู่ พอกิน’ นั้น เราก็อาจต้องใช้ทั้งชีวิตทำความเข้าใจ คิดๆ ไปก็ไม่ต่างจากอริยสัจ 4 มันคือสิ่งที่ฟังง่าย ทำยาก ต้องอาศัยความพากเพียรระดับพระมหาชนก แต่หากไปถึงฝั่งได้ สิ่งที่รออยู่ก็คืออิสรภาพ

ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม การรับมือกับสิ่งที่จะเข้ามาหาเราโดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ก็น่าจะหมายถึงอิสรภาพที่แท้จริง

แต่หากเราเคยฟังมาบ้าง ในวันที่ประเทศเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ พร้อมกับการพัฒนาเกษตรเชิงเดี่ยว พระองค์ตรัสถึงเกษตรผสมผสาน ในวันนี้เรารู้แล้วว่าการเกษตรเชิงเดี่ยวนั้นส่งผลลัพธ์เป็นความชอกช้ำในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการซ้ำเติมความยากจน ไปจนถึงการทำลายทรัพยากรทั้งดินและน้ำ ‘อย่างเป็นระบบ’

ในวันที่พระองค์ตรัสเรื่องความยั่งยืน หลายคนยังคิดว่า คำนี้เป็นเรื่อง ‘สมัครใจ’ ในวันนี้เรารู้แล้วว่ามันเป็นมากกว่า ‘ภาคบังคับ’

ในวันที่พระองค์ตรัสให้เรารู้จักใช้ทรัพยากรอย่างฉลาดเพื่อเก็บไว้ใช้ยาวๆ คือวันที่เราเปิดบ้านส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว โดยปราศจากแผนรองรับด้านการจัดการทรัพยากร

ในวันนี้พระองค์จะไม่ตรัสอะไรกับเราอีกแล้ว ถึงตาเราที่จะ Playback และค่อยๆ ทบทวนสิ่งที่พระองค์ตรัสมาทั้งหมด

นี่จึงเป็นอย่างเดียวที่อยากฝากคนรุ่นใหม่ไว้พิจารณา ก่อนจะกลับไปฟังเพลงต่อเงียบๆ ตามสัญญา

มันคงเป็นเรื่องไร้สาระ หากต้องถูกโปรแกรมให้รักใครที่เราโตไม่ทันพอจะรู้จัก แต่เรื่องที่ดูเหมือนเก่าก็อาจเปิดมุมมองใหม่ที่เป็นประโยชน์ได้ หากเราพร้อมจะฟัง

เอาแค่ Playback ก็พอ คงไม่ต้องถึงกับ Rewind ส่วนจะ Fast Forward ไปเลยหรือไม่นั้น ไม่ว่ากัน

 

ภาพประกอบ: Thomthongc

 

FACT BOX:

ความเสี่ยงต่อระบบ (Systemic risk) ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบทั้งระบบเศรษฐกิจ โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างเช่น สงครามโลก หรือกรณีที่เกิดขึ้นในปี 2008 เมื่อ Lehman Brothers วานิชธนกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอเมริกาล้มสลาย คู่ค้าของสถาบันการเงินแห่งนี้ได้รับผลกระทบมากมาย เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องของระบบ การสูญเสียเงินลงทุนของผู้ลงทุนทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดการชะลอการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบ เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในคุณภาพเครดิตของผู้กู้อีกต่อไป
การพัฒนาเกษตรเชิงเดี่ยว (Monoculture) หรือระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยว คือการปลูกพืชที่เน้นประสิทธิภาพในการผลิตโดยใช้เนื้อที่ในการปลูกน้อย เช่น แอปเปิล ข้าวสาลี องุ่น โดยใช้วิธีการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบ มีการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง การนำเข้าและใช้วัตถุดิบจากภายนอก ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งพาตัวเอง และกำหนดราคาผลผลิตเองได้ โดยราคาจะขึ้นอยู่กับกลไกตลาด และต้นทุนวัตถุดิบที่พ่อค้าเรียกเอาราคาจากเกษตรกร ทำให้ชาวบ้านยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกเสื่อมสภาพ เพราะพืชที่ปลูกดูดสารอาหารออกจากดิน โดยไม่มีการทดแทนสารอาหารจากการปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

Tags: , , , ,