ทันทีที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเรียกกันติดปากว่า Capitol Hill ถูกระเบิดจนราบเป็นหน้ากลองระหว่างการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา บุคคลเดียวในรัฐบาลที่เหลืออยู่ จึงต้องสาบานตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีแบบไม่ทันตั้งตัว
ในช่วงเวลาที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร
มนุษย์ก็มักจะระแวงคนที่แปลกจากเราไว้ก่อน
ไม่ว่าจะตั้งแต่เรายังเป็นสัตว์สี่เท้าที่อยู่กันเป็นฝูง
ผ่านวิวัฒนาการมาจนถึงวันที่เราอยู่กันเป็นเผ่า
หรือแม้กระทั่งจนถึงวันนี้ จิตใต้สำนึกก็ยังบอกให้เราระวังภัยเมื่อผิดกลิ่น…
ในเสื้อคลุมแบบสเวตเชิ้ตที่เขาสวมใส่นั่งดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในค่ำคืนนั้น
แน่นอนว่าสาเหตุที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเคหะและพัฒนาเมือง ซึ่งถือเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งอันดับที่ 12 รอดมาได้เพียงคนเดียวก็เพราะเขาไม่ได้อยู่ที่รัฐสภาในคืนดังกล่าว แต่กลับถูกนำตัวไปยังสถานที่ไม่เปิดเผยในช่วงของการแถลงนโยบาย นั่นเพราะเขาคือ ‘ผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิต’ หรือ Designated Survivor
ในช่วงที่สงครามเย็นยังไม่สิ้นสุด ความหวาดระแวงว่าจะมีใครยิงระเบิดนิวเคลียร์ใส่กลุ่มผู้บริหารประเทศ โดยเฉพาะในงานสำคัญที่ทุกคนรวมตัวกันอยู่อย่างงานแถลงนโยบายประจำปี นำมาสู่ธรรมเนียมของการมีผู้ถูกกำหนดให้รอดชีวิตสำหรับฝ่ายบริหารของอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ความอ่อนโยนในแบบแฟมิลีแมนของประธานาธิบดีผู้รอดชีวิตไม่ใช่บุคลิกภาพของคนที่จะขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำในเวลาที่ทุกอย่างควบคุมไม่ได้สักเท่าไร และหนึ่งในผู้ที่กังขาในเรื่องนี้อย่างชัดเจนก็คือ มือเขียนสุนทรพจน์ประจำทำเนียบขาวที่ไม่เคยเห็นประธานาธิบดีคนใหม่อยู่ในสายตา
ในขณะที่ชายผู้เป็นมือเขียนสุนทรพจน์ ‘ระแวง’ ในความสามารถของผู้นำ ตัวเขาเองก็ต้องเผชิญกับสายตาหวาดระแวงจากคนอเมริกันบนท้องถนน ในระหว่างเดินกลับบ้านเมื่อผ่านค่ำคืนแห่งความยุ่งยากนั้น และเกือบจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินเข้าที่ทำงานในเช้าวันต่อมา เพียงเพราะหน้าตาที่บ่งบอกถึงรกราก ซึ่งอาจมาจากตะวันออกกลางของเขา
โชคยังดี เขาได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีผู้ที่เขากังขาให้เป็นโฆษกประจำทำเนียบขาว การขึ้นมาเป็นบุคคล ‘สาธารณะ’ ทำให้เขาสามารถสะพายเป้เดินไปไหนมาไหนได้อย่างเดิม
และโชคยังดี ที่เรื่องนี้เป็นเพียงเนื้อหาจากซีรีส์ Designated Survivor ที่แพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ ABC ซีซันแรกในปี 2016 (เมืองไทยสามารถดูได้ทาง Netflix)
ในโลกแห่งความเป็นจริง การเป็นบุคคลสาธารณะอาจช่วยให้หลุดพ้นจากความหวาดระแวง แต่อาจไม่ช่วยให้หลุดพ้นจากความเกลียดชัง
เมื่อ คาล เพนน์ (Kal Penn) นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ผู้สวมบทบาทมือเขียนสุนทรพจน์ในซีรีส์เรื่องดังกล่าว ต้องเจอข้อกับความทวิตเตอร์เหยียดผิวที่บอกว่าเขา “ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประเทศนี้ (อเมริกา)”
แต่เพนน์ซึ่งเกิดในอเมริกาก็เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างยอดเยี่ยม เขาตอบโต้ทวิตเตอร์นี้ด้วยการตั้งโครงการระดมทุนทางเว็บไซต์ CrowdRise ในชื่อ “Donating to Syrian Refugees in the Name of the Dude Who Said I Don’t Belong in America” (โครงการบริจาคให้แก่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย ในนามของคนที่บอกว่าผมไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอเมริกา)
ด้วยเป้าหมายในการระดมทุนจำนวน 2,500 เหรียญฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมง ยอดบริจาคก็พุ่งเข้าหลักแสนเหรียญฯ เมื่อถึงตอนที่คุณอ่านบทความนี้ มันก็น่าจะอยู่ใกล้ๆ หลักล้านเหรียญฯ
แต่ถึงอย่างไร มันไม่ใช่จำนวนเงินหรอกที่สำคัญ มันคือสารที่ต้องการสื่อถึงผู้คนทั่วโลก ให้ยังคงเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรถูกลดทอนเพราะความหวาดระแวง
ในช่วงเวลาของความยุ่งเหยิง ความหวาดระแวงก็ยิ่งเป็นเรื่องควบคุมไม่ได้
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับคนเชื้อสายอิตาลีที่อยู่ในอเมริกาเช่นกัน แม้ว่าพวกเขาจะเป็น ‘ชาวอเมริกัน’ ที่รู้สึกโกรธและตกใจกับเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์ไม่น้อยไปกว่าอเมริกันคนอื่นๆ แถมอีกหลายคนยังเป็นทหารที่เข้าร่วมรบในสงครามในนามของอเมริกาด้วยซ้ำ
นอกเหนือจากคำสั่งที่รู้จักกันในนาม Executive Order 9066 ซึ่งประธานาธิบดีโรสเวลต์ ลงนามให้อำนาจผู้รับผิดชอบในการกำหนดพื้นที่ทหาร กำหนดขอบเขตการเคลื่อนไหว รวมถึงจับกุมและส่งตัวชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น เยอรมัน และอิตาลี ไปยังสถานที่กักกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในระดับสังคมในชีวิตประจำวันก็คือ การที่ชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีจะถูกเรียกด้วยคำอย่าง Wop หรือ Dago ซึ่งเป็นคำเรียกชาวอิตาลีในความหมายส่อเสียด (ประมาณนักเลงโตหรืออันธพาล)
ในช่วงเวลาที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร มนุษย์ก็มักจะระแวงคนที่แปลกจากเราไว้ก่อน ไม่ว่าจะตั้งแต่เรายังเป็นสัตว์สี่เท้าที่อยู่กันเป็นฝูง ผ่านวิวัฒนาการมาจนถึงวันที่เราอยู่กันเป็นเผ่า หรือแม้กระทั่งจนถึงวันนี้ จิตใต้สำนึกก็ยังบอกให้เราระวังภัยเมื่อผิดกลิ่น…
หรืออาจจะผิดสี?
งานที่สร้างจากสีขาวทุกชิ้นจะมีริ้วรอยและตำหนิปนอยู่ และ เราจะเห็นมันได้ชัดกว่าสีอื่น
โดยเฉพาะเมื่อผ่านวันเวลา บอกให้เราเห็นความจริงที่ว่าสีขาวก็คือสัญลักษณ์ของโลกที่ไม่มีความหมดจดอยู่ได้อย่างแท้จริงต่างหาก
ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังยุโรปเวลานั้น นอกเหนือจากฮิตเลอร์ คนที่ไม่ต้องการความแปลกแยกเลยก็คือมุสโสลินี เขาต้องการสร้างอิตาลีขึ้นใหม่โดยปราศจาก ‘สี’ อื่น
แน่นอนว่ามนุษย์ใช้สีเป็นสัญลักษณ์ของบางอย่างตลอดมา และหลายครั้งมันส่งอิทธิพลต่อชีวิตของเรา หรือแม้แต่มนุษยชาติได้อย่างไม่น่าเชื่อ สารคดี A History of Art in Three Colours ที่เคยแพร่ภาพทางช่องบีบีซี 4 ของอังกฤษ บอกเล่าถึงเรื่องราวของสีไว้ได้อย่างน่าสนใจ
นั่นรวมถึงความบริสุทธิ์ของสีขาว ที่อาจเป็นทั้งสัญลักษณ์ของแสงสว่างเมื่อโลกเดินออกจากยุคมืด และในขณะเดียวกันมันก็เป็นสีที่ถูกใช้เพื่อแบ่งแยก ควบคุม ไปจนถึงการทำสงคราม แทนที่มันจะเป็นสีแห่งความสง่างาม บริสุทธิ์ หรือเหตุผล มันได้เปลี่ยนเป็นสีแห่งความกลัว การแบ่งแยกชาติพันธุ์ และการกดขี่ข่มเหง
ชาวอิตาลีรู้ดีในเรื่องนี้ เมื่อหินอ่อนสีขาวจากเมืองคาร์ราร่าคือตัวแทนของความบริสุทธิ์หมดจดที่ถูกนำไปใช้ในงานสถาปัตยกรรมชื่อก้องของโลก ซึ่งรวมถึงอนุสาวรีย์สร้างจากหินอ่อนที่จารึกชื่อของ มุสโสลินี (ความพิเศษของหินอ่อนชนิดนี้คือมีแคลเซียมคาร์บอเนตถึงร้อยละ 98 พระที่นั่งอนันตสมาคมก็สร้างขึ้นจากหินอ่อนสีขาวของคาร์ราร่า)
แต่อนุสาวรีย์ก็เป็นเพียงการเริ่มต้น แท้จริงแล้วความฝันของมุสโสลินีก็คือการสร้างกรุงโรมขึ้นใหม่จากหินอ่อนสีขาวเลยต่างหาก มันคือพื้นที่ส่วนขยายของโรมที่รู้จักกันในชื่อย่อ EUR (Esposizione Universale Roma) ซึ่งตามแผนเดิมจะถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานเวิลด์เอ็กซ์โปในปี 1942 (Esposizione Universale แปลว่า World Expo) โดยศูนย์กลางของ EUR ก็คืออาคารที่เรียกว่า Palazzo della Civiltà Italiana อันถือเป็นไอคอนของสถาปัตยกรรมฟาสซิสต์ ซึ่งทั้งรูปลักษณ์และแนวคิดก็ทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงบทประพันธ์ 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์
มุสโสลินีไม่เพียงต้องการสร้างโรมใหม่ แต่เขาฝันถึงการสร้างโลกใหม่ ที่ขาว บริสุทธิ์ และหมดจด
แต่เขาลืมคิดไปว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่จริง ไม่รู้จะบอกว่าโชคดีหรือโชคร้าย ที่ความปรารถนาของเขาไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อสงครามสิ้นสุดลงเสียก่อน และอิตาลีคือผู้พ่ายแพ้
จนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังคงมองสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ และหลงลืมด้านมืดของมันไปในบางครั้ง และในความเป็นจริง สีขาวก็อาจไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ใดเหลืออยู่มากไปกว่าการเป็นเครื่องมือของนักโฆษณาที่ต้องการสร้างยอดขายให้กับผงซักฟอก หรือผลิตภัณฑ์ไวเทนนิง
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือบทจบของสารคดีเรื่องนี้ที่พาเรานั่งลงข้างๆ อนุสาวรีย์ที่เคยเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์นั้น และเมื่อเราลองมองมันให้ดี งานที่สร้างจากสีขาวทุกชิ้นจะมีริ้วรอยและตำหนิปนอยู่ และ เราจะเห็นมันได้ชัดกว่าสีอื่น โดยเฉพาะเมื่อผ่านวันเวลา บอกให้เราเห็นความจริงที่ว่าสีขาวก็คือสัญลักษณ์ของโลกที่ไม่มีความหมดจดอยู่ได้อย่างแท้จริงต่างหาก
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเราว่าอยากกักขังความจริง หรืออยากมองเห็นความงามตามที่เป็นจริง
ภาพประกอบ: love_syrup
Tags: Netflix, USA