นอกจากใช้ความกลัวการก่อการร้ายมาเป็นจุดขายตั้งต้น
เขายังใช้ทุกจิตวิทยาที่เข้าถึงภายในใจคนอเมริกัน
โดยเฉพาะสโลแกน ‘Make America Great Again’
ซึ่งประกอบด้วยคำง่ายๆ 4 คำ
ที่พาทุกคนกลับไปหาความรุ่งโรจน์ในศตวรรษที่ 20
หากนี่คือฉากเปิดตัวความฝันครั้งใหม่ของอเมริกา คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า มันคือฉากเร้าอารมณ์ที่เอาคนดูได้แบบอยู่หมัด โดยที่ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ามันคือพล็อตประเภทไหน ตลกร้าย สยองขวัญ หรือเป็นพล็อตแอ็กชันผจญภัยที่มักจะเริ่มต้นร้ายลงท้ายดี ไปจนถึงมุกตลกเรียกความสนใจไปวันๆ
แม้แต่คนเขียนบทก็คงยังไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่ๆ นี่คือการเดินทางครั้งใหม่ของชาวอเมริกัน เมื่อสภาพเดิมมันอึดอัดจนทนไม่ไหว การเลือกตายเอาดาบหน้า วัดดวงกับทรัมป์แทนการติดอยู่กับฮิลลารีไป 4 ปีแบบไม่มีอะไรใหม่ อาจเป็นคำตอบ
ไม่ต่างจากวันที่บรรพบุรุษของพวกเขาลงเรือออกจากยุโรป การแสวงโชคในดินแดนใหม่แบบที่เราคุ้นชินในภาพยนตร์แนวคาวบอย และการดวลปืนเพื่อตัดสินชะตาแบบ 50/50
แม้จะน่าหวาดเสียว แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
“ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าความกลัว”
หากนั่นคือคาถาที่อดีตประธานาธิบดีรูสเวลต์ ผู้ริเริ่ม New Deal โครงการฟื้นฟูอเมริกาหลังเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เคยให้กับชาวอเมริกันไว้ ทรัมป์ก็เปิดตัวขั้นกว่า คือนอกจากใช้ความกลัวการก่อการร้ายมาเป็นจุดขายตั้งต้น เขายังใช้ทุกจิตวิทยาที่เข้าถึงภายในใจคนอเมริกัน โดยเฉพาะสโลแกน ‘Make America Great Again’ ซึ่งประกอบด้วยคำง่ายๆ 4 คำที่พาทุกคนกลับไปหาความรุ่งโรจน์ในศตวรรษที่ 20
ลองถอดแต่ละคำออกมาวาง จะพบว่าทุกคำทำปฏิกิริยากับหัวใจชาวอเมริกันทั้งสิ้น ไม่มีคำไหนเลยที่เติมเข้ามาแบบเปล่าๆ ปลี้ๆ โดยเฉพาะคำว่า Make คือความเชื่อหลักของคนอเมริกาว่าพวกเขาต้องสร้างตัวเอง
ตรงกันข้ามกับฮิลลารีที่ใช้คำยากอย่างการลงทุนในชนชั้นกลาง (ใครสน?) หรือการใช้คำว่า Inclusive อันหมายถึงความครอบคลุมแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งแม้จะเรียกเสียงปรบมือได้ก็จริง แต่อาจไม่ตอบลงไปในส่วนลึกถึงจิตใจคนอเมริกันที่เน้นผลตอบแทนจากการทำงานหนักของ ‘ฉัน’ หรือผลประโยชน์ของ ‘ครอบครัวฉัน’ มากกว่าการคำนึงถึงทุกคนแบบที่ฮิลลารีชอบพูด
ตรงกันข้าม คนอเมริกันไม่น้อยพร้อมจะทิ้งคนที่พวกเขามองว่าไม่ทำงานไว้ข้างหลัง การต้องเสียภาษีจำนวนมากเพื่อช่วยประคองคนอื่นคือสิ่งที่พวกเขามองว่าไม่เป็นธรรมและเจ็บปวดเกินทน
แม้คำประกาศอิสรภาพของอเมริกาจะกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า
“All men are created equal.”
แต่ Equality ของอเมริกาก็มักจะหมายถึง
Equal Opportunity หรือการแข่งขันที่เป็นธรรม
แบบที่เห็นในฉากดวลปืนตามหนังคาวบอยเสียมากกว่า
ต่างกับสังคมสแกนดิเนเวียน ที่ผู้คนมีความเสมอภาคอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเขา หรือชาวยุโรปโดยรวมที่มีความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างลงลึกมากกว่า ความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนไม่เคยอยู่ในจิตวิญญาณแบบอเมริกันในความหมายเดียวกับชาวโลก วิธีคิดแบบอเมริกันคืออยากมีกินก็ต้องทำ หากซับซ้อนกว่านั้นก็คงไกลจากความเข้าใจ
นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่แนวคิดแบบเดโมแครต ซึ่งมุ่งลดความเหลื่อมล้ำและเอื้อประโยชน์แก่คนอเมริกันส่วนใหญ่ กลับไม่มีความหมายมากพอเมื่อมาถึงวันนี้ แม้คำประกาศอิสรภาพของอเมริกาจะกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “All men are created equal.” แต่ Equality ของอเมริกาก็มักจะหมายถึง Equal Opportunity หรือการแข่งขันที่เป็นธรรม แบบที่เห็นในฉากดวลปืนตามหนังคาวบอยเสียมากกว่า
อย่าลืมว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่นั้นยังคงโผงผาง และคุณค่าหนึ่งเดียวที่ทำให้อเมริกาเป็นอเมริกาก็คือความเป็นสังคม ‘นักแสวงโชคผู้ก่อร่างสร้างตัวเอง’ สะท้อนผ่านสิทธิ์ใน ‘ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข’ ตามคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การที่ทรัมป์ออกมาบอกว่าจะลดภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจ จึงไม่ต่างจากการบอกว่าจะพาชาวอเมริกันกลับไปหาช่วงเวลาของการก่อร่างสร้างตัวในวันเก่า
ย้ำเตือนให้นึกถึงคำกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง มิลตัน ฟรีดแมน ที่บอกไว้ว่า สังคมที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคก่อนเสรีภาพจะไม่เห็นอะไรเลย (ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาคหรือเสรีภาพ) ในขณะที่สังคมซึ่งให้ความสำคัญกับเสรีภาพก่อน ‘จะเห็นทั้งสองสิ่ง’ นี่คือวิธีคิดแบบอเมริกันที่เชื่อว่าเสรีภาพต้องมาก่อนอะไรทั้งหมด
ความเหลื่อมล้ำที่ทั้งโลกมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน สำหรับคนอเมริกันจึงอาจเป็นเรื่องรอได้
สิ่งที่รอไม่ได้ก็คือจีน มีอะไรจะเสียดแทงใจชาวอเมริกันได้เท่ากับการที่ทรัมป์พูดถึงจีนซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ช้าก็เร็ว จีนจะยังคงแซงหน้าอเมริกาขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก
นี่คือจุดขายที่ดึงดูดชาวอเมริกันผู้โตมากับความภูมิใจเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นที่หนึ่ง
หากจะกล่าวในสไตล์ทรัมป์ นั่นคงเป็น ‘Very very good old days’
ไม่เพียงแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ชาวอเมริกันรอได้ ความหัวก้าวหน้าในแบบเดโมแครตก็เป็นเรื่องที่ชาวอเมริกันอยากจะรั้งรอ
แน่นอนว่าความสงสัยมีมานานแล้ว ทำไมคนจากชนบทที่มีรายได้น้อยและชนชั้นแรงงานซึ่งควรจะโหวตให้กับเดโมแครตจึงเลือกรีพับลิกัน และหากเฉพาะเจาะจงลงไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ มันคือคำถามว่าทำไมคนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายโอบามาแคร์ จึงลงคะแนนให้กับคนที่บอกว่าจะยกเลิกนโยบายนี้ให้เร็วที่สุดอย่างทรัมป์ โดยเฉพาะชาวอเมริกันในรัฐตรงกลางของประเทศ
คำตอบที่ดีที่สุดน่าจะมาจากมุมมองด้านจิตวิทยา หรือการทำความเข้าใจระบบคุณค่าทางสังคมดั้งเดิม โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนา สถาบันครอบครัว และสิทธิ์ในชีวิตของพวกเขาเอง
ไม่ว่าจะเป็นผู้เคร่งศาสนาที่รับไม่ได้กับการทำแท้ง (และอาจจะยังรับไม่ได้กับประเด็น LGBTQ) และผู้ที่เห็นว่าการครอบครองปืนคือสิทธิ์ในการปกป้องชีวิตที่ไม่ควรถูกพรากไปจากตัว นี่คือคะแนนที่รีพับลิกันเก็บได้แบบอัตโนมัติอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่สิ่งที่ผิดจากที่หลายคนคาดก็คือ เสียงจากผู้หญิงที่ควรจะรังเกียจการเหยียดเพศของทรัมป์และเทคะแนนให้กับฮิลลารี ซึ่งปรากฏว่าเธอเก็บมันไม่ได้มากอย่างที่ควรจะเป็น
แม้จะมีการประณามผ่านสื่ออย่างทวิตเตอร์ของหญิงผู้เกลียดทรัมป์
แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าหญิงชาวอเมริกันอีกส่วน
อาจให้ความสำคัญกับคุณค่าสถาบันครอบครัวมากกว่าติดเรื่องการเหยียดเพศ
แม้จะมีการประณามผ่านสื่ออย่างทวิตเตอร์ของหญิงผู้เกลียดทรัมป์ แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าหญิงชาวอเมริกันอีกส่วนอาจให้ความสำคัญกับคุณค่าสถาบันครอบครัวมากกว่าติดเรื่องการเหยียดเพศ การดูช่องรายการทำอาหารจากอเมริกาแล้วต้องได้ยินคำว่า Comfort Food ซึ่งทำให้นึกถึงอาหารที่แม่ทำให้กินทุกชั่วโมง บอกกับเราว่าคุณค่าดั้งเดิมนั้นกลับมาอย่างมีนัยสำคัญ และแท้จริงแล้ว มันอาจไม่เคยหายไปไหนโดยเฉพาะในรัฐสีแดงที่เป็นฐานคะแนนรีพับลิกัน
ฮิลลารีไม่เพียงเก็บคะแนนจากผู้หญิงไม่ได้เท่าที่ควรจะทำได้ แต่รายงานจากเทเลกราฟที่อ้างอิงตัวเลขจาก Exit Poll ยังบอกว่าสภาพการณ์เดียวกันเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ออกเสียงอื่นที่ควรจะเป็นคะแนนให้กับเธอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจากคนรุ่นใหม่ ผู้มีรายได้น้อย คนผิวสี หรือคนเชื้อสายลาตินอเมริกา ซึ่งต่างก็โหวตให้ฮิลลารีในสัดส่วนที่น้อยกว่าตอนที่พวกเขาโหวตให้โอบามาเมื่อ 4 ปีก่อน ในขณะที่ทรัมป์ทำคะแนนได้ดีมากจากกลุ่มเป้าหมายของเขา นั่นคือ คนในชนบทและเมืองขนาดเล็ก
หาก Brexit พิสูจน์ให้เห็นถึงการหันหลังให้กับสังคมอุดมปัญญาของตนเอง
เมื่อเสียงเตือนของบรรดานักวิชาการไม่สามารถเปลี่ยนใจชาวอังกฤษ
ที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรปได้
ชัยชนะของทรัมป์ก็พิสูจน์ความเพิกเฉยต่อสื่อสายแข็ง
ที่รับไม่ได้ต่อการมีทรัมป์เป็นประธานาธิบดี
นอกจากโอกาสในการทำความเข้าใจสังคมอเมริกัน สิ่งที่โลกได้เรียนรู้ไปพร้อมกันก็คืออวสานของสื่อในฐานะผู้ทรงอิทธิพล หาก Brexit พิสูจน์ให้เห็นถึงการหันหลังให้กับสังคมอุดมปัญญาของตนเอง เมื่อเสียงเตือนของบรรดานักวิชาการไม่สามารถเปลี่ยนใจชาวอังกฤษที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรปได้ ชัยชนะของทรัมป์ก็พิสูจน์ความเพิกเฉยต่อสื่อสายแข็งที่รับไม่ได้ต่อการมีทรัมป์เป็นประธานาธิบดีและพากันออกมารับรองฮิลลารีเท่านั้น (ไม่นับผู้ได้รับรางวัลโนเบลอีก 70 ชีวิตที่ร่วมกันลงนามรับรองฮิลลารีอย่างเป็นทางการ)
ไม่ว่าจะเป็น Brexit หรือชัยชนะของทรัมป์ (รวมถึงคะแนนเสียงที่ลดฮวบของผู้นำเยอรมันที่เปิดบ้านรับผู้อพยพ) ทั้งหมดนี้บอกให้เรารู้ด้วยว่าโลกกำลังปรับหาสมดุลใหม่ นั่นคือ ‘ความคิดต่อต้านโลกาภิวัตน์’ ที่ผุดขึ้นมาค้างงัดกับ ‘โลกาภิวัตน์’ รวมไปถึงการจัดเรียงตัวเองใหม่ของสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์เอง
เราจะหลอมรวมกันในมิติใดบ้าง และในมิติใดบ้างที่ยังอยากขีดเส้นพรมแดนเอาไว้
อย่างน้อย ทรัมป์ก็ปลุกความกล้าของชาวอเมริกันขึ้นมาอีกครั้ง
หากมองไปข้างหน้า มันคือโอกาส 50/50 ที่ทรัมป์จะพาอเมริกาไปสู่วันดีหรือวันร้าย (และอาจจะ 50/50 ที่จะอยู่ได้ถึง 8 ปี) แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ ‘การเปลี่ยนแปลง’
มีคนเคยบอกว่า นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้จากการก่อกวน (Disrupt) โดยคนที่ไม่มีตัวตนในวงเก่า หากมองโลกในแง่บวก นี่คือโอกาสของอเมริกาในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมือง ด้วยการมีคนใหม่ซึ่งในด้านหนึ่งมีมุมทื่อๆ ในแบบทรัมป์เข้าไปสร้างความรำคาญ เหมือนเอาเด็กอนุบาลไปถามคำถามพื้นๆ กับรุ่นใหญ่ แล้วไม่มีใครตอบได้ เพราะทุกอย่างถูกทำให้ซับซ้อนจนไม่มีอะไรเป็นเหตุเป็นผลอีกต่อไป ไม่แน่ว่าอะไรๆ อาจได้รับการจัดเรียงใหม่จากการเข้าไปของทรัมป์ก็เป็นได้
และเป็นไปได้ด้วยเช่นกันว่า ต่อจากนี้ไปทุกคนทุกฝ่ายจะช่วยกันตรวจสอบทรัมป์ อเมริกาจะมีผู้นำที่เงี่ยหูฟังและเรียนรู้อย่างหนัก
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การที่ทรัมป์ปลุกให้คนอเมริกันมองหา New Deal
แต่คือตัวเขาเองที่เป็น New Deal ของอเมริกา
ซึ่งเลือกแล้วว่าจะดวลปืน วัดโชคกันแบบ 50/50
หากมองโลกในแง่บวกกว่านั้นอีก ความยืดหยุ่น ความเป็นนักปฏิบัติ และการมุ่งหวังกำไรในแบบนักธุรกิจ อาจใช้เป็นข้อดีในการบริหารประเทศ เพื่อออกจากกับดักอุดมการณ์ทางความคิดแบบเดิม หรือแม้การเดินออกจากระบบการเมืองแบบสองพรรค (ในทางปฏิบัติ) ที่ไม่แน่ว่าเหมาะแก่การใช้งานอีกต่อไป
ไม่แน่ด้วยซ้ำว่าทรัมป์อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เข้ากับความโผงผางของอเมริกา ใครจะไปรู้ว่าบางทีคนอเมริกันอาจกำลังต้องการผู้นำที่พวกเขามองออก มากกว่าผู้นำที่เข้าไปอยู่ในทำเนียบขาวแล้วไม่มีใครรู้ว่าทำอะไร ตอบตัวเองไม่ได้ว่าทำไมฉันจึงเสียภาษีเพื่อส่งทหารไปทำสงคราม
และหากมองโลกในแง่บวกที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่การที่ทรัมป์ปลุกให้คนอเมริกันมองหา New Deal แต่คือตัวเขาเองที่เป็น New Deal ของอเมริกา ซึ่งเลือกแล้วว่าจะดวลปืน วัดโชคกันแบบ 50/50 เมื่อตัดสินใจให้โอกาสทรัมป์
นี่คือเรื่องราวความฝันครั้งใหม่ของอเมริกา แม้จะครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่สักหน่อย แต่ความฝันก็คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงดินแดนแห่งนี้มาทุกยุคทุกสมัย
คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากเอาใจช่วย ขอให้เป็นฝันดีในที่สุด