จากภาพยนตร์ coming of age เกี่ยวกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อ 19 ปีที่แล้ว กลายมาเป็นซีรีส์ที่วัยรุ่นดูกันทั้งบ้านทั้งเมืองอย่าง O-Negative รักออกแบบไม่ได้ ซึ่งสาเหตุที่ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับความนิยมสูง นอกจากจะเป็นเรื่องราวที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มคนดูส่วนใหญ่ที่เป็นวัยรุ่นแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะนักแสดงนำทั้ง 5 คน ที่ต่างก็ถ่ายทอดตัวละครในเรื่องออกมาได้เป็นอย่างดี

แล้วเพราะอะไรพวกเขาถึงสามารถแสดงได้อย่างเป็นธรรมชาติจนทำให้คนดูเชื่อว่าพวกเขาคือ ปืน ฝุ่น ปริม ชมพู่ และอาร์ทจริงๆ

เพราะช่วงที่เป็น ‘นักศึกษา’ ในรั้วมหาวิทยาลัยของพวกเขาเหมือนกับของตัวละครอย่างนั้นหรือ?

หลังจากที่เราได้พูดคุยกับนักแสดงนำทั้ง 5 ก็ทำให้เราได้รู้ว่า ความสุข ความรัก และมุมมองในชีวิตมหาวิทยาลัยของพวกเขาเป็นอย่างไร

รักออกแบบไม่ได้ของ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร

ชีวิตประจำวันในการเป็นนักศึกษาของต่อ คือการพยายามเลี่ยงการเป็นจุดสนใจ ถึงแม้จะมีความสุขกับการที่มีคนรุมล้อม แต่มันก็ทำให้ต่อกลัวว่าจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น

“เอาจริงๆ ชีวิตปกติผมกลัวการถูกสายตาคนเยอะๆ มอง เวลาอยู่มหาวิทยาลัยผมเลยพยายามเลี่ยงจุดที่มีคนเยอะ ถนนสายหลักใน ม.เกษตร จะไม่มีวันได้เจอต่อ เพราะไม่อยากทำให้ใครเดือดร้อน เคยมีครั้งหนึ่งที่ผมต้องเข้าไปเรียน แต่ก่อนเข้าห้องดันโดนรุมล้อมอยู่ข้างล่างจนไม่ได้ขึ้นไปเรียนวิชานั้นเลย ตัวผมโอเคกับการโดนรุมแบบนั้นนะ แต่บางครั้งมันก็เกิดความวุ่นวาย เสียงดังขึ้นไปถึงห้องเรียนข้างบน ซึ่งมันเป็นการรบกวนคนอื่น ผมเลยไม่อยากให้ใครรู้ว่า เฮ้ย! ผมอยู่ตรงนี้นะ แต่บอกก่อนว่าผมไม่ได้แอนตี้คนเหล่านั้นนะ รู้สึกดีมากด้วยซ้ำ และมีความสุขมากๆ ด้วย แต่บางสถานที่เรากังวลว่ามันจะไปรบกวนหรือกระทบใครเท่านั้นเอง”

และเมื่อถามถึง ‘ความสุข’ ในรั้วมหาวิทยาลัยของต่อ เขาเล่าว่าเกิดขึ้นจากตอนที่ไปรับน้องเมื่อสมัยที่เป็นเฟรชชี และเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกโชคดีมาก

“เรื่องที่ดีที่สุดสำหรับผมคือการได้เจอกลุ่มเพื่อนสนิทในมหาวิทยาลัย แล้วมันดีมากตรงที่วันนั้นผมรู้จักกันแค่ไหน วันนี้มันก็ยังอยู่ด้วยกันเท่านั้น”

แล้ว ‘ความรัก’ ในความคิดต่อออกแบบได้ไหม?

“ความรักออกแบบไม่ได้หรอก แต่มันแอบบอกได้ (หัวเราะ) มันออกแบบไม่ได้หรอก เพราะคุณไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน คุณอาจจะรู้ว่าความรักของคุณเกิดขึ้นตอนไหน แต่ไม่มีทางรู้หรอกว่าของอีกคนเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เหมือนกับชีวิตคนนี่แหละที่ออกแบบไม่ได้ บางคนอาจบอกว่ามันวางแผนได้ แต่เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์แน่ๆ อย่างผมเองแม้จะมีวางแผนอะไรเอาไว้ แต่ชีวิตคนเราแม่งชอบเล่นตลก ชอบทำให้อะไรที่เราตั้งใจไว้ สุดท้ายก็ทำไม่ได้”

‘มุมมอง’ เรื่องการรับน้อง ต่อมองว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องตลก

“ปกติการรับน้องมันต้องสร้างเรื่องดราม่าบิลด์ให้คนร้องไห้ ก่อนจะปิดท้ายด้วยประโยคซึ้งๆ 2-3 ประโยค แต่รุ่นผมตอนปี 1 ก็ดูกันออกว่ามันเป็นละคร มองตาก็รู้ว่าโกหก แต่พวกรุ่นพี่ไม่ยอมรับแล้วก็ลากไปจนจบ ผมว่ามันเป็นเรื่องตลก พอเราอยู่ปี 4 ดันมานั่งเครียดเรื่องนี้ว่าจะสร้างซีนให้น้องซึ้งยังไง ตลกมาก ส่วนตัวผมมองว่ามันคงเป็นเพราะเราอยู่มา 4 ปี ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ มากมายจนรักมหาวิทยาลัย เราเลยอยากทำยังไงก็ได้ให้น้องรักเหมือนกับที่เรารัก ผมเลยคิดว่าวงจรแบบนี้คงไม่มีวันหายไป บางครั้งมันก็เป็นวงจรที่สวยงามเหมือนกันนะ”

ความสุขที่เรียบง่ายของ เก้า-สุภัสสรา ธนชาต

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเก้าแตกต่างกับ ‘ฝุ่น’ อย่างสิ้นเชิง เพราะตัวตนจริงๆ ของเก้านั้นไม่ได้เป็นเด็กกิจกรรมเลยแม้แต่นิดเดียว แถมมีชีวิตที่เรียบง่ายมาก คือเลิกเรียนก็กลับบ้าน หรือไม่ก็ไปทำงานต่อแค่นั้น

“เก้าไม่ได้เป็นเด็กกิจกรรม เรียกว่าเป็นคนที่ไม่เอากิจกรรมเลยก็ได้นะ เพราะไม่อินกับการทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเท่าไหร่ พวกกิจกรรมอย่างห้องเชียร์นี่ไม่ได้เข้าร่วมเลยสักครั้ง รวมๆ แล้วต้องบอกว่าชีวิตห่างไกลจากมหาวิทยาลัยมากพอสมควร เพราะส่วนใหญ่เรียนเสร็จจะกลับบ้าน หรือไม่ก็ไปทำงานต่อ ชีวิตมหาวิทยาลัยของเก้าเรียบง่ายมาก ไม่มีอะไรให้เล่าเลยนะ อย่างตอนปี 1 ก็เป็นช่วงที่ ฮอร์โมนส์ฯ กำลังมีกระแสดังขึ้นมา พอเลิกเรียนก็ต้องไปทำงานต่อ ไม่ค่อยมีเวลานั่งเล่น ไปกินข้าว หรือไปเที่ยวไหนต่อไหนกับเพื่อนสักเท่าไหร่”

‘ความสุข’ หรือเรื่องดีๆ ของเก้าในช่วงที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยอาจทำให้หลายคนมีคำถามว่า “จริงเหรอ?” ซึ่งเป็นความสุขที่เรียบง่ายอย่างที่เก้าได้บอกไว้ตอนต้นจริงๆ

“คงจะเป็นช่วงที่ได้เรียนมั้งคะ เพราะเวลาเรียนสำหรับเก้าคือการพักผ่อน งงไหม (หัวเราะ) คือถ้าไม่ได้เรียน เก้าก็ทำงาน ดังนั้นการได้มานั่งเรียน 3 ชั่วโมงในคลาส ฟังครูอธิบาย มันคือการพักผ่อนที่ดีสำหรับเก้าเลยแหละ”

เก้าได้อธิบาย ‘ความรัก’ ของตัวเองว่าเธอชอบคนที่เป็นผู้ใหญ่และคิดว่าความรู้สึกมันเป็นเรื่องซับซ้อน

“ส่วนตัวเราไม่เคยชอบเพื่อนตัวเองเลย อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าตัวเองโตกว่า คือบางทีมันจะมีความรู้สึกว่าเพื่อนโตไม่ทันกัน ดังนั้นเราเลยชอบคนที่โตกว่า ให้คำปรึกษาเราได้ เพราะบางเรื่องก็คุยกับคนรุ่นเดียวกันก็ไม่เข้าใจ ความรักออกแบบไม่ได้ แต่การกระทำออกแบบได้ นอกจากความรักแล้ว ความรู้สึกก็เป็นสิ่งที่ออกแบบไม่ได้ มันเป็นเรื่องซับซ้อนของมนุษย์”

แล้ว ‘มุมมอง’ ของเก้าเกี่ยวกับประเพณีต่างๆ ในรั้วมหาลัยเป็นยังไง?

“ส่วนใหญ่เราก็เข้าใจถึงการมีอยู่ของประเพณีที่สืบทอดกันในคณะอยู่แล้ว อย่างกิจกรรมรับน้อง หรือกิจกรรมสันทนาการ เราเข้าใจว่าเขาต้องการละลายพฤติกรรม อยากทำให้น้องๆ สนุกสนาน อยากให้น้องๆ รักกัน ได้ทำความรู้จักเพื่อนใหม่จากต่างที่ เอาจริงๆ ก็เข้าใจทุกอย่างนะ ไม่ถึงกับไม่เมกเซนส์จนยากจะเข้าใจเลย”

“ความรักที่เลวร้ายทำให้เราโตขึ้น” มุมมองความรักของ วี-วิโอเลต วอเทียร์

เด็กกิจกรรมอย่างวียอมรับอย่างตรงไปตรงมาเรื่องการเรียนของตัวเองในหลายๆ วิชาว่าถ้าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่เธอที่ไม่ชอบแล้วละก็ จะไม่สนใจและทิ้งมันในทันที

“เมื่อก่อนวีคิดว่าตัวเองตั้งใจเรียนนะ แต่เพิ่งมารู้สึกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย วีแค่จะตั้งใจกับเรื่องที่ตัวเองอยากรู้ ถ้าไม่ชอบก็จะทิ้งหรือไม่สนใจไปเลย แล้วสิ่งที่วีได้เรียนที่นี่ (นิเทศฯ จุฬาฯ) ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่วีชอบอยู่แล้ว ซึ่งมันไม่ได้ให้แค่ความรู้ มันทำให้เราเข้าใจสังคมมากขึ้น มีมุมมองกว้างขึ้น”

เรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยของวีก็คือ การที่เธอได้เพื่อนสนิทจากที่แห่งนี้ ถ้าหากเปรียบว่ามันคือ ‘ความสุข’ ของเธอก็คงไม่ผิดนัก

“สำหรับเราคิดว่าเพื่อนมหาวิทยาลัยเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดกลุ่มหนึ่งเลยนะ เขาจริงใจและหวังดีกับเราตามเบสิกที่เพื่อนควรจะเป็น เรียกว่าวีได้เพื่อนสนิทจากมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป วีว่าเพื่อนมหาวิทยาลัยมันมีความโตและเคารพในตัวตนของเรา เข้าใจว่าแต่ละคนมีพาร์ตอื่นๆ ที่เป็นส่วนตัวอยู่ สมมติถ้าเรามีความลับที่ไม่อยากบอก สำหรับเพื่อนมัธยมถ้ามารู้ทีหลังก็จะโกรธที่เราไม่ยอมบอก แต่เพื่อนมหาวิทยาลัยมันจะไม่มีอะไรแบบนั้นเลย โอเค เราเป็นเพื่อนสนิทกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องพูดทุกอย่างก็ได้ ตราบเท่าที่ยังมีความจริงใจให้กัน เขาก็คือเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของเรา”

นอกจากความสุขจากเพื่อนแล้ว ความเศร้าก็คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิต ‘ความรัก’ ของวีเมื่อตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย เธอบอกว่ามันเป็นความทรงจำที่เลวร้ายมากๆ

“ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเราได้เจอกับความรักที่เลวร้ายมากๆ จนทำให้เข้าใจคำว่า ความรักทำให้คนตาบอด แต่มันก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะลืม ถึงมันจะทำร้ายเรา ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เกิดสิ่งดีๆ ด้วย ทำให้เราโตขึ้น มันเข้ามาเติมเต็มชีวิตมหาวิทยาลัยให้ครบรสชาติ อีกอย่างทุกครั้งที่เราเศร้าก็มีเพื่อนอยู่ข้างเสมอๆ คอยทำให้เรื่องแย่ๆ กลายเป็นเรื่องตลก เลยทำให้ผ่านจุดนั้นมาได้ไม่ยากมาก”

วีได้บอกกับเราว่าคณะนี้ได้ให้อะไรดีๆ กับเธอหลายอย่าง แล้ว ‘มุมมอง’ ที่วีมีต่อสังคมภายในคณะของเธอเป็นยังไง? คำตอบคือ เธอไม่เข้าใจเลย

“อีกเรื่องที่ไม่เข้าใจ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มปลงแล้วก็คือเรื่องคน คณะที่วีเรียนเป็นคณะเล็กๆ ก็จริง แต่มันจำลองสภาพสังคมจริงออกมาได้ดีมากเลย สมมติถ้ามีใครเห็นต่างจากคนหมู่มากขึ้นมา คนหมู่มากก็จะรวมตัวกันแอนตี้คนคนนั้นอยู่หน่อยๆ ทั้งที่บางเรื่องมันก็ไม่ได้เซนสิทีฟถึงขนาดยอมรับกันไม่ได้ด้วยซ้ำไป มันเป็นเรื่องที่เราไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้นด้วย”

ความสุขที่ออกแบบได้ของ ก้อย-อรัชพร โภคินภากร

เมื่อได้พูดคุยกับก้อยก็สัมผัสได้ถึงความชอบและผูกพันธ์กับคณะนิเทศฯ จุฬา ซึ่งก้อยบอกกับเราว่าจริงๆ แล้วเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง เข้าร่วมทุกอย่าง และเธอชอบคณะนี้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเลยก็ว่าได้

“เราไม่มีภาพในหัวว่าคณะนิเทศศาสตร์เป็นยังไง แต่พอได้มาเห็นของจริง เราประหลาดใจและตกใจมากจริงๆ เพราะภาพที่เห็นคือทุกคนบ้าคลั่งกันมาก แต่ในความตกใจของเรามันก็รู้สึกอีกทางหนึ่งนะว่าคณะนี้ต้องสนุกมากแน่ๆ เรียกว่าชอบตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเลยก็ได้นะคะ หลังจากนั้นชีวิตการไปเรียนก็ไม่ได้จบลงแค่การไปเรียนอีกแล้ว มีกิจกรรมให้ทำทุกวัน และเราอินกับกิจกรรมพวกนั้นมาก”

การได้เป็นส่วนหนึ่งในละครเวทีเป็นสิ่งที่ทำให้ก้อยมี ‘ความสุข’ มากขึ้นในรั้วมหาลัย

“เคยมีคนพูดในคณะว่าให้ลองทำทุกอย่างไปก่อน ชอบหรือไม่ชอบค่อยว่ากันอีกที แล้วมันก็ทำให้รู้ว่าเราชอบการแสดง ชอบละครเวที เรื่องดีๆ ในมหาวิทยาลัยคงเป็นตอนทำละครเวที โดยเฉพาะตอนทำเวิร์กช็อป ได้ซ้อม ได้ขึ้นฟลอร์ด้วยกันจะเป็นโมเมนต์ที่ดีมากๆ เพราะเรามองว่าช่วงเวลานั้นและพื้นที่ตรงนั้นมันเหมือนสนามเด็กเล่น เราลองผิดลองถูกขนาดไหนก็ได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาด่าหรือตัดสินเรา เราว่าพื้นที่ตรงนั้นมันเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ที่แท้จริง เพราะมันเป็นการรวมตัวของทุกคนที่รักในสิ่งเดียวกัน รักในละคร”

และความชื่นชอบในละครเวทีทำให้ก้อยมี ‘มุมมอง’ ต่อการแสดงที่เปลี่ยนไป

“เมื่อก่อนชอบคิดเกี่ยวกับนักแสดงว่าถ้าตั้งใจและทุ่มเทก็ต้องทำได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งมันทำให้เรารู้ว่าความคิดแบบนั้นมันผิด เพราะยิ่งตั้งใจ ยิ่งเครียดมาก แล้วมันพานให้แสดงไม่ได้ พอเจอสถานการณ์แบบนั้นเราก็กรี๊ดออกมาเลย แล้วเก็บไปร้องไห้ต่ออีก 2 คืน พอร้องไห้มาถึงจุดที่คิดว่ากูอยากตาย ถ้าตายแล้วคนอาจจะชื่นชมก็ได้ว่ากูรักสิ่งนี้จริงๆ แต่มันก็คิดแบบนั้นขึ้นมาแค่แป๊บเดียว จากนั้นก็เปลี่ยนความคิดไปเลย กลายเป็นถามตัวเองว่าที่ทำไปทั้งหมดมันเพื่ออะไร เพราะต้องการคำชมเหรอ มึงรักสิ่งที่ทำไปจริงๆ หรือเปล่า และสุดท้ายต่อให้ไม่มีใครชมสักคนเดียว แต่ถ้ามึงทำแล้วยังสนุกอยู่แค่นั้นก็จบ ข้อสำคัญมันอยู่ที่เราต้องยอมรับว่าสิ่งนี้เรายังทำไม่ได้ในวันนี้ ไม่เป็นไร ค่อยๆ ฝึกฝนไปจนกว่ามันจะดีขึ้น”

ส่วน ‘ความรัก’ ของก้อยนั้น เธอคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถออกแบบได้ แต่สิ่งที่ออกแบบได้คือความสุขต่างหาก

“เรื่องของความรู้สึกมันออกแบบไม่ได้ เราไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะเจอใคร เจอแล้วจะรู้สึกดีๆ กับเขาหรือเปล่า เมื่อก่อนเราเคยพยายามออกแบบความรักด้วยการพยายามเป็นคนแบบที่เขาชอบ สุดท้ายตัวเราจะรู้เองว่ามันไม่เวิร์ก แต่มีสิ่งหนึ่งที่ส่วนตัวคิดว่าออกแบบได้คือความสุข หมายถึงเราเลือกได้ว่าชีวิตจะมีความสุขด้วยวิธีไหน เมื่อเราพิจารณาแล้วรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ก็แค่วิ่งเข้าไปหามันเท่านั้นเอง”

 

“เพื่อนคือสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตมหาวิทยาลัย” ความสุขของ เก้า-จิรายุ ละอองมณี

จากเด็กที่อยู่ในสังคมเดิมๆ มาตลอดชีวิต การเข้ามหาวิทยาลัยจึงเป็นความท้าทายและสิ่งใหม่ที่เขาต้องเรียนรู้และปรับตัว เก้าบอกว่า สังคมใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรมากมาย

“ผมคบแต่กับเพื่อนกลุ่มเดิมๆ ตลอด พอได้เข้ามหาวิทยาลัยเลยคิดว่าต้องได้เจอคนใหม่ๆ สาวใหม่ๆ บ้างแน่ๆ มันต้องสนุกสุดเหวี่ยง สาดเลือดละเลงเละเทะแน่นอน แต่เอาเข้าจริงก็หงิมๆ เขินๆ ไม่ค่อยอะไรเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นผมก็เจออะไรใหม่ๆ เยอะมาก สังคมเปิดกว้างขึ้น ได้เจอเพื่อนต่างโรงเรียน แต่ละคนก็มากันคนละแบบ มีประสบการณ์กันคนละอย่าง บางคนมีความคิดโตมาก กร้านโลกมาก ซึ่งทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะ ได้พบเจอความหลากหลายที่ก่อนหน้านี้เราไม่รู้จัก”

องค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เก้ามี ‘ความสุข’ ในชีวิตการเป็นนักศึกษานั่นก็คือเพื่อน และมันทำให้เขารู้สึกสนุกมากในการต้องรู้จักคนหลากหลายแบบ

“เพื่อนคือสิ่งที่ดีที่สุดในมหาวิทยาลัย การได้เห็นคนต่างพ่อต่างแม่มาช่วยเหลือกันแบบนี้ ผมรู้สึกว่ามันมีความหมาย เรารู้สึกดีกับสิ่งนั้น แม้กระทั่งตอนที่ทะเลาะกัน ไม่ชอบขี้หน้ากัน แต่สุดท้ายพอได้คุยกันก็ลงตัวด้วยดี การมีเพื่อนมันคือเสน่ห์ เป็นสีสันในชีวิต ถ้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้วไม่มีเพื่อน ผมคงไม่อยากเรียน มันคงไม่มีอะไรให้จดจำสักเท่าไหร่ การได้เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยทำให้ได้เจอเพื่อนหลากหลายมากๆ ซึ่งตัวผมไม่ค่อยเชื่อคำพูดที่ว่าคบเพื่อนดีจะไปในทางที่ดี ถ้าคบเพื่อนไม่ดีจะไม่ดีตามไปด้วย ผมคิดว่ามันอยู่ที่ตัวเราล้วนๆ ดังนั้นผมไม่ไปตัดสินคน ผมขอสนุกกับการรู้จักคนหลากหลายดีกว่า”

เก้าอาจจะเป็นเพียงคนเดียวในบรรดานักแสดงนำที่ถือได้ว่าชีวิตจริงและตัวละครมีความคล้ายคลึงกันมากโดยเฉพาะ ‘มุมมอง’ เรื่องการรับน้อง ที่เก้าบอกว่า ไม่เก็ตเลยจริงๆ

“เรื่องที่ไม่เก็ตเลยจริงๆ สำหรับผมคือการรับน้อง ให้ไปโดนว้ากแบบนี้ ผมเลยไปเข้าแค่ 2 ครั้งเอง มีเพื่อนเล่าให้ฟังว่าในนั้นมีทั้งร้องไห้ ขู่ตัดรุ่น ไอ้นั่นไม่มาเลยทำให้ไอ้นี่โดนด่า ผมมองไม่เห็นเลยว่าแบบนั้นมันจะทำให้เรารักกันจริงๆ ได้ยังไง อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวสุดๆ เลยนะครับ บางคนอาจมองว่ามันเวิร์ก แต่กับบางคนมันก็ไม่เวิร์ก น่าจะมีวิธีอย่างอื่นให้ทำอีก ผมเลยไม่เห็นถึงความจำเป็นของการรับน้อง มันเหมือนกับการบังคับทางอ้อม แต่ต่างคนก็ต่างความคิด”

สำหรับเรื่อง ‘ความรัก’ แบบเพื่อนชอบเพื่อนของเก้า เขายอมรับว่าไม่ค่อยมีประสบการณ์ทำนองนี้เท่าไหร่ และเปรียบความรักแบบนี้ว่าเป็นความรักที่หวานขม

“ผมไม่ค่อยมีประสบการณ์แอบชอบเพื่อนสักเท่าไหร่ แล้วผมก็ไม่เห็นด้วยกับการชอบแล้วไม่กล้าบอกนะ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าเกิดขึ้นกับตัวเองแล้วจะกล้าหรือเปล่า (ยิ้ม) ผมว่าการชอบเพื่อนมันเหมือนการถูกหวยกับโดนหวยแดกในเวลาเดียวกัน คือมันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่เราได้อยู่ข้างๆ คนที่ชอบ เพียงแค่เราไม่ได้เป็นแฟนเท่านั้นเอง มันหวานขมนะ จะไปต่อก็ได้ไม่สุด ถ้าจีบติดก็โอเค แต่ถ้าจีบไม่ติดก็ซวยไป”

Tags: