กลายเป็นปรากฏการณ์เพียงชั่วข้ามคืน สำหรับ I HATE YOU I LOVE YOU ซีรีส์สืบสวนสอบสวนแกะกล่องที่เป็นการร่วมมือกันของนาดาว GDH และ LINE TV เพราะเเค่เพียงยอดผู้ชมออนไลน์สดๆ ใน EP แรกก็ปาไปกว่า 400,000 วิวเเล้ว แถมภายใน 24 ชั่วโมง ยอดผู้ชมใน EP ดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 5 ล้านวิว! สร้างปรากฏการณ์ ‘ปลุกความเป็นโคนันในตัวคุณ’ ทั่วหน้านิวฟีด ผู้ชมหลายรายต่างพากันเชื่อมโยงเนื้อเรื่อง และไขปมปริศนากันอย่างดุเดือด

แต่ใครเล่าจะรู้! เบื้องหลังซีรีส์ลึกลับที่ชวนน่าค้นหามีที่มาอย่างไร? The Momentum ขอเชิญคุณร่วมไขปมข้อสงสัยไปพร้อมๆ กัน

Photo: นาดาวบางกอก

เบาะแสที่ 1 | จุดกำเนิดความพิศวงชวนติดตาม

ต้นปี 2015 LINE TV และ GDH (ในตอนนั้นยังเป็น GTH) ได้จับมือร่วมกันผลิตคอนเทนต์ป้อนแพลตฟอร์มดังกล่าวด้วยซีรีส์ตอนสั้น 4 ตอนจบอย่าง STAY ซากะ..ฉันจะคิดถึงเธอ ภายใต้การกำกับของ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ หลังจากที่ LINE เห็นศักยภาพการปลุกปั้น ฮอร์โมนจนโด่งดังเป็นพลุแตก และพลอยทำให้ช่อง ONE ของทาง Grammy กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น

“ช่วงแรกที่คุยกับ LINE ผมคิดว่ามีงานแบบหนึ่งที่ยังไม่เคยทำ และอยากทำมาก ผมชอบแนวทางแบบ Suspense ที่มีความลึกลับชวนติดตาม และคิดว่ามันน่าจะใหม่กับละครไทย เคยคิดเหมือนกันว่าอยากลองทำกับหนังดู แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะแป้กได้ เลยไม่มีโอกาสได้ทำสักที แม้จะเปลี่ยนจากกำกับหนังมาทำซีรีส์แล้วก็ตาม

“ผมลองเสนอซีรีส์แนว Suspense ไปก่อน STAY ด้วยซ้ำ ซึ่งทาง LINE ก็ตอบตกลง แต่ไทม์ไลน์ในการเปิดตัวของเขากระชั้นชิด ผมรู้สึกว่าเสี่ยงเกินไปกับการทำอะไรยากขนาดนั้น ท้ายที่สุดจึงลงเอยด้วยการสร้าง STAYก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ระหว่างเราและ LINE ก็ยังมีการติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ เพราะเขาไม่อยากให้เราทิ้งโปรเจกต์ซีรีส์ Suspense จนกระทั่งจัดสรรเวลาได้ลงตัว ซีรีส์ HATELOVE ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างเสียที”

ผมลองเสนอซีรีส์แนว Suspense ไปก่อน STAY ด้วยซ้ำ ซึ่งทาง LINE ก็ตอบตกลง แต่ไทม์ไลน์ในการเปิดตัวของเขากระชั้นชิด ผมรู้สึกว่าเสี่ยงเกินไปกับการทำอะไรยากขนาดนั้น

Photo: นาดาวบางกอก

เบาะแสที่ 2 | เล่าเรื่องแบบ HATELOVE

อีกหนึ่งจุดเริ่มต้นการเล่าเรื่องแบบ 5 ตอนจบผ่านตัวละครแต่ละตัว เกิดจากปัญหาของซีรีส์ตอนสั้นที่ส่วนใหญ่มักจะถูกผู้ชมติงว่าเป็นความสนุกที่ไม่สุด ในฐานะผู้กำกับ การต้องทำซีรีส์ Suspense ตอนสั้นคือโจทย์ข้อบังคับ แต่การต้องทำซีรีส์ตอนสั้นโดยไม่ทำให้คนดูรู้สึกว่าสั้นก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายที่เจ้าตัวต้องการจะถอดสมการ

“ตอนคุยกันในทีม มีคนเสนอขึ้นมาว่าให้แต่ละตอนนำเสนอผ่านมุมมองของตัวละครแต่ละตัวดีไหม ถ้าในเรื่องมีตัวละครที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์แค่ 5 ตัว ซีรีส์มี 5 ตอนจบ เราเล่าผ่านตัวละครก็น่าจะตอบโจทย์ได้ว่าทำไมซีรีส์ถึงมีแค่ 5 ตอน แต่บอกก่อนว่ามันไม่ใช่ ราโชมอน เพราะราโชมอนคือการตีความผ่านทัศนคติของตัวละคร ขณะที่ HATELOVE จะนำกล้องไปตามแค่ตัวละครตัวเดียวในแต่ละตอน เป็นการถ่ายทอดในเชิงมุมมอง ซึ่งเรื่องทั้งหมดจะเล่าออกมาตรงๆ ไม่ถูกบิดเหมือนการเล่าผ่านทัศนคติ”

เมื่อปรึกษาหารือกันในทีม ทั้งรูปแบบและวิธีการจากหนังอย่าง Vantage Point และละครเวที Sleep No Moreจนได้โครงเรื่อง และคอนเซปต์คร่าวๆ กระทั่งเข้าสู่ขั้นตอนพัฒนางานกับทีมเขียนบท ถึงอย่างนั้นทรงยศก็ไม่มั่นใจกับความใหม่ของงานสไตล์นี้อยู่ดี เขาจึงเรียกนักแสดงมานั่งอ่านบทพร้อมกันเพื่อหาช่องโหว่ที่เกิดขึ้น

“ในบทร่างแรกที่เราลองเขียนดู ตอนที่ 1 น้องๆ ทุกคนดูสนุกกันมาก แต่พอถึงตอนที่ 2 นักแสดงส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเบื่อ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำกับในตอนแรก ผมก็กลับมาคิดกันว่าจะทำยังไงให้คงความสนุกได้อยู่ สุดท้ายเลยคิดว่าคงต้องมีเหตุการณ์บางอย่างที่สร้างความแตกต่างให้กับเรื่อง โดยที่แต่ละตอนเราอาจจะไม่รู้เลยว่าตัวละครตัวอื่นไปทำอะไรมา”

Photo: นาดาวบางกอก

เบาะแสที่ 3 | Suspense ในโลกวัยรุ่น

เมื่อโทนของซีรีส์ดูหม่นและดาร์ก ประกอบกับแนวทางของเนื้อเรื่องที่ค่อนไปทางสืบสวนสอบสวนก็อาจทำให้ไม่น่าจะเข้ากันได้กับช่วงความเป็นวัยรุ่นของตัวละคร การเลือกนักแสดงในเรื่อง HATELOVE ที่อยู่ในช่วงวัยดังกล่าวน่าจะสร้างความประหลาดใจให้ใครหลายคนไม่ใช่น้อย

“โจทย์ของผมในการสร้าง HATELOVE อย่างแรกคือ ผมมีหน้าที่ดูแลบริษัทนาดาวที่มีเป้าหมายในการพัฒนาศิลปิน นักแสดงนาดาวส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่น ไม่ว่าจะพัฒนาโปรเจกต์อะไรใหม่ๆ ก็จะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาศิลปินในสังกัดไปด้วย ส่วนใหญ่เวลาเขียนบท หรือตัวละคร ผมก็จะเขียนจากน้องที่เห็น แตกต่างจาก GDH ที่จะเขียนบทจากตัวละครก่อน แล้วค่อยมองหานักแสดงที่เหมาะสม เหมือนว่าเรามีหน้าที่ต่างกัน GDH ทำหนัง นาดาวพัฒนาศิลปิน

“อีกสาเหตุหนึ่ง ผมรู้สึกว่าการเล่าเรื่อง Suspense ในแบบวัยรุ่นมีความน่าสนใจมาก เพราะ Suspense ที่เราเห็นส่วนใหญ่จะอยู่ในบริบทของผู้ใหญ่ พอเปลี่ยนมาทำแนวนี้มันก็ความใหม่อยู่แล้ว ผมไม่อยากเปลี่ยนแนวทางการทำงานทีเดียวแล้วเปลี่ยนหมดเลย ยังอยากจะอยู่กับตัวละครในช่วงวัยที่คุ้นเคย และรู้จักเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็ยังพอจะควบคุมอะไรบางอย่างได้ ถ้าเปลี่ยนแนวทางใหม่หมดเลย เราอาจจะคุมมันไม่ได้”

Photo: YouTube Channel, Nadao Bangkok

เบาะแสที่ 4 | ‘คลิปแนะนำตัว’ เคล็ดลับที่ให้ผลเกินคาด

ถ้ายังจำกันได้ สมัยที่ ฮอร์โมนฯ แต่ละซีซันใกล้ออนแอร์ นาดาว และ GDH ก็จะมีวิธีการโปรโมตที่แตกต่างกันออกไป ทั้งรูปภาพแนะนำนักเรียนนาดาว คลิปแนะนำพละ ขนมปัง หรือส้มส้ม หรือล่าสุดกับคลิปสกายชวนไปเอากันใน HATELOVE แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่าที่มาของวิธีการโปรโมตเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ

“มันเริ่มมาจากช่วง ฮอร์โมนฯ ซีซัน 1 ทีมเขียนบทของเราค่อนข้างเนิร์ด เขาจะเขียนไว้เลยว่าตัวละครที่มีบุคลิกแบบนี้ต้องเกิดวันไหน ราศีอะไร เรียนสายไหน เลขประจำตัวเท่าไร ซึ่งข้อมูลพวกนี้ได้ใช้จริงก็แค่ผิวๆ แต่พอทีมโปรโมตเห็น เขาก็เอาข้อมูลและภาพตัวละครมาทำกราฟิกแล้วแชร์ในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่ามีคนแชร์เยอะมาก กลายเป็นความรู้ใหม่ที่ผมก็เพิ่งจะรู้ว่าไอ้สิ่งนี้มันก็ใช้โปรโมตได้ด้วย!

“เลยต่อยอดมาเป็นคลิปแนะนำตัวละครใน ฮอร์โมนฯ ซีซัน 3 ช่วงนั้นผมเป็นโปรดิวเซอร์ ระหว่างที่เขากำลังถ่ายทำกัน พอเห็นว่านักแสดงรอเข้าฉาก ผมเลยลองคิดเล่นๆ ว่างั้นเราไปถ่ายคลิปแนะนำตัวละครดีกว่า ปรากฏว่าพอปล่อยออกมาแล้วมันก็เวิร์กมากๆ อีกเช่นกัน เพราะทำให้คนที่ติดตัวละคร ฮอร์โมนฯ จากภาคเก่าได้รู้จักตัวละครในภาคใหม่

“ใน HATELOVE เราก็ใช้วิธีเดิม แต่แตกต่างในด้านโปรดักชัน พอเป็นผู้กำกับ ก็ไม่มีเวลาไปถ่ายฟุตเทจแบบเดิม งบก็ไม่พอทำโปรดักชัน เลยสรุปกันว่าคงต้องเป็นคลิปตัวละครพูดหน้ากล้องธรรมดาๆ นี่แหละ แต่วิธีไหนที่จะดึงดูดความสนใจของคนดูได้ เลยคิดกันว่าสิ่งที่ตัวละครแต่ละตัวพูดออกมา น่าจะเป็นทัศนคติ และความคิดของพวกเขา ผมเดาว่าจุดนี้แหละที่น่าจะสร้างความสนใจให้คนดูได้ แต่เราก็จะค่อยมาศึกษากันอีกทีว่าผลที่ออกมาเวิร์กหรือล้มเหลวเพราะอะไร”

Photo: YouTube Channel, GMM GRAMMY OFFICIAL

เบาะแสชิ้นที่ 5 |  สีครามหมายความเหมือนใจมนุษย์…มันลึกเกินจะรู้

อีกหนึ่งประเด็นที่เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควรสำหรับ HATELOVE คือเพลงประกอบ เชื่อว่าความรู้สึกแรกของหลายๆ คนที่ได้ดูทีเซอร์ตัวอย่าง และได้ยินเพลงประกอบครั้งแรกคงจะสับสนไม่น้อย เพราะแม้จะรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าคือเพลง คราม แต่เสียงที่เราได้ยินกลับไม่ใช่เสียงพี่ตูนที่เราคุ้นเคย! สืบค้นเพิ่มเติมเราจึงพบว่าเสียงร้องดังกล่าวเป็นของ พัด-ชนุดม สุขสถิตย์ นักร้องนำวง Chanudom ศิลปินกลุ่มแนว Theatrical Rock ที่นำการแสดง และดนตรีมาผสมผสานกันได้อย่างเฉพาะตัว

“ตอนนั้นที่เลือกเพลง คราม มา เพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้มันพูดถึงตัวละครที่มีจิตใจยากแท้หยั่งถึง รู้หน้าไม่รู้ใจ โดยส่วนตัวก็ชอบ Bodyslam และเพลง คราม เป็นทุนเดิม ตอนนั้นยังถกกันในทีมเลยว่าเพลง คราม มันแทนค่าของซีรีส์เรื่องนี้  มันพูดเรื่องมวลอากาศที่เป็นนามธรรมมากๆ เข้าถึงได้ทุกตัวละคร แต่ปัญหาก็คือ ผมรู้สึกว่าเพลง คราม มันมีความเพื่อชีวิตอยู่นิดๆ ขณะที่ HATELOVE ก็โคตรวัยรุ่น โคตรผู้หญิง ถ้าวันหนึ่งจะเอามาใช้ก็ต้องผ่านการดัดแปลง

“ประกอบกับผมเป็นคนยุคเก่า ไม่ค่อยฟังเพลงแนวๆ เท่าน้องในทีม เพลงใน ฮอร์โมนฯ ส่วนใหญ่ก็มาจากทีมเขียนบท ช่วงที่กำลังหานักร้องใหม่ วรรณแวว (ทีมเขียนบท) ก็เสนอมาว่าลองเอา พัด-ชนุดม มาร้องดีไหม ผมก็สงสัยว่าพัดคือใคร เคยเห็นมีคนแปะลิงก์ MV เพลงที่ก้อย รัชวินเป็นผู้กำกับ (เพลง เลือดชั่ว) ก็เลยลองไปฟังเพลงเขา ปรากฏว่าชอบมาก ประกอบกับซีรีส์เรามีทั้งตัวละครชายและตัวละครหญิง ผมรู้สึกว่าน้ำเสียงและตัวตนความเป็นพัดสามารถแทนค่าความเป็น unisex ได้เป็นอย่างดี แล้วเวลาที่เขาเพอร์ฟอร์ม ผมจะรู้สึกอินตามไปกับสิ่งที่เขากำลังพูด”

Photo: นาดาวบางกอก

คำสารภาพจากผู้บงการ | “งานเราไม่ได้สะท้อนสังคม เราไม่ได้มีความสามารถที่จะไปสอนใคร”

คำวิจารณ์และเสียงค่อนขอดที่ย้งมักจะต้องเผชิญจากการทำซีรีส์ที่พูดถึงวัยรุ่น นับตั้งแต่ ฮอร์โมนฯ กระทั่งเปลี่ยนผ่านสู่ HATELOVE กับคำถามที่ว่า ‘งานของคุณให้อะไรกับสังคม?’

“ผมไม่ได้คาดหวังว่างานของเราจะให้อะไรสังคม ไม่ชอบซะด้วยซ้ำกับการบอกว่างานเราสะท้อนหรือตีแผ่สังคม เวลาเล่าเรื่องผมแค่เล่าคาแรกเตอร์ตัวละคร หรือเหตุการณ์เฉพาะ ผมเชื่อว่าคนทุกคนไม่เหมือนกัน อาจจะมีผู้หญิงตรงๆ แรงๆ แบบนานะ หรือผู้หญิงแอ๊บแบบซอล แต่ซอลและนานะก็มีแค่คนเดียว คนอื่นก็ไม่ใช่นานะหรือซอลอยู่ดี เราไม่ได้พูดว่าตัวละครพวกนี้แทนค่าของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน แม้ว่าสังคมของวัยรุ่นในซีรีส์นี้อาจจะมีอยู่จริงในสังคม

“ส่วนตัวคิดว่าตัวเองไม่ได้มีความสามารถในการสอน เวลาทำหนังหรือซีรีส์ก็แค่อยากเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง ตั้งแต่ทำ ด.เด็ก ช.ช้าง แล้ว ผมไม่รู้หรอกว่าการเล่าประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กที่วาดรูปครั้งนั้น คนอื่นที่รับรู้จะได้อะไรหรือเปล่า แค่รู้สึกว่ามีเรื่องที่ค้างคาในใจมานานที่ไม่ลืมมันสักที ก็แค่อยากเล่าออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ ถ้าเล่าแล้วคุณไม่รู้สึกอะไรก็โอเค แต่ถ้าเล่าแล้วคุณได้เรียนรู้อะไรก็คงจะโอเคเหมือนกัน มันก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกับตอนที่ทำ HATELOVE ในตอนนี้”

ในระหว่างที่บทสนทนานี้เกิดขึ้น HATELOVE ยังไม่ได้ฤกษ์ลงจอ เราถามทรงยศว่าเขาจะรับมืออย่างไรหากงานชิ้นใหม่ไม่ได้เปรี้ยงปร้างเหมือนงานที่ผ่านๆ มา ทรงยศเพียงเเต่ตอบกลับมาว่า “ไม่ว่ามันจะออกมาดีหรือแย่ ผมจะพยายามศึกษามัน ผมอยากรู้ว่าถ้ามันดีและประสบความสำเร็จมันเป็นเพราะอะไร หรือถ้ามันแย่แล้วล้มเหลวมันเป็นเพราะอะไร ถ้าเราทำความเข้าใจปัจจัยพวกนี้ได้ งานต่อๆ ไปของเราก็จะพัฒนาขึ้นไปได้อีก”

ถึงตอนที่บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ ทรงยศและคนดูอย่างเราก็น่าจะมีคำตอบในใจแล้วว่า HATELOVE ในมุมมองของตัวเองประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่คำตอบที่ใครหลายคนยังคาใจว่าใครคือฆาตกร เห็นทีคุณ และ The Momentum ก็คงจะต้องไปพิสูจน์กันต่อไป…

ไม่ว่ามันจะออกมาดีหรือแย่ ผมจะพยายามศึกษามัน ผมอยากรู้ว่าถ้ามันดี และประสบความสำเร็จมันเป็นเพราะอะไร หรือถ้ามันแย่แล้วล้มเหลวมันเป็นเพราะอะไร ถ้าเราทำความเข้าใจปัจจัยพวกนี้ได้ งานต่อๆ ไปของเราก็จะพัฒนาขึ้นไปได้อีก

FACT BOX:

Sleep No More ละครเวทีแนวอินเตอร์แอ็กทีฟ ที่ทรงยศได้เป็นผู้ชมถึง 3 ครั้งระหว่างที่ไปนิวยอร์ก โดยรูปแบบของโชว์จะใช้ตึกทั้งตึกเป็นฉากในการแสดง โดยที่ผู้ชมจะได้ความรู้สึกเสมือนว่าอยู่ในโลกของละครเวที เพราะไม่มีที่นั่งให้คนดู! ผู้ชมสามารถเดินตามนักแสดงเพื่อติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครแต่ละตัวได้อย่างอิสระ เช่นเดียวกันหากคุณติดตามตัวละครตัวเดียว คุณก็จะไม่รู้เรื่องราวของตัวละตรตัวอื่นๆ