ต่อเนื่องมาจากบทความ ‘5 เหตุผลที่แอนิเมชั่นญี่ปุ่น Your Name สร้างปรากฏการณ์ ‘เต็มโรง’ ในเมืองไทย’ https://themomentum.co/momentum-hotpop-yourname

หากคุณยังไม่รู้จัก ‘มะโกะโตะ ชินไค’ (Makoto Shinkai)  เราเดาตอนนี้คุณก็น่าจะรู้จักเขาแล้วจากเรื่อง ‘Your Name’ แต่หากคุณรู้จักอยู่แล้ว เราก็อยากขอนำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับตัวของชินไคในมุมที่ลึกลงไปอีกทั้งในแง่ของการทำงาน เครื่องมือและเทคนิคที่ใช้ ผลงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ จุดที่สามารถสร้างแอนิเมชันที่โด่งดังและงดงาม พร้อมทั้งทำรายได้มหาศาลด้วยในเวลาเดียวกันอย่างได้ ‘Your Name’

Japanese director Makoto Shinkai (L) and producer Genki Kawamura at the San Sebastian Film Festival
Photo: Vincent West, Reuters/profile

บัณฑิตวรรณกรรมญี่ปุ่นที่เริ่มต้นทำงานกราฟิกดีไซน์

มะโกะโตะ ชินไค หาได้เริ่มต้นด้วยการเรียนจบคณะภาพยนตร์หรือกำกับหนังที่ไหนมา แต่อาชีพแรกที่เขาทำหลังเรียนจบเอกศึกษาวรรณกรรมญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยชูโอ ในปี 1994 คืออาชีพกราฟิกดีไซเนอร์ให้กับบริษัทเกม Falcom นานกว่า 5 ปี

ระหว่างนั้นเขาได้ทดลองทำแอนิเมชันขนาดสั้น ชื่อ ‘Other Worlds’ (1997) เรื่องเกี่ยวกับชายหญิงคู่หนึ่งและการพูดถึงความสัมพันธ์ของพวกเขา ที่เล่าเรื่องด้วยภาพขาว-ดำ มีการใช้เทคนิคภาพกราฟิก 3 มิติเข้ามาประกอบ และใช้เพลงประกอบจาก Erik Satie นักเปียโนคลาสสิกชาวฝรั่งเศส โดยทั้งหมดนี้เขาทำด้วยตัวคนเดียว

และแน่นอน เรื่องนี้เริ่มมีซิกเนเจอร์ของชินไคที่ติดตามาจนทุกวันนี้ นั่นคือ ‘ฉากในรถไฟ’

จนในปี 1999 ชินไคได้สร้างแอนิเมชันขนาดสั้นเรื่อง ‘She and Her Cat’ ขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องแรกของชินไค แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเรื่องนี้เป็น ‘เรื่องที่ได้รับรางวัลเรื่องแรก’ ต่างหาก

She and Her Cat แอนิเมชันขาว-ดำ ยาว 5 นาทีเรื่องนี้กล่าวถึงเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในห้องเช่าเล็­กๆ เหงาๆ กลางกรุงโตเกียวกับแมว และเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมของของแมว โดยชินไคให้เสียงพากย์เป็นแมวด้วยตัวเอง และให้แฟนสาวพากย์เป็นผู้หญิงในเรื่อง แอนิเมชันเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ DoGA CG Animation Contest ในปี 2000 จนทำให้ชื่อของชินไคกลายเป็นที่รู้จักในที่สุด

ต่อมาแอนิเมชันขนาดสั้นเรื่องนี้ได้ถูกนำมารีเมกเป็นแอนิเมชันสั้นๆ ต่อกันหลายตอนในปี 2016 มีชื่อว่า ‘She and Her Cat: Everything Flows’ ความยาว 4 ตอน ตอนละ 7 นาที

ลาออกทั้งที มาเอาดีทางนี้เลยดีกว่า

ปี 2000 หลังจากประสบความสำเร็จจาก She and Her Cat ชินไคก็เริ่มมีแผนจะลาออกจากบริษัทเกม Falcom แล้วออกมาทำแอนิเมชันอย่างจริงจัง โดยตอนนั้นเขาเริ่มคิดที่จะทำเรื่องใหม่ และได้วาดภาพของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในห้องนักบินไว้ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อสเก็ตช์เป็นไอเดีย

พฤษภาคมปี 2001 ชินไคลาออกจากบริษัทเกม Falcom เนื่องด้วยบริษัท MangaZoo Comics & Animation บริษัทสัญชาติอเมริกา เล็งเห็นถึงศักยภาพของชินไคและได้เสนอที่จะมอบเงินทุนให้ทำแอนิเมชันแบบจริงจัง

ในที่สุดชินไคก็ใช้เวลา 7 เดือน สร้างแอนิเมชันความยาว 25 นาที ‘Voices of a Distant Star’ (เสียงเพรียกจากดวงดาว) ผลงานแอนิเมชันภาพสีชิ้นแรกขึ้นมา โดยมีทีมงานฝั่งโปรดักชันทั้งสิ้น 3 คน หนึ่งคือนักแต่งเพลง ชื่อ Tenmon และนักพากย์อีกหนึ่งคน (ใช่ครับ แฟนของชินไคนั่นเอง) ส่วนงานอื่นๆ ที่เหลือคือ อำนวยการสร้าง, วาดภาพ, กำกับ, พากย์เสียง, ออกแบบตัวละคร, ลำดับการเคลื่อนไหว, คอมพิวเตอร์กราฟิก ฯลฯ

ชินไคเหมาเองคนเดียวทั้งหมด!!

ทำลายข้อจำกัดการสร้าง ‘แอนิเมชัน’

หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า ‘Voices of a Distant Star’ สามารถสร้างขึ้นมาด้วยตัวคนคนเดียวได้อย่างไร? (โดยไม่นับเพลงประกอบและให้แฟนช่วยพากย์) ทั้งคุณภาพงานและภาพฉากหลังที่อลังการระดับสตูดิโอสร้างขนาดนั้น อีกทั้งยังมีหุ่นยนต์ 3D เหาะไปเหาะมา และเอฟเฟกต์ที่ล้ำหน้ากว่าแอนิเมชันที่ผลิตจากหลายสตูดิโอในยุคนั้น

คำตอบคือ เนื่องจากชินไคเป็นคนทำงานทางด้านกราฟิกในบริษัทเกมมาก่อน โปรแกรมที่เขาถนัดคือ LightWave, Adobe Photoshop 5.0, Adobe After Effects 4.1 และ Commotion 3.1 DV Software แล้วเขาก็ใช้เวลา 7 เดือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ Power Mac G4 และการ์ดจอขนาด 16 MB เพียงเครื่องเดียว

ซึ่งทั้งหมดทำได้ด้วยการใช้โปรแกรมหลายๆ ตัวมาประยุกต์สร้างผลงาน ตรงไหนใช้ 3D ได้ก็ใช้ ตรงไหนต้องวาดเขาก็วาด ทำให้ชินไคกลายเป็นคนแรกๆ ที่ทำลายข้อจำกัดที่ว่า ‘แอนิเมชันเป็นงานต้องทำกันเป็นสตูดิโอ’ เพราะเขาทำให้เห็นแล้วว่าคนเดียวก็ทำแอนิเมชันเรื่องยาวได้ ขอแค่มีเครื่องมือที่เหมาะสม (กับความบ้าพลังและความขยันที่สุดยอด)

ขอวกกลับมาพูดถึง ‘Voices of a Distant Star’ เป็นแอนิเมชันไซไฟ-ดราม่า เล่าถึงความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวสองคน ที่ฝ่ายหญิงเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับเลือกให้ขับหุ่นยนต์ไปสู้กับมนุษย์ต่างดาวที่อยู่ขอบกาแล็กซี ส่วนฝ่ายชายได้แต่เฝ้ารออยู่ที่บนดาวเคราะห์โลก และเขาทั้งคู่สามารถติดต่อกันได้เพียงผ่านทางข้อความโทรศัพท์มือถือ แต่ยิ่งขบวนยานรบเคลื่อนตัวออกห่างจากโลกเท่าไหร่ สัญญาณที่จะส่งข้อความถึงกันได้ก็จะนานยิ่งขึ้น และความหวังในความสัมพันธ์ก็ริบหรี่ลงเรื่อยๆ

เหงาครับ… แค่พิมพ์อยู่นี่ น้ำตาก็หยดลงแหมะๆ บนคีย์บอร์ดแล้ว

แต่เอาเป็นว่าเรื่องนี้มีซิกเนเจอร์ของชินไคเพิ่มขึ้นมาอีก 4 ชิ้น นั่นก็คือ โทรศัพท์มือถือ, ท้องฟ้า, เวลา และระยะทาง

ต่อมาแอนิเมชันเรื่องนี้ได้กวาดรางวัลมากมายและพูดถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะประเด็นงานภาพที่ทรงพลังและงดงามอย่างยิ่ง ที่สร้างขึ้นโดยคนเพียงคนเดียว

เบื้องหลังความโลกสวยของชินไค

โลกสวยในที่นี้ ไม่ได้พูดถึงแนวคิดที่ว่าโลกสวยด้วยมือเรา แต่พูดถึง ‘โลกของชินไค’ หรืองานฉากหลัง (Background) ในแอนิเมชันของเขา เพราะงานภาพฉากหลังของชินไคเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์มากจนยากจะหาใครเทียบในยุคปี 2000-2010 เพราะด้วยเทคนิคพิเศษของสีและแสงที่ใช้นั้นมีความกึ่งสมจริงอย่างมาก

(ด้านบน) ภาพฉากจากเรื่อง ‘The Garden of Words’ ของชินไค
(ด้านล่าง) ภาพถ่ายจากสถานที่จริง

โดยความสมจริงที่ว่านั้นมาจากการวาดฉากที่มาจากภาพถ่ายจากสถานที่จริงเกือบทั้งสิ้น แล้วค่อยวาดทับไปทีละชั้น ทีละเลเยอร์ โดยชินไคเคยบอกว่าหากไม่ใช้วิธีนี้ การทำฉากหลังให้เสร็จสิ้นด้วยตัวคนเดียวนั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง แต่ก็ด้วยวิธีนี้เช่นกันที่ทำงานภาพออกมาสมจริง และงดงามมากขึ้นด้วยการเร่งสีและเพิ่มแสงลงไปตามแบบที่เขาต้องการ (เทคนิคภาพของชินไคมีลักษณะการปรับสีและแสงให้คล้ายภาพถ่ายแบบ HDR)

ภาพกระบวนการวาดฉากจากมิวสิกวิดีโอ ‘Smile, Minna no Uta: Egao’ ของชินไค
ดูต่อได้ที่: https://youtu.be/GCqUsZKVlPk

ความเหงาความเศร้าที่เกาะกินหัวใจ

ทั้งนี้ผลงานนับจาก ‘Voices of the Distant Star’ มา ชินไคก็เริ่มถวิลหาความเหงาขึ้นเรื่อยๆ (งานภาพก็งดงามขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน) และเขาก็เริ่มเล่นกับประเด็นของ ‘เวลา’ และ ‘ระยะทาง’ มากขึ้นในเรื่องถัดไป

เมื่อภาพยนตร์ชิ้นต่อมาของชินไคในปี 2004 คือ ‘The Place Promised in Our Early Days’ หรือชื่อไทย ‘เหนือเมฆา… ที่แห่งสัญญาของเรา’ เกี่ยวกับญี่ปุ่นภายหลังสงครามครั้งใหญ่ที่ถูกแบ่งออกเป็นเหนือและใต้ โดยมีสิ่งก่อสร้างสูงเสียดฟ้ากั้นกลางระหว่างกัน กับความฝันที่จะบินข้ามพรมแดน พร้อมเรื่องราวความรักและความหวังของวัยรุ่น 3 คน ที่อุดมไปด้วยความเหงา ความเศร้า และความหวัง

จากนั้นเป็นเวลา 3 ปี ภาพยนตร์ที่สร้างชื่อและโด่งดังที่สุดของชินไคก็กำเนิดขึ้นมานั่นคือ ‘5 Centimeters Per Second’ หรือยามซากุระร่วงโรย ในปี 2007

ภาพยนตร์ที่สุดของความเหงา เศร้า ในชีวิตวัยรุ่น เนื้อหาว่าด้วยชายหนุ่มคนหนึ่งกับคนรักในวัยเด็กที่ต้องห่างกัน แต่แม้เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ชายหนุ่มยังฝังตัวอยู่กับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับเด็กผู้หญิงที่เขารัก

โดยแอนิเมชันเรื่องนี้เล่าแบ่งเป็น 3 บท คือ เสี้ยวดอกซากุระ, นักบินอวกาศ และ 5 เซนติเมตรต่อวินาที แบ่งตามอายุและวัยของตัวเอกคือ วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ที่ทำให้เห็นถึงเรื่องของความรักที่ฝังใจของคนคนหนึ่งตั้งแต่วัยเด็ก สามารถส่งผลต่อคนอีกหลายคนได้อีกมากมายทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

นอกจากงานภาพที่ตระการตา เนื้อหาที่เหงาจับใจแล้ว เพลงประกอบของเรื่องนี้คือ ‘สุด’ เพราะนักแต่งเพลงคู่บุญของชินไคอย่าง Tenmon (ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ ‘Voices of a Distant Star’) ได้นำเพลง ‘One More Time, One More Chance’ ของ Yamazaki Masayoshi มาใช้เป็นเพลงประกอบ ทั้งแบบเพลงเต็มมีเนื้อร้อง และเพลงออริจินัลซาวด์แทร็กที่ทำให้ขนลุกอย่างหาที่สุดมิได้ เพราะเนื้อหาของเพลงลงล็อกกับเนื้อเรื่องแบบพอดิบพอดีเสียเหลือเกิน

‘5 Centimeters Per Second’ กวาดรางวัลมามากมาย ทั้งรางวัล Asia Pacific Screen Awards, Lancia Platinum และ Future Film Festival สาขาแอนิเมชันและเทคนิคยอดเยี่ยม และเป็นปีที่ชินไคได้มีสตูดิโอเพื่อสร้างงานแอนิเมชันสำหรับงานภาพยนตร์และโฆษณา ที่ชื่อว่า ‘CoMix Wave Films, Inc.’ อย่างเป็นทางการ (เป็นบริษัทที่แยกออกมาจาก CoMix Wave Inc.)

เติบโตแต่อาจเสียความเป็นตัวตน

งานชิ้นต่อๆ มาของชินไค เริ่มมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้ง ‘A Gathering of Cats’ แอนิเมชันขนาดสั้นเกี่ยวกับแมวที่ต้องการยึดครองโลก เพื่อเข้าร่วมในซีรีส์รวมแอนิเมชันขนาดสั้นจาก 15 นักสร้างแอนิเมชันญี่ปุ่น ‘Ani*Kuri15’ ฉายทางช่อง NHK ในปี 2007

และภาพยนตร์เรื่องใหญ่ที่ชินไคหมายมั่นปั้นมือมากว่า 3 ปีเต็มอย่าง ‘Children Who Chase Lost Voices’ หรือชื่อไทย ‘เด็กสาวกับเสียงเพรียกแห่งพิภพเทพา’ เกี่ยวกับเด็กสาวชั้นมัธยมปลาย ผู้สูญเสียพ่อและอยู่อาศัยกับแม่ที่เป็นนางพยาบาล ชอบฟังวิทยุแร่ที่รับสัญญาณเสียงเพลงประหลาดที่ไพเราะ และตำนานว่าด้วยหินลึกลับกับการฟื้นคืนชีพให้คนรักที่ตายไป

‘Children Who Chase Lost Voices’ แอนิเมชันเรื่องยาวที่สุดของชินไคตั้งแต่สร้างมาเรื่องนี้ (เกือบ 2 ชั่วโมง) ได้รับเสียงวิจารณ์ไปในทางที่ดี แต่นักวิจารณ์หลายคนบอกว่าเกือบทุกอย่างมีความ ‘คล้ายคลึง’ กับงานของ Studio Ghibli มากจนเกินไป ทั้งคาแรกเตอร์ดีไซน์และเกร็ดเล็กน้อยอีกหลายสิ่งอย่าง จนดูเหมือนจะสูญเสียอัตลักษณ์ของชินไคไป แม้จะมีงานภาพที่ดีและพัฒนาขึ้นมากก็ตาม

มะโกะโตะ ชินไค ที่ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น

เขาจะสามารถสร้างงานแอนิเมชันอย่าง ‘Your Name’ ในปี 2016 ได้อย่างไร?

โปรดติดตามชีวิตของชินไค ช่วงหลังจากนี้ได้ ในตอนต่อไปเร็วๆ นี้ พร้อมเบื้องหลังการสร้างแอนิเมชัน ‘Your Name’

 

อ้างอิง:
– ประวัติของชินไค https://en.wikipedia.org/wiki/Makoto_Shinkai
– http://www.imdb.com/name/nm1396121/bio
– http://www.bellaonline.com/articles/art10250.asp
– https://tulip651989.wordpress.com/2014/11/20/the-world-of-makoto-shinkai/
– https://en.wikipedia.org/wiki/5_Centimeters_Per_Second
– https://en.wikipedia.org/wiki/CoMix_Wave_Films
– https://en.wikipedia.org/wiki/Children_Who_Chase_Lost_Voices
– http://en.shinkaiworks.com/film-works

 

FACT BOX:

Makoto Shinkai ชื่อแรกเกิดคือ Makoto Niitsu (มะโกะโตะ นีสึ)

 

DID YOU KNOW?

ภาพยนตร์แอนิเมชันที่เขาชอบมากที่สุดตอนสมัยเรียนมัธยม คือ ‘Castle in the Sky’ ของ ฮะยะโอะ มิยะซะกิ ซึ่งตอนนี้ใน IMDB เว็บไซต์ข้อมูลภาพยนตร์ชื่อดังได้ระบุฉายาให้ชินไคว่า ‘The New Hayao Miyazaki’