เชื่อว่าหลายคนคงกำลังตื่นเต้นและตั้งหน้าตั้งตารอชมปรากฏการณ์ ‘ซูเปอร์ฟูลมูน’ ที่จะเกิดขึ้นในคืนวันนี้ (14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559)
ซูเปอร์ฟูลมูนครั้งนี้มีความพิเศษกว่าซูเปอร์มูนครั้งที่ผ่านมา เพราะดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากเป็นพิเศษด้วยระยะห่างจากโลกเพียง 356,509 กิโลเมตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลก 384,402 กิโลเมตร ส่วนครั้งต่อไปที่จะเกิดซูเปอร์ฟูลมูนแบบนี้คือ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2577
พูดง่ายๆ ว่าถ้าพลาดครั้งนี้ต้องรออีก 18 ปีเลยทีเดียว!
สำหรับในบ้านเรา ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยว่า สดร. ได้ระดมทั้งหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค และเครือข่ายดาราศาสตร์ทั่วประเทศ ตั้งจุดสังเกตปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี ‘ซูเปอร์ฟูลมูนวันลอยกระทง’ ใน 3 จุดสังเกตการณ์หลัก ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา พร้อมโรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์อีก 160 โรงเรียน ใน 61 จังหวัดทั่วประเทศ
สำหรับจุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 3 แห่ง มีการตั้งกล้องโทรทรรศน์หลากหลายรูปแบบไว้ให้บริการประชาชน พร้อมทั้งกิจกรรมดาราศาสตร์ต่างๆ มากมาย ส่วนโรงเรียนเครือข่ายอีก 160 แห่ง ใน 61 จังหวัด จะมีการตั้งกล้องโทรทรรศน์ดอปโซเนียน เพื่อสังเกตวัตถุท้องฟ้าสำหรับนักเรียนและประชาชนในชุมชนใกล้เคียง (รายละเอียดคลิก http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/2720-narit-super-fullmoon-2559)
ทั้งนี้ นอกจากจะได้เต็มตากับ ‘ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบ 68 ปี’ ที่ปรากฏขนาดใหญ่และสว่างมากกว่าปกติแล้ว ยังสามารถสังเกตเห็น ‘ดาวอังคาร ดาวศุกร์ และดาวเสาร์’ ในเวลาเดียวกัน เท่านั้นยังไม่พอ ในเวลา 19:09 น. ทุกสถานที่จัดกิจกรรมจะพร้อมใจจุดเทียนแสดงความอาลัยใต้แสงจันทร์ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกด้วย
นอกจากสถานที่ดังกล่าวแล้ว ทางท้องฟ้าจำลองกรุงเทพก็ได้จัดกิจกรรมดูซูเปอร์ฟูลมูนเช่นกัน เริ่มตั้งแต่เวลา 18:00-21:00 น. โดยจะมีการบรรยายดาวแบบสั้นๆ 2 รอบในโดมเวลา 19:00 น. และ 19:30 น. รวมทั้งมีการตั้งกล้องดูดวงจันทร์ตั้งแต่ 18:00-21:00 น.
ส่วนในเรื่องวิธีการชมซูเปอร์ฟูลมูนนั้นก็ไม่ยาก ขอแค่หาพื้นที่เหมาะๆ ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน ทันทีที่ดวงอาทิตย์ตกก็ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เงยหน้ามองก็สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า อ้อ! อย่าลืมหยิบกล้องถ่ายรูปหรือสมาร์ตโฟนเก็บภาพประทับใจไว้ด้วย
ก่อนจะชมซูเปอร์ฟูลมูนวันลอยกระทงคืนนี้ เราขออุ่นเครื่องด้วยการพาไปชมซูเปอร์ฟูลมูนจากทั่วโลกกันก่อน
ติดตามเรื่องราวของปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน จากอาจวรงค์ จันทมาศ แฟนพันธุ์แท้นักวิทยาศาสตร์โลก และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (องค์การมหาชน) เพิ่มเติมได้ที่ 14 พ.ย. นี้ ปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน: ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด พลาดครั้งนี้ต้องรออีก 18 ปี