องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เปิดเผยว่า แม้ปี 2015 จะเป็นปีแรกที่อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเกินค่ามาตรฐานที่ 400 ppm เป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ (ppm คือส่วนในล้านส่วน ดังนั้น 400 ppm คือในชั้นบรรยากาศหนึ่งล้านโมเลกุลจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ 400 โมเลกุล) แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าปี 2016 จะเป็นปีแรกที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศนั้นเกินค่ามาตรฐานยาวนานตลอดทั้งปี ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเห็นว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่พฤติกรรมของมนุษย์ก็เป็นอีกสาเหตุหลักเช่นกัน
นอกจากนี้ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ อย่างก๊าซมีเทน และไนตรัสออกไซด์ (Nitrous Oxide) ยังสูงกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกด้วย ซึ่งก๊าซเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน
ปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้เกิดภาวะแล้งในพื้นที่เขตร้อน ดังนั้นป่าไม้ที่อยู่ในสภาพแห้งแล้งจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยกว่าปกติ ซ้ำร้ายภัยแล้งยังก่อให้เกิดไฟป่าที่ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นอีกด้วย องค์การอุตนิยมวิทยาโลกระบุว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
สถานีตรวจวัดชั้นบรรยากาศที่ฮาวายเปิดเผยว่า ครั้งสุดท้ายที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าระดับมาตรฐานที่ 400 ppm คือ 3 ถึง 5 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้หมายถึงสถานการณ์เช่นนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปอีกหลายชั่วคน
สนธิสัญญาว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อนที่อาจเป็นแค่กระดาษ
ปี 2015 เป็นปีที่ 195 ประเทศลงนามสนธิสัญญาปารีส เพื่อร่วมกันจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส และจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยแต่ละประเทศจะต้องส่งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำมาทบทวนถึงมาตรการการแก้ปัญหาเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาฉบับนี้มีข้อจำกัดเนื่องจากแต่ละประเทศจะต้องนำสนธิสัญญาฉบับนี้ไปให้รัฐสภาของตนเห็นชอบก่อนถึงจะให้สัตยาบันได้ อย่างเช่นอังกฤษที่ลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้แล้ว แต่รัฐสภายังไม่ได้ตัดสินใจให้สัตยาบัน นอกจากนี้สนธิสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อประเทศที่ลงสัตยาบันทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันอย่างน้อย 55% และข้อผูกมัดในสนธิสัญญาฉบับนี้จะไม่ได้ถูกดำเนินการในทันที แต่จะเริ่มดำเนินการในปี 2020
ชะตาของสภาพอากาศโลกที่ขึ้นอยู่กับจีนและสหรัฐฯ
สนธิสัญญาปารีสจะมีผลบังคับใช้ได้จริงๆ จะต้องมีประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันอย่างน้อย 55% ร่วมลงสัตยาบัน ซึ่งจีนและสหรัฐฯ คือสองประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันคิดเป็น 40% โดยสองประเทศนี้เพิ่งจะตัดสินใจลงนามสนธิสัญญาปารีสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ 23 ประเทศที่ตัดสินใจลงสัตยาบันในสนธิสัญญาปารีสปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันแล้วคิดเป็น 1% เท่านั้น ดังนั้นจีนและสหรัฐฯ ตัดสินใจร่วมลงนามครั้งนี้จึงหมายความว่าสนธิสัญญาฉบับนี้เข้าใกล้ความจริงยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นทั้งสองประเทศนี้ก็ต้องให้รัฐสภาของตนเห็นชอบก่อนอยู่ดี
ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเสนอว่า การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้ และเรียกร้องให้ประเทศที่ลงนามสนธิสัญญาปารีสลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน แต่กระนั้นสนธิสัญญาปารีสจะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อปี 2020
หรือปี 2020 ก็อาจจะช้าไป..
อ้างอิง:
– Reuters
– http://unfccc.int/paris_agreement/items/9485.php