วันนี้หากเรามองผ่านๆ เราจะเห็นผู้หญิงเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคม เราเห็นผู้หญิงมีความสามารถเดินสวนกันขวักไขว่ในองค์กร ในมหาวิทยาลัย และปรากฏบนสื่อต่างๆ กันจนเป็นเรื่องปกติในยุคสมัยใหม่ จนเรารู้สึกว่าความเท่าเทียมทางเพศนั้นเกิดขึ้นแล้วในสังคม

แม้กระทั่งผู้หญิงในวงการบันเทิง ปัจจุบันก็หันมาใช้ชื่อเสียงของตัวเอง สร้างสิ่งที่ดีๆ ให้กับสังคม และก้าวขึ้นมาเป็นผู้หญิงที่มีอิทธิพลต่อความคิดคนทั้งโลก ทั้ง เอ็มมา วัตสัน บียอนเซ่ หรือชากีรา นักร้องป๊อปชื่อดัง ที่ล่าสุดเธอเพิ่งได้รับรางวัลด้านมนุษยธรรมจากสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) จากการเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การสหประชาติ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Pies Descalzos เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเด็กในโคลอมเบีย

เธอใช้เวทีนี้เพื่อประกาศให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับเยาวชน

“เราต้องทุ่มเทมันสมองและใช้กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงกำลังคนเพื่อทำสิ่งที่ดีต่อสังคม

“เยาวชนในวันนี้คือแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในอนาคต ความสามารถของพวกเขาจะกำหนดสังคมในวันหน้า และแก้ปัญหาของวันพรุ่งนี้”

บทบาทของผู้หญิงบนเวทีโลกตอกย้ำความทรงพลังของเพศหญิงที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม แต่นั่นอาจเป็นแค่ภาพกว้างที่เรามองเห็น เมื่อมองลึกลงไปในมิติของสังคมจะพบว่า ผู้หญิงเกินครึ่งยังไม่ได้รับความเท่าเทียม เพราะเพียงแค่พวกเธอเป็นผู้หญิง

สภาเศรษฐกิจโลกเปิดเผยรายงานว่า ที่ผ่านมาสภาเศรษฐกิจโลกพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชายกับเพศหญิงที่มีถึง 59% ในภาคเศรษฐกิจ และ 29% ในภาคการเมือง และพบว่าในบางประเทศในเอเชียใต้ต้องใช้เวลากว่า 1,000 ปี ขณะที่ในแอฟริกาและในตะวันออกกลางใช้เวลากว่า 350 ปี เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกใช้เวลา 111 ปี ส่วนยุโรปคือทวีปที่ใช้เวลาน้อยที่สุดที่ 47 ปี เพื่อให้ผู้หญิงมีความเท่าเทียมกับเพศชายในสังคม!

Photo: Ruben Sprich, Reuters/profile

ผู้หญิง ความฝัน กับการทลายเพดานที่มองไม่เห็น

สภาเศรษฐกิจโลกได้สัมภาษณ์ผู้หญิงที่เป็นผู้นำทั่วโลกว่า พวกเธอนั้นสามารถขึ้นไปเป็นผู้นำองค์กร และทลายเพดานกระจก (Glass Ceiling) ได้อย่างไร

เอมิลี คาร์เตอร์ (Emily Carter) คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เธอถูกดูหมิ่นมาตลอดว่า เธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสูงๆ เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง และข้อดูหมิ่นนี้แม้จะดูเป็นความคิดโบราณ แต่เธอเชื่อว่ามันจะยังอยู่ในสังคมอีกต่อไปในอนาคต เธอให้คำแนะนำแก่ผู้หญิงทั่วโลกที่กำลังเผชิญปัญหานี้ว่า

“หางานที่ให้ความหมายกับชีวิตของคุณ และอย่าปล่อยให้ใครมายับยั้งคุณในการเดินตามเป้าหมาย การกระทำของคุณจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของความคิดอคติ การทำงานหนัก และผลงานที่ยอดเยี่ยมของคุณจะสะท้อนออกมาเอง จงอยู่เหนือการดูถูกอย่างใจเย็น และอย่างมืออาชีพ เพื่อพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่า พวกเขานั้นคิดผิด”

ด้าน อุมราน บีบา (Umran Beba) รองประธานบริษัท PepsiCo ที่เกิดในประเทศตุรกี อีกประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมทางเพศที่สุด ให้ความเห็นว่า ความเท่าเทียมทางเพศควรเริ่มต้นที่ครอบครัว ก่อนจะไปที่ระดับองค์กร และระดับชาติ “เราสามารถบอกเด็กๆ ผู้หญิงให้พวกเขามั่นใจ แสดงความกล้าหาญ และกล้าเสี่ยงที่จะตัดสินใจในหน้าที่การงาน”

อุมราน บีบา ได้เดินทางไปทำงานทั้งในฮ่องกง ดูไบ และนิวยอร์ก และประสบการณ์นี้ได้เปิดโลกทัศน์ของเธอว่า ผู้หญิงและเยาวชนต้องได้รับการสนับสนุนมากขึ้น “เราต้องการผู้หญิงมากขึ้นในโลกธุรกิจ เพื่อเข้าใจความต้องการของลูกค้า นำเสนอมุมมองที่แตกต่าง และบริหารองค์กรด้วยสไตล์การเป็นผู้นำอีกรูปแบบ แต่ถ้าเราไม่เริ่มสิ่งนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม เราจะไม่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้เลย”

ผู้หญิงคืออีกแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ

สหประชาชาติตั้งเป้าหมายไว้ว่า โลกจะต้องบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่วันนี้ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงมีอยู่ในสังคม แม้จะพบว่าเด็กผู้หญิงกว่า 90% ทั่วโลกจบการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน และปัจจุบันมีจำนวนผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมากกว่าผู้ชาย

สภาเศรษฐกิจโลกยืนยันว่า การให้บทบาทกับผู้หญิงมากขึ้นเป็นทางเลือกที่ดีที่จะพัฒนาเศรษฐกิจได้ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์จำเป็นต้องพึ่งแรงขับเคลื่อนจากผู้หญิง และพบว่าจีดีพี การศึกษา และบริการสุขภาพของประเทศนั้นๆ จะดีขึ้นด้วย หากผู้หญิงได้รับสิทธิเท่าเทียมในสังคม ทำให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้น

การศึกษาของ McKinsey Global Institute พบว่า การเพิ่มความเท่าเทียมทางเพศตลาดแรงงาน จะทำให้ค่าจีดีพีของประเทศสูงขึ้น 12-25% โดยผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญในด้านการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ สร้างเครือข่ายในชุมชน หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรกับลูกค้า และพบว่าบริษัทที่มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งสูงๆ จะสร้างกำไรได้มากขึ้นให้กับบริษัท

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่าผู้หญิงจะอยู่ในตลาดแรงงานมากขึ้น แต่รายงานของสภาเศรษฐกิจโลกพบว่า เด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี 50% ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือหากได้รับค่าจ้างก็จะมาจากงานประเภทที่ได้ค่าจ้างต่ำ หรือมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่แย่ ซึ่งปัญหานี้จะเป็นการทำลายศักยภาพทางเศรษฐกิจ

และยังพบว่าผู้หญิงที่มีลูกจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่มีลูก หรือผู้ชายที่มีลูกและมีครอบครัว หมายความว่า ผู้ชายที่มีครอบครัวกลับได้ค่าตอบแทนและสิทธิพิเศษมากกว่าผู้หญิงที่มีครอบครัว นอกจากนี้ที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกมีเจ้าของเป็นผู้หญิงเพียง 20%

การผลักดันผู้หญิงให้มีบทบาทมากขึ้นในตลาดแรงงานนั้นเป็นการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ปลายเหตุ เพราะแม้ผู้หญิงจะเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ถ้าทัศนคติของสังคมต่อผู้หญิงยังไม่เปลี่ยน พวกเธอก็จะต้องเข้าไปเจอกับก้อนกรวดที่ถูกโรยไว้บนเส้นทางอาชีพอยู่ดี และสุดท้ายต่อให้พวกเธอมีความสามารถและบินได้สูงแค่ไหน พวกเธอก็จะเจอกับเพดานที่มองไม่เห็น ที่กันพวกเธอไว้ไม่ให้ทะยานได้ถึงฝัน

ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างเพศชายกับเพศหญิง รวมถึงเพศที่สามได้อย่างแท้จริงคือ การเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ และวัฒนธรรมต่อเพศหญิงที่ต้องเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ในสังคม ที่เราอาจจะทั้งรู้ตัวและทั้งไม่รู้ตัว

เพดานที่มองไม่เห็นถูกสร้างด้วยอคติต่อผู้หญิง

ดังนั้นการทลายเพดานนี้ก็คือการทำลายอคตินี้ในสังคม

อ้างอิง:

  • https://www.weforum.org/agenda/2017/01/smashing-the-glass-ceiling-6-davos-leaders-explain-how-they-did-it
  • https://www.weforum.org/events/world-economic-forum-annual-meeting-2017/sessions/an-insight-an-idea-with-shakira
  • https://www.weforum.org/agenda/2017/01/womens-economic-empowerment-is-the-smart-and-right-thing-to-do-whats-stopping-us
Tags: , ,