ย้อนกลับไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา วันแรกสำหรับการปรากฏตัวของ ‘หน้ากากจิงโจ้’ ด้วยเพลง Love on Top ในรายการเกมโชว์ The Mask Singer ทางสถานีโทรทัศน์ Workpoint หลังเทปดังกล่าวออนแอร์และเผยแพร่ทางแชนแนล YouTube แฟนๆ รายการทั้งขาจรและขาประจำต่างก็เทใจหลงใหลในตัวหน้ากากจิงโจ้แบบหัวปักหัวปำ บ้างก็บอกว่านี่แหละหน้ากากขวัญใจคนใหม่ที่พวกเขาจะเลือกเชียร์
ทั้งยังทึกทักกันว่าภายใต้หน้ากากดังกล่าวน่าจะเป็น ชิน-ชินวุฒ อินทรคูสิน หรือขันเงิน เนื้อนวล (ไทยเทเนียม) กระทั่งหลายคนเริ่มจับสำเนียงและสไตล์การร้องได้เรื่อยๆ ชื่อของ ‘เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร’ จึงเริ่มกลายเป็นแคนดิเดตตัวเต็งของหน้ากากจิงโจ้ไปโดยปริยาย
และตลอดช่วงเวลาหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของเป๊ก ผลิตโชค ก็กลับมาอยู่ในพื้นที่สื่ออีกครั้ง โดยวันที่ 8 มีนาคม 2560 เจ้าตัวได้อัพโหลดรูปอันดับชาร์ตเพลงยอดนิยมใน Apple Music ประเทศไทยผ่านเฟซบุ๊ก ‘PecKPaLit’ โดยปรากฏเพลง อยากให้แววตาฉันเป็นคนอื่น (WHY) และ ไม่มีใครรู้ ผลงานของเขาในอันดับ 3 และ 4 ตามหลังเพียง Shape of You (Ed Sheeran) และ That’s What’s I Like (Bruno Mars) ในอันดับที่ 1 และ 2 เท่านั้น
กระทั่งวันที่ 16 มีนาคม 2560 หลังหน้ากากจิงโจ้เพลี่ยงพล้ำด้วยคะแนนโหวตจากคนในห้องส่งให้กับหน้ากากทุเรียน ความจริงที่ไม่ยากเกินคาดเดาว่าเขาคือ เป๊ก-ผลิตโชค ก็ถูกเปิดเผย และดูราวกับว่าจะรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าที่จะเกิดขึ้น เมื่อทันทีที่ปลดหน้ากากออกก็กล่าวติดตลกเชิงขอกลับไปสวมบทบาทจิงโจ้อีกครั้ง
เพราะจากกระแสบนโซเชียลเน็ตเวิร์กและโลกออนไลน์ ความคิดเห็นที่เกิดขึ้นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวกลับแตกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน ฝั่งหนึ่งพากันตั้งข้อสังเกตเรื่อง ‘สำเนียง’ พูดไทยไม่ชัด ขุดคุ้ยประเด็นการทำศัลยกรรม และฉายานักร้องหน้าใหม่ ขณะที่อีกฝั่งก็แสดงความไม่เห็นด้วยต่อท่าที ‘เหยียด’ ดังกล่าว โดยรู้สึกว่าทุกคนชื่นชอบตัวตนของจิงโจ้มากกว่าตัวตนของศิลปินที่อยู่ภายใน พร้อมตอกกลับว่า ควรมองเรื่องความสามารถมากกว่าเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก และเรื่องส่วนตัว
The Momentum เชิญคุณมาร่วมถอดปรากฏการณ์ ‘หน้ากากจิงโจ้ของเป๊ก ผลิตโชค’ ผ่านมุมมองของ อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, อาจารย์ปรัชญา เปี่ยมการุณ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนิสิต วิทยาลัยนวัตกรรมการสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ ผู้สอนการแสดงชื่อดัง ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เราเห็นอะไรในสังคมไทย?
‘ศัลยกรรม เพศสภาพ ฉายาดารา’ จริงแค่ไหนกับการทำงานของสื่อที่ไร้จรรยาบรรณ?
นับเป็นเวลานานพอสมควรแล้วที่เราไม่ได้เห็นผลงานของเป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร ปรากฏในพื้นที่สื่อกระแสหลัก หรืออาจจะเป็นเพราะนโยบายของค่ายต้นสังกัดกับการเลือกดันศิลปิน หรือการปล่อยผลงานใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฉายา ‘ดาราหน้าใหม่’ ที่เป๊ก ผลิตโชคได้รับจากสื่อเจ้าหนึ่งกลับกลายเป็น ‘โคลน’ ก้อนใหญ่ที่ทำให้เจ้าตัวติดหล่มประเด็นการทำศัลยกรรมแบบสลัดไม่ออกจนถึงทุกวันนี้ ครั้นปรากฏตัวบนพื้นที่สื่อคราใดก็เลี่ยงการถูกพูดถึงในประเด็นดังกล่าวไม่ได้
อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ แสดงความเห็นเรื่องการทำงานของสื่อในยุคปัจจุบันที่ยังเล่นกับข่าวจำพวกดาราทำศัลยกรรม หรือเพศสภาพของคนในวงการไว้ว่า
“การที่สื่อเล่นประเด็นเหล่านี้แสดงว่ายังจมอยู่ในกรอบคิดแบบเดิมๆ อยู่ มองแต่เรื่องเปลือกนอก หรือเพศสภาพที่ต้องมีแค่หญิงชาย มองนักร้องในรูปแบบที่ต้องเพอร์เฟกต์ทุกด้าน แทนที่จะมองความสามารถในการร้องเพลงเหมือนกับตอนที่ยังใส่หน้ากาก สื่อหรือสังคมมัวแต่สนใจเปลือกข้างนอก แม้กระทั่งการศัลยกรรมต่างๆ ของเป๊กเองก็เป็นไปเพื่อที่สื่อหรือสังคมจะยอมรับว่าต้องสมบูรณ์แบบในรูปแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเราควรที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องของความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินนักร้อง นักดนตรี หรือสายอาชีพอื่นๆ มากกว่าเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่”
ขณะที่ประเด็นการตั้งฉายาแย่ๆ ให้กับดาราหรือคนบันเทิงที่มีให้เห็นเป็นประจำทุกปี อาจารย์มานะกล่าวเชิงไม่เห็นด้วยว่า “สื่อไม่ควรจะไปกล่าวประณามหรือกล่าวตัดสินศิลปินหรือแหล่งข่าวอื่นๆ เรื่องบางเรื่องก็ถือเป็นรสนิยมส่วนตัวของเขา (กรณีเป๊กกับการทำศัลยกรรม) เป็นความคิด ความเชื่อส่วนตัวของเขา ซึ่งถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล
“ผมไม่เห็นว่าสื่อจะไปใช้คำเรียกเหล่านี้ (ฉายาแย่ๆ) กับนักการเมืองหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เลยนะเพราะกลัวเรื่องอิทธิพล แต่กลับไปเรียกดาราหรือศิลปินในเชิงของการกดหรือดุ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยเหมาะสมกับตัวแหล่งข่าว (ดารา-นักแสดง) ที่ยังต้องพึ่งพิงสื่อมวลชนสายบันเทิงสักเท่าไร สื่อควรนำเสนอแต่ข้อมูลข้อเท็จจริงมากกว่าการไปตัดสินประณามว่าดาราแต่ละคนว่ามีพฤติกรรมอย่างไร ต้องคำนึงว่ารายงานข่าวคือข้อเท็จจริงไม่ใช่ความเห็น ถ้าสื่อมวลชนอยากแสดงความเห็นก็ไปแสดงในคอลัมน์หรือพื้นที่ของตัวเอง
“วิธีที่จะทำให้สังคมไทยหลุดจากกรอบปัญหาเหล่านี้ก็ต้องเริ่มจากคนอ่านด้วย ไม่ควรรีบไปเชื่อหรือตัดสินเขาโดยทันที ไม่ว่าจะชอบศิลปินคนนั้นหรือไม่ ก็ควรดูที่ความสามารถมากกว่าเปลือกนอก ถ้ายิ่งผู้เสพให้ความสำคัญกับเปลือกนอก สื่อก็จะยิ่งนำเสนอประเด็นดังกล่าวมากขึ้นและยิ่งตอกย้ำจนทำให้ตัวศิลปินต้องพยายามสร้างภาพลักษณ์บางอย่างหรือเปลือกห่อหุ้มตัวเองออกมาเพื่อให้สังคมยอมรับและคนยอมรัก”
ตั้งข้อสงสัยหรือวิพากษ์บุคคลสาธารณะและคนบันเทิงเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ไม่ควรเกินขอบเขตถึงขั้นเหยียดและด่า
มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยบนโลกออนไลน์หรือในสังคมไทยที่เชื่อว่าการออกมาแสดงความเห็นหรือโพสต์ข้อความถึงนักร้องคนดังในประเด็นการทำศัลยกรรม พูดภาษาไทยไม่ชัด หรือเรื่องเพศสภาพถือเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เพราะดาราและศิลปินเป็นบุคคลสาธารณะ ขณะที่พวกเขาก็มีสิทธิ์แสดงความเห็นส่วนตัวได้
ต่อชุดความคิดในประเด็นข้างต้น ครูเงาะ รสสุคนธ์ กล่าวว่า “เราเป็นคนของสาธารณะ (ศิลปิน-ดารา) เรามีสิทธิ์ที่จะถูกวิจารณ์ แต่คนวิจารณ์ก็ต้องให้สิทธิ์กับคนที่ถูกวิจารณ์ด้วยว่าเขาทำศัลยกรรมแล้วมันทำให้เนื้อแท้จิตใจของเขาเลวลงหรือความสามารถลดทอนลงไปด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ก็เปิดใจให้เขาเถอะ ศัลยกรรมมันเป็นเรื่องเล็กมากในวงการบันเทิงไทย”
ขณะที่อาจารย์ปรัชญา เปี่ยมการุณ กล่าวว่า “ถามว่าคนดูที่วิจารณ์เรื่องดาราทำศัลยกรรมเป็นเรื่องผิดไหม ผมมองว่าไม่ผิดนะ เขาก็มีสิทธิ์วิจารณ์เพราะเป๊กก็เป็นศิลปิน เป็นคนของประชาชน แต่เมื่อใดก็ตามที่พื้นที่ที่คุณใช้วิพากษ์วิจารณ์เป็นพื้นที่สาธารณะ คุณต้องระวังเรื่องการทำให้อีกฝ่ายเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเสียหาย สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่ขอบเขตสำนึกของคนในการวิจารณ์มากกว่า ซึ่งก็ต้องบอกว่าในโลกออนไลน์เราไม่สามารถไปกำหนดขอบเขตคนได้ว่าต้องวิจารณ์ถึงแค่ไหน
“ผมรู้สึกว่าศิลปินทุกคนย่อมรู้ตัวว่าทุกๆ การกระทำของเขาย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว ผมชื่นชมในสปิริตของเป๊กมากที่เขาไม่ออกมาตอบโต้หรือใช้ข้อความไม่สุภาพท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้น ฝั่งหนึ่งอาจจะรู้สึกรักเขา อีกฝั่งอาจจะไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นจนทะเลาะกัน ดราม่าไปเรียบร้อยเรื่องเหยียดเพศและศัลยกรรม ตลอดจนคำด่าทอต่างๆ นานา ที่ถูกนำมาใช้ ทั้งกระแดะ ดัดจริต เกย์ ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าการตั้งคำถามสงสัยกับคำว่าเหยียดมันไม่เหมือนกัน การตั้งคำถามสงสัยเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่การเหยียดเขาที่รุนแรงถึงขั้นรุมด่าและทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
“เรื่องนี้มันยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยอุดมไปด้วยเรื่องดราม่า มีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ ทุกคนก็จะพร้อมใจกันเข้าไปยุ่งกับเรื่องพวกนี้ ผมเชื่อว่ากระแสออนไลน์เรื่องนี้เต็มที่จะอยู่ที่ 1 สัปดาห์ หลังจากนี้อาทิตย์ถัดไปก็จะมีประเด็นของคุณทุเรียนและคุณอีกามาแทนที่ โลกออนไลน์มาไวไปไว มาเร็วแชร์เร็ว สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของสังคมไทยที่ยังมีเรื่องของชนชั้น สถานภาพของแต่ละบุคคลอยู่”
ความสามารถอย่างเดียวอาจไม่พอ เมื่อดาราและนักแสดงที่ดีต้องมาพร้อมกับหน้าตาสวยหล่อ และการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม?
ขณะที่วาทกรรมเรื่อง ‘ไม่ควรตัดสินศิลปิน ดารา จากภายนอก’ ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ กระนั้นก็ตาม คำกล่าวข้างต้นก็ดูย้อนแย้งกับบริบทของคนทำงานท่ามกลางแสงไฟสปอตไลต์พอสมควร เพราะภาพลักษณ์ของดารา นักแสดง นักร้องในสังคมไทยในปัจจุบันล้วนแล้วแต่ถูกตีค่าว่าต้องเป็นกลุ่มคนที่ ‘หน้าตาดี’ สวยและหล่อตามพิมพ์นิยมเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญยังต้องมีภาพลักษณ์ของการเป็นแบบอย่างที่ดีอีกด้วย
โดยครูเงาะ รสสุคนธ์ กล่าวว่า “ไม่ใช่แค่เรื่องของเป๊กคนเดียวนะ มีนักแสดงอีกมากมายที่ถูกสื่อโซเชียลตราหน้าเพียงแค่เรื่องสองเรื่อง บางเรื่องไม่จริง บางเรื่องอาจจะจริง แต่ไม่เกี่ยวกับนิสัยหรือความสามารถของเขา เช่นการที่เขาไปทำศัลยกรรมมา เพราะอาชีพเขา เขาก็ต้องทำ จิ้มหน้าสิในวงการมีใครไม่ทำบ้าง ก็ทำกันทุกคน ถามว่าเราต้องการอะไรจากคนในวงการบันเทิง เราก็ต้องการภาพที่สวยงาม เวลาเจอคนที่ไม่สวยไม่หล่อบางทีคนยังไปด่าเขาเลย
“จริงๆ แล้วตัวเราเองด้วยนัยยะของการเป็นคนเสพก็เหมือนผู้สั่งประหารเขานะ ถ้าดารา ศิลปิน ไม่สวยไม่หล่อก็ไม่มีพื้นที่ บางคนอาจจะบอกว่าไม่สวยไม่หล่อก็อยู่ในวงการบันเทิงได้ ก็ใช่ แต่อยู่ในตำแหน่งไหนล่ะ? มีคนมีความสามารถอีกมากมายเลยแม้กระทั่งเด็กนักเรียนในโรงเรียนของเราที่อาจจะไม่ได้สวยหรือหล่อ แต่มีความสามารถ จนสุดท้ายเขาก็ไม่มีพื้นที่ให้ยืนในวงการ เพราะสังคมไม่เอา”
นอกเหนือจากเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก และมุมมองเรื่องผลงานของศิลปิน จะเห็นได้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันมักจะมองดาราหรือศิลปินเป็นมากกว่า ‘เอนเตอร์เทนเนอร์’ หรือผู้ให้ความสุข แต่มองข้ามไปถึงการเป็น ‘แบบอย่างที่ดีต่อประชาชนและสังคม’ ดังจะเห็นได้จากกรณีข่าวฉาวและการประพฤติตัวที่อาจจะไม่เหมาะสมของศิลปินในบางครั้งบางคราว จนทำให้หลุมดำของสังคมกลืนกินเขาจนไร้พื้นที่ในการทำมาหากิน ทั้งปัญหาทำผู้หญิงท้อง ติดยา ฯลฯ
พูดง่ายๆ คือ สำหรับสังคมไทยแล้ว พฤติกรรมนอกจอมีผลอย่างยิ่งกับความนิยมในจอ
ครูเงาะ รสสุคนธ์ แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า “คนบางคนจะชอบพูดว่าก็ให้ดูความสามารถของศิลปินไปสิ แต่คุณก็ต้องไม่ลืมนะว่ามีคนเป็นจำนวนมากที่เห็นคุณ (ศิลปิน) เป็นไอดอลแล้วแยกแยะไม่ได้ บางคนจะบอกว่าอย่าไปดูถูกคน เขาแยกแยะได้ คุณลองไปดูสิ หลายคนที่เขามีปัญหาต่อยตีกันทุกวันนี้เพราะเขาเห็นว่าการต่อยตีคือฮีโร่ เขายกให้คนต่อยชนะว่าเป็นพระเอก
“เราเป็นคนที่อยู่เบื้องหน้า ต้องคิดว่าเราได้รับอะไรตอบแทน เงิน ชื่อเสียง เราได้สิ่งที่มันมากมาย มันก็ต้องมีสิ่งที่ทดแทนและเสียไป ไม่ใช่จะอยากได้ทุกอย่าง (ความเป็นตัวตนของตัวเอง) จะบอกว่าพฤติกรรมของศิลปินไม่มีผลกับเด็กก็พูดไม่ได้ เพราะมันมีแน่ๆ ยิ่งดาราหรือศิลปินบางคนที่ได้รับการขนานนามว่า ‘คุณแม่’ ก็ควรระวังเรื่องการแสดงออกหรือพฤติกรรมของตัวเอง เพราะมีเด็กหรือคนจำนวนไม่น้อยที่มองเขาว่าเป็นแบบอย่างอยู่”
สุดท้ายแล้ว สำหรับกรณีศึกษาของเป๊ก ผลิตโชค อาจจะไม่ใช่ประเด็นเรื่องการที่เจ้าตัวสวมหรือถอดหน้ากากแต่อย่างใด หากแต่เป็นความผิดปกติของสังคมไทยที่ยังคาดหวังว่าดารา นักร้อง หรือศิลปินทุกๆ คนจะต้องเป็นโมเดลหรือแบบอย่างที่มีบุคลิก นิสัย และรูปลักษณ์ตามที่สังคมส่วนใหญ่เห็นว่างาม ประพฤติตัวไม่นอกลู่นอกทาง ศัลยกรรมออกมาแล้วต้องเป๊ะ ผลงานต้องโดดเด่น ขณะที่วงการบันเทิงหรือฮอลลีวูดอาจจะมองข้ามเรื่องพวกนี้ไปบ้างในบางคราว แล้วโฟกัสแค่ผลงานเพียงอย่างเดียว
กรณีศึกษาของเป๊ก ผลิตโชค จึงเป็นการเปลือยหน้ากากสังคมไทยให้เราได้เห็นอีกครั้งหนึ่ง
Tags: TheMaskSinger