เช้าวันที่ 10 มีนาคม 2017 ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ตัดสินให้ประธานาธิบดีปาร์กกึนเฮออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้เกาหลีใต้ต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีภายใน 60 วัน เบื้องต้นคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งจะจัดขึ้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2017 ซึ่งระหว่างนี้นายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีไปก่อน

ประธานาธิบดีปาร์กกึนเฮถูกตัดสินให้มีความผิดข้อหาทุจริต นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ ที่ศาลตัดสินให้ผู้นำประเทศออกจากตำแหน่ง ถือเป็นการสิ้นสุดวิกฤตทางการเมือง 92 วัน ที่ไม่เพียงจะกระทบต่อการเมืองในประเทศ แต่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในภูมิภาคด้วย เพราะหากพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้ง เราอาจเห็นเกาหลีใต้หันไปร่วมมือกับเกาหลีเหนือมากขึ้น และลดการเผชิญหน้ากับจีน

นอกจากนี้การปลดเธอออกจากตำแหน่งยังสะท้อนพัฒนาการทางประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ที่สามารถปลดผู้นำประเทศที่ก่อทุจริตได้สำเร็จตามขั้นตอนประชาธิปไตย โดยปราศจากความรุนแรงในการประท้วงก่อนหน้านี้หรือใช้อำนาจอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยเข้าแทรกแซง

Photo: Kim Hong-ji, Reuters/Profile

กรณีอื้อฉาวของปาร์กกึนเฮที่ปลุกให้ชาวเกาหลีใต้ลุกฮือขึ้นมาประท้วง

ประธานาธิบดีปาร์กกึนเฮถูกศาลปลดออกจากตำแหน่ง จากกรณีปล่อยให้ ชเวซุนซิล (Choi Soon-sil) เพื่อนสนิทเข้ามาพัวพันกับกิจการของรัฐ ตั้งแต่การเลือกคณะรัฐมนตรี ไปจนถึงการแก้ไขบทสุนทรพจน์สำคัญในเวทีต่างชาติที่มีเนื้อหาสำคัญอย่างเช่น เรื่องความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ หรือนโยบายความมั่นคงต่ออาวุธนิวเคลียร์ และเปิดโอกาสให้เธอก่อคดีอื้อฉาวอย่างการใช้ชื่อของประธานาธิบดีบังคับให้บริษัทภายในประเทศบริจาคเงินเข้ากองทุนที่ตนเองก่อตั้ง หรือเรี่ยไรเงินจากบริษัทใหญ่อย่างซัมซุงแลกกับผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล โดยเธออาจเจอกับข้อหาทางอาญาทั้งการติดสินบน การบังคับขู่เข็ญ และการใช้อำนาจในทางที่ผิด

หลังจากกรณีอื้อฉาวครั้งนี้ถูกเปิดโปงในเดือนพฤศจิกายน 2016 ชาวเกาหลีใต้จำนวนหลายแสนจนถึงหลักล้านคนได้ออกมาประท้วงให้ปาร์กกึนเฮออกจากตำแหน่งทุกสุดสัปดาห์ โดยผลสำรวจเปิดเผยว่าประชาชนเกาหลีใต้กว่า 70% สนับสนุนให้ประธานาธิบดีถูกศาลตัดสินปลดออกจากตำแหน่ง

Photo: Kim Hong-ji, Reuters/Profile

พัฒนาการของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

การนำปาร์กกึนเฮออกจากตำแหน่งครั้งนี้สะท้อนพัฒนาการประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ เพราะแม้การประท้วงครั้งที่ผ่านมาจะมีชาวเกาหลีใต้มาร่วมขบวนเป็นหลักล้าน แต่ก็ไม่มีความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้องในการประท้วงก่อนหน้านี้ เพราะในปี 1960 ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากที่ประท้วงกดดันให้ประธานาธิบดีชิงมันรี (Syngman Rhee) ออกจากตำแหน่ง ถูกตำรวจใช้กำลังเข้าปราบปราม

นอกจากนี้การผลักดันให้ผู้นำประเทศพ้นจากตำแหน่งครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความเข้มแข็งของสองสถาบันอย่าง นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่ก่อนหน้านี้เคยอ่อนแอกว่าฝ่ายบริหาร และเป็นไปตามขั้นตอนทางประชาธิปไตยคือ สภาลงมติว่าปาร์กกึนเฮมีความผิด ก่อนจะส่งให้ศาลพิจารณา

และนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้นำประเทศที่ก่อคดีอื้อฉาวถูกปลดออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง

Photo: Carlos Barria, Reuters/Profile

อนาคตทางการเมืองและความสัมพันธ์ในภูมิภาคหลังปาร์กกึนเฮถูกปลด

กรณีอื้อฉาวของประธานาธิบดีปาร์กกึนเฮทำให้คะแนนนิยมของพรรค Liberty Korea ของเธอลดฮวบฮาบไปด้วย และการที่พรรคไม่สามารถดึงบันคีมูน  อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่นับว่าเป็นคนที่ชาวเกาหลีใต้ชื่นชอบมาลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ ทำให้พรรคฝ่ายค้านกลับมามีโอกาสในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะเกิดขึ้น

หากพรรคฝ่ายค้านสามารถชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ จะทำให้อนาคตการเมืองของเกาหลีใต้เปลี่ยนไปอย่างสำคัญ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านมีนโยบายต้องการสร้างความร่วมมือกับเกาหลีเหนือมากกว่าพรรครัฐบาลปัจจุบัน โดยประกาศว่าจะทบทวนความร่วมมือกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับเกาหลีเหนือใหม่ให้ลดการเผชิญหน้า รวมถึงลดความตึงเครียดกับจีน จึงจะเห็นว่าพรรคฝ่ายค้านไม่ได้มีนโยบายด้านความมั่นคงในลักษณะเชิงรุก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ ที่มีนโยบายต้องการเป็นผู้นำทางทหารในภูมิภาคนี้

Photo: KCNA KCNA, Reuters/Profile

ล่าสุดสหรัฐฯ เพิ่งประกาศว่า สหรัฐฯ เตรียมติดตั้งระบบป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ที่จะเสร็จอีกใน 1-2 เดือนข้างหน้า และยังมีรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมพิจารณาให้สหรัฐฯ กลับมาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในเกาหลีใต้ หลังจากที่เกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธเป็นครั้งที่ 4 และไปตกลงในน่านน้ำเศรษฐกิจของญี่ปุ่น  โดยอ้างว่าเพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ ร่วมมือกับญี่ปุ่นในการซ้อมรบ ส่งผลให้จีนออกมาเตือนว่ากลยุทธ์นี้ของสหรัฐฯ จะเพิ่มการเผชิญหน้าด้านอาวุธในภูมิภาคนี้ระหว่างเกาหลีเหนือกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อีกทั้งจะยิ่งกระตุ้นให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ไปมากกว่าเดิม

สถานการณ์นี้นำไปสู่ความกังวลของเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจลดหรือเพิ่มกำลังต่อต้านเกาหลีเหนือก็ล้วนต้องเจอกับความเสี่ยงทั้งสองทาง เพราะหากไม่ทำอะไร ทั้งสองประเทศจะไม่มีอาวุธมารับมือกับเกาหลีเหนือที่สามารถยิงขีปนาวุธเมื่อไรก็ได้ หรือหากจะเพิ่มกำลังก็อาจจะเป็นการเร่งให้เกาหลีเหนือตอบโต้เร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากหน่วยงานความมั่นคงเปิดเผยว่า แม้จะยังไม่แน่ใจว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธข้ามทวีปอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ แต่เกาหลีเหนือมีขีปนาวุธที่สามารถยิงใส่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เมื่อไรก็ได้

แม้ฝ่ายค้านประกาศว่า เป็นไปได้ยากที่พรรคจะคว่ำนโยบายความร่วมมือด้านอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ หากได้รับชัยชนะ แต่การเปลี่ยนวิสัยทัศน์และนโยบายด้านความมั่นคงจากนโยบายเชิงรุกเป็นการลดการเผชิญหน้า จะเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในภูมิภาค รวมถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อย่างสำคัญ

Photo: Stringer, Reuters/Profile

จากประธานาธิบดีหญิงที่ได้รับความนิยมสู่ประธานาธิบดีที่อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์

ปาร์กกึนเฮก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2012 ซึ่งเธอสามารถเอาชนะคู่แข่งอย่างมุนแจ-อิน (Moon Jae-in) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สูสีอีกครั้งหนึ่งของเกาหลีใต้

การชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนั้นของเธอ นับเป็นสัญญาณที่ดีของเกาหลีใต้ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพราะเกาหลีใต้คืออีกหนึ่งประเทศที่ผู้หญิงยังคงเผชิญกับความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่บางฝ่ายวิเคราะห์ว่าการใช้ชีวิตกับบิดา และประสบการณ์การเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง ทำให้เธอก้าวผ่านอคติของผู้ชายเกาหลีที่มีต่อผู้หญิง และก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรกของประเทศได้ อีกทั้งชาวเกาหลีใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยมเลือกเธอเพราะความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของบิดา

เมื่อเธอขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆ นโยบายและข้อสัญญาที่เธอได้ประกาศไว้มีทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ และการทำความปรองดองกับเกาหลีเหนือ แต่ต่อมาเธอกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สามารถทำตามได้อย่างที่สัญญาไว้ เพราะเกาหลีใต้เผชิญกับหนี้ครัวเรือนและการส่งออกที่ทรุดตัว ส่วนด้านความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือนั้นก็เผชิญกับความตึงเครียดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะไม่สามารถยับยั้งให้เกาหลีเหนือหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ อีกทั้งเกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์ถึง 3 ครั้ง และขีปนาวุธอีกหลายครั้งในระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่ง

จากความล้มเหลวในการบริหารประเทศที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คดีอื้อฉาวที่เธอปล่อยให้เพื่อนสนิทมาพัวพันกับกิจการบ้านเมือง จึงเป็นชนวนที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้มากถึงหลักล้านคนออกมาประท้วงต่อต้านทั่วกรุงโซล ทำให้เธอเป็นผู้นำคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมมากในช่วงแรก และกลายเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุดในเวลาถัดมา จนถึงขั้นโดนศาลตัดสินให้ออกจากตำแหน่ง

Photo: Handout., Reuters/Profile

ชีวิตวัยเด็กของปาร์กกึนเฮที่นำไปสู่ความสนิทสนมกับชเวซุนซิล

ปาร์กกึนเฮคือผู้นำประเทศหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ แต่ในทางการเมืองเธอไม่ใช่คนหน้าใหม่ เพราะคนเกาหลีใต้ต่างคุ้นเคยกับเธออยู่แล้ว เนื่องจากเธอเป็นลูกสาวของอดีตประธานาธิบดีปาร์กชองฮี (Park Chung-hee) นายทหารสมัยสงครามเย็น ที่เป็นตัวแทนทางการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ และเป็นคนกดดันให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการต่อต้านการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เขาเปลี่ยนเกาหลีใต้ให้กลายเป็นประเทศส่งออกสำเร็จ แต่ต่อมาครอบครัวของเขากลายเป็นกลุ่มทุนธุรกิจใหญ่ของประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี หรือนโยบายด้านแรงงาน

การเป็นลูกสาวของผู้นำประเทศในยุคที่เกาหลีใต้ยังเผชิญกับความขัดแย้งและสงครามกับเกาหลีเหนือ ทำให้ชีวิตวัยเด็กของเธอไม่สดใสนัก มารดาของเธอถูกมือปืนชาวเกาหลีเหนือสังหารเมื่อปี 1974 ทำให้เธอต้องขึ้นมาเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งแทนมารดาในวัย 22 ปี และหลังจากนั้นเพียงแค่ 5 ปี บิดาของเธอก็ถูกลอบสังหาร และในช่วงนั้นเองที่เธอได้รู้จักกับชเวซุนซิล เพื่อนสนิทในวัยเด็ก ที่เธอออกมาเปิดเผยหลังกรณีอื้อฉาวว่า ชเวซุนซิลคือคนที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเธอในยามที่เธอเผชิญกับมรสุมชีวิต

ปาร์กกึนเฮรู้จักกับชเวซุนซิลตั้งแต่ในช่วงปี 1970 เพราะชเวซุนซิลเป็นลูกสาวของชเวแทมิน (Choi Tae-Min) บุคคลที่มีอิทธิพลด้านความเชื่อกึ่งศาสนา คนสนิทประจำตระกูลปาร์ก

ปาร์กกึนเฮจบการศึกษาด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยซอกัง  ในกรุงโซล และต่อมาถูกรับเลือกให้เข้ามาในสมัชชาแห่งชาติในปี 1998

ด้วยสถานภาพที่ยังไม่แต่งงาน ประเด็นนี้ทำให้ชาวเกาหลีใต้ที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมเคยหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยครั้ง แต่ต่อมาประเด็นดังกล่าวก็ไม่ได้รับความสนใจเพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

ข่าวการปลดปาร์กกึนเฮออกจากตำแหน่งในวันนี้ เป็นข่าวใหญ่และเหตุการณ์สำคัญที่จะส่งผลต่ออนาคตของการเมืองเกาหลีใต้ และอาจพลิกโฉมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งเราจะได้เห็นคำตอบที่ชัดเจนมากขึ้นภายใน 60 วันหลังจากนี้

อ้างอิง:

Tags: , , ,