ปกของนิตยสาร TIME ในปี 2013 เป็นรูปเด็กผู้หญิงนอนเซลฟีตัวเอง พร้อมกับคำโปรยบนปกว่า

‘The ME ME ME Generation’

‘Millennials are lazy, entitled narcissists who still live with their parents’

‘Why they’ll save us all’

หรือ

‘คนยุคที่มีแต่ฉัน ฉัน ฉัน’

‘คนยุคมิลเลนเนียลส์คือคนขี้เกียจ หลงตัวเอง ที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่’

‘ทำไมพวกเขาจึงจะมาช่วยพวกเราล่ะ’

มากกว่า 4 ใน 10 หรือ 43% ของคนประเภทที่พลีชีพให้กับงานนั้นเป็นคนยุคมิลเลนเนียลส์

หน้าปกของนิตยสาร TIME เป็นอีกหนึ่งเสียงที่สะท้อนหลายความคิดเห็นต่อคนยุคมิลเลนเนียลส์ หรือคนเจนวาย ที่ตอนนี้คือคนวัย 20-35 ปี ว่าพวกเขานั้นเป็นพวกหนักไม่เอา เบาไม่สู้  โลเล เปลี่ยนใจง่าย เอาแต่ใจ ขี้เกียจ ไม่มีความอดทน เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนๆ

สภาเศรษฐกิจโลกได้รวบรวมสถิติที่ระบุว่า มีบางสิ่งที่คนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับคนเจนวาย เช่น แท้จริงแล้วพวกเขาคือคนบ้างาน ไม่ได้เห็นแก่ตัว และมองตัวเองเป็นพลเมืองของโลก (Global Citizens) มากกว่ายึดติดเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง

และอีกข้อที่อาจสร้างความแปลกใจคือ พวกเขาถูกมองว่าเป็นรุ่นของคนที่ทำตามความฝัน แต่แท้จริงแล้วพวกเขาเลือกให้ความสำคัญกับเงินเดือนและตำแหน่งก่อน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ได้อยากทำงานที่รู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย แต่ในทางปฏิบัติพวกเขาอาจไม่ได้ทำตามฝันอย่างที่พวกเขาแสดงออก หรือแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ

คนยุคมิลเลนเนียลส์ไม่ได้ขี้เกียจ แต่บ้างานต่างหาก

การสำรวจของ US Workplace Study ในปี 2016 ได้สัมภาษณ์คนยุคมิลเลนเนียลส์ในสหรัฐฯ 5,600 คน ต่อทัศนคติเวลาต้องลางาน และความรู้สึกเวลามีใครมาทำงานทดแทน และการใช้สิทธิวันหยุด และพบว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์นั้นมีแนวโน้มมากกว่าคนรุ่นอื่นที่จะเป็นคนบ้างาน โดยพบว่ามากกว่า 4 ใน 10 หรือ 43% ของคนประเภทที่พลีชีพให้กับงานนั้นเป็นคนยุคมิลเลนเนียลส์

นอกจากนี้เมื่อสัมภาษณ์ว่าทำไมบางคนถึงไม่เลือกใช้วันหยุด พบว่าพวกเขาไม่เพียงแค่อุทิศตนให้กับงาน หรือกลัวที่จะสูญเสียงานไป แต่พวกเขายังรู้สึกผิดต่อคนอื่นๆ ด้วย โดยผลสำรวจพบว่า 42% จะรู้สึกผิดต่อเพื่อนร่วมงานเมื่อต้องลางาน

คนยุคมิลเลนเนียลส์นั้นให้ความสำคัญกับเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นอันดับแรก
รองลงมาคือความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป้าหมายของอาชีพ
และสุดท้ายคือความสมดุลระหว่างชีวิตการงานและชีวิตด้านอื่นๆ

 

คนยุคมิลเลนเนียลส์ กับฝันที่อยากไปให้ถึง และใบเสร็จที่ต้องจ่าย

เรามักจะรู้สึกภูมิใจและมีคุณค่าเสมอ หากรู้ว่างานของเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมได้ ซึ่งคนยุคมิลเลนเนียลส์นั้นมักถูกมองว่า เป็นคนที่มีพลัง และต่างขับเคลื่อนตัวเองด้วยความฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เราเห็นสตาร์ทอัพหลายเจ้าประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจ

แต่ผลสำรวจของ Imperative ที่ได้สำรวจสมาชิกของ LinkedIn 2,600 คนจาก 40 ประเทศ ทั้งสวีเดน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และบราซิล ในหลากหลายสาขาวิชาชีพตั้งแต่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคสื่อสาร ไปจนถึงวิศวกรรม และผลสำรวจได้สร้างความแปลกใจ เพราะพบว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์นั้นกลับเป็นคนที่ขับเคลื่อนตัวเองด้วยเป้าหมายน้อยที่สุด ขณะที่ 48% ของคนยุคเบบี้บูมเมอร์ส (อายุ 51 ปีขึ้นไป) ให้ความสำคัญกับงานที่ตรงตามเป้าหมายของชีวิตมากกว่าค่าตอบแทนและตำแหน่ง รองลงมาคือคนเจนเอ็กซ์ ที่ 38% ของพวกเขามีแนวคิดเช่นนี้ ขณะที่คนยุคมิลเลนเนียลส์ 30% ที่ให้ความสำคัญกับเนื้องานมากกว่าเงินเดือนหรือตำแหน่ง ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าคนยุคเบบี้บูมเมอร์ส และเจนเอ็กซ์

อย่างไรก็ตามผลสำรวจข้างต้นไม่ได้หมายความว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์นั้นไม่ได้ต้องการงานที่มีความหมายกับชีวิต เพราะผลสำรวจเดียวกันพบว่า 74% ของคนยุคมิลเลนเนียลส์ต้องการทำงานที่พวกเขารู้สึกว่ามีความหมาย

จึงเกิดเป็นคำถามว่าทำไมคนยุคมิลเลนเนียลส์ถึงไม่ได้มุ่งไปสู่ความฝันอย่างที่พวกเขาควรจะเป็น ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นช่องว่างระหว่างสิ่งที่พวกเขาแสดงออกเกี่ยวกับความฝันผ่านสื่อต่างๆ กับสิ่งที่เขาทำจริงๆ ในชีวิต

เช่นเดียวกับผลสำรวจของสภาเศรษฐกิจโลกที่พบว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์นั้นให้ความสำคัญกับเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นอันดับแรก รองลงมาคือความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป้าหมายของอาชีพ และสุดท้ายคือความสมดุลระหว่างชีวิตการงานและชีวิตด้านอื่นๆ

คนยุคมิลเลนเนียลส์อาจไม่ได้เอาแต่ใจ และเห็นแค่ประโยชน์ส่วนตนอย่างที่คิด

การสำรวจของสภาเศรษฐกิจโลกพบว่า คนยุคมิลเลนเนียลส์มองตัวเองเป็นพลเมืองของโลก (Global Citizens) และเข้าไปมีส่วนร่วมกับการพัฒนาสังคม  รวมถึงเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยการสำรวจได้ยกเรื่องวิกฤตผู้อพยพเป็นตัวอย่าง และพบว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์ถึง 74% ยินดีที่จะให้ผู้อพยพเข้ามายังประเทศของตน และมากกว่า 20% ยอมที่จะเสียสละพื้นที่ของบ้านตัวเองส่วนหนึ่งให้กับผู้อพยพด้วย นอกจากนี้มากกว่าครึ่งมองว่าพวกเขาสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่สำคัญต่อประเทศด้วย

คนยุคมิลเลนเนียลส์ไม่ได้ขี้บ่น แต่มองโลกในแง่ดี และวิ่งหาโอกาส

ตามที่สภาเศรษฐกิจโลกได้สำรวจคนยุคมิลเลนเนียลส์ 26,000 คน พบว่า 70% ของพวกเขามองว่า โลกใบนี้นั้นเต็มไปด้วยโอกาสมากมาย ขณะที่อีก 30% มองว่าโลกเต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรน

อย่างไรก็ตามผลสำรวจต่างๆ ที่พยายามสะท้อนให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละยุคนั้น อาจตรงกับความเป็นจริงเพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้ 100% และเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถสรุปเหมารวมได้ว่า คนยุคไหนต้องเป็นอย่างไร และด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป ก็ยังส่งผลให้พฤติกรรมของคนแต่ละยุคแตกต่างกันออกไปเช่นกัน

เพราะคนประเภท ‘ME ME ME’ หรือคนที่มองเห็นแต่ตัวเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เหลาะแหละ หนักไม่เอา เบาไม่สู้ ก็สามารถพบเห็นได้ในทุกรุ่น

หรือไม่จริง?

อ้างอิง:

http://www.telegraph.co.uk/men/thinking-man/crybaby-millennials-need-to-stop-whinging-and-work-hard-like-the

https://www.weforum.org/agenda/2017/01/everything-you-thought-you-knew-about-millennials-is-wrong

https://www.weforum.org/agenda/2016/08/new-study-finds-millennials-aren-t-lazy-they-re-workaholics

https://www.weforum.org/agenda/2017/01/the-future-is-becoming-a-burden-on-the-young-these-three-principles-could-change-that

https://www.theguardian.com/sustainable-business/2016/sep/14/millennials-work-purpose-linkedin-survey

https://business.linkedin.com/talent-solutions/job-trends/purpose-at-work?src=gua

Tags: