ถ้ารู้ว่าในอีก 10 วันข้างหน้าคุณจะตาย คุณอยากรู้ไหม?

แล้วถ้าไม่ใช่คุณ รู้ไหมว่ามีน้อยคนเท่านั้นที่อยากรู้อนาคตของตัวเอง ไม่ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าจะดีหรือร้ายก็ตาม

มีคนเพียง 1% เท่านั้น ที่อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้างในอนาคต

เกิร์ด จิเจอเรนเซอร์ (Gerd Gigerenzer) จาก Max Planck Institute for Human Development และ โรซิโอ การ์เซีย-เรตาเมโร (Rocio Garcia-Retamero) แห่งมหาวิทยาลัยกรานาดา ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจากประชากรกว่า 2,000 คนในประเทศสเปนและเยอรมันว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนาคต ในหัวข้อ ‘Cassandra’s Regret: The Psychology of Not Wanting to Know’ พบว่าคนส่วนใหญ่กลับไม่อยากรู้เรื่องราวของตัวเองในอนาคต โดยตั้งคำถามจากเรื่องการใช้ชีวิตของคนในทุกๆ วัน ไปจนถึงคำถามในเชิงสัจธรรมและความรัก เช่น อยากรู้ไหมว่าคุณจะได้รับของขวัญอะไรในวันคริสต์มาส ชีวิตหลังแต่งงานของคุณจะเป็นอย่างไร จะพากันไปตลอดรอดฝั่งหรือจะจบลงด้วยการหย่าร้าง หรืออยากรู้ไหมว่าคุณจะตายเมื่อไร และไม่เว้นแม้กระทั่งคำถามเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย

ผลการวิจัยทั้งหมดได้รับการตีพิมพ์ลงใน Psychological Review เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า 85-90% ของกลุ่มตัวอย่างแทบไม่อยากรู้อนาคตที่เป็นเรื่องร้ายแรงของตนเอง แต่ที่น่าแปลกใจกว่านั้นคือกลุ่มตัวอย่างประมาณ 40-70% ไม่ต้องการที่จะรู้เรื่องดีๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน โดยมีคนเพียง 1% เท่านั้น ที่อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองบ้างในอนาคต

ขณะที่ผลวิจัยว่าด้วยเรื่องของผลกระทบที่เกิดจากความรู้สึกผิดต่ออารมณ์เกลียดชัง และผลข้างเคียงจากการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยง (Consequences of Regret Aversion: Effects of Expected Feedback on Risky Decision Making) พบว่า ผู้คนจะกลัวความเสียใจที่คาดการณ์ได้ และไม่มีใครอยากเสียใจไปก่อนล่วงหน้า

ผลจากงานวิจัยทั้งสองชิ้นในบทความนี้ชี้ให้เห็นว่า นอกจากเราจะกลัวอนาคต เพราะคาดเดาไม่ได้แล้ว การคาดเดาอนาคตได้กลับทำให้เรารู้สึกกลัวยิ่งกว่า

บางทีคำตอบของเรื่องนี้อาจไม่ได้อยู่ที่การมัวคิดถึงและกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดในอนาคต แต่คือการทำวันนี้ให้ดีที่สุด และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า อย่างน้อยวันนี้คุณก็ทำดีที่สุดแล้ว

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai​

อ้างอิง:

Tags: