ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน สามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อร่างกายของคนเราได้ อาทิ กระดูกสันหลังยืด กล้ามเนื้อหดตัว เวลานอนคลาดเคลื่อนจากปกติ และตกอยู่ในภาวะความเครียด แต่ที่ผ่านมารายงานการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวนั้นมีน้อยมากจนแทบจะเป็นปริศนา

คริส แฮดฟีลด์ (Chris Hadfield) นักบินอวกาศชาวแคนาดาวัยเกษียณได้เล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)  ก่อนปลดเกษียณที่ทั้งแสนวิเศษและน่าสะพรึง นับตั้งแต่วินาทีที่ตาข้างซ้ายของเขาเกิดบอดระหว่างเดินอยู่ข้างนอกยาน เขาต้องเผชิญกับความมืดมิดที่ไม่สิ้นสุด

แฮดฟีลด์ตั้งคำถามว่าทำไมคนเราจึงยอมเสี่ยงฝากชีวิตไว้กับยานจรวดซึ่งบรรทุกเชื้อเพลิงเหลว ต้องอยู่ท่ามกลางภัยอันตราย และความไม่แน่นอน

การเดินทางสู่อวกาศนั้นน่ากลัวเหมือนในหนังจริงไหม หรือแท้จริงแล้วเป็นภัยเงียบต่อร่างกายของมนุษย์เรา และนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่น่ากลัวกว่าหลายเท่ากันแน่

ล่าสุดองค์การนาซาได้เปิดเผยการค้นพบใหม่จากกรณีศึกษาฝาแฝดนักบินอวกาศ สกอตต์ เคลลี (Scott Kelly) และ มาร์ก เคลลี (Mark Kelly) ที่มาพร้อมกับผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง

 

โครงการศึกษาวิจัยฝาแฝดแห่งนาซา: กุญแจไขปริศนาการท่องอวกาศ

สกอตต์ และมาร์ก เคลลี นักบินอวกาศฝาแฝดได้เข้าร่วมโครงการของนาซาเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับนาซา เพราะทั้งสองมีดีเอ็นเอเหมือนกัน ซึ่งเป็นเคสที่หาได้ยาก

ทีมวิจัยได้ยึดการศึกษาของมาร์กที่ทำงานอยู่ภาคพื้นดินเป็นหลัก เพื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของสกอตต์ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) นานเกือบปี (340 วัน) และเดินทางกลับโลกเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ระหว่างนั้นทีมวิจัยได้รวบรวมตัวอย่างทางชีวภาพ รวมทั้งเก็บข้อมูลพิมพ์เขียวของฝาแฝดทั้งคู่ ตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และหลังการเดินทางของสกอตต์

แม้ว่างานวิจัยนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ทางนาซาได้เปิดเผยงานวิจัยเบื้องต้นในงานประชุมประจำปี NASA Human Research Program วันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา และพบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจดังนี้

 

1. การอยู่ในอวกาศส่งผลต่ออายุของเซลล์

ตามปกติแล้ว โครโมโซมของมนุษย์จะมีส่วนปลายสุดที่เรียกว่า เทโลเมียร์ (Telomeres) ทำหน้าที่กำหนดอายุขัยของเซลล์ ซึ่งความยาวของเทโลเมียร์จะค่อยๆ หดสั้นลงตามอายุ

ซูซาน ไบลีย์ (Susan Bailey) นักวิทยาศาสตร์ชีวภาพรังสี หนึ่งในทีมวิจัยค้นพบว่าเทโลเมียร์ของสกอตต์มีความยาวเพิ่มขึ้นในขณะที่เขาอยู่ในอวกาศ แต่ไบลีย์สันนิษฐานว่าอาจมีผลสืบเนื่องมาจากการออกกำลังกายและบริโภคอาหารแคลอรีต่ำในระหว่างปฏิบัติภารกิจนอกโลก อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าเมื่อสกอตต์กลับมายังโลก เทโลเมียร์ของเขากลับสู่ระดับปกติเช่นเดียวกับช่วงก่อนบินอย่างรวดเร็ว

นาซากำลังศึกษาหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ และไม่แน่ว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการชะลอความชราของคนเรา

2. ระดับของเมทิลเลชัน (Methylation) ในเม็ดเลือดขาวลดลง

ทีมวิจัยของนาซาพบว่าระดับเมทิลเลชันในเซลล์เม็ดเลือดขาวของสกอตต์ลดลงในขณะที่อยู่ในอวกาศ ตรงกันข้ามกับระดับเมทิลเลชันของมาร์กที่เพิ่มขึ้น

เมทิลเลชันถือเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลงโครงสร้างทางเคมีของดีเอ็นเอ (DNA Methylation) มีผลยับยั้งการแสดงออกของยีน (gene expression) ทั้งยังเกี่ยวโยงกับกลไกของความชราอีกด้วย

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปสำหรับเรื่องนี้ แต่ทางนาซากล่าวว่า “ผลลัพธ์เหล่านี้อาจบ่งชี้ว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลต่อยีน”

3. เป็นไปได้ว่าการอยู่ในอวกาศจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

มาเธียส แบสเนอร์ (Mathias Basner) นักวิจัยพบความแตกต่างของการปฏิบัติภารกิจของสกอตต์ในช่วง 6 เดือนแรกกับครึ่งหลังที่เพิ่มระยะเวลาเป็น 12 เดือน โดยชี้ว่าความเร็วและความแม่นยำในการปฏิบัติภารกิจท้ายๆ นั้นลดลงเล็กน้อย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ข้อมูลดังกล่าวยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าการเพิ่มระยะเวลาปฏิบัติภารกิจมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและความสามารถในการปฏิบัติงานบนยานอวกาศจริงหรือไม่

4. นาซาจับตายีนสายพันธุ์อวกาศ ‘Space Gene’

นอกเหนือจากเกร็ดการค้นพบเล็กๆ น้อยๆ ทีมวิจัยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของการเกิดยีนกลายพันธุ์ ในขณะที่สกอตต์ใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศ และการเปลี่ยนแปลงในระดับดีเอ็นเอ โดยทางนาซาจะนำผลวิจัยเหล่านี้มาพัฒนาต่อเพื่อยกระดับการเดินทางสู่อวกาศให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และไขปริศนาลับของจักรวาลกันต่อไป
ก่อนบทความนี้จะจบลง ย้อนกลับมาเรื่องของ คริส แฮดฟีลด์ ที่เรากล่าวไปข้างต้น เขายังเป็นนักบินอวกาศแคนาดาคนแรกที่ได้เดินในอวกาศ แม้ว่าประสบการณ์ครั้งนั้นต้องแลกมาด้วยตาบอดไปข้างหนึ่ง แต่แฮดฟีลด์กล่าวว่าเขาได้ทำฝันที่น่ากลัวให้เป็นจริง ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสเหมือนกัน

แม้ว่าการผจญภัยในอวกาศจะดูอันตรายแค่ไหน มันก็ผลักดันให้เราออกไปค้นหาคำตอบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ภาพประกอบ: Karin Foxx

Photo: nasa.gov

อ้างอิง:

http://www.businessinsider.com/nasa-twin-study-early-results-mark-and-scott-kelly-2017-2

https://www.nasa.gov/feature/how-stressful-will-a-trip-to-mars-be-on-the-human-body-we-now-have-a-peek-into-what-the-nasa

https://www.nasa.gov/feature/one-year-mission-investigators-debut-preliminary-results-at-nasa-workshop

http://www.brecosmeticlab.com/newslet/54/07_jul/mech_aging_08_gndereg.html

http://www.nature.com/news/astronaut-twin-study-hints-at-stress-of-space-travel-1.21380

https://www.ted.com/talks/chris_hadfield_what_i_learned_from_going_blind_in_space?language=th

 

Tags: