รากของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากการมองประวัติศาสตร์กันคนละชุดของคนในพื้นที่และภาครัฐ

รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวในบทความ ‘เปิดปมร้อน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใครคือผู้ก่อเหตุ? อะไรคือรากของปัญหาความรุนแรง? และการเจรจาเพื่อสันติภาพจะยุติเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่?’

คำถามคือ ความแตกต่างของประวัติศาสตร์ระหว่างคนในพื้นที่และภาครัฐคืออะไร?

และทำไมประวัติศาสตร์ที่ต่างกันถึงกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุและ ‘ราก’ ของปัญหาความรุนแรง?

ในวันที่รัฐบาล คสช. ตั้งทีม ‘ครม. ส่วนหน้า’ เพื่อหวังเข้าแก้ปัญหา ขณะที่หลายฝ่ายหวังให้สันติภาพเกิดขึ้นด้วยการหันมาเปิดหน้าเจรจา

แต่ดูเหมือนว่าวันนี้และไม่กี่วันก่อนหน้า ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับบาดแผลของผู้คนในพื้นที่ ที่หลายกรณีไม่ได้รับการชำระสะสาง หรือถูกจัดเป็นคดีประเภท ‘ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด’

หากปัจจุบันคือผลพวงจากอดีต และอนาคตคือดอกผลของปัจจุบัน

การกลับมาทบทวนประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา น่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจ เพื่อเป็นกุญแจไขสู่ ‘อนาคต’ ที่สันติ

Photo: Damir Sagolj, Reuters/profile

‘ความหลากหลายในความไม่หลากหลายของประวัติศาสตร์’ ในแบบเรียนไทย จาก พ.ศ. 2520 ถึงยุค คสช.

งานวิจัย ‘เนื้อหาความเป็นพหุวัฒนธรรมในแบบเรียนไทย’ โดย ฐิติมดี อาพัทธนานนท์ ที่ได้ศึกษาแบบเรียนระดับประถมศึกษาตั้งแต่ปีที่ 1-6 ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2544 จำนวน 30 เล่ม จากหลายสำนักพิมพ์ รวมถึงแบบเรียนที่ผลิตใน พ.ศ. 2520-2521 ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า แบบเรียนไทยยุคใหม่นำเสนอเนื้อหาที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่าแบบเรียนในอดีต

เนื้อหาในแบบเรียนฯ พ.ศ. 2551 มีการกล่าวถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น แต่ ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ ที่ปรากฏในแบบเรียนส่วนใหญ่แล้วเป็นวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ เช่น อาหาร ภาษา การแต่งกาย สถาปัตยกรรม นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ยังมองวัฒนธรรมเป็นสิ่งตายตัว

ฐิติมดี ขยายความ ‘วัฒนธรรมเป็นสิ่งตายตัว’ ว่าเกิดจากการมองวัฒนธรรมแบบเหมารวม เช่น การพูดถึงชาวมุสลิมก็จะนึกถึงเพียงอาหารและการแต่งกาย ซึ่งเป็นการจัดประเภทวัฒนธรรม ทำให้เป็น ‘มาตรฐาน’ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการจัดการกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในรูปแบบหนึ่ง

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ได้รับการอ้างถึงมักจะเป็นวัฒนธรรมที่ ‘ขายได้’ ที่ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว

ขณะที่วัฒนธรรมที่มีความสลับซับซ้อน เป็นความสัมพันธ์ของคน หรือเป็นผลของปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งนอกจากจะ ‘ขายไม่ได้’ แล้ว ยังเป็นสิ่งที่บั่นทอนความชอบธรรมของรัฐ เนื้อหาวัฒนธรรมเช่นนี้จะไม่ถูกบรรจุในแบบเรียน

แบบเรียนไม่มีการกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมทางอำนาจของคนต่างวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้งของคนต่างวัฒนธรรม เช่น แบบเรียนไม่มีการกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมหรือการเอารัดเอาเปรียบระหว่างชนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น ชาวเขา ชาวเล ชาวมุสลิม

บทสรุปของงานวิจัยดังกล่าว มีเนื้อหาบางตอนระบุถึงท่าทีของรัฐในแบบเรียนต่อวัฒนธรรมของชาวมุสลิมว่า

‘ในกรณีของชาวมุสลิม อาจมีการยอมรับเรื่องของอาหาร เช่น ชาชัก โรตี ข้าวหมกไก่ แต่ไม่ยอมรับการเรียกร้องเรื่องวันหยุดตามหลักศาสนา’

เมื่อกลับมามองที่ปัจจุบัน หลังกระทรวงศึกษาฯ ปรับวิธีการสอนวิชาประประวัติศาสตร์ใหม่ (เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2558) เพื่อให้นักเรียนมีความรักชาติ ปลูกฝังจริยธรรม เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ภายใต้ค่านิยม 12 ประการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้นโยบายไว้ แม้วิธีการสอนจะเปลี่ยนไป แต่ดูเหมือนในแง่เนื้อหา ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม’ จะไม่ต่างจากเดิม

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในงานวิจัย และความจริงที่เกิดขึ้นจากการปรับวิธีการสอนวิชาประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้เรานึกย้อนกลับมาทบทวนและสำรวจตัวเองเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับคิดถึงบทสรุปตอนท้ายของงานวิจัยข้างต้นที่ว่า

ถ้าการบังคับให้ทุกคนต้องเหมือนกันเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในอดีตเพื่อความเป็นเอกภาพ การยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็เป็นเครื่องมือของรัฐเช่นเดียวกัน

และเป็นเครื่องมือที่ถือว่าเหมาะกับยุคสมัยนี้ ที่ความมั่นคงของรัฐขึ้นอยู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและค่านิยมเรื่องสิทธิมนุษยชน

Photo: Surapan Boonthamon, Reuters/profile

ประวัติศาสตร์ที่ถูก ‘ปิด’ ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ประวัติศาสตร์ในแบบเรียนอาจทำให้คนเข้าใจว่า ‘ความเป็นชาติ’ ของไทยมีที่มาเริ่มจากอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ หากละเลยที่จะพูดถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความเก่าแก่มากกว่าอาณาจักรสุโขทัย

สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึงประเด็นข้างต้นในบทความ ประวัติศาสตร์ “ปกปิด” 3 จังหวัดชายแดนใต้ รัฐปัตตานีใน “ศรีวิชัย” เก่าแก่กว่า “รัฐสุโขทัย” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ matichonweekly.com ว่า

ยะลา-ปัตตานี คือบริเวณที่มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของคาบสมุทรแหลมทอง ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีอายุหลายพันปีมาแล้ว

…และเป็น “รัฐ” เอกเทศในเครือข่ายของ “ศรีวิชัย” ที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่ารัฐสุโขทัย

…แต่ประวัติศาสตร์ “ชาติ” ไม่ยอมรับรู้หลักฐานที่เป็นพยานความมีตัวตนแท้จริงของรัฐปัตตานี ซึ่งมีความเป็นมาอย่างเอกเทศและยาวนานดังกล่าว มิหนำซ้ำยังดูถูกดูแคลนแสนสาหัสว่าเป็นพวก “แขก” แปลกหน้าเป็นผู้อาศัย แล้วปลุกปั่นกลั่นแกล้งก่อให้เกิดวิวาทบาดหมางอย่างรุนแรงสืบเนื่องยาวนานมากนับร้อยๆ ปีมาแล้ว

จากความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่บิดเบี้ยว ได้กลายเป็นที่มาของการดูถูกผู้คนในพื้นที่นี้ จนเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง ดังที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนว่า

ผลของการดูหมิ่นถิ่นแคลน ก็เกิดปฏิกิริยาตอบโต้เป็นระยะๆ ล่าสุดมีปัญหาขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2546 ต่อเนื่องถึงต้นปี พ.ศ. 2547 (ซึ่งเกิดกรณี ‘ตากใบ’–ผู้เขียน) จนปัจจุบัน มีผู้พยายามเรียกร้องให้ลดความรุนแรงลงหลายกลุ่มหลายเหล่า แต่ความรุนแรงถึงชีวิตยังไม่ลดละ มีแต่จะร้าวฉานบานปลายขยายวงกว้างขึ้น เพราะความไม่เข้าใจประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งบอกความเป็นมาอย่างมีหลักฐานไม่ใช่สร้างจินตนาการของลักษณะ “ล้าหลัง-คลั่งชาติ”

Photo: Surapan Boonthamon, Reuters/profile

ความเป็นไทย ไฟใต้ ทางออก ในสายตาอานันท์ ปันยารชุน ช่วงหลังเหตุการณ์ตากใบ

จากเหตุการณ์ระเบิดที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเบิ้มนครปฐม หน้าตลาดโต้รุ่ง เขตเทศบาลเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการก่อเหตุในวันครบรอบ ‘เหตุการณ์ตากใบ พ.ศ. 2547’ ที่เป็นโศกนาฏกรรมและความเจ็บปวดที่ยากจะลืมของคนในพื้นที่ หลังเจ้าหน้าที่รัฐเข้ากวาดจับและสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 70 คน

ข้อสังเกตของ รอมฎอน ปันจอร์ ชวนให้นึกถึงคำปราศรัยของ อานันท์ ปันยารชุน ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ในงานดินเนอร์ทอล์กเพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 หรือหลังจากเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้น 274 วัน

แม้คำปราศรัยของ อานันท์ ปันยารชุน จะผ่านมากว่า 12 ปี แต่หลายประเด็นที่เขาพูด ได้ฉายให้เห็นภาพปัญหาในวันนี้ และอาจถึงทางออกในอนาคต

ความเป็นไทย

“อาณาจักรประเทศไทยขณะนี้เริ่มต้นจากอาณาจักรสุโขทัยดั้งเดิมจะมีคนไทยอยู่ในพื้นที่นี้หรือเปล่าผมก็ไม่รู้ …ตอนนั้นผืนแผ่นดินที่เรียกว่าสุวรรณภูมิก็มีแต่คนพม่า คนมอญ คนเวียดนาม คนเขมร แต่เราลืมไปครับว่าติ่งด้านล่างนั้นเป็นคนมลายู รัฐมลายูนี่เขามีมาช้านาน เขาพูดภาษามลายู เขามีเชื้อชาติมาเลย์ เขาพูดภาษามลายูก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์อักษรไทย และตอนนั้นเขาอาจจะเป็นอาณาจักรศาสนาพุทธ ต่อมาเป็นอาณาจักรศาสนาฮินดู และเปลี่ยนมาเป็นอาณาจักรศาสนาอิสลาม เขาไม่ได้เป็นคนพลัดถิ่น

“…ในประวัติศาสตร์ของไทย 500-600 ปีนั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายมาก ที่นั่งอยู่ในที่นี้ ผมถามว่ามีใครกี่คนที่ไม่มีเลือดเนื้อต่างชาติหรือต่างชนชาติเลย แต่เราเป็นไทยไหม เป็นครับ เพราะเรารู้สึกเป็นไทย เรารักแผ่นดินไทย เรารักสถาบันไทย เรามีความสุขอยู่ในแผ่นดินไทย…

“…คนไทยมีทั้ง ไทย-จีน ไทย-เขมร ไทย-อาหรับ ไทย-พม่า ไทย-มอญ ไทย-ไทใหญ่ ไทย-ลาว ไทย-โปรตุเกส ไทย-มลายู ไทย-ญี่ปุ่น และเดี๋ยวนี้ไทย-ฝรั่งก็เต็มไปหมด เราลืมประวัติศาสตร์”

ไฟใต้และทางออก

“…หลักของความสมานฉันท์ต้องเริ่มต้นจากการพูดความจริง ถึงแม้บางครั้งบางคราวความจริงจะเป็นสิ่งที่กระเทือนจิตใจคน แต่เราต้องใจกว้างครับ มาแบ่งว่าพวกเขาพวกเรา มาถือว่าเขาเป็นศัตรูไม่ได้ หลักการความสมานฉันท์คือ มันมีความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน จนมันบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองกลุ่ม หน้าที่ของรัฐต้องไม่ไปเสริมสร้างให้มีความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น รัฐต้องไม่ถือว่าใครเป็นศัตรู ทั้งสองกลุ่มเป็นพสกนิกรทั้งคู่ หน้าที่ของรัฐต้องเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี บนพื้นฐานของความจริง บนพื้นฐานของความยุติธรรม และบนพื้นฐานของความกล้ารับผิด…

“…กระบวนการก่อการร้าย กระบวนการที่เราเรียกว่าแบ่งแยกดินแดนของเมืองไทย หัวโจกมีอยู่ไม่กี่คน ส่วนใหญ่จะใช้เป็นในเรื่องของการต่อรองว่า ขอให้เขามีส่วนในการปกครองตัวเอง ขอให้เขามีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของเขาเองบ้าง แต่เมืองไทยแปลกครับ คนไทย-พุทธที่อยู่ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นคนกลุ่มน้อย คนกลุ่มใหญ่เป็นคนมุสลิม แต่ถ้าเผื่อดูทั้งประเทศแล้ว คนไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นคนกลุ่มใหญ่ แต่คนมุสลิมเป็นคนกลุ่มน้อย มันต้องหาความสมดุล มันเป็นเรื่องของการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ยอมรับในสิ่งที่เป็นจริง ยอมรับความผิดพลาดที่มีมาในอดีต…

“…ผมใช้เวลาส่วนใหญ่เล่าเรื่องพวกนี้ให้ฟัง เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่พูดยาก พูดออกไปแล้วคนก็จะบอกว่า คนๆ นี้นิยมมุสลิม แบ่งแยกดินแดน ผมเป็นมาหมดแล้วในชีวิตนี้ เป็นอีกสองอย่างก็ไม่ต้องสะท้านอะไร แต่มันถึงเวลาครับ สังคมไทยต้องแสวงหาความจริง”

Photo: Damir Sagolj, Reuters/profile

รากของปัญหา การศึกษา และการกล้าเผชิญหน้าความจริง

จากตำราเรียนประวัติศาสตร์อันบิดเบี้ยว ความจริงที่ถูกปกปิดของรัฐปัตตานี และคำปราศรัยของ อานันท์ ปันยารชุน เมื่อ พ.ศ. 2548 ซึ่งฉายให้เห็นรากของปัญหาไฟใต้

คำถามคือ เราจะถอน ‘ราก’ ปัญหาได้อย่างไร?

บางส่วนของคำบรรยายในโครงการสัมมนาวิชาการเรื่อง ‘รัฐ ความรุนแรง ทางออก และพลังการเปลี่ยนแปลง’ โดย ศ. ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2548 น่าจะตอบคำถามข้างต้นได้เป็นอย่างดี

“การแก้ปัญหาระยะยาวที่สุดเลยคือ คนในสังคมไทยอยู่กับมรดกของประวัติศาสตร์และของรัฐที่ไม่เข้าใจว่ารัฐหนึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐเดี่ยวที่เหมือนๆ กันหมด ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมค่อนข้างแคบ หรือ ‘แคบ’ เลย ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีทางแก้อย่างอื่น นอกจาก education หรือการศึกษา…”

หากปัญหาภาคใต้ในวันนี้เกิดจากสิ่งที่เคยเป็นมาในอดีต ศ. ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ชี้ว่า วิธีที่จะจัดการอดีตได้คือการเผชิญหน้าความจริง

“วิธีที่จะจัดการกับอดีต โดยพื้นฐานและหลักการคือ เผชิญกับอดีต ให้ความหมายและอธิบายว่าอะไรจะรับ อะไรจะไม่ต้องสนใจ เถียงกัน …เช่น เราเข้าใจแล้วว่าเกิดการ discrimination มีการดูถูกดูหมิ่นคนภาคใต้อย่างมหาศาล เราต้องแก้ตรงนี้

“…เมื่ออดีตหมดสถานะเป็นระเบิดเวลา อดีตนั้นก็จะ irrelevant แต่ถ้าอดีตยังเป็นระเบิดเวลาตลอดเวลา ถึงท่านให้หยุด ถึงท่านพยายามจะหยุด มันก็ไม่มีทางที่คนจะหยุดคิดถึง

“…ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ที่สักแต่พูดว่าอดีตสำคัญ ทุกกรณีสำคัญเท่ากันหมด แต่อดีตจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญก็ต่อเมื่ออดีตหมดความหมายในปัจจุบัน

“แต่ถ้าอดีตนั้นยังมีความหมายต่อปัจจุบันในทางใดทางหนึ่ง อดีตนั้นจะยังคง relevant ตลอดเวลา”

จากแบบเรียนที่ถูกสร้างเพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคมมากกว่าจะให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจ จากบาดแผลเก่าและความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐในอดีตที่ทิ้งไว้ ตั้งแต่กรณีการหายตัวอย่างลึกลับของหะยีสุหลง ทนายสมชาย นีละไพจิตร จนถึงกรณีตากใบ พ.ศ. 2547 ซึ่งยังไม่เคยมีการชำระสะสางจนจบสิ้นกระบวนความ

อดีตที่ผิดพลาดและค้างคา ล่วงมาถึงปัจจุบันอันรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส่งผลต่อคนทุกฝ่ายอย่างน่าเห็นใจ ไม่ว่าจะเป็น คนไทย-มุสลิม คนไทย-พุทธ หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเอง

แม้การแก้ปัญหาด้วยการเดินหน้าเจรจาของรัฐกับคนในพื้นที่อาจเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่หากดูอาการตามที่ว่ามา การรักษาโรคนี้อาจต้องกลับไปแก้ที่ ‘เหตุ’

นั่นคือการเริ่มต้นสะสางแผลเก่าในอดีตที่ทิ้งไว้ และสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ ซึ่งว่ากันว่าเป็น ‘ราก’ ของปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

Photo: Damir Sagolj, Reuters/profile