“ความหลากหลายแต่รุ่งโรจน์… ความหลากหลายทางความเชื่อ สีผิว และศาสนา ไม่ใช่ภัยคุกคามต่อประเทศของเรา แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่เป็นตัวตนของเราต่างหาก”

นี่คือส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของ มิเชล โอบามา ในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่ง

ตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เราเห็น มิเชล โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา มีอิทธิพลต่อความคิดคนอเมริกันและอีกหลายคนทั่วโลก ไม่แพ้กับสามีของเธอ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 44 ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ถึงสองสมัย

โดยเฉพาะช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตเมื่อปลายปี 2016 ที่เราเห็นเธอเข้ามาช่วย ฮิลลารี คลินตัน หาเสียงอย่างเต็มตัว บทสุนทรพจน์ของเธอมักพูดถึง ‘ความหวัง’ และ ‘ความเท่าเทียม’ ซึ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของเธอที่เป็นปากเสียงของคนผิวสีและเชื้อชาติอื่นๆ ในสังคมอเมริกัน ที่พยายามจะเน้นย้ำว่า ประชาธิปไตยแบบอเมริกัน คือระบอบการปกครองที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถก้าวเข้ามาเพื่อแสวงหาการศึกษาที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่หน้าที่การงานที่ดีเช่นกัน หากพวกเขาพยายามมากพอ

แม้สุดท้ายแล้ว ฮิลลารี คลินตัน สตรีที่เธอพยายามช่วยเรียกคะแนนจากประชาชน ไม่สามารถคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้งไปได้ และสามีของเธอก็กำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในต้นปีนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอได้กลายเป็นผู้หญิงอีกคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดคนและการเมืองของอเมริกาอย่างสำคัญไปแล้ว

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2017 มิเชล โอบามา ได้กล่าวสุนทรพจน์เป็นครั้งสุดท้าย ในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่ง เป็นเวลา 21 นาที ที่ทำเนียบขาว เธอกล่าวว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติที่สุดในชีวิตของเธอ แม้ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เธอจะน้ำตาคลอเป็นระยะ แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของเธอที่แทรกไปด้วยอารมณ์ขัน และยังคงพูดเกี่ยวกับ ‘ความหวัง’ และการต่อสู้กับ ‘ความกลัว’ และ ‘การแบ่งแยก’ ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยการลาจากตำแหน่งสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

ฉันและสามีของฉัน พวกเราเริ่มจากคนที่แทบไม่มีอะไร แต่พวกเราทำงานหนัก
สิ่งที่พวกเรามีติดตัวคือความรู้จากการศึกษา
จากนั้นอะไรก็สามารถเป็นไปได้ในประเทศนี้

Photo: Joshua Roberts, Reuters/profile

ความหวัง ความเท่าเทียม คือความหมายของ ‘อเมริกันดรีม’

“หากครอบครัวของพวกคุณไม่ได้ร่ำรวย อยากให้พวกคุณจำไว้ว่า ในประเทศนี้หลายคนมีชีวิตดีขึ้นได้จากการต่อสู้ รวมถึงฉันและสามีของฉัน พวกเราเริ่มจากคนที่แทบไม่มีอะไร แต่พวกเราทำงานหนัก สิ่งที่พวกเรามีติดตัวคือความรู้จากการศึกษา จากนั้นอะไรก็สามารถเป็นไปได้ในประเทศนี้ แม้กระทั่งการเป็นประธานาธิบดี และนี่คือความหมายที่แท้จริงของ ‘อเมริกันดรีม’”

มิเชล โอบามา กล่าวต่อหน้านักการศึกษาที่เธอร่วมทำงานด้วยตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เธอพยายามจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษา เพราะการศึกษาจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ชาวอเมริกันมีชีวิตที่ดี และก้าวเข้ามาเป็นคนที่มีบทบาทในสังคม ไม่ว่าคุณจะยากจนหรือร่ำรวยมาก่อน จะมีเชื้อชาติหรือนับถือศาสนาใดก็ตาม แต่สังคมอเมริกันคือสังคมที่เท่าเทียม ด้วยการเปิดกว้างให้ใครตามก็ที่ทำงานหนักได้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้เหมือนๆ กัน

สุนทรพจน์ของเธอได้พยายามส่งข้อความไปยังคนรุ่นใหม่ของอเมริกาว่า พวกเขาคือพลังที่สำคัญ

“คนรุ่นใหม่ในที่นี้ และทุกคนที่กำลังฟังฉันอยู่ พวกคุณอย่าปล่อยให้ใครก็ตามทำให้พวกคุณรู้สึกไม่มีคุณค่า หรือไม่มีความสำคัญต่อประเทศนี้ เพราะพวกคุณมีคุณค่า มีความสำคัญ และมีสิทธิทุกประการในการเป็นตัวของตัวเอง

“ฉันอยากให้คนรุ่นใหม่รู้ว่าพวกเขามีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้ จงมุ่งมั่น จงเด็ดเดี่ยว จงมีความหวัง จงมีพลังจากการศึกษาที่ดี ใช้การศึกษาในการพัฒนาประเทศนี้อย่างไร้ขีดจำกัด เป็นตัวอย่างที่ดี และจงอย่ากลัว”

พึงระลึกไว้ว่า ความแตกต่างทางศาสนา
คือส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของอเมริกาเช่นกัน
และนี่คือคำตอบว่าทำไมผู้คนถึงเข้ามายังประเทศนี้

ความเท่าเทียมในความหลากหลาย คือตัวตนและความยิ่งใหญ่ของอเมริกา

นอกจาก มิเชล โอบามา จะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการศึกษา ข้อความของเธอยังพยายามบอกให้ทุกคนยืนหยัดบนความแตกต่าง และต่อสู้กับความกลัวและความโกรธ ที่กำลังลุกลามในสังคมอเมริกัน และในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับความแบ่งแยกทางเชื้อชาติและศาสนาอย่างรุนแรง

“พึงระลึกไว้ว่า ความแตกต่างทางศาสนาคือส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ของอเมริกาเช่นกัน และนี่คือคำตอบว่าทำไมผู้คนถึงเข้ามายังประเทศนี้ เพื่อที่จะมีความเชื่อได้อย่างอิสระ ไม่ว่าคุณจะเป็นมุสลิม ชาวคริสต์ หรือชาวยิว … ทุกศาสนาล้วนสอนให้เยาวชนรู้จักความถูกต้อง และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเหมือนๆ กัน”

อย่างไรก็ตามเธอได้เน้นย้ำว่าเหล่าเยาวชนไม่ควรมองหรือปฏิบัติต่อ ‘สิทธิ’ ในการได้รับอิสระทางความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เป็นของตาย หรือเป็นสิ่งที่สามารถย่ำยีได้

“แต่ฉันอยากจะพูดให้ชัดว่า กว่าพวกเราจะได้สิทธิเหล่านี้มาไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นทุกคนควรเห็นคุณค่าของสิทธิตัวเองในทุกๆ วัน คุณไม่สามารถย่ำยีอิสรภาพที่คุณได้มาได้ เราต้องเดินตามบรรพบุรุษของพวกเรา ด้วยการเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องและรักษาสิทธิเหล่านี้”

ระหว่างการดำรงตำแหน่งเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง มิเชล โอบามา ได้ริเริ่มโครงการที่เกี่ยวกับการศึกษาและสังคมมากมาย ทั้งโครงการการศึกษาระดับสูง โครงการ Let’s Move ที่รณรงค์เรื่องการลดจำนวนประชากรที่มีน้ำหนักเกิน และ Joining Forces โครงการที่สนับสนุนครอบครัวของทหารอเมริกัน

เธอกล่าวทิ้งท้ายทั้งน้ำตาว่า “การเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งคือเกียรติยศที่สูงสุดในชีวิตของฉัน และฉันหวังว่าฉันได้ทำให้ทุกคนภาคภูมิใจ”

ผลสำรวจของ Gallup พบว่า เมลาเนีย ทรัมป์ คือว่าที่สตรีหมายเลขหนึ่ง
ที่ได้รับคะแนนความนิยมน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

Photo: Carlo Allegri, Reuters/profile

อิทธิพลของ มิเชล โอบามา ที่ทิ้งไว้ คือความท้าทายของ เมลาเนีย ทรัมป์  สตรีหมายเลขหนึ่งคนถัดไป

เมลาเนีย ทรัมป์ อดีตนางแบบชาวสโลวีเนียวัย 46 ปี ว่าที่สตรีหมายเลขหนึ่งคนถัดไปของสหรัฐฯ ลดการปรากฏตัวเองต่อหน้าสื่อลงไป ตั้งแต่สุนทรพจน์ของเธอถูกกล่าวหาว่าลอกมาจากสุนทรพจน์ของ มิเชล โอบามา

เธอจะเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งคนแรกที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ แต่จะเป็นคนแรกที่สามารถพูดได้ถึง 5 ภาษา ทั้งภาษาสโลวีเนีย เยอรมัน ฝรั่งเศส เซอร์เบีย และอังกฤษ

เธอไม่ใช่นางแบบคนแรกที่ได้เป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ แพต นิกสัน (Pat Nixon) คืออดีตสตรีหมายเลขหนึ่งอีกคนที่มีอาชีพเป็นนางแบบ ที่มักปรากฏตัวต่อสาธารณะ และเป็นแบบบนหน้าปกนิตยสารด้วยการสวมใส่กางเกง

เมลาเนีย ทรัมป์ ประกาศชัดเจนว่า เธอจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และจะปล่อยให้การกำหนดนโยบายต่างๆ เป็นหน้าที่ของสามีเธอ ซึ่งทำให้เธอถูกมองว่า บทบาทและอิทธิพลของเธอในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่งอาจจะแตกต่างจากอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งอย่าง ฮิลลารี คลินตัน และมิเชล โอบามา ที่สองคนนี้ได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง จนรู้สึกว่าการเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งมีข้อจำกัดในการกำหนดนโยบายต่างๆ ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เธอให้สัมภาษณ์กับ CNN เกี่ยวกับปัญหาของเยาวชนว่า “ฉันมองว่าในศตวรรษที่ 21 สื่อสังคมออนไลน์เป็นสิ่งที่อันตรายมากต่อเยาวชน เราจำเป็นต้องแนะแนวและสอนเด็กๆ เกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ เพราะฉันเห็นแต่ด้านลบของการใช้สื่อเหล่านี้ และเราจำเป็นต้องช่วยพวกเขา”

ซึ่งหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า ขณะที่เธอออกมาให้ความเห็นเรื่องการใช้สื่อออนไลน์ แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ สามีของเธอคือคนที่ใช้สื่อออนไลน์ในการใช้คำพูดรุนแรง และเมื่อ แอนเดอร์สัน คูเปอร์ (Anderson Cooper) นักข่าวของ CNN ถามเธอว่า มีอะไรที่เธออยากเปลี่ยนเกี่ยวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ไหม เธอตอบว่า “การทวิตข้อความของเขา”

“ในขณะที่ผู้คนต่างพูดว่า โอ้ เมลาเนียที่น่าสงสาร พวกเขาไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของฉัน ฉันเป็นคนเข้มแข็งมาก ฉันสามารถรับมือได้กับทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องมารู้สึกสงสารฉัน”

จากผลสำรวจของ Gallup พบว่า เมลาเนีย ทรัมป์ คือว่าที่สตรีหมายเลขหนึ่งที่ได้รับคะแนนความนิยมน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ น้อยกว่าอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งอย่าง เทเรซา ไฮนส์ เคอร์รี (Teresa Heinz Kerry) ตั้งแต่เริ่มมีการทำผลสำรวจในปี 1992

จริงอยู่ว่าภาพลักษณ์ของ เมลาเนีย ทรัมป์ นั้นแตกต่างจาก มิเชล โอบามา แต่ถ้าหากสุนทรพจน์ของ มิเชล โอบามา ที่เน้นย้ำเรื่องการเคารพต่อความแตกต่าง และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังคงก้องสะท้อนอยู่ในใจแฟนเดโมแครตและสังคมอเมริกันเองที่พยายามจะยึดถือคุณค่าเหล่านี้ ก็คงต้องเปิดใจและไม่รีบด่วนตัดสินว่าที่สตรีหมายเลขหนึ่งอย่าง เมลาเนีย ทรัมป์

แต่เธอก็จะต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักด้วยเช่นกัน

เพราะถึงแม้เธอจะประกาศว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็คงหนีไม่พ้นความคาดหวังของสังคมอเมริกันที่มีต่อตัวเธอ ที่พวกเขาจะมองไปยังสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศได้อย่างภาคภูมิใจ

อ้างอิง:

Tags: , , ,