เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2017 ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ มีคำสั่งว่า ขณะนี้คำสั่งห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ จะไม่สามารถถูกบังคับใช้ได้ สอดคล้องกับคำสั่งของศาลชั้นต้นก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า รัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่ทำให้ศาลคิดว่าสหรัฐฯ ต้องห้ามพลเมืองจากประเทศเหล่านี้เข้าประเทศทันทีได้ นับเป็นคำสั่งจากฝั่งศาลที่ออกมาต่อต้านกระทรวงยุติธรรมที่ระบุว่า ประธานาธิบดีมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะสั่งห้ามคนเข้าประเทศ และศาลไม่ควรต้องพิจารณาคำสั่งนี้ เพราะจุดมุ่งหมายคือรัฐบาลต้องการปราบกลุ่มก่อการร้าย
ศาลอุทธรณ์ระบุว่า “ในขณะที่ประธานาธิบดีสามารถออกนโยบายเพื่อความมั่นคงของชาติได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของสาธารณะได้ แต่ขณะเดียวกันสาธารณชนก็มีสิทธิที่จะเดินทางได้อย่างเสรีเช่นกัน เพื่อป้องกันการแบ่งแยกครอบครัวไม่ให้เจอกัน และการเหยียดเชื้อชาติ”
นับเป็นความพ่ายแพ้ในศาลครั้งที่สองของประธานาธิบดี หลังจากเขาลงนามอนุมัติคำสั่งห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
หลังจากคำตัดสินของศาล ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ทวิตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “เจอกันอีกในศาล ความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งสำคัญ!” เขายังให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า เขาจะชนะแน่นอนในศาลชั้นต่อไป และคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ครั้งนี้คือ ‘การเมือง’
ด้าน บ็อบ เฟอร์กูสัน (Bob Ferguson) อัยการสูงสุดของรัฐวอชิงตันตอบโต้ทวิตของประธานาธิบดีว่า “เราเจอเขามา 2 ครั้งแล้วในศาล และเราก็ชนะทั้ง 2 ครั้ง”
คำสั่งห้ามพลเมืองประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ ยังถูกต่อต้านจากการประท้วงใหญ่ที่สนามบินในสองรัฐ จนเกิดเป็นความโกลาหล คือวอชิงตัน และมินนิโซตา โดยสองรัฐนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่า คำสั่งนี้ของประธานาธิบดีขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญที่ต่อต้านการเหยียดศาสนา ตามหลังรัฐซีแอตเทิลที่ออกคำสั่งยับยั้งคำสั่งดังกล่าว
แม้เบื้องต้นศาลจะยังไม่สามารถตัดสินจากหลักฐานที่มีได้ว่า คำสั่งนี้เจาะจงที่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือไม่ แต่ศาลระบุว่าบางช่วงบางตอนของคำสั่งของประธานาธิบดีนั้น สามารถเป็นหลักฐานประกอบว่า เขาเจาะจงที่ชาวมุสลิม
ผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์ที่ตัดสินไม่อนุมัติคำสั่งของประธานาธิบดีครั้งนี้มี 3 คน และสองในสามถูกแต่งตั้งในสมัยของบารัก โอบามา ขณะที่อีกคนถูกแต่งตั้งในสมัยของจอร์จ บุช ซึ่งเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันเช่นเดียวกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงอาจเป็นเหตุให้ทรัมป์ตอบโต้ว่าศาลนั้นกำลัง ‘เล่นการเมือง’
ขั้นตอนต่อไปที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำได้
ทางแรกคือ รัฐบาลสามารถร้องให้ศาลอุทธรณ์เพิ่มจำนวนผู้พิพากษาและทบทวนคำตัดสินใหม่ อีกทางคือรัฐบาลสามารถยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดต่อไปได้ ซึ่งล่าสุดที่ปรึกษาอาวุโสประจำทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดียังไม่ได้ตัดสินใจ และจะปรึกษานักกฎหมายก่อน
หากรัฐบาลตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุด ซึ่งจะมีผู้พิพากษาตัดสินทั้งหมด 8 คน รัฐบาลจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้พิพากษา 5 คน โดยผู้พิพากษาทั้งหมด 8 คนนั้น แบ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม และเสรีนิยมครึ่งต่อครึ่ง
ด้านสภาความสัมพันธ์ระหว่างชาวอเมริกันกับชาวมุสลิม (The Council on American-Islamic Relations) องค์กรเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองของชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ว่า “ชัยชนะในศาลของรัฐบาลก็จะไม่ทำให้เราพึงพอใจอยู่ดี คำสั่งและนโยบายอื่นๆ ของประธานาธิบดีที่จะตามมา ยังคงถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อคนผิวสี ศาสนา ชนกลุ่มน้อย และผู้หญิง”
ขณะนี้เราจึงต้องจับตาว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุด หรือจะให้ศาลอุทธรณ์เพิ่มจำนวนผู้พิพากษาและทบทวนคำตัดสินใหม่
อ้างอิง:
- www.reuters.com/article/us-usa-trump-immigration-court-idUSKBN15O2XS
- www.pbs.org/newshour/rundown/u-s-appeals-court-refuses-reinstate-trumps-travel-ban