พฤติกรรมกระทำความหว่องกำลังระบาดอย่างกว้างขวางในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศที่มีสังคมปัจเจกนิยมสูง (Individualism) หรือแต่ละคนมีความเป็นตัวตนสูง ซึ่งไม่ใช่ใครแต่คือ ญี่ปุ่น

จากผลสำรวจล่าสุดสะท้อนว่า ชาวญี่ปุ่นวัยทำงานที่ยังไม่แต่งงานถึง 80% ชอบอยู่คนเดียวในวันหยุด ไม่ว่าจะอยู่บ้านนอนเลื่อนมือถือ ดูทีวี หรือออกไปช้อปปิ้ง พวกเขาจะทำสิ่งเหล่านี้เพียงลำพัง!

ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังไม่เชื่อในรักโรแมนติกอีกต่อไป…

Photo: Yuya Shino, Reuters/profile

การใช้เวลาอยู่กับตัวเองคือสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นปรารถนา

โพลสำรวจ Citizen Watch Co. ทำการสำรวจคนทำงานสถานะโสด ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในญี่ปุ่นวัยระหว่าง 20-60 ปี จำนวน 400 คน พบว่า 80% ของหนุ่มสาวเหล่านี้มักใช้เวลาอยู่คนเดียว โดย 58.3% มักใช้เวลาวันหยุดอยู่ที่บ้านคนเดียว ขณะที่ 21.8% ออกไปข้างนอกคนเดียว

“ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าคนมีแนวโน้มจะอยู่กับตัวเองมากขึ้น (inward-looking) เพราะพวกเขาชอบที่จะใช้เวลาอยู่กับตัวเอง” ช่างทำนาฬิกาชาวญี่ปุ่นบอกกับ The Japan Times

มีเพียงแค่ 16% ที่ออกไปข้างนอกบ้านกับคนอื่น และ 4% เท่านั้นที่ใช้เวลาวันหยุดอยู่ที่บ้านร่วมกับใครสักคน

โพลสำรวจนี้แม้ทำการสำรวจคนที่ยังไม่แต่งงาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในจำนวนคนพวกนี้จะไม่มีแฟน…

เพราะเพียง 9% บอกว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับการใช้เวลากับแฟน และ 10.5% บอกว่า พวกเขายังคิดว่าการใช้เวลากับเพื่อนฝูงเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะกว่า 48.5% บอกว่า พวกเขาอยากจะนอนหลับสบายๆ อยู่บ้านมากกว่า

ขณะที่ 33.3% ชอบใช้เวลาไปกับการท่องอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย และ 32.8% ก็เลือกที่จะดูโทรทัศน์อยู่บ้าน

ก็ได้แต่หวังว่าแฟนของพวกเขาจะชอบกระทำความหว่องเหมือนกัน…

Photo: Yuya Shino, Reuters/profile

รักโรแมนติกเป็นเรื่องน่าเบื่อ และการแต่งงานไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตอีกต่อไป

ไม่เลย… พวกเขาไม่เคยนั่งรอรถไฟขบวนสุดท้ายดังเช่นคนในอดีต

การนัดบอด หรือการนัดพบปะเพื่อหาคู่ที่เคยเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น ในวันนี้มีชาวญี่ปุ่นเพียง 0.44% ที่ไปงานปาร์ตี้จับคู่ และเพียง 0.34% ที่ไปปาร์ตี้ที่จัดขึ้นเพื่อหาคู่สมรส

ด้านโพลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่สำรวจชาวญี่ปุ่นกว่า 7,000 คน อายุ 20-39 ปี และพบว่า 37.6% ไม่รู้สึกอยากมีคู่รัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่อง ‘น่าเบื่อ’ อย่างไรก็ตาม 60.8% ยังอยากมีรักโรแมนติกอยู

โดยกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำมักจะสนใจเรื่องการมีคู่รักน้อยกว่าคนที่มีรายได้สูงกว่า ซึ่ง 32.9% ระบุว่า พวกเขาให้ความสนใจกับเรื่องงานและเรื่องเรียนก่อนดีกว่า

ปัจจุบันการแข่งขันทั้งเรื่องเรียนและงานที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะมีผลทำให้คนไม่มีเวลาจะมาคิดเรื่องแฟน หรืออาจจะลืมความสุขจากการมีความรักไป

ความรู้สึกไม่อยากแต่งงานของชาวญี่ปุ่นนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะพบว่าชาวญี่ปุ่นวัย 50 ปีที่ยังไม่แต่งงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังกังวล

กระทำความหว่องนำไปสู่อัตราการเกิดของประชากรโลกที่ลดลง

นอกจากการชอบอยู่คนเดียว และเลือกที่จะไม่แต่งงาน จะมีสาเหตุมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป บางทีสภาพเศรษฐกิจก็อาจจะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่ทำให้คนสมัยใหม่คิดว่าอยู่คนเดียวก็อาจจะดีกว่า

เพราะการทำกิจกรรมกับคู่รักคือการใช้เงิน จึงแทบจะไม่ต้องพูดถึงการแต่งงานและมีลูก ซึ่งคนหนุ่มสาวสมัยนี้ยิ่งพวกเขาได้รับการศึกษาสูง พวกเขาจะคิดว่า พวกเขาอยากจะมีเงินมากพอที่จะเลี้ยงลูกให้ได้รับการศึกษาที่ดี และเพียงพอในโลกที่การแข่งขันสูงขึ้นทุกวัน

ในประเทศพัฒนาแล้วเช่นยุโรปและเอเชียตะวันออกก็กำลังเผชิญกับปัญหาอัตราการเกิดของประชากรโลกลดลงมากที่สุด ประเทศเหล่านี้กำลังเดินไปสู่สังคมที่มีประชากรสูงวัยมากกว่าคนวัยทำงานและเยาวชน ซึ่งจะนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ โดยญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดของประชากรลดลงมากที่สุดเป็นอันดับสอง เพียง 7.93 ต่อประชากร 1,000 คนเท่านั้น

อัตราการเกิดที่ลดลงทุกปีสร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลของประเทศเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่อไปจำนวนประชากรอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้จำนวนคนวัยหนุ่มสาวที่น้อยลงอาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่อยากทำงาน เพราะพวกเขาคิดว่าพวกเขาต้องทำงานให้รัฐหนักขึ้น เพื่อให้รัฐมีเงินไปเลี้ยงดูคนสูงอายุที่มีมากกว่าในสังคม

ประเทศเยอรมนี และญี่ปุ่น คือ 2 ประเทศที่กังวลต่อปัญหานี้มากที่สุด เพราะเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาแข่งขันในตลาด

สถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่น (National Institute of Population and Social Security Research) คาดการณ์ว่า ประชากรญี่ปุ่นจะลดลงถึง 1 ใน 3 เหลือแค่ 87 ล้านคนในปี 2060 จากปัจจุบันที่มีประชากรประมาณ 127 ล้านคน

ภาพในอนาคตที่สังคมอาจเต็มไปด้วยคนสูงวัยแต่ต่างคนต่างอยู่ ก็คงให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวไม่น้อย

แต่ไม่แน่ในอนาคต การอยู่คนเดียวในวัย 50 อาจกลายเป็นความเหงา และทำให้พวกเขาตัดสินใจเลิก ‘กระทำความหว่อง’ ก็เป็นได้…

FACT BOX:

‘กระทำความหว่อง’ วลีคุ้นหูที่หมายถึง พฤติกรรมหรือภาวะที่ไม่รู้สึกอยากจะมีส่วนร่วมกับคนส่วนใหญ่ วันๆ อยากจะทำอะไร และไปไหนมาไหนคนเดียว หรือกระทั่งบางช่วงอาจมีอารมณ์ที่ไม่อยากหลอมรวมไปกับสังคม

คำว่า ‘หว่อง’ มาจาก หว่องการ์ไว ชื่อของผู้กำกับภาพยนต์ชาวฮ่องกงชื่อดัง ที่ภาพยนต์ของเขามักจะมีฉากที่ให้ความรู้สึกว่างเปล่า โดดเดี่ยว แปลกแยกจากสังคม จนชื่อของเขาถูกนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมดังกล่าวของคนสมัยใหม่ โดยไม่ต้องเสียเวลาอธิบายยืดยาว แค่บอกว่า ‘กระทำความหว่อง’ คนส่วนใหญ่ก็จะเห็นภาพทันที