จูเลียน อาสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์
Photo: Addrew Winning , Reuters/profile

หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ระบุว่า ทราบตัวคนกลางที่รัสเซียให้ข้อมูลอีเมลที่ขโมยมา เพื่อให้ส่งต่อไปยังวิกิลีกส์ ซึ่งข้อมูลนี้คล้ายกับข้อมูลที่ บารัก โอบามาออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมา (5 มกราคม 2017) นักกฎหมาย และเจ้าหน้าที่อาวุโสของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ได้ประชุมกันเพื่อพิจารณาภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความเป็นไปได้ที่รัสเซียกระทำการแฮกข้อมูลของสหรัฐฯ

หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลใหม่ที่ทำให้มั่นใจขึ้นว่า รัสเซียได้แฮกข้อมูลของสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ข้อมูลนั้นประกอบไปด้วยบทสนทนาของเจ้าหน้าที่รัสเซีย ที่แสดงความดีใจที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ระบุว่า นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในอีกหลายข้อมูลที่เป็นหลักฐานชี้ว่า รัสเซียเป็นผู้เกี่ยวข้องในการแฮกข้อมูล และบ่งบอกถึงเป้าหมายของการกระทำครั้งนี้

โจ ไบเดน (Joe Biden) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ PBS NewsHour ว่าข้อมูลที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ได้มาจะถูกนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะในสัปดาห์หน้า เพื่อเปิดเผยให้เห็นว่าขณะนี้สหรัฐฯ ทราบข้อมูลอะไรบ้างเกี่ยวกับการที่รัสเซียแฮกข้อมูลของสหรัฐฯ ในครั้งนี้

ขณะที่ก่อนหน้านี้ จูเลียน อาสซานจ์ (Julian Assange) ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ให้สัมภาษณ์กับ Fox News เมื่อต้นสัปดาห์ โดยเขาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า รัสเซียคือแหล่งข่าวที่ปล่อยอีเมลให้กับวิกิลีกส์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด และกล่าวหาประธานาธิบดี บารัก โอบามาว่า เขาพยายามที่จะทำลายความชอบธรรมชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์

ข้อกล่าวหารัสเซียแฮกข้อมูลสหรัฐฯ ยังเป็นที่ถกเถียง

ข้อกล่าวหาที่ระบุว่ารัสเซียเป็นผู้แฮกข้อมูลของสหรัฐฯ ยังเป็นที่โต้เถียงกันอย่างกว้างขวาง สำนักข่าว RT ของรัสเซียได้พูดคุยกับ มาร์ก เมาน์เดอร์ (Mark Maunder) ผู้บริหารบริษัท Wordfence บริษัทด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งเขาให้ความเห็นว่า หลักฐานที่เกี่ยวกับการแฮกข้อมูลของสหรัฐฯ นั้น ‘ไม่มีน้ำหนัก’

และทันทีที่ เจมส์ แคลปเปอร์ (James Clapper) ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ออกมาสรุปว่า รัสเซียจงใจแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯ เช่นนี้ ก็ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง

อย่างเช่นข้อความทวิตเตอร์นี้ที่แสดงความเห็นว่า “ขณะที่แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ออกมาบอกว่า ข่าวปลอมส่งผลต่อผลการเลือกตั้ง แล้วทำไมเขาไม่ปิดสำนักข่าว CNN หรือ MSNBC ผู้นำในการเผยแพร่ข่าวปลอมบ้างล่ะ?”

ด้านแคลปเปอร์ออกมากล่าวหาสำนักข่าว RT ว่า เป็นอีกเครื่องมือของรัสเซียในการโจมตีสหรัฐอเมริกา “RT ตื่นตัวมากกับการเล่นประเด็นที่ดูหมิ่นองค์กรของเรา อย่างการหาว่าเราเสแสร้งทำเป็นผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน อะไรก็ตามที่พวกเขาจะโจมตีเราได้ พวกเขาจะรีบฉวยโอกาสทันที”

เจมส์ วูลซีย์ อดีตผู้อำนวยการ CIA
Photo: Reuters Photographer, Reuters/profile

ท่าทีของทรัมป์ต่อข้อกล่าวหารัสเซียแฮกข้อมูลสหรัฐฯ

ไม่แปลกใจที่เราจะเห็น โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อกล่าวหานี้อย่างเปิดเผย และเยาะเย้ยหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่ออกมาสรุปอย่างเอกฉันท์ว่า รัสเซียกระทำการแฮกข้อมูลของ Democratic Party Groups และข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อแทรกแซงผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ

ด้าน เจมส์ วูลซีย์ (James Woolsey) อดีตผู้อำนวยการ CIA ตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นที่ปรึกษาของทรัมป์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาบอกว่า เขาเชื่อว่ารัสเซียนั้นพัวพันกับการแฮกข้อมูลของ Democratic National Committee และ จอห์น โปเดสตา (John Podesta) หัวหน้าทีมหาเสียงเลือกตั้งของ ฮิลลารี คลินตัน

ความเห็นของเขาต่อเรื่องนี้ขัดแย้งกับทรัมป์ที่ยังคงไม่เชื่อข้อมูลของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เจมส์ วูลซีย์ ยืนยันว่า เขาไม่ได้ถอนตัวออกจากทีมของทรัมป์เพราะเรื่องนี้ เพียงแต่อยากให้จุดยืนในการทำงานในอดีตที่ผ่านมาของเขาชัดเจน

“ผมไม่ได้รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของทรัมป์แล้ว เพราะเวลาผมให้สัมภาษณ์กับสื่อ ทุกคนจะประกาศว่าผมเป็นอดีตผู้อำนวยการ CIA และที่ปรึกษาของทรัมป์ แต่ตอนนี้ผมไม่ได้รับหน้าที่นั้นแล้ว ต่อไปจะได้ไม่มีใครเข้าใจผิดหรือสับสนเกี่ยวกับบทบาทของผมอีก”
และเขาก็ยังยืนยันว่า เขายังสนับสนุนทรัมป์ และอยากเห็นการขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เป็นไปได้ด้วยดี

ทรัมป์เคาะ แดน โคตส์ อดีต ส.ว. เป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ คนใหม่

แหล่งข่าวจากทีมงานของทรัมป์ เปิดเผยกับ CNN ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจเลือก แดน โคตส์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐอินดีแอนา เป็นผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ แต่จะต้องได้รับการยินยอมจากวุฒิสภาก่อน

แดน โคตส์ ได้ลาออกจากตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาก่อนหน้านี้ และอาจเข้ามาทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับทรัมป์ในด้านหน่วยข่าวกรอง และตรวจสอบการทำงานของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา นับว่าเป็นการเข้ามารับหน้าที่ในช่วงที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดที่สุด หลังจากออกมาสรุปว่า รัสเซียทำการแฮกข้อมูลของ Democratic Party Groups ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ทรัมป์ยังคงไม่เห็นด้วยตลอดมา

การเลือกโคตส์เข้ามารับตำแหน่งตรงกับรายงานที่ระบุว่า ทีมงานของทรัมป์กำลังหาวิธีจำกัดอำนาจของผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง ซึ่ง ฌอน สไปเซอร์ (Sean Spicer) ว่าที่ผู้จัดการด้านสื่อมวลชนประจำทำเนียบขาวตอบโต้ว่า ทรัมป์ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของประชาชนเป็นอันดับแรก และกำลังหาทางที่ดีที่สุดที่จะปกป้องความมั่นคงของประเทศ “ผมต้องการย้ำว่า มันไม่เป็นความจริงเลยต่อข้อกล่าวหาที่ทรัมป์ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรของหน่วยข่าวกรอง เป็นข้อมูลที่ผิด 100%”

แดน โคตส์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ คนใหม่ ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลือก
Photo: Yuri Gripas, Reuters/profile

ความไว้วางใจของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ที่ถูกสั่นคลอน และคำถาม ‘นี่คือการทำสงครามหรือไม่?’

ท่าทีเป็นปฏิปักษ์ของทรัมป์ต่อหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ทำให้ เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ คนปัจจุบันออกมาเปิดเผยว่า ท่าทีของทรัมป์จะเป็นการทำลายความมั่นใจของสาธารณชนต่อหน่วยความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งจะกระทบต่อการทำงานของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่ใช้ข้อมูลจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เช่นกัน

“ผมคิดว่าความไว้ใจของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมได้รับข้อความจากหลายประเทศ ที่แสดงความกังวลต่อความคิดเห็นที่เป็นลักษณะดูหมิ่นหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ

“ผมไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า พวกเขาไม่เหลือใครที่ไว้วางใจได้ และผมคิดว่ามันมีเส้นบางๆ ระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเรา กับการดูหมิ่นองค์กรของเรา”

เจมส์ แคลปเปอร์ ประกาศระหว่างการพิจารณาเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่มีทั้งนักกฎหมาย และเจ้าหน้าที่อาวุโสของหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ มาถกกันในประเด็นภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ความเป็นไปได้ว่า รัสเซียได้แฮกข้อมูลของสหรัฐฯ ซึ่งในที่ประชุมต่างเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของสหรัฐฯ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยการแฮกข้อมูล

จอห์น แม็กเคน (John McCain) ได้ถามขึ้นมาระหว่างการประชุมว่า การแทรกแซงของรัสเซียนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่เรียกว่าเป็น ‘สงคราม’ ได้หรือไม่ ซึ่งแคลปเปอร์ตอบว่า “การกระทำของรัสเซียไม่ได้เปลี่ยนผลการเลือกตั้ง หรืออะไรเช่นนั้น ไม่มีทางที่เราจะไปเปลี่ยนการตัดสินใจของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงที่พวกเขาได้เลือกแล้ว การจะพิจารณาว่าการกระทำนี้ถือว่าเป็นการทำสงครามหรือไม่ เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และคงไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานของเราในการตัดสินเรื่องนี้”

ข้อกล่าวหาว่ารัสเซียแฮกข้อมูลสหรัฐฯ นั้น ทำให้หลายคนพุ่งประเด็นไปที่ การแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ของรัสเซียครั้งนี้ว่า ได้เปลี่ยนหรือส่งผลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีมากน้อยแค่ไหน เราจะได้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นฮิลลารีหรือเปล่า หากรัสเซียไม่ได้แฮกข้อมูล หรือฝั่งทรัมป์ที่มุ่งตอบโต้ว่า ข้อกล่าวหานี้เป็นเพียงเพราะพรรคเดโมแครตไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ของตัวเอง

ซึ่งหากรัสเซียจงใจแทรกแซงข้อมูลของสหรัฐฯ จริง ก็ยากที่จะชี้วัดในตอนนี้ว่ามันได้เปลี่ยนผลการเลือกตั้ง ‘มาก’ หรือ ‘น้อย’ แค่ไหน
แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าภายใต้การตอบโต้ครั้งนี้คือ ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ในเงามืดอย่างภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทั้งการจารกรรมข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน หรือการทำลายระบบเว็บไซต์ต่างๆ โลกจะนับว่าเป็นการกระทำที่เรียกว่า ‘สงคราม’ ได้หรือไม่

หรือกฎหมายระหว่างประเทศควรมีการออกกฎหมายใหม่เพื่อรองรับกับสงครามในรูปแบบที่เปลี่ยนไป เพราะอาจนับว่าเป็นการรุกล้ำ ‘เขตแดน’ ได้เหมือนกัน เพียงแต่เป็นการรุกล้ำในโลกไซเบอร์แทน อย่างเช่นก่อนหน้านี้ที่เคยมีการถกเถียงกันในเรื่องของการใช้โดรนในสงคราม ว่ายังไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศใดที่สามารถเอาผิดผู้ที่ใช้อาวุธโดรนรุกล้ำพรมแดนประเทศอื่นได้
โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศมหาอำนาจอาจหันมาต่อสู้กันในโลกไซเบอร์ พอๆ กับการซื้ออาวุธเพื่อต่อสู้กันในสงคราม

Cover: Peter Niclolis, Reuters/profile​

อ้างอิง:

 

Tags: , , ,