กรณี พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) รับเงินเดือนที่ปรึกษาจาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เดือนละ 50,000 บาท กลายเป็น ‘เป้า’ ใหญ่ที่ต้องจับตา
หลังจาก สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ตามที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องให้ทำการไต่สวนว่าการเป็นที่ปรึกษา ผิดตามมาตรา 103 ที่ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมายหรือไม่
เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่จะวัดใจว่า รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับวาระแห่งชาติ เรื่องหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และต่อต้านการทุจริต ตามที่ประกาศไว้แค่ไหน
แม้หลังเกิดประเด็นนี้ไม่นาน (14 ธ.ค.) พล.ต.ต. ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะแถลงว่า ไม่ผิด เนื่องจากพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ มาตรา 78 อนุ 17 ไม่ได้ห้ามตำรวจเป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชน เพียงแต่ห้ามไม่ให้เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้ที่มีอำนาจในการบริหารในองค์กรนั้นๆ
ขณะเมื่อวานนี้ (20 ธ.ค.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีแบบ ‘ให้เติมคำลงในช่องว่าง’ ว่า ไม่มีความเห็นว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะ พล.ต.ท. ศานิตย์ ก็รู้คำตอบอยู่แล้ว ส่วนจะผิดกฎหมายหรือไม่ คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ
นอกจากประเด็นด้านความผิดถูกของกฎหมายที่ขึ้นอยู่กับการตีความ กรณีดังกล่าวยังกินความและชวนให้ขบคิดถึง ‘จริยธรรม’ และ ‘จิตสำนึก’ ของข้าราชการที่ดี
แม้วันนี้ ป.ป.ช. จะยังไม่มีคำตัดสินว่า กรณีนี้ผิดหรือถูก
และ พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร ยากจะเดาอนาคตและความมั่นคงในตำแหน่งข้าราชการของตัวเอง
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรับค่าที่ปรึกษาของ พล.ต.ท. ศานิตย์ กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่สังคมต้องการคำตอบ
และต่อไปนี้ คือบางคำตอบที่มีบางคนและบางสื่อทิ้งไว้ให้สังคมตั้งคำถาม
ข้าราชการตำรวจต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและยึดมั่นในศีลธรรม โดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน
‘ไม่ใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ …แสวงหาผลประโยชน์’ ข้อความจากกฎหมาย
ในรายงาน กางกฎหมาย-ขมวดปม ‘ศานิตย์’ รับเงินที่ปรึกษา ‘ไทยเบฟ’ ทำได้จริงหรือ? โดยสำนักข่าวอิศรา ได้วิเคราะห์ประเด็นนี้ในแง่ข้อกฎหมายแต่ละฉบับที่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.ท. ศานิตย์ ที่ดำรงตำแหน่ง ผบช.น. (ก.ย. 59) และได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิก สนช. (ต.ค. 59) นับเป็นข้าราชการตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้อย่างชัดเจน อาทิ
พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 18 ที่ให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการตำแหน่งต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ พล.ต.ท. ศานิตย์ ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน
คำถามที่ตามมาคือ ควรหรือไม่ที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะรับเงินจากบริษัทที่ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ. 2551 มีข้อกำหนดบางข้อที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ อาทิ
ข้อ 12 ข้าราชการตำรวจต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและยึดมั่นในศีลธรรม โดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตน ซึ่งต้องประพฤติปฏิบัติ ดังนี้
(1) ไม่ใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ หรือไม่ยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ของตนแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
(4) ไม่ใช้เวลาราชการหรือทรัพย์ราชการเพื่อธุรกิจหรือประโยชน์ส่วนตน
(5) ไม่ประกอบอาชีพเสริมซึ่งมีลักษณะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม
(6) ดำรงชีวิตส่วนตัวไม่ให้เกิดมลทินมัวหมองต่อตำแหน่งหน้าที่ ไม่ทำผิดกฎหมายแม้เห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่หมกมุ่นในอบายมุขทั้งหลาย ไม่ฟุ้งเฟ้อหรูหรา และใช้จ่ายประหยัดตามฐานะแห่งตน
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2551 มีบางข้อกำหนดเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ อาทิ
ข้อ 6 ข้าราชการการเมืองมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย รักษาประโยชน์ส่วนรวม ยึดถือหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องยึดมั่นในค่านิยมหลัก ดังนี้
(4) ยึดประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
(5) ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย
(9) ยึดมั่นในหลักจรรยาของการเป็นข้าราชการการเมืองที่ดี
นอกจากประเด็นข้อกฎหมายข้างต้น ในรายงานดังกล่าวยังอ้างกฎหมายอีกหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. มาตรา 100 (4), มาตรา 103 เป็นต้น ซึ่งข้อความที่ระบุในกฎหมายแต่ละฉบับ ทำให้ยิ่งเกิดคำถามถึงการรับค่าที่ปรึกษาของ พล.ต.ท. ศานิตย์ ว่าควรแล้วหรือ?
*หมายเหตุ อ่านรายงาน ‘กางกฎหมาย-ขมวดปม ‘ศานิตย์’ รับเงินที่ปรึกษา ‘ไทยเบฟ’ ทำได้จริงหรือ?’ ฉบับเต็ม ได้ที่ สำนักข่าวอิศรา
ภาคธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลว่า บริษัทมีใครมานั่งในตำแหน่งไหนบ้าง
เพื่อความโปร่งใส และถ้าเป็นไปได้อาจต้องให้เหตุผลประกอบ เพราะบางบริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียน
อาจมีเจ้าของเยอะแยะไปหมด ผู้บริหารจะแต่งตั้งใครก็ต้องมีการให้เหตุผล เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรของบริษัท
“สิ่งที่ต้องมีคือ แนวปฏิบัติ” คำแนะนำจากผู้ต่อต้านการทุจริต
“จริงๆ กฎหมายก็มีอยู่นะ แต่พอดีข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องของการตีความ บางคนตีความอย่างนั้น บางคนตีความอย่างนี้ มันก็เลยสร้างความคลุมเครือ…”
ดร. บัณฑิต นิจถาวร กรรมการและเลขาธิการ โครงการแนวร่วมปฎิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) พูดในงานเสวนา ‘กรณีค่าที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่ ถูก ผิด แก้ได้ หรือไร้หวัง’ วันนี้ (21 ธ.ค.) ถึงปัญหาข้อกฎหมายในกรณีข้างต้น และได้เสนอแนวทางแก้ไข 3 ประเด็น
“แม้เราจะมีกฎหมายก็จริง แต่ยังไม่ชัด ดังนั้นสิ่งที่ต้องมีคือ ‘แนวปฏิบัติ’ ต้องเขียนให้ชัดเลยว่า ระหว่างที่อยู่ในราชการทำอะไรได้และทำอะไรไม่ได้ และบังคับใช้กับข้าราชการทุกคน”
โดย ดร. บัณฑิต เสนอให้เขียนแนวปฏิบัติเป็น 3 ฉบับ ครอบคลุมข้าราชการ (ในตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง) ภาคธุรกิจ และนักการเมือง โดยย้ำว่าต้องเขียนให้ชัดเจน และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
ประเด็นที่สอง คือ Cooling-Off Period หรือ “เจ้าหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ต้องมีกฎเกณฑ์ให้หยุดพักอย่างน้อย 2 ปี ไม่ให้กลับไปทำงานในภาคธุรกิจที่ตัวเองเคยกำกับดูแลอยู่ ซึ่งจะช่วยลดเส้นสาย การใช้อิทธิพล สำหรับต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ”
ขณะที่ประเด็นสุดท้าย ดร. บัณฑิต ทิ้งท้ายว่า จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของปัญหานี้เกิดจาก ‘ภาคธุรกิจ’ เนื่องจากเป็นไปได้ที่บางครั้งคนรับตำแหน่งไม่รู้ว่าถูกหรือผิด หรือบางครั้งคนแต่งตั้งก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด
“เพราะว่าทำกัน คล้ายๆ กับว่าเห็นได้บ่อย”
ก่อนจะแนะนำว่า บริษัทเอกชนหรือภาคธุรกิจควรจะต้องมีความรับผิดรับชอบในเรื่องนี้ คือต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนว่า คนที่เชิญมาเป็นที่ปรึกษา กรรมการ หรือผู้บริหารในบริษัท ได้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่าไม่มีประเด็นเรื่องขัดแย้งผลประโยชน์และกฎหมายของทางการ ในฐานะที่เป็นคนแต่งตั้ง แต่ถ้าเกิดไม่ตรวจสอบแล้วผิดก็ต้องรับโทษ
“เมื่อแต่งตั้งแล้ว ภาคธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลว่า บริษัทมีใครมานั่งในตำแหน่งไหนบ้าง เพื่อความโปร่งใส และถ้าเป็นไปได้อาจต้องให้เหตุผลประกอบ เพราะบางบริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียน อาจมีเจ้าของเยอะแยะไปหมด ผู้บริหารจะแต่งตั้งใครก็ต้องมีการให้เหตุผล เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรของบริษัท
“ฉะนั้นความโปร่งใสในเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ”
ทุกคนย่อมต้องทำมาหากิน ดังนั้นข้าราชการก็ย่อมมีสิทธิที่จะทำงานอื่นนอกเหนือจากงานราชการ
(เช่นเดียวกับที่คนทำงานเอกชนรับจ็อบนอกเวลางาน–ผู้เขียน)
แต่ประเด็นสำคัญคือ งานนั้นต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับงานที่ทำ
‘กฎหมายแก้อีกชาติหนึ่งก็ไม่จบ และทุกคนมีสิทธิ์ทำมาหากิน’ คำชี้แนะจากนักข่าวอาวุโส และนักการเงินที่สนใจปัญหาคอร์รัปชัน
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นักข่าวอาวุโสด้านการทำข่าวสืบสวนสอบสวนชื่อดังและผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวในเวทีเสวนา ‘กรณีค่าที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่ ถูก ผิด แก้ได้ หรือไร้หวัง’ ว่า “กฎหมายจะแก้อีกชาติหนึ่งก็ไม่จบ แต่จะแก้ได้หากเชื่อในความเป็นลูกผู้ชาย”
พร้อมกับแนะให้ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบได้ โดยกล่าวว่า ถ้าเชื่อในความเป็นลูกผู้ชาย ชายชาติทหาร ความเป็นข้าราชการ ต้องให้ข้าราชการทุกตำแหน่งหน้าที่ ทุกหน่วยงาน ที่ไปเป็นลูกจ้างเอกชน ต้องแสดง และประกาศออกมาให้ได้ว่าไปทำงานที่ไหนบ้าง แล้วจัดทำเป็นศูนย์ข้อมูล แล้วเปิดเว็บไซต์แจกแจงเลยว่า ใคร ตำแหน่งอะไร ไปรับจ้างในตำแหน่งอะไร เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูได้ ที่สำคัญ ต้องห้ามทำงานในตำแหน่งที่สามารถมีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตำแหน่งหน้าที่ที่ดำรงอยู่ในภาครัฐ
ขณะที่ บรรยง พงษ์พานิช ประธานกลุ่มนักธุรกิจการเงินการธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่สนใจปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน เจ้าของหนังสือ หางกระดิกหมา (เขียนร่วมกับ ธนกร จ๋วงพานิช) ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกคนย่อมต้องทำมาหากิน ดังนั้นข้าราชการก็ย่อมมีสิทธิที่จะทำงานอื่นนอกเหนือจากงานราชการ (เช่นเดียวกับที่คนทำงานเอกชนรับจ็อบนอกเวลางาน–ผู้เขียน) แต่ประเด็นสำคัญคือ งานนั้นต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับงานที่ทำ ดังนั้นควรสร้าง ‘ข้อกำหนดที่ชัดเจน’ ให้กับข้าราชการ และสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำคือ การตัดช่องทางการเงินที่ชอบ ด้วยการตั้งคำถามว่า
“เงินชอบตัดออก เงินไม่ชอบ (หรือเงินที่ได้จากการทุจริต–ผู้เขียน) จะโตไหม”
วันนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าปฏิรูป และผมไม่ต้องการให้เกิดการคอร์รัปชันไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม
และหากมีรายงานขึ้นมา ผมจะดำเนินการสอบ ติดตาม เอาติดคุกให้ได้
“ผมไม่ต้องการให้เกิดการคอร์รัปชัน” คำประกาศของนายกรัฐมนตรี
“วันนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าปฏิรูป และผมไม่ต้องการให้เกิดการคอร์รัปชันไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม และหากมีรายงานขึ้นมา ผมจะดำเนินการสอบ ติดตาม เอาติดคุกให้ได้”
พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวข้อความข้างต้น ในฐานะประธานในพิธีเปิดงานเนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา
วันนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านคอร์รัปชันตอนหนึ่งว่า ปัญหาการคอร์รัปชันถือเป็นศัตรูร้ายทำให้ระบบการบริหารราชการล้มเหลว มีการทับซ้อนจนเกิดการทุจริตคอร์รัปชันและการบริหารงบประมาณ ผลที่ตามมาทำให้รายได้ของรัฐสูญเสียส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง การศึกษา ซึ่งเมื่อเกิดการทุจริตก็จะทำให้การบริหารขาดความต่อเนื่อง
“ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องวางมาตรการและยุทธศาสตร์ชาติไว้ล่วงหน้า 20 ปี และประกาศการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง”
ซึ่งกรณีการรับเงินค่าที่ปรึกษาเดือนละ 50,000 บาท ของ พล.ต.ท. ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คือประเด็นสำคัญที่จะพิสูจน์ว่า ‘รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ จะเอาจริงกับเรื่องคอร์รัปชันหรือไม่
หรือสุดท้ายจะเป็นแค่คำสัญญาในแคมเปญ ‘คืนความสุขให้ประชาชน’ ที่ไม่มีอยู่จริง
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
– http://www.posttoday.com/politic/471162
– http://www.posttoday.com/politic/471281
– http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/731077
– http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/52512-sanit-52512zziizd.html
– https://www.facebook.com/act.anticorruptionThailand/?fref=nf