เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในยุโรปที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ ก่อนหน้าฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เราอาจจะเห็น ‘การลุกฮือของชาตินิยม’ (Patriotic Spring) ในการเลือกตั้งของทั้งสามประเทศนี้ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองของยุโรปอย่างสำคัญ

หากจะดูกระแสขวาในสนามการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ นักการเมืองที่ต้องจับตามองคือ กีรต์ ไวลเดอร์ส (Geert Wilders) หัวหน้าพรรค Party for Freedom ที่หลายคนตั้งฉายาให้เขาว่าเป็น ‘ทรัมป์แห่งเนเธอร์แลนด์’ เพราะเขาคือนักการเมืองที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมมากที่สุดอีกคนหนึ่งในการเมืองยุโรป

เขามีแนวคิดต่อต้านชาวมุสลิมอย่างชัดเจน ส่งผลให้เขาต่อต้านนโยบายรับผู้อพยพ และต่อต้านสหภาพยุโรป แนวคิดของเขาสอดคล้องกับแนวคิดของนักการเมืองจากฝรั่งเศส อย่าง มารีน เลอ แปน และสองคนนี้ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คะแนนความนิยมในตัว กีรต์ ไวลเดอร์ส นำนักการเมืองคนอื่นๆ ในโพลสำรวจ และคาดว่าจะได้คะแนน Popular Vote ในการเลือกตั้ง 20% เขาประกาศว่า หากเขาชนะการเลือกตั้ง เขาจะนำเนเธอร์แลนด์สู่ Nexit

Photo: Beawiharta Beawiharta, Reuter/Profile

นโยบายของ กีรต์ ไวลเดอร์ส ที่ถูกมองว่ารุนแรงและขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดในการให้สัมภาษณ์กับรายการของสถานีโทรทัศน์ WNL กีรต์ ไวลเดอร์ส นำคัมภีร์อัลกุรอานไปเปรียบเทียบกับหนังสืออัตชีวประวัติของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือเรื่อง Mein Kampf และยังตั้งคำถามว่า เนเธอร์แลนด์จะสามารถสั่งห้ามคัมภีร์อัลกุรอานอย่างที่สั่งแบนหนังสือ Mein Kampf ได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องการสั่งปิดมัสยิดด้วยการยึดใบอนุญาต ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าแนวคิดของเขาหลายอย่างนั้นขัดต่ออิสรภาพในการนับถือศาสนาตามรัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์

ปกติแล้วเขาคือนักการเมืองที่จะไม่ค่อยยอมให้สัมภาษณ์กับสื่อโทรทัศน์ แต่เลือกที่จะโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์มากกว่า เพราะเขารู้ว่าสื่อจะนำคำพูดของเขาไปเล่น เช่นเดียวกับที่สื่อมักเอาข้อความทวิตเตอร์เจ็บแสบของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ไปพาดหัวข่าวเรียกสีสัน

เขายังประกาศว่าสโลแกนการหาเสียงของเขาคือ “Netherland is ours again” หรือ “เนเธอร์แลนด์จะกลับมาเป็นของเราอีกครั้ง”

นโยบายต่อต้านคนอพยพของเขาปรากฏให้เห็นในการเมืองเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี 2014 ในตอนนั้นเขานำมวลชนเพื่อประกาศกร้าวว่า ต้องการให้จำนวนชาวโมร็อกโกในประเทศ ‘น้อยลง’ โดยในเนเธอร์แลนด์นั้นมีชาวตุรกีและโมร็อกโกอาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ตั้งใจยุยงให้เกิดความเกลียดชัง และเป็นการแสดงออกที่เหยียดเชื้อชาติ

เขาทวิตข้อความตอบโต้บนทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาว่า “ในขณะที่ผู้พิพากษาประกาศว่าชาวโมร็อกโกเป็นเชื้อชาติ ศาลกลับตัดสินให้ผมและชาวเนเธอร์แลนด์อีกครึ่งประเทศมีความผิด นี่มันบ้าชัดๆ”

เขาโต้แย้งว่าชาวดัตช์ไม่ได้อยู่ดีๆ ต้องการให้ชาวโมร็อกโกออกนอกประเทศ แต่พวกเขารู้สึกทนไม่ไหวกับชาวโมร็อกโกที่ก่อเหตุก่อกวนและเหตุก่อการร้าย “หากการพูดถึงสิ่งเหล่านี้แล้วโดนลงโทษ เนเธอร์แลนด์ไม่ใช่ประเทศเสรีอีกต่อไป แต่คือประเทศเผด็จการ”

เขายังประกาศว่า หากเขาได้รับเลือกตั้ง เขาจะทำให้เนเธอร์แลนด์ปลอดชาวมุสลิม และจัดทำประชามติการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่างที่สหราชอาณาจักรทำ

กีรต์ ไวลเดอร์ส เคยย้ายไปอยู่อิสราเอลเมื่อปี 1981 หลังจากเขาเรียนจบระดับมัธยมศึกษา 2 ปี หลังจากนั้นเขาเดินทางไปทั่วตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มมีแนวคิดต่อต้านอิสลาม จนเขาเข้าสู่การเมืองในปี 1997 และเป็นที่รู้จักจากการมีแนวคิดทางการเมืองสุดโต่ง

ในปี 2008 เขาเคยผลิตหนังสั้นชื่อว่า Fitna ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน และการโจมตีก่อการร้ายของชาวมุสลิม หนังสั้นเรื่องนี้ถูกศาลเนเธอร์แลนด์ตั้งข้อหาว่า มีเนื้อหาที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชังชาวมุสลิม และทำให้เขาถูกอังกฤษสั่งห้ามเข้าประเทศ แต่หลังจากนั้นศาสตัดสินให้เขาพ้นจากความผิด และอังกฤษก็สั่งยกเลิกคำสั่งห้ามเข้าประเทศ

จากแนวคิดต่อต้านชาวมุสลิมรุนแรงของเขา ทำให้ในปี 2010 ชื่อเขาปรากฏในรายชื่อศัตรูของกลุ่มอัลกออิดะห์ และถูกกลุ่มหัวรุนแรงขู่เอาชีวิตหลายครั้ง

Photo: Wolfgang Rattay, Reuter/Profile

เห็น Brexit แล้ว เราจะเห็น Nexit อีกไหม?

เนเธอร์แลนด์จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม ก่อนหน้าที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีจะมีการเลือกตั้งทั่วไปตามลำดับ แม้ กีรต์ ไวลเดอร์ส และพรรค Party for Freedom ของเขาจะได้รับความนิยมมากขึ้น และมีคะแนนนำพรรคอื่นในๆ โพลสำรวจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โอกาสที่เขาจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลยังเป็นไปได้น้อย เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เนเธอร์แลนด์จะต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล และพรรค Conservative VVD ของนายกรัฐมนตรีมาร์ก รุตเทอ (Mark Rutte) มีโอกาสจะรวมกับพรรคอื่นๆ ที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับ กีรต์ ไวลเดอร์ส เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า

โอกาสที่ กีรต์ ไวลเดอร์ส จะนำเนเธอร์แลนด์ออกจากสหภาพยุโรป และให้เนเธอร์แลนด์กลับมาใช้สกุลเงินของตัวเอง รวมถึงกันไม่ให้ชาวมุสลิมเข้าประเทศจึงยังเป็นไปได้น้อยอยู่

อย่างไรก็ตามการคาดการณ์นี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่เห็นการขึ้นมาของกระแสขวาในการเมืองเนเธอร์แลนด์ เพราะเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศในยุโรปที่มีกระแสต่อต้านสหภาพยุโรปให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในปี 2005 เนเธอร์แลนด์ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรป และปีที่แล้วก็โหวตไม่ยอมรับสนธิสัญญาที่จะทำให้สหภาพยุโรปร่วมมือใกล้ชิดกับยูเครนมากขึ้น

นอกจากนี้ชาวดัตช์อีกกว่า 37% ยังไม่ตัดสินใจว่าจะโหวตให้กับพรรคไหน โดยพวกเขามองว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นปัจจุบันทำให้พวกเขาสับสนว่าควรจะเห็นด้วยกับนโยบายฝั่งไหน

แม้ผลการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์จะยังคงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่เนเธอร์แลนด์คืออีกประเทศที่สะท้อนให้เราเห็นถึงกระแสชาตินิยม และความสับสนของประชาชนที่ก่อตัวจากความหวาดกลัวต่อภัยก่อการร้าย และพิษเศรษฐกิจ

สิ่งนี้ล้วนสะท้อนผ่านสโลแกนการเมืองใน พ.ศ. นี้ ทั้ง “America great again” “Made in Frace” และ

“Netherlands is ours again!”

อ้างอิง:

Tags: ,