สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครศรีธรรมราช
Photo: Jack Palakorn, facebook

‘เมืองคอนอ่วม! น้ำทะลัก รพ.มหาราชฯ-รันเวย์สนามบิน-ถ.เอเชียสาย 41 อัมพาต’ พาดหัวข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้เมื่อช่วงสายวันนี้ บอกว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่ภาคใต้ยังคงน่าเป็นห่วง

เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชตอนนี้อยู่ในขั้น ‘วิกฤติเดือดร้อนรุนแรง’ ขณะที่ พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส เข้าขั้น ‘เดือดร้อน’ และอีกหลายจังหวัดภาคใต้ ‘ได้รับผลกระทบ’

พ.อ. วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นห่วงประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม และวันนี้ (6 ม.ค.) จะเดินทางลงพื้นที่ อ.ระแงะ เพื่อตรวจเยี่ยม ให้กำลังใจ และมอบของบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดนครศรีธรรมราช
Photo: Jack Palakorn, facebook

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้คนในหลายจังหวัดที่ประสบภัย ต้องเผชิญกับความสูญเสียและความเดือดร้อนที่ไม่คาดฝัน

ภาพชีวิตและเหตุการณ์อันน่าสะเทือนใจและเสียงจากประชาชนที่ถูกแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ได้กระตุกความสนใจของสื่อหลัก

สุทธิชัย หยุ่น ลุกขึ้นมาวิเคราะห์วิกฤติน้ำท่วมภาคใต้ผ่าน Facebook Live ในช่วงสองวันที่ผ่านมา (คืนวันที่ 5 ม.ค. และช่วงสายวันนี้ 6 ม.ค.) สื่อหลายสำนักต่างหันมานำเสนอข่าวน้ำท่วมภาคใต้รายชั่วโมง

เพราะสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้เป็นวิกฤติครั้งใหญ่ ที่ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครจะเพิกเฉยได้อีกต่อไป

หน่วยกู้ภัยพัทลุง สั่งการชุดปฏิบัติการณ์ทางน้ำ เข้าช่วยเหลือประชาชนที่โดนน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพัทลุง
Photo: กู้ภัยพัทลุง, facebook

ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดครศรีธรรมราช มีอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
Photo: ศรีสุภา ศรีเปารยะ

น้ำท่วมที่วิกฤติกว่าอุทกภัยภาคใต้ พ.ศ. 2554

สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่เกิดขึ้นทำให้นึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วม-ดินถล่มภาคใต้ครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554 ที่สร้างความเสียหายมหาศาล The Momentum จึงต่อสายถึง ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ก่อนได้รับคำตอบว่า น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้คล้ายกับน้ำท่วมในอดีตแต่สาหัสกว่า

“ปี 54 ฝนตกหนักอยู่อาทิตย์เดียว แต่คราวนี้ฝนตกหนักอยู่สองครั้ง”

ดร.รอยล อธิบายว่า ฝนที่ตกต่อเนื่องช่วงนี้ เป็นอิทธิพลมาจากหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลฝั่งอันดามันที่ก่อตัวแรง และพัดพาเอาความชื้นจากทะเลดึงขึ้นไปสูงถึงจังหวัดชุมพร ทำให้มีฝนตกหนัก และจำนวนฝนที่ตกสองครั้ง ครั้งแรกคืออาทิตย์ที่หนึ่งและสองเมื่อธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งตกหนักและนานจนน้ำท่วมไปแล้วรอบหนึ่ง และครั้งที่สองก็คือเมื่อต้นเดือนมกราคม ที่ตกหนักเช่นเดียวกัน จึงทำให้วิกฤติครั้งนี้สาหัสกว่าปี 54

“ฝนตกเที่ยวนี้หนัก…หนักมากๆ จนดินป่าที่ชุ่มน้ำถล่มลงมาเหมือนปี 54 แต่ที่ต่างคือปริมาณน้ำฝนมากกว่า มันถึงหนัก”
ปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้เกิดขึ้นบ่อย ทำไมฝนตกครั้งนี้ป้องกันไม่ได้?

“ต้องยอมรับว่า ถ้าฝนตกหนักขนาดนี้คงป้องกันไม่ได้หมด แต่ลดความเสียหายได้ เมื่อดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องการเตือนภัย ผมคิดว่าต้องปรับปรุง”

ข้อมูลจากบางแหล่งบอกว่าเกิดจากปัญหาโลกร้อน?

“ก็พูดกันมานานแล้ว ซึ่งมันก็ชัด…” ดร.รอยล ตอบสั้นๆ

น้ำท่วมสูงบริเวณหน้าโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
Photo: thaiflood, twitter

นครศรีธรรมราช น้ำทะลักโรงพยาบาล รันเวย์สนามบิน ถนนสายหลักอัมพาต!

ช่วงเช้าวันนี้ (6 ม.ค.) นักข่าวไทยรัฐรายงานว่า ระดับน้ำในจังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงท่วมสูงขึ้นไปอีก ถนนทุกตรอกซอกซอยในเขตเทศบาลสัญจรไปมาลำบาก โดยเฉพาะถนนราชดำเนินมีน้ำท่วมขังสูง 20-30 ซม. หลายช่วง และท่วมหนักทั้ง 23 อำเภอ จนต้องอพยพราษฎรไปอยู่ในที่สูงเพื่อหนีน้ำ

นายแพทย์ทรงเกียรติ เล็กตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช ยืนยันว่า แม้จะมีน้ำท่วมบริเวณหน้าโรงพยาบาลประมาณ 30-40 ซม. แต่ภายในโรงพยาบาลไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด และยังสามารถให้บริการตรวจรักษาได้ตามปกติ

ขณะที่สนามบินนครศรีธรรมราช มีผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก เนื่องจากน้ำท่วมขังรันเวย์ โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์เที่ยวบิน DD7804 ที่ออกจากสนามบินดอนเมือง เวลา 6:00 น. เมื่อบินถึงสนามบินนครศรีธรรมราช ไม่สามารถลงจอดได้ ต้องบินกลับสนามบินดอนเมืองที่กรุงเทพฯ ล่าสุด ทางสนามบินได้ประกาศปิดบริการ 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม จนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 7 มกราคมนี้

ส่วนถนนเอเชียสาย 41 ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักที่ใช้เดินทางระหว่างภาคใต้และกรุงเทพฯ น้ำท่วมสูงจนรถไม่สามารถผ่านได้ อีกทั้งท่วมชุมชนใกล้เคียง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงต้องตัดกระแสไฟที่ชุมชนบ้านต้นพะยอม เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

Photo: humantypewatch, twitter

สุราษฎร์ธานี ฝนตกต่อเนื่อง น้ำยังคงท่วมสูงกว่า 1 เมตร

จำนง สวัสดิ์วงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นว่า ขณะนี้จังหวัด สุราษฎร์ธานียังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดพื้นที่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก ท่าชนะ และไชยา กำลังประสบกับภาวะน้ำท่วม วัดระดับสูงสุดมากกว่า 1 เมตร และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ และเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งสำรวจภาพรวมตัวเลขผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน สำหรับนำมาใช้ประกอบการให้ความช่วยเหลือต่อไป

ชาวพัทลุงได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม จนต้องขนของขึ้นที่สูง

พัทลุง น้ำหลากท่วมตัวเมือง ชาวบ้านเร่งขนย้ายออกนอกพื้นที่

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพัทลุงยังน่าเป็นห่วง ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมวลน้ำป่าบวกกับน้ำฝนที่ตกลงมาทำให้น้ำหลากท่วมในเขตใจกลางเมือง ย่านเศรษฐกิจ และโรงพยาบาล รวมถึงเส้นทางในตัวเมืองพัทลุง มีน้ำท่วมสูง และมีระดับน้ำที่เพิ่มตลอดเวลา

เชาวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพัทลุง เผยว่าสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดอยู่ในภาวะวิกฤติ พื้นที่ 11 อำเภอได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะที่ อ.เมือง, ควนขนุน และป่าพะยอม เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศเป็นแบบที่ราบลุ่ม วัดระดับน้ำสูงสุดประมาณ 1-2 เมตร

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการเร่งอพยพชาวบ้านกว่า 60,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำออกไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัย

ส่วนปริมาณฝนปัจจุบันพบว่ายังคงมีอย่างต่อเนื่อง

Photo: Sukree Sukplang, Reuters/profile

ตรัง มวลน้ำหลากท่วม อ.เมือง อพยพชาวบ้าน 5 ตำบลในพื้นที่รับน้ำ

มวลน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมดที่ไหลเข้าท่วม จ.ตรัง สายแรกมาจากเขาบรรทัด ไหลเข้าท่วมพื้นที่ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว อ.ปะเหลียน มวลน้ำส่วนหนึ่งไหลเข้าท่วม อ.เมืองตรัง เพื่อลงสู่แม่น้ำตรัง และสายที่สอง น้ำเหนือจาก อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ไหลลงสู่แม่น้ำตรัง ก่อนออกทะเล จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากพื้นที่ 5 ตำบล อ.เมืองตรัง เป็นพื้นที่รับน้ำ

ล่าสุด เมื่อคืนที่ผ่านมามีการเร่งอพยพชาวบ้านใน 5 ตำบลหลายร้อยครัวเรือน ต้องอพยพเด็ก คนชรา ทรัพย์สิน สิ่งของ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ออกจากบ้านพักมาอยู่ในศาลาวัด ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาลจัดพื้นที่ไว้ให้อาศัย

ปัตตานี-นราธิวาส ปริมาณน้ำเริ่มลด คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ช่วง 3 วันก่อนหน้านี้ ปริมาณฝนที่ตกหนักส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งในเขตอำเภอเมืองปัตตานี ขณะที่จังหวัดนราธิวาส น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำสายบุรี โดยกรมชลประทานได้ร่วมกับทางจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่น ช่วยเร่งระบายน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยให้กลับสู่ภาวะปกติ และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน

Phto: jrklh, twitter

10 เส้นทางภาคใต้น้ำท่วมสูง ห้ามสัญจร!

กรุงเทพธุรกิจเผยข้อมูลจาก พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ถึงสายทางของกรมทางหลวงชนบทที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ทั้งหมด 10 เส้นทาง ดังนี้

  • สาย ปน.2010 แยกทางหลวงหมายเลข 42 – บ้านบาซาเอ อ.โคกโพธิ์,หนองจิก, ยะรัง จ.ปัตตานี
  • สาย ปน.6083 บ้านบือราแง – บ้านซะเมา อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี
  • สาย พท.2038 แยกทางหลวงหมายเลข 41 – วัดเต่า อ.เมือง จ.พัทลุง
  • สาย พท.4019 แยกทางหลวงหมายเลข 4048 – บ้านแหลมโตนด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
  • สาย พท.2013 แยกทางหลวงหมายเลข 41 – บ้านใหม่ อ.ควนขนุน, เมือง จ.พัทลุง
  • สาย พท.2006 แยกทางหลวงหมายเลข 41 – บ้านสำนักปรางค์ อ.ควนขนุน, ศรีบรรพต จ.พัทลุง
  • สาย พท.1002 แยกทางหลวงหมายเลข 4 – บ้านคุ อ.เมือง, กงหรา จ.พัทลุง
  • สาย นศ.3051 แยกทางหลวงหมายเลข 403 – บ้านเขาไร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
  • สาย นธ.4010 แยกทางหลวงหมายเลข 4057 – บ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง จ.นราธิวาส
  • สาย ตง.1021 แยกทางหลวงหมายเลข 4 – บ้านพรุหนัง อ.นาโยง, เมือง จ.ตรัง

Photo: จีรวัฒน์ อุ่ยประดิษฐ์

คาดสถานการณ์จะคลี่คลายในอีกไม่กี่วัน

ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ให้สัมภาษณ์รายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ที่ออกอากาศเมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) ถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ว่า สถานการณ์น่าจะค่อยๆ คลี่คลาย 2-3 วันนี้ เนื่องจากหย่อมความกดอากาศต่ำจะค่อยๆ พัดไปทางมหาสมุทรอินเดีย

ทั้งนี้หลังจากที่ระดับน้ำลดลงแล้ว ทาง สสนก. จะลงพื้นที่เก็บข้อมูล ดูระดับน้ำท่วม เพื่อนำมาวางแผนระบายน้ำแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

Cover: Sukree Sukplang, Reuters/profile

อ้างอิง:

Tags: , ,