ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งห้ามประชาชนจาก 6 ประเทศมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา (อิหร่าน, ซีเรีย, โซมาเลีย, ซูดาน, ลิเบีย, และเยเมน) โดยตัดอิรักออกจากรายชื่อประเทศห้ามเข้า เนื่องจากก่อนหน้านี้เขาสั่งห้าม 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ
คำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 16 มีนาคม 2017 และจะมีระยะเวลา 90 วัน คำสั่งห้ามเข้าสหรัฐฯ จะไม่มีผลกับคนที่กำลังจะสมัครวีซ่า ส่วนคนที่ได้วีซ่าแล้วนั้นจะยังสามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ผู้ถือกรีนการ์ดจะไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้
คาดว่าคำสั่งครั้งนี้มีโอกาสที่จะถูกต่อต้านน้อยกว่าคำสั่งแรก เพราะรัฐบาลของทรัมป์นั้นได้เปลี่ยนเงื่อนไขบางอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงการประท้วง และการต่อต้านในเชิงกฎหมาย นอกจากนี้หลายฝ่ายยังวิเคราะห์ว่า ครั้งนี้เขาตั้งใจไม่รีบเร่งออกคำสั่งจนเกินไปดังเช่นครั้งแรก เพื่อให้เขาสามารถสั่งห้ามประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ ได้สำเร็จ
คำสั่งห้ามประเทศมุสลิมเข้าประเทศยังคงเป็นคำถาม
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โต้แย้งว่า คำสั่งนี้ยังคงเป็นการเหยียดชาวมุสลิม และไม่ได้มีเนื้อหาแตกต่างจากคำสั่งก่อนหน้านี้ที่สร้างแรงต่อต้านจากชาวสหรัฐฯ จำนวนมาก อย่างไรก็ตามนักกฎหมายระบุว่า การต่อต้านคำสั่งนี้อาจจะเป็นไปได้ยาก เพราะถือว่ามีผลต่อชาวอเมริกันจำนวนไม่มาก และเปิดทางให้ใช้คำสั่งเพื่อปกป้องชาวอเมริกันได้มากขึ้น
คำสั่งนี้ถูกต่อต้านจากพรรคเดโมแครตในทันที รวมถึงองค์กรด้านสิทธิพลเมืองที่กล่าวหาคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ว่า เป็นคำสั่งที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล
ก่อนหน้านี้คำสั่งห้ามประชาชนจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความจำนวนมาก โดยคาดว่ามีประชาชนถึง 60,000 คนที่ถูกถอนวีซ่าจากคำสั่งแรก
แม้ว่าคำสั่งครั้งนี้จะมีการทบทวนใหม่ แต่หลายฝ่ายมองว่าใจความสำคัญหลักของคำสั่งนี้ยังคงอยู่ และยังสะท้อนนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่เคยพูดไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง
คำสั่งห้ามครั้งที่สองมีโอกาสถูกต่อต้านยากกว่าคำสั่งแรก
คำสั่งห้ามประชาชนจาก 6 ประเทศมุสลิมเข้าประเทศครั้งนี้จะถูกต่อต้านได้ยากกว่าคำสั่งแรก เนื่องจากคำสั่งนี้จะกระทบต่อชาวสหรัฐฯ น้อยลง เพราะคำสั่งครั้งนี้จะยังอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางมาเยี่ยมครอบครัวที่เป็นพลเมืองสหรัฐฯ ได้อยู่ หรือเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ นอกจากนี้ประชาชนที่ถือกรีนการ์ดจาก 6 ประเทศนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้
รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังทบทวนเนื้อหาในคำสั่ง โดยครั้งนี้หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่มีความหมายกีดกันศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ
ขณะที่ ‘ผู้ลี้ภัย’ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนย้ายมาอยู่สหรัฐฯ หรือได้รับอนุญาตแล้วจะยังคงได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้อยู่ ส่วนผู้ลี้ภัยที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณานั้น สหรัฐฯ จะนำกลับมาทบทวนใหม่ทั้งหมด โดยใช้เวลา 120 วัน ซึ่งแตกต่างจากคำสั่งแรกที่สั่งห้ามชาวซีเรียทั้งหมดเข้าสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ยังยืนยันว่า คำสั่งครั้งนี้จะยังมีเป้าหมายลดจำนวนผู้ลี้ภัยที่เดินทางเข้าสหรัฐฯ ต่อปีจาก 110,000 คน เหลือ 50,000 คน
นอกจากนี้อิรักถูกเอาออกจากรายชื่อประเทศมุสลิม เนื่องจากรัฐบาลอิรักเพิ่มมาตรการตรวจสอบในการออกวีซ่า รวมถึงให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการปราบปรามนักรบหัวรุนแรง โดยปัจจุบันมีชาวอิรักหลายพันคนร่วมรบกับกองทัพสหรัฐฯ และบางกลุ่มทำหน้าที่เป็นล่ามมาตั้งแต่ที่สหรัฐฯ บุกเข้าอิรักเมื่อปี 2003 และบางส่วนได้มาตั้งรกรากในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ทั้งนั้นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีโอกาสที่จะเพิ่มรายชื่อประเทศอื่นเพิ่มเติม รวมถึงอิรักเอง หากพบว่าแต่ละประเทศไม่สามารถให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ด้านหน่วยข่าวกรองได้
มาร์กาเร็ต ฮวง (Margaret Huang) ผู้อำนวยการองค์กรแอมเนสตี สหรัฐอเมริกา ระบุว่า “คำสั่งนี้จะส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวรุนแรง และส่งผลต่อชีวิตของหลายพันครอบครัว และนี่คืออีกครั้งที่ความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมถูกใส่เข้าไปในนโยบาย”
คำสั่งนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 อาทิตย์ เพื่อหลีกเลี่ยงความโกลาหลและการประท้วง ดังเช่นเราเห็นจากการออกคำสั่งในครั้งแรก ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ครั้งนี้รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกคำสั่ง เพราะจะมีผลบังคับใช้หลังจากที่เขาเข้าร่วมประชุมกับรัฐสภาในสัปดาห์หน้า สะท้อนว่ารัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ตั้งใจไม่ให้คำสั่งนี้ดูรีบร้อนจนเกินไป เพื่อสามารถสั่งห้ามประชาชนจากประเทศมุสลิมเข้าประเทศได้สำเร็จ
อ้างอิง:
Tags: DonaldTrump, Muslim, USA