คุณคิดว่าหน่วยงานภาครัฐองค์กรไหนที่ทุจริตกับประชาชนมากที่สุด?

คุณคิดว่าหน่วยงานภาครัฐองค์กรไหนที่เจ้าหน้าที่ก่ออาชญากรรมต่อประชาชนมากที่สุด?

ถ้าเลือกได้คุณอยากให้รัฐบาลปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐองค์กรไหนเป็นองค์กรแรก?

ประชาชนเกลียดหน่วยงานภาครัฐองค์กรไหนมากที่สุด?

นี่คือส่วนหนึ่งของคำถามน่าสนใจที่เกิดขึ้นภายในงานเสวนา ‘ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร’ ซึ่งจัดขึ้นโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งคำตอบที่ได้จากคำถามเหล่านี้อาจตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ

ที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวคราวร้ายๆ ที่มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นตัวละครสำคัญของเรื่องแทบจะตลอดเวลาตามสื่อต่างๆ ตั้งแต่ คดีอุ้มฆ่าสาวทอม จับครูแพะ ตำรวจนั่งเป็นที่ปรึกษาในบริษัทแอลกอฮอล์ ไปจนถึงการโกงสอบเข้าเป็นนายสิบตำรวจ ซึ่งข่าวต่างๆ เหล่านี้เป็นผลให้ภาพลักษณ์ของตำรวจถูกฉุดกระชากให้ตกต่ำลงเรื่อยๆ

จากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน ทุกวันนี้ตำรวจกลายเป็นจุดอ่อนของสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ในงานเสวนาครั้งนี้จะทำการตีแผ่ทุกแง่มุมของวงการตำรวจที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน พร้อมหาทางแก้ไขเพื่อให้ตำรวจกลายเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อีกครั้ง โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้ง รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต, พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ สื่อสารมวลชนด้านยานยนต์ ผู้มากประสบการณ์ และคลุกคลีกับตำรวจมาอย่างยาวนาน, พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ ร.ต.อ. ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา

ที่สุดแล้ว ‘ตำรวจไทย มีไว้ทำอะไร?’ คุณคงนึกหาคำตอบได้หลังจากอ่านรายงานพิเศษนี้จนจบ

เจตนาของการแยกตัวจากกระทรวงมหาดไทยออกมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะตำรวจต้องการอิสระในการทำงาน เพื่อให้ตำรวจดูแลตำรวจด้วยกันเอง
เหมือนทหารดูแลทหาร แต่ในความเป็นจริงกลับมีคำพูดว่า ทหารน่ะเจ้านายเลี้ยงลูกน้อง
ส่วนตำรวจน่ะลูกน้องต้องเลี้ยงเจ้านาย เพราะฉะนั้นนายจะสั่งอะไรก็ช่าง เพราะมันมีผลประโยชน์ตอบแทนให้กันและกัน

พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ สื่อมวลชน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จุดเริ่มต้นที่ทำให้วงการตำรวจตกต่ำ

นอกจากจะเป็นสื่อมวลชนผู้มากประสบการณ์แล้ว ครั้งหนึ่ง พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ ยังเคยทำอาชีพขับรถบรรทุกมาก่อน ดังนั้นประสบการณ์การเผชิญหน้าระหว่างเขากับตำรวจจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน

“ตอนเด็กๆ ผมเองก็กลัวตำรวจเหมือนเด็กทั่วๆ ไปที่ถูกขู่ว่าถ้าร้องไห้เดี๋ยวตำรวจจะมาจับ แต่พอโตขึ้นชีวิตที่ผมได้สัมผัสกับตำรวจมากที่สุดคือชีวิตบนท้องถนน ผมเคยขับสิบล้อ ไม่เคยกลัวตำรวจหรอก กลัวแต่ว่าถ้าหนีแล้วจะต้องจ่ายเพิ่มหรือเปล่า”

จากมุมมองในฐานะประชาชนคนหนึ่ง พัฒนเดชมองว่า ทุกวันนี้ตำรวจต้องรับมือกับหลากหลายเรื่อง ตั้งแต่งูเข้าบ้าน รถหาย คนตาย ฯลฯ ซึ่งเรื่องที่เข้ามาหลากหลายทำให้ตำรวจมีวิธีคิดแบบทำให้ทุกอย่าง ‘จบๆ ไปง่ายๆ แล้วกัน’ ซึ่งแนวคิดแบบนี้กลายมาเป็นปัญหาสะสมของสังคมไทย

“ถ้าผมขับรถไปแล้วถูกจับความเร็ว ถ้าผมยื่นใบขับขี่ให้ ตำรวจเอาใบสั่งยื่นกลับมา จบ อันนี้คือกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งผมว่าเรื่องคอร์รัปชันกับตำรวจเป็นเรื่องที่เกิดจากสัญชาตญาณระหว่างผู้ให้กับผู้รับ แต่ถ้าผมอิดๆ ออดๆ แล้วเริ่มถามด้วยคำถามว่า “ว่าไง” อันนี้ก็จะเคลียร์ง่ายแล้ว เหมือนเล่นไพ่เกทับกันที่ต้องเดาใจ และเดารูปแบบตลอดเวลา

“เรากำลังฝากความหวังในกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นกับการวินิจฉัยของบุคคล บวกกับสังคมไทยเป็นสังคมที่มักจะอ่อนน้อมและไม่กล้าจะโต้เถียง โดยเฉพาะกับคนที่คิดว่าใหญ่กว่าตัวเอง มันจึงมีความเกรงกลัวอยู่ในจิตใต้สำนึกกลายๆ ฉะนั้นพอตำรวจพูดอะไรมาปุ๊บ ก็เลือกที่จะเงียบไว้ เพราะไม่อยากมีปัญหา”

ดังนั้นปัญหาของตำรวจไม่ได้เกิดจากตำรวจเพียงฝ่ายเดียว แต่รวมไปถึงคนในสังคมเองที่มีส่วนอย่างมากในการทำให้ปัญหานี้ลุกลามบานปลายจนยากจะแก้ไข

นอกจากนี้ พัฒนเดชยังมองว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ของตำรวจเลวร้ายลงเรื่อยๆ ยังเกิดจากการตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ทำให้การตรวจสอบตำรวจกลายเป็นเรื่องยากขึ้น

“ผมว่าปัญหามันเริ่มจากการพัฒนาองค์กรตำรวจ จากกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อก่อนหัวหน้าโรงพักเป็นสารวัตรใหญ่ ปัจจุบันหัวหน้าโรงพักต้องเป็นผู้กำกับการ ซึ่งการพัฒนาตรงนี้ไม่ได้เป็นการพัฒนาการทำงาน แต่เป็นการพัฒนาในเรื่องของการตอบแทนเลื่อนขั้นชั้นยศมากกว่า

“เจตนาของการแยกตัวจากกระทรวงมหาดไทยออกมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะตำรวจต้องการอิสระในการทำงาน เพื่อให้ตำรวจดูแลตำรวจด้วยกันเอง เหมือนทหารดูแลทหาร แต่ในความเป็นจริงกลับมีคำพูดว่า ทหารน่ะเจ้านายเลี้ยงลูกน้อง ส่วนตำรวจน่ะลูกน้องต้องเลี้ยงเจ้านาย เพราะฉะนั้นนายจะสั่งอะไรก็ช่าง เพราะมันมีผลประโยชน์ตอบแทนให้กันและกัน ถ้านายพูดมากนายก็อดกิน มันจึงเป็นการเอื้อผลประโยชน์สมกัน การออกมาเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติในทางปฏิบัติมันจึงแย่กว่าสมัยเป็นกรมตำรวจ เพราะถ้าตำรวจทำไม่ดี สมัยก่อนยังร้องเรียนไปที่กระทรวงมหาดไทยได้ แต่พอเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติมันไปร้องเรียนที่ไหนไม่ได้แล้ว”

งานตำรวจไม่ใช่งานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเดียว
แต่เป็นงานที่มีอยู่แล้วในทุกกระทรวง ทบวง กรม
ใครก็ตามที่มีหน้าที่ในการตรวจตรารักษากฎหมาย ก็เรียกว่าเป็นตำรวจได้ทั้งสิ้น
เพราะตำรวจมาจากคำว่า ตรวจ

พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจและที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ

‘สอบปากคำ ทำเหมือนจริง เอาไปทิ้งภายหลัง’ หลักการทำงานของตำรวจเพื่อไม่ให้มีสถิติคดีเพิ่ม
ด้าน พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจและที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ฉายภาพความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นปัจจุบันว่า
“เชื่อไหมว่าตำรวจปัจจุบันหลายคนไม่รับคำร้องทุกข์แจ้งความจากประชาชน โดยให้เหตุผลว่าถูกสั่งไม่ให้รับคำร้องทุกข์ เพราะกลัวว่าสถิติคดีจะเพิ่มขึ้น ตำรวจหลายคนจึงต้องใช้วิธี ‘สอบปากคำ ทำเหมือนจริง เอาไปทิ้งภายหลัง’ โดยทำเป็นแกล้งรับเรื่องเพื่อให้คนที่มาแจ้งความรู้สึกอุ่นใจว่าตำรวจทำเต็มที่แล้ว แต่จริงๆ แล้วพอเขากลับไป ก็เอาไปทิ้งถังขยะ นี่เป็นเรื่องเลวร้ายมากนะครับ เพราะนอกจากจะเป็นการไม่รักษากฎหมาย ยังเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย”
พ.ต.อ. วิรุตม์ มองว่า สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้เกิดขึ้นจากการตรวจสอบถ่วงดุลที่ล้มเหลว เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติกลายเป็นองค์กรที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ถ้านายกฯ ไม่หยิบยกปัญหาตำรวจขึ้นมา ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานไหนเข้าไปตรวจสอบได้เลย ถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคุยกับนายกฯ ได้ ทุกอย่างก็จบ
อีกเรื่องสำคัญคือ ตำรวจไทยมีพัฒนาการที่สวนทางกับกระแสโลก เนื่องจากตำรวจส่วนใหญ่ทั่วโลกถือเป็นงานพลเรือน แต่ตำรวจไทยกลับมีลักษณะเป็นเหล่าทัพ
“ผมคิดว่าตำรวจไทยมีอำนาจเกินไป มีทั้งปืน ทั้งสำนวนสอบสวน จะดึงเรื่องเข้าหรือออกทำได้เองทั้งหมด ตำรวจพัฒนาไปสู่ความเป็นศักดินามากขึ้น แทนที่จะคลายตัวเป็นไปพลเรือน มีการรวมศูนย์อำนาจการสอบสวนขั้นต้นมาไว้ที่ตำรวจทั้งหมดเลย ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่มีอำนาจสอบสวนเลย
“งานตำรวจไม่ใช่งานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเดียว แต่เป็นงานที่มีอยู่แล้วในทุกกระทรวง ทบวง กรม ใครก็ตามที่มีหน้าที่ในการตรวจตรารักษากฎหมาย ก็เรียกว่าเป็นตำรวจได้ทั้งสิ้น เพราะตำรวจมาจากคำว่า ตรวจ ข้าราชการกรมป่าไม้ อุทยาน ประมง เจ้าท่า กระทรวงสาธารณะสุข เขาก็เป็นตำรวจในการตรวจตราเรื่องต่างๆ ทั้งสิ้น ในต่างประเทศองค์กรเหล่านี้เขาก็เรียกว่า ตำรวจ เช่น ตำรวจสาธารณะสุข ตำรวจมหาวิทยาลัย ตำรวจสภา แล้วระหว่างตำรวจพลเรือนที่ไม่มียศ กับตำรวจที่มียศ บางครั้งตำรวจพลเรือนเข้มแข็งกว่าในแง่จิตใจ เพราะมีความเป็นอิสระ ไม่มีใครมาครอบงำสั่งการเขาได้”
ดังนั้นทางแก้ปัญหาที่ควรจะเกิดขึ้นคือ การถ่ายโอนอำนาจของตำรวจไปไว้กับกระทรวงอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีแนวทางตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ให้ทำการโอนหน่วยงานทั้งหมด 9 หน่วย ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจทางหลวง ตำรวจรถไฟ ฯลฯ ซึ่ง พ.ต.อ. วิรุตม์ ให้ความเห็นว่า วิธีนี้จะทำให้ 9 หน่วยงานดังกล่าวพัฒนาขึ้นทันที เพราะจะกลายเป็นข้าราชการไม่มียศ ซึ่งจะมีความเข้มแข็งกว่าตำรวจที่มียศ และแต่ละคนจะมีความเป็นอิสระมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นแนวทางนี้ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้

อำนาจเป็นเหมือนต้นทางของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ร.ต.อ. ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา

เทรนด์ของโลกคือการปฏิรูปตำรวจ

ร.ต.อ. ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความคิดเห็นว่า การที่มีข่าวทุจริตสอบเข้าเป็นนายสิบตำรวจ ซึ่งบางคนต้องเสียเงินหลายแสนเพื่อจะรับเงินเดือน และยศไม่ได้สูง เป็นเพราะการได้ใส่เครื่องแบบสีกากีของตำรวจจะนำมาสู่อำนาจ ทั้งอำนาจตามกฎหมาย และอำนาจนอกเหนือจากกฎหมาย

“อำนาจเป็นเหมือนต้นทางของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การปฏิรูปตำรวจหรือการกำกับการใช้อำนาจของตำรวจเป็นสิ่งที่เขาศึกษากันทั่วโลก ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีปัญหาเรื่องตำรวจ ทั่วโลกเขามีปัญหาเหมือนกันหมด ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของ 4 ปัจจัย ที่ทำให้การปฏิรูปตำรวจเป็นประเด็นที่หลายประเทศพยายามทำอยู่”

ปัจจัยแรกที่ ร.ต.อ. ดร.วิเชียร หยิบยกขึ้นมาคือ ทิศทางในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนมากที่สุด จนกลายเป็นกระแสกดดันให้เกิดการปฏิรูป

อีกปัจจัยคือ การเกิดขึ้นของความเป็นประชาธิปไตย ที่นำมาสู่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการและตรวจสอบการทำงานของตำรวจด้วย

ปัจจัยที่สามคือ การเติบโตของเทคโนโลยี โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณี Black Lives Matter ในสหรัฐอเมริกา ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของตำรวจผิวขาวที่กระทำต่อประชาชนผิวสี นำมาสู่การลุกฮือต่อต้านการใช้อำนาจของตำรวจ และกลายเป็นจลาจลที่ทำให้เมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐฯ ต้องปฏิรูปการทำงานของตำรวจอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้นักข่าวพลเมืองยังมีอำนาจอย่างมากในการกดดันให้ตำรวจต้องปรับตัว

ปัจจัยสุดท้ายคือ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เนื่องจากสังคมต้องการตำรวจที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีการบริหารจัดการที่ทันสมัย กระแสนี้จึงทำให้ตำรวจต้องเร่งปรับตัวอย่างเร่งด่วน

“4 กระแสนี้นำไปสู่การปฏิรูปตำรวจทั่วโลก ยกเว้นประเทศไทยที่ระดับการปฏิรูปของเราต่ำมาก ไม่ต้องไปทำวิจัยให้เหนื่อย สังเกตจากสื่อที่สะท้อนออกมา ข่าวเมื่อเช้าวินรถแท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิก็มีการเปิดบ่อนเล่นพนัน แล้วใครเป็นคนจับครับ ทหารกับฝ่ายปกครองไปจับ มันสะท้อนอาการป่วยที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากการไม่ปฏิรูปองค์กรเหมือนสังคมอื่นเขาทำ ไม่ได้หมายความว่าอาชญากรรมต้องหมด แต่ต้องเกิดในระดับที่สามารถทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า เราเดินขึ้นโรงพัก ไปหาตำรวจ ปัญหาต่างๆ จะจบไป แต่ทุกคนกลับไม่รู้สึกเช่นนี้

“ปัจจัยอะไรที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จ บางคนบอกว่าเกิดจากตำรวจเอง ไม่ใช่เลย คนที่อยู่ข้างในเหมือนเส้นผมบังภูเขา มองไม่เห็นปัญหาหรอก นักการเมืองก็ไม่ใช่ หรือรัฐบาลเผด็จการก็ไม่ใช่ แต่เป็นภาคประชาชน แรงผลักดันต้องมาจากภาคประชาชน เป็นแรงขับที่มีผลต่อทางปฏิบัติที่แท้จริง”

ทั้งนี้ ร.ต.อ. ดร.วิเชียร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวเร่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องและขับเคลื่อนการปฏิรูปตำรวจ คือภาคส่วนต่างๆ ของสังคมทั้ง 3 ส่วน ทั้งภาควิชาการ สื่อมวลชน และองค์กรอิสระต่างๆ ที่มีหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชน เป็นช่องทางในการเรียกร้องของประชาชนที่จะถ่ายทอดไปสู่ผู้มีอำนาจรัฐ ที่สำคัญคือต้องทำอย่างต่อเนื่องถึงจะประสบความสำเร็จ

ถ้ารัฐบาลอยากเห็นประชาชนมีความสุข ได้รับความยุติธรรม รัฐบาลต้องกล้าปฏิรูปตำรวจ

รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

ความเสียหายทางอาชญากรรมของตำรวจมีมากกว่าคนติดยา

ด้าน รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มต้นตั้งคำถามว่า

“ถ้าหากว่ามีใครสักคนที่มีหน้าที่ดูแลบ้านเมือง แล้วได้ยินประชาชนพูดถึงขนาดนี้ แต่ยังทนได้ ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อทำให้ประชาชนพ้นจากความทุกข์ ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่นั้นก็คงจะใจคออำมหิตเกินไป ไม่ได้มีความรักอะไรต่อประชาชนเลย แล้วเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ใช่เพิ่งพูดกัน ผมไปเวทีไหนก็มีแต่คนพูดถึงความเลวร้ายของตำรวจ สิ่งที่ประชาชนได้รับคือการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม นี่คือความจริงที่ทุกคนยอมรับกันหมดแล้ว แต่ทำไมไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้แต่เล็กน้อยที่สุดก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย

“ในเมื่อคนเขาพูดกันถึงขนาดนี้ทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วคนจากองค์กรก็ก่อปัญหาอาชญากรรมกลายเป็นข่าวใหญ่ๆ แทบทุกวัน ทำไมไม่เห็นมีอะไรปรับปรุงให้ดีขึ้น มันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมือง”

จากประสบการณ์ในการผลักดันการปฏิรูปตำรวจมาก่อน รศ. ดร.สังศิต เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เจอแรงต้านทานอย่างมากจากตำรวจระดับนายพลทั้งที่อยู่ในราชการและอยู่นอกราชการ ซึ่งเป็นผลให้การผลักดันไม่สำเร็จ

“ขนาดตอนนั้นรัฐบาลสนับสนุนเราอยู่ การปฏิรูปยังไม่สำเร็จเลย เพราะไม่มีรัฐบาลไหนกล้าปฏิรูปตำรวจ จะด้วยเหตุผลใดผมไม่สน แต่ถ้ารัฐบาลอยากเห็นประชาชนมีความสุข ได้รับความยุติธรรม รัฐบาลต้องกล้าปฏิรูปตำรวจ”

ปัญหาที่ทำให้การปฏิรูปไม่เป็นผล รศ. ดร.สังศิตมองว่า เกิดจากอำนาจ และผลประโยชน์ที่มหาศาล องค์กรตำรวจเป็นเหมือนธุรกิจที่มีการซื้อขายสินค้าและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน แรงต้านจึงมีค่อนข้างมาก

นอกจากนี้จากประสบการณ์การศึกษาประเมินความเสียหายจากอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติด รศ. ดร.สังศิต ยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า คนที่ติดยาเสพติดแล้วก่ออาชญากรรม สร้างความเสียหายที่มีมูลค่าต่ำกว่ากรณีที่ตำรวจก่ออาชญากรรมอย่างไม่น่าเชื่อ

“ผมว่ารัฐบาลรู้ดีกว่าพวกเราทั้งหมดนี้อีก คำถามคือท่านรู้แล้วทำไมท่านถึงไม่ทำ สิ่งที่รัฐบาลต้องคิดเรื่องหนึ่งคือ การปรองดองกับประชาชน ท่านจะปรองดองกับพรรคการเมือง นักการเมือง องค์กรที่เคลื่อนไหวทางสังคมอย่างไร สำหรับผม ผมสนใจน้อยกว่าการที่รัฐบาลหรือองค์กรภาครัฐต้องปรองดองกับประชาชนมากกว่า แล้วท่านจะปรองดองกับประชาชนอย่างไร ถ้าไม่ให้คืนความยุติธรรมกับประชาชนสักนิดหน่อย แล้วการปรองดองที่ดีที่สุดคือใช้ตำรวจนี่แหละมาปรองดอง กรณีครูจอมทรัพย์ ท่านก็ทำให้เห็นสิครับว่าท่านจะปรองดองกับประชาชนด้วยการทำเรื่องนี้ให้มันโปร่งใส แค่ทำให้โปร่งใสก็ชนะใจประชาชนแล้ว เคสเดียวเท่านั้นเลยครับ แต่แม้กระทั่งเรื่องครูจอมทรัพย์คนเดียว ท่านยังไม่กล้าปรองดองกับประชาชน ท่านจะไปพูดถึงการปรองดอง การปฏิรูปอย่างอื่นหลายสิบเรื่อง ประชาชนจะเชื่อถือท่านหรือครับ”

ในยุคใหม่พวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีมือถือ นี่คืออาวุธของประชาชนในการทำ Social Sanction กับคนที่ทุจริต

แนวทางปฏิรูปตำรวจที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น
ถ้าเลือกได้อยากให้มีการปฏิรูปตำรวจในเรื่องใดมากที่สุด? นี่คือคำถามทิ้งท้ายที่เกิดขึ้นบนเวทีเสวนา โดยพัฒนเดชให้ความเห็นว่า
“เรื่องการปูนบำเหน็จ เลื่อนขั้นชั้นยศนี่แหละ เป็นปัญหาที่ทำให้ตำรวจมีปัญหาสะสมหมักหมมมาจนถึงทุกวันนี้ ตราบใดที่ตำรวจด้วยกันยังมองว่ามีโรงพักเกรดเอ ทองหล่อ ลุมพินี เป็นเกรดเอ ถ้าไปอยู่อำเภอสรรพยาบ้านผม นั่นคือเตะโด่ง ถ้าตำรวจด้วยกันยังมองแบบนี้ ทางแก้ก็น่าจะตีบตันลง เพราะแรงจูงใจไม่ได้มาจากการทำงานเพื่อประชาชนจริงๆ
“เหมือนเรากำลังห่วงว่าเพื่อนเราคนนี้ป่วย เราก็พยายามหายาให้กิน แต่เพื่อนเราเขายอมรับหรือเปล่าว่าเขาป่วย คือคนในองค์กรตำรวจยอมรับหรือเปล่าว่าภาพขององค์กรมีปัญหา ถ้าคนในองค์กรตำรวจไม่ยอมรับ เพราะคิดว่านี่คือเรื่องปกติของการเป็นตำรวจ ไม่ว่าใครจะพูดเรื่องการปฏิรูปแค่ไหน มันไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลได้ อย่างน้อยต้องกระตุ้นให้คนในองค์กรเห็นด้วยก่อนว่า ตอนนี้คนข้างนอกกำลังมองเราในแง่ไม่ดี และเราได้ทำในสิ่งที่เขามองในแง่ไม่ดีหรือเปล่า ถ้ายอมรับ เขาก็เหมือนคนป่วยที่ยอมกินยา
“เขาเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม ถ้าเขาตาย สังคมนี้ก็ตายไปด้วยนะ ผมอยากเห็นตำรวจได้ปรับปรุงจนได้รับความเชื่อมั่นของประชาชนมากขึ้น”
ด้าน ร.ต.อ. ดร.วิเชียร ทิ้งท้ายด้วยการเปรียบเทียบองค์กรตำรวจกับธุรกิจเอกชน ซึ่งเมื่อภาพพจน์องค์กรกำลังย่ำแย่ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการผ่าตัดครั้งใหญ่ให้กับองค์กร
“เมื่อภาพพจน์ขององค์กรลดต่ำลงเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งถ้าเป็นบริษัทก็ต้องเจ๊ง แต่องค์กรตำรวจไม่มีวันเจ๊ง แล้วต้นทุนตรงนี้มันจะไปอยู่ที่ไหน มันก็ตกไปอยู่กับประชาชน
“การปฏิรูปต้องเริ่ม ต้องเป็นไม้ขีดก้านแรกในการทำให้ไฟมันลุกไหม้ขึ้นมาได้ หลายคนบอกว่าต้องปฏิรูปใหญ่ แต่ผมคิดว่าแค่ปฏิรูปเล็กๆ กระจายอำนาจงานสอบสวนได้ไหม ทำไมไม่ให้คดีการพนันให้เจ้าพนักงานปกครองเขาทำ ให้มหาดไทยเขาลองทำดูบ้าง อีกเรื่องสำคัญคือปลายทาง อย่าง ปปง. ที่ไม่เคยยึดทรัพย์ตำรวจ ก็ต้องเริ่ม ต้องสร้างแนวคิดว่าเงินที่คุณหาได้คุณจะไม่มีวันได้ใช้ จะได้ discourage หรือลดแรงจูงใจว่าเงินที่ได้จะให้ลูกให้หลาน ลูกหลานก็จะไม่ได้ใช้ เพราะโดนยึด ปปง. จะกล้าทำไหม ถ้ากล้าทำจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการปฏิรูปได้”
ทางด้าน พ.ต.อ. วิรุตม์ เสนอว่า การปฏิรูปตำรวจ อันดับแรกจะต้องก้าวให้พ้นจากกับดักหรือคำเท็จในเรื่องความขาดแคลน เช่น คนน้อย เงินเดือนต่ำ อำนาจจำกัด หรือตำรวจทำงานหนัก 24 ชั่วโมง เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นคำเท็จคำลวงทั้งสิ้น ที่สำคัญคือตำรวจส่วนใหญ่ก็ต้องการการปฏิรูป โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อย พนักงานสอบสวน เพราะตำรวจที่มีโอกาสร่ำรวยเป็นร้อยๆ ล้านมีอยู่กลุ่มเดียวเท่านั้น”
ปิดท้ายที่ รศ. ดร.สังศิต ที่ให้ความหวังกับประชาชนอย่างเราๆ ว่า
“วันนี้คอร์รัปชันได้กลายเป็นวาระของประเทศแล้ว แต่เรายังมีงานต้องทำอีกเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับเรื่องตำรวจ ซึ่งวันนี้เราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์อีกแล้ว การศึกษาเพื่อให้ความรู้ ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ความรู้เมื่อเกิดขึ้นแล้วส่งผ่านไปให้ประชาชน จะเป็นพลังอย่างสำคัญ รัฐบาลชุดไหนมาก็ไม่กล้าทำ แต่ไม่เป็นไร
“ประสบการณ์จากการที่ผมเคยทำเรื่องคอร์รัปชันมา ผมไม่เคยวิตกเลยเรื่องตำรวจ เพราะในยุคใหม่พวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีมือถือ นี่คืออาวุธของประชาชนในการทำ Social Sanction กับคนที่ทุจริต ผ่านโซเชียลมีเดีย แล้วถ้าหากว่าวันนี้คนที่ยอมลงทุนมานั่งอยู่ในงานนี้ 3 ชั่วโมง บางคนมาจากที่หลากหลาย มีคนตั้งขนาดนี้อยู่ในห้องเสวนา เราจะเปลี่ยนองค์กรตำรวจไม่ได้เชียวหรือ
“ตอนผมทำเรื่องคอร์รัปชัน ไปหานักธุรกิจไม่มีใครยอมคุยกับผมแม้แต่คนเดียว แต่เรื่องตำรวจในวันนี้ผมเห็นท่านทั้ง 3 กล้าพูดเรื่องตำรวจ มีคนฟังที่กล้ามาฟัง สถานการณ์มาถึงขนาดนี้ เราจะแพ้ได้อย่างไร ผมเห็นแต่อนาคตเบื้องหน้าของประเทศไทยว่าไม่เร็วก็ช้า การปฏิรูปตำรวจต้องเริ่มต้นแน่นอน”
ไม่มีใครรู้ว่าการปฏิรูปตำรวจจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงวันนี้คือความไว้ใจของประชาชนที่มีต่อตำรวจกำลังลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นวิกฤต หากปล่อยให้ความไว้วางใจนี้หมดลงเมื่อไหร่
อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากจะจินตนาการถึงแน่นอน

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
Photo: องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

Tags: ,