Photo: หยุดถ่านหินกระบี่, facebook

(รายงานความคืบหน้าเพิ่มเติมวันที่ 18 ก.พ. 2560)

กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ จ.กระบี่ กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2560 ที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติให้เดินหน้าโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ต่อไป

ส่งผลให้เครือข่ายปกป้องอันดานมันจากถ่านหิน และเครือข่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และจ.สงขลา รวมตัวกันชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงพลังคัดค้านโครงการดังกล่าว จนกระทั่ง 3 แกนนำกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินโดนจับตัวในวันที่ 18 ก.พ. 2560

ก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการดังกล่าวจากภาคประชาชนและองค์กรอิสระมานานหลายปี ด้วยเกรงว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินในพื้นที่ จ.กระบี่ จะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมงในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ได้ยื่นข้อเสนอให้พิจารณาการใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน ปลายปี 2559 นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งชะลอการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีการประกาศจุดยืนของผู้สนับสนุนชัดเจน

จนกระทั่ง วิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ส่งรายชื่อผู้สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ 15,000 คน ไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อรายงานนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 ก.พ. ตามการรายงานของสำนักข่าวไทยพีบีเอส (วันที่ 20 ม.ค. 2560)

นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์จากฝ่ายสนับสนุนโครงการว่าพลังงานหมุนเวียนนั้นไม่เสถียรภาพในการผลิตมากพอหากเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ในระยะยาว จึงไม่ใช่ทางออกของความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้

ทางฝ่าย ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้ออกมาโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กในวันที่ 1 ก.พ. 2560 ว่าต้นเหตุที่แท้จริงของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมี 2 ประการ คือ 1. กลุ่มทุนไม่กี่ตระกูลได้รับผลประโยชน์จากค่าความพร้อมจ่ายจากการสร้างโรงไฟฟ้ามาก โดยไม่ต้องสนใจว่าไฟจะเกินหรือไม่ และ 2. มีสัมปทานถ่านหินในอินโดนีเซียจำนวนมหาศาลซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านอยู่แล้ว การผูกขาดเช่นนี้ทำให้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหมดสิทธิ์เติบโต

สถานการณ์ยิ่งร้อนระอุขึ้นอีก เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวระหว่างการบรรยายในหัวข้อ “การเมืองกับการบริหารเศรษฐกิจไทย” ว่าถ้าเป็นไปได้ ก็จะล้มเลิกโครงการดังกล่าว

“อีกไม่กี่วันนายกฯ จะต้องตัดสินใจเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ ซึ่งผมพูดตรงๆ ว่าหากท่านตกลงจะสร้าง ถ้าผมเป็นรัฐบาลผมเลิกได้ผมก็จะเลิก เพราะปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นไม่ได้มีความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงานทดแทน ทั้งที่ควรจะเป็นโรงไฟฟ้าปาล์มแทน”

ท่ามกลางกระแสคัดค้านและเสียงสนับสนุนที่ต่างผลัดกันโจมตีว่าอีกฝ่ายนำเสนอข้อมูลบิดเบือน ไม่รอบด้าน หรือมีอคติ The Momentum ได้พูดคุยกับนักวิชาการ ผู้ประกอบการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม ตลอดจนรวบรวมนานาทัศนะต่อประเด็นร้อนดังกล่าวในแง่ปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมทั้งโอกาสของพลังงานหมุนเวียนในไทย เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

จังหวัดที่อยู่ในรัศมีของกระบี่จะได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากมลภาวะทางอากาศของการเผาไหม้ของถ่านหินนี้ด้วยหรือไม่
คำตอบเหล่านี้จะต้องชัดเจนก่อน ต้องมีการนำเสนอให้ชัดเจนก่อนว่ามีผลกระทบหรือไม่ขนาดไหนและจะแก้ปัญหาอย่างไร

Photo: Brian Snyder, Reuter/Profile

ปมปัญหาเรื้อรังของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จ.กระบี่

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวกับ The Momentum ว่าสาเหตุที่เขาคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน มี 3 ข้อ นั่นคือ

1. ปัญหามลพิษของถ่านหิน ซึ่งหลายประเทศในยุโรปได้ประกาศจะยกเลิกการใช้ถ่านหินเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

2. ระบบการไฟฟ้าของประเทศไทยมีลักษณะผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนและประชาชนต้องแบกรับค่าความพร้อมจ่าย

3. กำไรและคอมมิชชันที่นำไปสู่การกีดกันธุรกิจพลังงานหมุนเวียนท้องถิ่น

“โดยระบบการไฟฟ้าของประเทศไทย มันมีการเอื้อประโยชน์กันมหาศาล นั่นหมายความว่า ยิ่งสร้างโรงงานไฟฟ้าได้มากเท่าไร ก็สามารถที่จะเก็บเงินอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชน เช่น โรงไฟฟ้าเอกชน ซึ่งผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 60% ของทั้งประเทศ เวลาทำสัญญากับ กฟผ. แล้ว แม้ว่าไม่มีการผลิต รัฐบาลก็จะต้องจ่าย เขาเรียกค่าความพร้อมจ่าย ทีนี้มันทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าเกินเป็นจำนวนมหาศาล มูลค่ามันหลายแสนล้านมาก ซึ่งตรงนี้ประชาชนทุกคนต้องจ่ายภายใต้ความพร้อมจ่าย เก็บผ่านค่าไฟทุกเดือน

“ส่วนพลังงานหมุนเวียนที่ประชาชนจะทำได้จะถูกมาตรการเข้ามากีดกันไม่ให้มันเติบโตได้ เพราะถ้าพลังงานที่ประชาชนทำเติบโต มูลค่าที่กลุ่มทุนซึ่งกุมอำนาจเรื่องไฟฟ้าอยู่ 60% ในขณะนี้ก็จะหายไปด้วย มันคือกำไรและคอมมิชชัน

“ประเด็นก็คือเขาได้สัมปทานถ่านหินที่อินโดนีเซียหลายสิบปีเลย กำไรและคอมมิชชันเป็นคำตอบเดียวที่ทำให้เขาเดินหน้าโครงการนี้ และใช้จังหวะที่มีรัฐบาลทหารเดินหน้าโรงไฟฟ้าให้ได้”

ขณะที่ อธิราษฎร์ ดำดี ที่ปรึกษาคณะกรรมการปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ อธิบายว่าโครงสร้างของโรงไฟฟ้าใน จ.กระบี่ รองรับขนาดกำลัง 340 เมกะวัตต์ ซึ่งปกติมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 150 เมกะวัตต์ แต่ใช้จริงไม่ถึง 100 เมกะวัตต์ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 800 เมกะวัตต์ที่ต้องพึ่งการนำเข้าถ่านหินวันละ 7,260 ตัน และลำเลียงขนส่งเข้าประเทศทางเรือจึงดูไม่สมเหตุผลและไม่สอดคล้องกับภูมิสังคม

“นั่นหมายความว่าจะต้องมีการขนส่งถ่านหินเข้ามาทุกวันๆ ก็ต้องมีการสต็อก มีการเก็บกรอง และเส้นทางการขนส่งถ่านหินที่ไม่ชัดเจน แต่รู้ว่าจะต้องผ่านร่องน้ำที่สัมพันธ์กับแหล่งท่องเที่ยวและความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ

“ตามที่คณะอนุกรรมการชี้แจงคือ เรือขนส่งกินน้ำลึก 4 เมตรครึ่ง ขณะที่ร่องน้ำที่ตื้นที่สุดอยู่ที่ 5 เมตร 20 เซนติเมตร แล้วมันจะเดินเรือผ่านเข้ามายังไง แล้วการเดินเรือผ่านร่องน้ำแคบๆ เข้ามาที่แหลมหิน บ้านคลองรั้ว (ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่) เมื่อขนส่งถ่านหินขึ้นฝั่งแล้ว จะต้องขุดอุโมงค์เพื่อนำถ่านหินลอดใต้คลองปกาสัยไป 2 กิโลเมตร เพื่อไปโผล่ขึ้นมาที่จุดหนึ่ง แล้วก็ทำเป็นทางด่วนลอยฟ้าวิ่งไปอีก 7 กิโลเมตร จึงจะถึงแหล่งที่เป็นสถานที่ตั้งโรงงานถ่านหิน นั่นหมายความว่าความวุ่นวายโกลาหลของการขนส่งถ่านหินมันไม่ได้มีแค่การขนส่งทางเรือขนาดใหญ่ แต่ต้องมีจุดที่จะถ่ายถ่านหินใส่เรือลำเล็กมาในขนาดไม่เกิน 1 หมื่นตันวิ่งลอดคลอง เฉพาะแค่เรื่องของงบประมาณของการขนส่งเคลื่อนย้ายถ่านหินตั้งงบไปถึง 2 หมื่นล้าน ในขณะที่งบโรงไฟฟ้าตั้งไว้ที่ 5 หมื่นล้าน โครงการนี้เป็นโครงการที่มีความเหมาะสมหรือเปล่า ถ้าเรามองจากมุมของการลงทุน

“ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินวันละ 7,260 ตัน หรือปีละ 2 ล้านตัน ยังไม่เคยมีการตอบโจทย์เลยว่าจะจัดการขี้เถ้าถ่านหินในแต่ละวันอย่างไร เพราะว่าจะต้องขุดบ่อในพื้นที่ขนาด 700 กว่าไร่ มาใช้ในการเก็บขี้เถ้า ซึ่งต้องเป็นบ่อที่ปูผ้ายาง ถ้าฝนตกเยอะ น้ำท่วมขึ้นมา น้ำที่ชะล้างขี้เถ้าจะไปทางไหน ยังตอบชุมชนไม่ได้ แล้วก็การจัดการเรื่องการขนส่ง การจัดการเรื่องขี้เถ้า ที่สำคัญก็คือการเผาไหม้ในปริมาณที่สูงขนาดนั้น สิ่งปนเปื้อน มลภาวะทางอากาศมีปริมาณเท่าไร มันกระจายตัวไปอยู่ในบริเวณไหนบ้าง จะไปกระทบกับชุมชน การท่องเที่ยว การเกษตร หรือการประมงในพื้นที่ไหนบ้าง มันไม่ใช่แค่ชุมชนรอบๆ ข้าง 5 ตำบล 5 กิโลเมตร แต่จะไปกระทบชุมชนในระดับ 2 -3 จังหวัดที่อยู่แวดล้อมตรงนี้ เพราะฉะนั้นพังงา ภูเก็ต ตรัง และพื้นที่ของ จ.นครศรีธรรมราช จังหวัดที่อยู่ในรัศมีของกระบี่จะได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากมลภาวะทางอากาศของการเผาไหม้ของถ่านหินนี้ด้วยหรือไม่ คำตอบเหล่านี้จะต้องชัดเจนก่อน ต้องมีการนำเสนอให้ชัดเจนก่อนว่ามีผลกระทบหรือไม่ขนาดไหนและจะแก้ปัญหาอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่ง กฟผ. ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการลำเลียงถ่านหินในเว็บไซต์ว่าการลำเลียงถ่านหินจากเรือมายังโรงเก็บบริเวณท่าเทียบเรือจะเป็นระบบปิด โดยผ่านการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวแล้ว

“ประเด็นผลกระทบของเรือขนส่งถ่านหินต่อแหล่งดำน้ำ หรือเรือท่องเที่ยวนั้น จากการศึกษาแหล่งดำน้ำในบริเวณเส้นทางเดินเรือพบว่า มีจุดดำน้ำดูปะการังจำนวน 13 แห่ง เกือบทั้งหมดอยู่ห่างจากเส้นทางเดินเรือเกินกว่า 10 กิโลเมตรขึ้นไป มีเพียง 2 จุด ที่มีระยะห่าง 3.9 และ 6 กิโลเมตร ซึ่งจากระยะห่างของเส้นทางเดินเรือ จึงไม่สร้างผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือภูมิทัศน์ของกิจกรรมท่องเที่ยว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรการความเร็วเรือที่ไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และการเดินเรือเฉลี่ยวันละ 1 เที่ยว”

ถ่านหินสะอาด ในหลักการสากลจะต้องใช้ชุดเทคโนโลยีที่เน้นการ ‘ลด’ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด แต่แผนการก่อสร้างของ กฟผ.
มิได้พูดถึงเทคโนโลยี ‘ลด’ คาร์บอน พูดถึงแต่ ‘ประสิทธิภาพ’ ในการผลิตเท่านั้น

Photo: Jason Lee, Reuter/Profile

 

เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด สะอาดจริงหรือแค่มายาคติ?

แม้ว่าทาง กฟผ. จะกล่าวว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด โดยอ้างว่ามีประสิทธิภาพสูงขึ้นและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีเดิม

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายยังสงสัยก็คือ ถ่านหินที่ว่าสะอาดนั้น สะอาดจริงหรือ?

จากข้อมูลทางเว็บไซต์ของ กฟผ. หรือ www.egat.co.th ระบุว่า “การก่อสร้างครั้งนี้ได้ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน โดยระบบเผาไหม้และหม้อไอน้ำของโรงไฟฟ้าจะเป็นเทคโนโลยีระดับ Supercritical ขึ้นไป ที่ให้ประสิทธิภาพการผลิตพลังงานถึงร้อยละ 42-45 เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีเดิม (Subcritical) ที่มีประสิทธิภาพร้อยละ 35-38 ทำให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 21 ใช้ถ่านหินคุณภาพดีประเภทซับบิทูมินัส นำเข้าจากอินโดนีเซียหรือออสเตรเลีย ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติให้มีค่าความร้อนสูง มีขี้เถ้าน้อย และค่ากำมะถันต่ำ”

สหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ที่ จ.กระบี่ จะใช้เทคโนโลยีทันสมัย และได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีเป้าหมายต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม จากรายงาน มายาคติพลังงาน โดยบริษัท ป่าสาละ จำกัด บ่งชี้ว่า ทาง กฟผ. ไม่ควรจะนำคำว่า ‘ถ่านหินสะอาด’ มาใช้ในการโฆษณา

Photo: หยุดถ่านหินกระบี่, facebook

 

“ถ่านหินสะอาด ในหลักการสากลจะต้องใช้ชุดเทคโนโลยีที่เน้นการ ‘ลด’ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด แต่แผนการก่อสร้างของ กฟผ. มิได้พูดถึงเทคโนโลยี ‘ลด’ คาร์บอน พูดถึงแต่ ‘ประสิทธิภาพ’ ในการผลิตเท่านั้น”

ทางด้าน ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ มีความคิดเห็นว่าถึง กฟผ. จะอ้างว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดของโรงไฟฟ้ากระบี่นั้นลดปริมาณของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากกว่าเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ แต่ผลกระทบสำคัญที่ กฟผ. ต้องตอบให้ได้ก่อนมีด้วยกัน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

“ประเด็นแรกคือ โลหะหนัก เช่น สารปรอท มันไม่มีโรงไฟฟ้าไหนกักได้หมด ยังไงมันก็ออกมาแน่ และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระยะยาว ทั้งอยู่ในทะเลและสัตว์ทะเลได้ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องสำคัญของกระบี่ แต่ถ่านหินสะอาดจะปล่อยมากหรือน้อย ก็ต้องดูอีกที

“ประเด็นที่สอง มันเป็นผลกระทบที่กว้างไกลกว่าโรงไฟฟ้าคือ เรื่องการขนส่งถ่านหิน ตั้งแต่อินโดนีเซีย เข้าน่านน้ำไทย มาถึงโรงไฟฟ้า การเดินเรือนี้อาจจะเสี่ยงได้หลายเรื่อง ทั้งส่งผลกระทบต่อการประมงที่กระบี่ โดยเฉพาะจุดที่เข้าจากทะเลสู่คลองปกาสัยไปที่ท่าเรือ เพราะฉะนั้นตลอดเส้นทางบนเรือ มันเกิดผลกระทบได้เยอะ แล้วจะคุมผลกระทบกันยังไง

“ประเด็นสุดท้ายคือ ทิศทางการพัฒนาของจังหวัดท่องเที่ยวอย่างกระบี่ ปัจจุบันเขามีโครงการ ‘กระบี่ Go Green’ ในหลายๆ เรื่อง รวมทั้งเรื่องพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมันช่วยลดโลกร้อน เพราะฉะนั้นการที่เขาผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดกระบี่ มันจะตอบโจทย์เรื่องกระบี่ Go Green ได้ ถ้าเราชูเรื่องการท่องเที่ยวสีเขียวด้วยพลังงานหมุนเวียน มันเป็นทิศทางการพัฒนาและการท่องเที่ยวในอนาคต ในขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินหลายประเทศในโลกเขายกเลิกแล้ว แม้แต่จีนหรืออินเดียเองก็ใช้ถ่านหินลดลง แล้วเรื่องโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทั้งหมดนี้ถ่านหินมันแย่ที่สุด แล้วถ่านหินมันไม่เข้ากับยุทธศาสตร์ของจังหวัด และทิศทางการท่องเที่ยวในอนาคต มันเป็นผลกระทบโดยภาพรวม ซึ่งยังไงถ่านหินสะอาดก็ตอบไม่ได้”

ทั้งนี้ ทางฝ่าย กฟผ. เองได้ออกมาชี้แจงประเด็นการควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินว่าเป็นไปตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานราชการต่างๆ

“ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละออง รวมไปถึงโลหะหนัก ที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดของ กฟผ. ได้ถูกควบคุมโดยมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานราชการต่างๆ ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และก่อนการดำเนินโครงการต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตามขั้นตอน โดยต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานฯ ที่ได้พิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยละเอียดรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางอากาศ น้ำทะเล เสียง ประชากรโดยรอบ รวมถึงสัตว์ และพืชต่างๆ

“นอกจากนี้ ตลอดเวลาการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้านั้น มวลสารที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. มีการควบคุมและติดตามผลตลอดเวลา โดยจะต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลที่ตรวจวัดได้แบบเรียลไทม์ไปยังกรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าค่ามลสารต่างๆ เกินค่ามาตรฐาน โรงไฟฟ้าจะต้องหยุดเดินเครื่องทันทีเพื่อมาแก้ไขอุปกรณ์ควบคุมมลสารต่างๆ จนกระทั่งค่ามลสารที่ปลดปล่อยมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะสามารถเดินเครื่องได้ใหม่”

ผลกระทบที่กว้างไกลกว่าโรงไฟฟ้าคือ เรื่องการขนส่งถ่านหิน
ตั้งแต่อินโดนีเซีย เข้าน่านน้ำไทย มาถึงโรงไฟฟ้า การเดินเรือนี้อาจจะเสี่ยงได้หลายเรื่อง

Photo: หยุดถ่านหินกระบี่, facebook

รัฐวิสาหกิจและกลุ่มทุนผูกขาด พลังงานหมุนเวียนหมดสิทธิ์โต?

หลังจากที่คณะอนุกรรมการศึกษาการใช้พลังงานทดแทนของ จ.กระบี่ ได้ยื่นข้อเสนอการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก ทางที่ประชุมได้สรุปว่า จ.กระบี่ มีศักยภาพการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 1,699 เมกะวัตต์ จากแหล่งพลังงาน 6 ประเภท โดยพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญคือ แสงอาทิตย์ ชีวมวล ลม และก๊าซชีวภาพ

ก่อนหน้านี้ จ.กระบี่ได้ชูจุดเด่นด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียนชีวภาพ โดยใช้ก๊าซชีวภาพและของเสียจากโรงงานปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการจัดการของเสียของโรงงาน

อย่างไรก็ตาม ปลายปีที่แล้วอนุกรรมการส่วนภาคประชาชนกลับขอลาออกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับกระบวนการทำงานของอนุกรรมการส่วนภาครัฐ หลังจาก กฟผ. ไม่ถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เวทีการหารือถกเถียงเพื่อหาทางออกร่วมกันถูกระงับไป รวมทั้งข้อมูลที่ยังไม่ถูกเปิดเผย

ด้าน อธิราษฎร์ ดำดี ที่ปรึกษาคณะกรรมการปาล์มน้ำมัน และเป็นผู้ประกอบธุรกิจพลังงานจากปาล์มน้ำมันเปิดเผยว่าได้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพิ่มอีก 16 เมกะวัตต์ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

“กระบี่เป็นจังหวัดตัวอย่างในเรื่องของพลังงานทดแทนจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอยู่แล้ว ณ วันนี้มีการสร้างโรงงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่ และจะผลิตไฟฟ้าใช้เอง ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เรามีการผลิตไฟฟ้าชีวภาพและชีวมวลจากปาล์มน้ำมันนั้นมานาน 20-30 ปีแล้ว ซึ่งเริ่มผลิตเพื่อขายใน 10 ปีที่ผ่านมา และสร้างโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าจากน้ำเสียไปแล้วประมาณ 30 เมกะวัตต์ ล่าสุดเราได้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเพิ่มอีก 16 เมกะวัตต์ ต่อคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินพอดี แต่ก็ไม่ได้รับการดูแล เอาใจใส่ หรือตอบสนองแต่อย่างใด แล้วก็ผู้ประกอบการที่ขอผลิตบางรายอาจจะมีการสร้างตัวโรงงานไปแล้ว บางรายกำลังยื่นขอ ก็ได้รับคำชี้แจงว่ายังไม่มีการรับซื้อไฟฟ้า เนื่องจากเกิดปัญหาไฟไหลย้อนกลับ เนื่องจากระบบสายส่ง หรือเนื่องจากมีคำสั่งให้หยุดการรับซื้อไฟฟ้าอย่างนี้ เป็นต้น

“จ.กระบี่ มีปริมาณปาล์มน้ำมันสูงมากถึง 3 ล้านตันต่อปี โดย 80% ของปาล์ม 3 ล้านตันจะส่งเข้าไปในโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล อันนี้ยังไม่นับน้ำเสียนะครับ มันก็สามารถตอบโจทย์เรื่องพลังงานหมุนเวียนได้ สิ่งเหล่านี้เราเคยนำมาพิจารณาศึกษาให้ชัดเจนไหมครับ มีผลการศึกษา มีการคำนวณ มีการนำเสนอในคณะอนุกรรมการพลังงานหมุนเวียนกระบี่ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แต่ก็เป็นแค่การศึกษาและวางข้อมูลไว้เฉยๆ ไม่ได้มีการเอามาคิดต่อ ไม่กล้าให้สังคมรับรู้ ไม่แสดงให้เห็นว่า จ.กระบี่ มีศักยภาพทางด้านก๊าซธรรมชาติหรือทางชีวมวลมากน้อยเท่าไร ยังไม่นับเรื่องพลังงานลมและพลังงานแสงแดดที่ได้มีการศึกษาไว้”

ในประเด็นนี้ ศุภกิจ นันทะวรการ มองว่าปัญหาของพลังงานไทยคือ โครงสร้างผลตอบแทนที่เอื้อกับผู้ได้รับผลประโยชน์บางกลุ่ม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากช่องว่างทางกฎหมาย

“ส่วนแรกเป็นของ กฟผ. ตามที่กระทรวงพลังงานได้ตั้งโครงสร้างการตอบแทนของการไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดผลตอบแทนตามการลงทุน ถ้าลงทุนเยอะ ก็จะได้ผลตอบแทนเยอะ ลงทุนน้อยก็ได้ผลตอบแทนน้อย อันนี้เป็นโครงสร้างที่เรียกว่า ROIC (Returned on Invested Capital) ทีนี้ถ้าเทียบว่าการไฟฟ้าจะลงทุนจ่ายกับถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ หรือลงทุนกับโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก แต่ใช้พลังงานหมุนเวียน เขาย่อมมีแรงจูงใจภายใต้โครงสร้างนี้ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหญ่อยู่แล้ว เพราะสร้างหนึ่งโครงการต้องลงทุนถึง 3-7 หมื่นล้าน มีเรื่องสายส่งแรงสูงอีก แต่ถ้าเขาไปทำพลังงานหมุนเวียน เขาต้องทำเป็นสิบๆ โครงการกว่าจะเท่ากับการลงทุน 3 หมื่นล้าน หรือ 7 หมื่นล้าน และเขายังไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน

“ทีนี้ก็มีฝั่งธุรกิจที่เข้าไปถือหุ้น ซื้อเหมืองถ่านหิน ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ มีทั้งบริษัทบ้านปู เป็นเจ้าของเหมืองในอินโดนีเซีย ส่วนข้อมูลที่เคยได้ยินก่อนหน้านี้ก็มีปตท. ที่มีหุ้น บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี เป็นหุ้นในโรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่ลาวแน่ ส่วนเหมืองที่อินโดนีเซียไม่แน่ใจ ที่พูดถึงเหมืองอินโดนีเซียบ่อยเพราะคาดว่าน่าจะเป็นแหล่งที่ส่งถ่านหินให้โรงไฟฟ้ากระบี่ เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติของธุรกิจที่เขาลงทุนในเหมือง เขาก็ต้องการขายได้ ก็ย่อมมีแรงจูงใจทางธุรกิจเป็นปกติที่เขาต้องการขายให้ประเทศอื่น และประเทศไทยด้วย

“จุดแข็งของ จ.กระบี่ คือเขาไม่ได้ค้านถ่านหินอย่างเดียว แต่ขอท้าพิสูจน์เลยว่าจะทำพลังงานหมุนเวียน 100% ภายใน 3 ปี และเขาเชื่อว่าจังหวัดอื่นอย่าง สงขลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี ก็เป็นได้เหมือนกัน

“ถึงฝ่ายกระทรวงพลังงานกับการไฟฟ้าบอกว่า ต้องใช้พลังงานหมุนเวียนกับถ่านหินคู่กัน แค่พลังงานหมุนเวียนไม่พอ แต่ประเด็นคือ กฟผ. หยุดรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนที่ จ.กระบี่ มาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว จนปัจจุบันก็ยังนิ่งอยู่เลย ทั้งที่บอกว่าทำคู่กัน ทั้งที่โรงงานปาล์มพร้อมที่จะเอาของเสียผลิตไฟฟ้าขาย แต่การไฟฟ้าไม่ยอมรับซื้อ และปริมาณมันก็เยอะเลย บางโรงงานเขาลงทุนไปแล้ว ตอนนี้เขาเผาพลังงานหมุนเวียนทิ้งแล้ว ทำให้เอกชนรายอื่นๆ ที่จะลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนก็ต้องชะลอไปหมด เพราะคนที่ลงทุนไปแล้วกำลังย่ำแย่”

จุดแข็งของ จ.กระบี่ คือเขาไม่ได้ค้านถ่านหินอย่างเดียว
แต่ขอท้าพิสูจน์เลยว่าจะทำพลังงานหมุนเวียน 100% ภายใน 3 ปี
และเขาเชื่อว่าจังหวัดอื่นอย่าง สงขลา ชุมพร สุราษฎร์ธานี ก็เป็นได้เหมือนกัน

Photo: Jo Yong hak, Reuter/Profile

ทางออกของความขัดแย้งที่จะชี้ชะตาจังหวัดกระบี่

เมื่อ The Momentum ถามทั้ง 3 คนว่าทางออกสำหรับเรื่องนี้คืออะไร

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล กล่าวว่าควรจะสนับสนุนพลังงานที่มีศักยภาพการผลิตในประเทศ เพื่อสร้างรายได้และสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น

“จริงๆ แล้วเราทุกคนต้องการไฟฟ้าครับ เพราะฉะนั้นถ้าทางนั้นมันมีปัญหาก็ไม่ต้องเลือก มาเลือกทางหมุนเวียนที่ผลิตได้ กระบี่ใช้ หากตามด้วย ภูเก็ต พังงา สตูล ตรัง แล้วมันทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนครับ สร้างงานให้แรงงานท้องถิ่น มันไม่ได้ให้กับนายทุนไม่กี่ตระกูลที่อยู่ในอินโดนีเซียและประเทศไทย”

ขณะที่ อธิราษฎร์ ดำดี ชี้ว่าทุกฝ่ายควรศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าในแต่ละด้านอย่างชัดเจน พลังงานทดแทนมีสิทธิ์โตได้จริง ถ้าทุกฝ่ายเปิดใจ

“โอกาสของการผลิตพลังงานทดแทนขึ้นอยู่กับ หนึ่ง เปิดใจกว้างยอมรับข้อมูลที่มีการศึกษาอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพในแต่ละด้านเท่าไร สอง คือการหาแนวทางการมีแผนปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายอันนั้น ภาคพลังงานไม่ควรจะกลัวหรือกังวลว่าจะสนับสนุนพลังงานทดแทนแล้วจะทำให้ไฟฟ้าการผลิตสูงขึ้นไม่ได้ จังหวัดกระบี่มีพลังงานหมุนเวียนแต่ละด้าน ถ้าดูจากศักยภาพของวัตถุดิบที่ผมกล่าวจะเห็นว่ามีเยอะมาก มีได้หลากหลายมาก การทำพลังงานหมุนเวียนประเทศนี้อาจต้องใช้ลักษณะของการผสมผสานวัตถุดิบ เพราะเราอาจจะมองว่าพลังงานทดแทนบางตัวมีศักยภาพไม่สม่ำเสมอ ไม่แน่นอน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการจัดระบบของแหล่งผลิต และการตั้งขนาดโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าให้มีขนาดพอดีกับวัตถุดิบที่มี

“ภาครัฐ ภาคพลังงาน ต้องให้โอกาส ต้องเปิดวิสัยทัศน์ตัวเอง และต้องให้โอกาสกับท้องถิ่น กับ จ.กระบี่ ที่จะร่วมกันผลิตพลังงานเพื่อชาว จ.กระบี่ ซึ่งมีมากเกินพอ และสามารถผลิตแบ่งให้จังหวัดข้างเคียงได้ด้วย เพราะศักยภาพเรื่องวัตถุดิบมีปริมาณเยอะจริงๆ นอกจากนี้ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร พังงา แต่ละจังหวัดยังมีโครงสร้างทางการเกษตรคล้ายๆ กัน ก็สามารถร่วมกันช่วยผลิตพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนให้กับภาคใต้ได้อย่างดี”

ศุภกิจกล่าวว่า พลังงานหมุนเวียนถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ซึ่งน่าจะดีกว่าการนำเข้าทรัพยากรถ่านหินจากต่างประเทศในระยะยาว

“พลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่แค่เรื่องลดโลกร้อน มลพิษ แต่มันเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ การที่เราเอาน้ำเสียจากโรงงานปาล์มมาผลิตไฟฟ้าได้ มันมีมูลค่าเพิ่มเยอะมากเลยนะครับ เป็นพันๆ ล้านต่อปี แล้วยังมีกะลาปาล์มเปล่า ทะลายเปล่า ใบปาล์มอีก เท่าที่คำนวณมูลค่าเพิ่มจากการเอาของเสียมาผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน ทำได้อยู่แล้วประมาณ 700 ล้านบาท/ปี แต่ว่าศักยภาพที่กระบี่มี มันทำได้ถึงปีละ 5 พันล้านบาท ฉะนั้นมันเพิ่มมูลค่าได้จากการผลิตไฟฟ้า

“ผมก็คิดเทียบเป็นมูลค่าเพิ่ม (value added) ของผลผลิตปาล์มตกต่อกิโล ได้ประมาณ 1.2 บาท/กิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันราคาปาล์มเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้มันอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาท ถ้าเราทำพลังงานหมุนเวียนและหาทางศึกษา สร้างกลไกว่า 20% ของมูลค่าเพิ่มที่โรงงานปาล์มได้กำไร ต้องส่งผ่านไปที่ราคารับซื้อปาล์ม เราก็ไม่ต้องมาคิดเรื่องพยุงราคากันในระยะสั้น ถ้าทำข้อเสนอว่าจะทำพลังงานหมุนเวียนใน 3 ปี เราจะเพิ่มราคารับซื้อปาล์มได้เลย อย่างน้อย 30-50 สตางค์/ กิโลกรัม ทำได้เลย จากการที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนี่แหละ และสร้างกลไกให้โรงงานปาล์มส่งผ่านมูลค่าเพิ่มหรือกำไรบางส่วนไปให้เกษตรกร”

ภาครัฐ ภาคพลังงาน ต้องให้โอกาส ต้องเปิดวิสัยทัศน์ตัวเอง และต้องให้โอกาสกับท้องถิ่น

แม้ว่าวันนี้ยังไม่มีคำตอบจนกว่าจะมีการประชุมในวันที่ 17 ก.พ. ที่กำลังจะมาถึง

ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ก็ยังมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ซึ่งเห็นว่า จ.กระบี่ เคยมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะดำเนินการอีก

อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระยะยาวนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาไตร่ตรองกันอย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน เพราะ จ.กระบี่ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ถ้าหากสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือสุขภาวะของผู้อยู่อาศัย รวมทั้งนักท่องเที่ยวแล้ว ก็ยากจะเยียวยาแก้ไขได้ในไม่กี่ปี

แน่นอนว่าคงไม่ใช่ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเท่าไรนัก

อ้างอิง:

– สฤณี อาชวานันทกุล, ณัฐเมธี สัยเวช และสุณีย์ ม่วงเจริญ. 2559. มายาคติพลังงาน. บริษัท ป่าสาละ จำกัด สนับสนุนทุนจัดพิมพ์โดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย. เข้าถึงจาก: http://www.salforest.com/products-services/books/energy_myth

http://www.egat.co.th/addon/krabi/

http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1593&catid=49&Itemid=251

http://www.matichon.co.th/news/416527

http://www.ftawatch.org/node/48189
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/739096

http://www.greennewstv.com/อนุฯ-ไตรภาคี-เปิดผลศึก/

http://www.greennewstv.com/กระบี่จังหวัดพลังงานหม/

FACT BOX:

Tags: ,