ผลประชามติที่ชาวอังกฤษต้องการให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และการที่นักธุรกิจอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาได้ ทั้งนักวิชาการและสื่อมวลชนต่างเห็นพ้องกันว่า ทั้งสองเหตุการณ์นี้ส่อเค้าลางว่าโลกกำลังหันไปสู่นโยบายฝั่งขวา ความกลัวของประชาชนต่อภัยก่อการร้าย และการแย่งงาน นำไปสู่ความรู้สึกหวงแหนแผ่นดินของคนท้องถิ่น (Nativism) ซึ่งนำไปสู่กระแสชาตินิยม (Nationalism) ทั่วประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา

วิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นผลสืบเนื่องจากโลกาภิวัตน์ (Globalization) เปิดโอกาสให้นักการเมืองที่สนับสนุนนโยบายฝั่งขวาใช้โวหารประชานิยมที่พูดเอาใจคน จนกลับมาผงาดได้ในสนามเลือกตั้งในหลายประเทศ จนทำให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนากังวลว่า โลกกำลังเดินเข้าสู่หายนะหรือไม่ หากบรรดาประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มละทิ้งนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศอื่นๆ

วาทกรรมของนักการเมืองที่อาจนำไปสู่กระแสชาตินิยมเชิงลบ

การที่เราเห็นพรรคการเมืองและนโยบายฝั่งขวาที่ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ได้รับความนิยมมากขึ้นในชาวยุโรปและสหรัฐฯ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากเหล่านักการเมืองใช้วิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมมาสร้างวาทกรรม ทั้ง ‘Make America Great Again’ ของทรัมป์ หรือ วิกตอร์ ออร์บาน (Viktor Orbán) นายกรัฐมนตรีของฮังการี ที่มีแนวคิดต่อต้านการรับผู้อพยพที่พูดว่า “We can return to real democracy…What a wonderful world” (เราจะหวนกลับสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง โลกนี้ช่างสวยงาม) รวมทั้งสโลแกนหาเสียงของ มารีน เลอ แปน (Marien Le Pen) หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดของฝรั่งเศส ที่ประกาศว่า “No to Brussels, yes to France” (ปฏิเสธสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ และหันกลับมาที่ฝรั่งเศส) หรืออย่างคำพูดของ เทเรซา เมย์ (Theresa May) หลังเธอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน เดวิด คาเมรอน ว่า “If you believe you are a citizen of the world, you are a citizen of nowhere.” (หากคุณเชื่อว่าคุณเป็นพลเมืองของโลก นั่นหมายถึงคุณไม่ได้เป็นพลเมืองของที่ไหนเลย)

ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงวาทกรรมเหล่านี้ในงานเสวนา Populism ว่า “นักการเมืองที่ใช้วาทกรรมเหล่านี้เพื่อสร้างกระแสประชานิยม (Populism) ให้ตัวเอง แม้พวกเขาไม่ได้รับชัยชนะ แต่วาทกรรมเหล่านี้ได้มาเขย่าสังคมไปแล้ว อย่างตอนนี้ hate speech ก็ระบาดมากขึ้นในสหรัฐฯ เด็กผิวขาวล้อเลียนเด็กเอเชีย เด็กผิวสี และเด็กมุสลิมมากขึ้น ซึ่งมันไปทำลายวาทกรรมที่ถูกต้องที่คุณควรเคารพ อย่างเมื่อก่อนเราจะไปพูดเหยียดเพศ หรือด่าคนผิวสีไม่ได้ ใครหลุดจากวาทกรรมที่เป็นมาตรฐานเหล่านี้ก็จะโดนโจมตี แต่พอทรัมป์มา เขาแหกคอก ใครจะด่าก็ไม่สน”

ภาษาของนักการเมืองประชานิยมจะเป็นภาษาแห่งความโกรธเกลียด ชิงชัง ที่นักการเมืองเหล่านี้เอามาพูดแทนกลุ่มคนที่รู้สึกว่าพวกเขาถูกสังคมละเลยหรือเพิกเฉย (Marginalised) การปราศรัยของพวกเขาจึงเป็นลักษณะปลุกระดมกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลักให้เลือกพวกเขาในการเลือกตั้ง

วาทกรรมเหล่านี้นำไปสู่กระแสชาตินิยมที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งจริงอยู่ว่า แม้โลกจะก้าวมาสู่ยุคโลกาภิวัตน์ แต่ความเป็นชาตินิยมนั้นก็ยังมีอยู่ในทุกๆ สังคม

The Economist ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ความเป็นชาตินิยมลักษณะนี้อาจเปลี่ยนจากกระแสชาตินิยมเชิงบวกเป็นกระแสชาตินิยมเชิงลบได้ เพราะความสมานสามัคคีในสังคมเปลี่ยนเป็นความรู้สึก ‘ไม่ไว้ใจ’ คนที่แตกต่างจากตัวเอง

วิกฤตที่กลายเป็นโอกาสให้นโยบายฝั่งขวาจัดกลับมาอยู่ในการเมืองกระแสหลัก

แท้จริงแล้วการเมืองแบบประชานิยมนั้นสอดแทรกอยู่ในการเมืองมาทุกสมัย เพียงแต่สมัยก่อนนักการเมืองแบบประชานิยม (Populist) จะเป็นกระแสรอง อย่างในสหรัฐอเมริกานักการเมืองแบบประชานิยมจะได้คะแนนเพียง 1-2% ของที่นั่งทั้งหมด มีเพียงแค่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่จะเห็นกระแสนักการเมืองแบบประชานิยมชัด อย่างเบนิโต มุสโสลินี ของอิตาลี หรืออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ของเยอรมนี ที่นำไปสู่การกำเนิดลัทธิฟาสซิสต์

ผศ. ดร. ประจักษ์ ได้อธิบายว่า นักการเมืองแบบประชานิยมจะเข้ามาอยู่ในกระแสหลักก็ต่อเมื่อมันมีวิกฤตอย่างรุนแรงในสังคมนั้นๆ

“ถ้าดูประวัติศาสตร์อเมริกาจะเห็นว่า การเมืองแบบประชานิยมนั้นมีมาโดยตลอด แต่มันไม่เคยเป็นกระแสหลัก จนกระทั่งทรัมป์ หรือในยุโรปตอนนี้ที่การเมืองแบบประชานิยมมาพร้อมกับวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2007-2008 การเมืองในยุโรปตอนนี้จะพูดถึงแต่เรื่องการเมืองประชานิยมฝั่งขวา”

วิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรปนั้นมีสาเหตุหลักมาจากการอพยพเข้ามาของชาวต่างชาติที่ก่อให้เกิดวิกฤตทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ประชากรที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่ปัญหาพื้นฐานอย่างการแย่งงาน ส่วนทางด้านสังคมนั้นคนท้องถิ่นเริ่มรู้สึกว่าชาวต่างชาติเป็นภัยคุกคามทางอัตลักษณ์ ยิ่งพอมีปัญหาเรื่องการก่อการร้าย ก็ยิ่งทำให้คนยุโรปและคนสหรัฐฯ รู้สึกไม่ปลอดภัย      “คนยุโรปและคนสหรัฐฯ รู้สึกไม่ปลอดภัย พวกเขารู้สึกว่าประเทศไม่ใช่ของเราอีกต่อไป ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Diversity) แทนที่จะถูกยอมรับ กลับเริ่มรู้สึกเป็นภัยคุกคามต่อคนทั่วไป และแต่ละคนมีความอดทนต่อความหลากหลายแตกต่างกัน และพอมามีวิกฤตเศรษฐกิจอีกที่กระทบต่อการกินดีอยู่ดี  ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างคนผิวขาวดั้งเดิมกับผู้อพยพ นอกจากภัยคุกคามทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมาใช้เงินภาษีเราอีก ดังนั้นมันจึงแยกจากกันไม่ได้ในประเด็นภัยคุกคามทางอัตลักษณ์และเศรษฐกิจ”

The Economist ทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 19 ประเทศต่อกระแสโลกาภิวัตน์ หรือ Globalization (การเพิ่มขึ้นของการเคลื่อนย้ายสินค้า งาน วัฒนธรรม และผู้คนทั่วโลก) จะเห็นได้ว่า ชาวฝรั่งเศส สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย และเยอรมนี รวมถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีความรู้สึกไม่ดีต่อกระแสโลกาภิวัตน์มากกว่ากลุ่มประเทศเอเชียอย่างเห็นได้ชัด อย่างประเทศไทยเองที่ประชาชนเกินครึ่งรู้สึกว่ากระแสโลกาภิวัตน์เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งอาจารย์เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายในงานเสวนา Populism เช่นกันว่า

“ประเทศที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โตเร็ว เพราะมีเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างพวกประเทศกำลังพัฒนา จะสนับสนุน Globalization ในขณะที่ตอนนี้นักวิชาการในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ต่อต้านแนวคิดเสรีทางการค้าอย่าง TPP  (Trans-Pacific Partnership)”

จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่าในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาสนับสนุนกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ประเทศมหาอำนาจเป็นผู้ริเริ่ม ในวันนี้ประเทศมหาอำนาจกลับเริ่มรู้สึกไม่แน่ใจต่อแนวคิดนี้เสียเอง

โลกกำลังหันขวา แล้วเราต้องกลัวหรือไม่?

นโยบายขวาจัดที่กำลังเรืองรองในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้สร้างความกังวลใจให้กับชาติอื่นๆ ในโลก โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาว่า พวกเขาจะเจอกับหายนะทางสังคมและเศรษฐกิจ จากการที่ประเทศตะวันตกมีแนวโน้มจะหันหลังให้พวกเขาหรือไม่ ซึ่ง ผศ. ดร. ประจักษ์ให้ความเห็นว่า “มันมีจริงกระแสประชานิยมแบบขวาตอนนี้ ที่ชัดเจนผ่านเหตุการณ์ Brexit และทรัมป์ และการที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาในยุโรปได้ที่นั่งมากขึ้นเรื่อยๆ ในสภา แต่ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่อยู่ไปตลอดกาลถาวร”

โวหารแบบประชานิยมนั้นมักจะเสนอว่าตัวเองเป็นคนนอก (outsider) และเป็นผู้ท้าทายระบบการเมืองที่เป็นอยู่ แต่เมื่อถูกเลือกเข้าไปดำรงตำแหน่งแล้ว พวกเขาจะกลายเป็นคนในระบบ (insider)

“การเมืองแบบนี้จะทำลายตัวเองในระยะยาว เพราะจากที่คุณเป็นคนนอก ตัวแทนประชาชน พอคุณชนะการเลือกตั้ง คุณจะกลายเป็นชนชั้นนำ (elite) ซึ่งคือคนที่คุณเคยโจมตีมาตลอดซะเอง ดังนั้นพอคุณได้อำนาจ ชุดภาษาคุณมันจะไม่ทรงพลังเหมือนเดิม ให้รอดูทรัมป์ตอนเป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาก็จะไม่สามารถดำรงลักษณะทรัมป์แบบตอนที่เขาเป็นช่วงหาเสียงได้ ก็ต้องรอดูกันต่อไป แต่ประสบการณ์การเมืองยุโรปมันบอกแบบนี้ว่า พอคุณเข้าสู่อำนาจ เป็นชนชั้นนำเองแล้วเนี่ย คุณเปลี่ยนแล้ว คุณจะต้องละทิ้งชุดภาษาแบบประชานิยม เพราะหากคุณยังรักษา มันจะเริ่มขัดแย้งกับตัวคุณไปเรื่อยๆ”

ซึ่งก็เห็นได้จากนโยบายสุดโต่งของทรัมป์ที่ดูจะแผ่วลงไป เมื่อเขาได้รับชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกำแพงระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก หรือการยกเลิกสิทธิพลเมืองของชาวต่างชาติทั้งหมดในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขข้างบนจะสะท้อนว่า ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มจะสนับสนุนโลกาภิวัตน์มากกว่าประเทศยุโรปในตอนนี้ แต่เมื่อลงไปดูรายละเอียดว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อนโยบายเสรีทางการค้า และการเปิดรับผู้อพยพ ตัวเลขกลับสะท้อนว่า ประเทศที่สนับสนุนโลกาภิวัตน์ อย่างประเทศกำลังพัฒนา ก็ไม่ได้สนับสนุนนโยบายแบบเสรีนิยมเสมอไป

อย่างเช่น คนไทยกว่า 47.6% เห็นว่าการมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศนั้นจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศที่กำลังเจอกับวิกฤตผู้อพยพอย่างฝรั่งเศส ที่กว่า 45.1% เห็นว่าการรับชาวต่าวชาติเข้ามาในประเทศจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีเช่นกัน

หรืออย่างความคิดเห็นต่อนโยบายเสรีทางการค้า ตัวเลขก็สะท้อนว่า ประเทศที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนนโยบายฝั่งขวามากขึ้นอย่างออสเตรเลีย ประชาชนเกินครึ่งก็ยังคิดว่า ประเทศยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอยู่ ขณะที่ประเทศไทยประชากรกว่า 59.3% คิดว่าประเทศควรผลิตสินค้าที่จำเป็นโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า เช่นเดียวกับประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย

และตัวเลขที่น่าสนใจมากคือ เมื่อประชากรใน 19 ประเทศนี้ถูกถามว่า ‘คุณคิดว่า Globalization นั้นให้ประโยชน์กับคนรวยมากกว่าคนทั่วไปหรือไม่’ ทุกประเทศมีความเห็นไปในทางเดียวกันหมดว่า คนรวยได้ประโยชน์จาก Globalization มากกว่าคนทั่วไป

สถิติเหล่านี้อาจสะท้อนว่า เราไม่อาจชี้ชัดได้ตายตัวว่า โลกกำลังหันขวาหรือซ้าย เพราะไม่ว่านโยบายแบบเสรีนิยมหรือนโยบายแบบขวาจัดต่างก็มีข้อบกพร่องที่ประชาชนยังคงต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้อยู่

ดูเหมือนว่าอนาคตที่คาดเดาไม่ได้จะกลายเป็นความท้าทายใหญ่ของคนในยุคศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

อ้างอิง:
    – http://www.economist.com/blogs/graphicdetail/2016/11/daily-chart-12
 – http://www.economist.com/news/international/21710276-all-around-world-nationalists-are-gaining-ground-why-league-nationalists