สำหรับใครที่ทำงานอยู่ในวงการแฟชั่นหรือมีความชอบในแฟชั่น อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน (Alexander McQueen) คือชื่อหนึ่งที่ทุกคนจะเห็นด้วยว่า เขาคืออีกหนึ่งบุคคลที่ปฏิวัติและขยายขอบเขตของวงการแฟชั่นในด้านความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
เขาคือดีไซเนอร์ที่สร้างเส้นทางของตัวเองอย่างชัดเจน แม้ทุกวันนี้เขาจะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว แต่ดีไซเนอร์หลายคนยังคงได้แรงบันดาลใจจากผลงานของแม็กควีนอยู่เสมอ ในวาระเดือนเกิดของดีไซเนอร์ชาวอังกฤษคนนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะยกย่องและทำให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าหลายอย่างที่ เดมนา กวาซาเลีย (Demna Gvasalia) แห่ง Vetements หรือ อเลสซานโดร มิเคเล (Alessandro Michele) ที่ Gucci ทำกัน และเราต่างชื่นชมนักหนาต่างก็ได้รับอิทธิพลจากแม็กควีนไม่มากก็น้อย
ลี อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ปี 1969 ณ ย่านเลวิแชม ลอนดอน ประเทศอังกฤษ คุณพ่อเป็นคนขับรถแท็กซี่และคุณแม่เป็นอาจารย์ แม็กควีนมีพี่น้องทั้งหมดหกคนโดยตัวเองเป็นลูกคนสุดท้อง ในวัยเรียน แม็กควีนถือได้ว่าเป็นเด็กที่เป็นตัวของตัวเองสูง มีความแซ่บซน และโดดเด่นด้านศิลปะเป็นอย่างมาก พออายุ 16 ปี แม็กควีนก็ตัดสินใจออกจากโรงเรียนและไปฝึกงานที่ย่านตัดสูทอันดับหนึ่งของอังกฤษอย่างซาวิลโรว์ (Savile Row) ที่ห้องเสื้อ ทั้ง Anderson & Sheppard และ Gieves & Hawkes ที่แม็กควีนเคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า เขาเคยตัดชุดสูทให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และปักคำหยาบเข้าไปในซับใน หลังจากนั้นเขาก็ได้ไปฝึกงานกับห้องเสื้อ Angels and Bermans ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้ก็ถือได้ว่าช่วยหล่อหลอมทักษะของแม็กควีนในการเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าที่เขาได้รับการยกย่องมาโดยตลอด
จุดเปลี่ยนของแม็กควีนเกิดขึ้นหลังจากเขาศึกษาในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลเซนต์มาร์ตินส์ ในสาขาแฟชั่นดีไซน์ บางคนอาจไม่รู้ว่าตอนแรกที่แม็กควีนตัดสินใจเรียนเพราะอยากทำงานด้านคัตติ้ง แต่หัวหน้าคอร์สสอนแฟชั่น บ็อบบี ฮิลล์สัน (Bobby Hillson) กลับมองเห็นอะไรบางอย่างในตัวแม็กควีนและหยิบยื่นโอกาสให้เขาได้เรียนทันที
พอแม็กควีนได้แสดงผลงานคอลเล็กชันจบในปี 1992 บรรณาธิการแฟชั่นชื่อดังในยุคนั้นอย่าง อิซาเบลลา โบลว์ (Isabella Blow) ที่มาดูโชว์ก็ตัดสินใจซื้อทั้งคอลเล็กชันของแม็กควีนด้วยราคา 5,000 ปอนด์ (แม้เธอจะผ่อนชำระเป็นงวดๆ) และได้กลายเป็นคนที่ช่วยผลักดันแม็กควีนให้เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่น ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ในฐานะมิวส์ของกันและกัน (ถึงแม้จะมีช่วงแตกหัก เพราะทั้งคู่มีอารมณ์ฉุนเฉียว) ก็ถือได้ว่าต้องถูกจารึกในวงการแฟชั่นเลยทีเดียว
พอเรียนจบแม็กควีนก็เริ่มทำแบรนด์ของตัวเองทันที โดยใช้ชื่อว่า Alexander McQueen แทนชื่อ Lee McQueen เพราะอิซาเบลลา โบลว์ บอกว่าชื่อกลางดูแพงกว่า ในแต่ละซีซัน โชว์ของเขาจะเป็นที่กล่าวขานของวงการแฟชั่น ในความนอกคอก และรุนแรง เพราะใช้คอนเซปต์ที่ได้แรงบันดาลใจ ตั้งแต่ โจน ออฟ อาร์ก จนถึงหญิงขายบริการ
สิ่งที่เราจะได้เห็นมีทั้งกางเกง bumster ที่ตัดมาให้เห็นแก้มก้น การใช้สีแดงให้ดูเสมือนเลือด หรือเสื้อผ้าฉีกขาดเหมือนถูกทารุณกรรม แต่ไม่ว่าแม็กควีนจะโดนนักวิจารณ์เขียนด่าขนาดไหน เขาก็ไม่เคยแคร์และเดินหน้าต่อไปในทางที่เขาเชื่อมั่นและอยากดีไซน์
ในปี 1996 บริษัท LVMH (เจ้าของ Louis Vuitton, Kenzo และ Céline) ได้ตัดสินใจจ้างแม็กควีนให้เป็นดีไซเนอร์คนใหม่ของห้องเสื้อ Givenchy ต่อจาก จอห์น กัลลิอาโน (John Galliano) ซึ่งก็สร้างกระแสทันทีหลังจากแม็กควีนต่อว่าผลงานกูตูร์คอลเล็กชันแรกของตัวเองว่า “ห่วยแตก” แต่ในขณะเดียวกันปี 1996 ก็เป็นปีแรกที่แม็กควีนชนะรางวัลดีไซเนอร์ยอดเยี่ยมของเวที British Fashion Awards และชนะอีกสามครั้งในปี 1997, 2001 และ 2003
เข้าสหัสวรรษใหม่ในปี 2000 แม็กควีนก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งหลังตัดสินใจขายหุ้น 51% ของแบรนด์ตัวเองให้กับเครือ Gucci Group (ทุกวันนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Kering Group) ด้วยการผลักดันของ ทอม ฟอร์ด (Tom Ford) ที่ตอนนั้นเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้กับ Gucci ในสัญญาแม็กควีนยังคงได้อิสระเต็มที่ในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทางกลุ่ม Gucci ยังช่วยเพิ่มทุนเปิดร้านทั่วโลกให้ พูดได้ว่าเป็นช่วงขาขึ้นของแม็กควีนก็ว่าได้ ซึ่งต่อมาในปี 2006 แม็กควีนก็ได้ตัดสินใจเปิดไลน์เสื้อผ้าชื่อ McQ ที่ราคาย่อมเยาลงและประสบความสำเร็จสุดๆ กับลายหัวกะโหลกที่คนไทยหลายคนนิยมซื้อกันในเวอร์ชันของผ้าพันคอ
แม็กควีนเองได้รังสรรค์แฟชั่นโชว์ที่น่าจดจำไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นคือการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานในโชว์ที่ตระการตาและผลักดันความฝันให้คนคิดไปให้ไกลขึ้น เราจะเห็นได้จากการใช้โฮโลแกรม ของนางแบบ เคต มอสส์ (Kate Moss) ในคอลเล็กชัน Fall 2006 ที่ใช้ชื่อว่า Widows of Culloden
ส่วนอีกหนึ่งโชว์ที่กลายเป็นโชว์สุดท้ายที่เราจะได้เห็นแม็กควีนบนรันเวย์ คือคอลเล็กชัน Spring 2010 ที่ใช้ชื่อว่า Plato’s Atlantis ที่มีกล้องหุ่นยนต์สองตัวดัง Transformer มาถ่ายไลฟ์สตรีมอยู่บนเวที ซึ่งโชว์ก็จบด้วยเพลง Bad Romance ของ Lady Gaga ที่ถูกปล่อยเป็นครั้งแรก เราจะได้เห็นว่าแม็กควีนไม่ได้เป็นแค่ดีไซเนอร์ แต่ยังเป็นนักคิดสร้างสรรค์ตัวจริงที่คิดทุกอย่างแบบ 360 องศา และต้องการให้ทุกโชว์สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับโลกแฟชั่นก็ว่าได้
ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปี 2010 ทั้งโลกต่างช็อกกับข่าวแม็กควีนฆ่าตัวตายในคอนโดมิเนียมของตัวเองในลอนดอนด้วยวัยเพียง 40 ปี การสูญเสียในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่กับวงการแฟชั่น แต่ยังรวมถึงวงการศิลปะ แม้เราจะไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง แต่แม่ของแม็กควีน จอยซ์ แม็กควีน (Joyce McQueen) ก็เพิ่งเสียจากโรคมะเร็งเพียง 9 วันก่อนที่แม็กควีนจะตาย และหลายคนก็ได้ออกมาพูดว่าการที่ อิซาเบลลา โบลว์ ได้ฆ่าตัวตายเมื่อปี 2007 ก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจแม็กควีนตั้งแต่นั้นมา ภายหลังมือขวาของแม็กควีน ซาราห์ เบอร์ตัน (Sarah Burton) ก็ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ Alexander McQueen จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็ได้รับคำชื่นชมมาโดยตลอด
สิ่งวิเศษอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวงการแฟชั่นคือ เมื่อดาวเด่นคนไหนจากไป เราก็ยังคงมีโอกาสได้ยกย่องพวกเขาอยู่เสมอผ่านผลงานและเสื้อผ้าที่ไม่ได้ตายจากเรา ในปี 2011 พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ในนิวยอร์ก ได้จัดนิทรรศการ Savage Beauty ที่รวบรวมผลงานต่างๆ ของแม็กควีน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย และต่อมาโชว์นี้ก็ได้ย้ายไปแสดงที่ลอนดอนในปี 2015 ณ พิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต
ส่วนหลายสำนักพิมพ์ก็ต่างผลิตหนังสือเกี่ยวกับผลงานและชีวิตของแม็กควีนออกมามากมายทุกปี ล่าสุดก็มีการประกาศออกมาเรียบร้อยแล้วว่าจะมีหนังชีวประวัติออกมาเกี่ยวกับแม็กควีนที่กำกับโดย แอนดรูว์ เฮจ (Andrew Haigh) และ แจ็ก โอคอนเนลล์ (Jack O’Connell) รับบทนำ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าคนยังสนใจในตัวแม็กควีนอยู่ และคนรุ่นต่อๆ ไปก็ยังคงมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับเขา
เส้นทางการเป็นดีไซเนอร์ของแม็กควีนถือว่าไม่ได้สวยหรู โรยด้วยกลีบกุหลาบ และดื่มแต่แชมเปญไปวันๆ แต่เขาทำให้เห็นว่าลูกของคนขับรถแท็กซี่ก็สามารถสร้างตัวเองขึ้นมาได้ หากเราเชื่อในสิ่งที่เราทำและเป็นตัวของตัวเอง ในวันนี้ที่แม็กควีนไม่ได้อยู่กับเราแล้ว หลายคนสงสัยว่าเขาจะเป็นอย่างไรหากต้องเผชิญกับสถานการณ์ในวงการแฟชั่นทุกวันนี้ที่ไปเร็วมาก แต่เอาเข้าจริงแม็กควีนคงไม่ได้กลัวอะไร เพราะเขาเดินนำพวกเราไปนานแล้ว
นี่แหละคือ anti-hero ตัวจริงของวงการแฟชั่น
Tags: design, Fashion