“แม้จะผ่านมากว่า 3 เดือน หลังจากมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาเป็นครั้งแรก ปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยใหม่หรือกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงที่มารับการตรวจในคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ของโรงพยาบาลจำนวนมากพอสมควร” นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวและว่า โรงพยาบาลจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจี ในการสร้างห้องตรวจที่มีประสิทธิภาพแห่งนี้ ซึ่งสามารถรองรับจำนวนผู้ที่เข้ามาตรวจคัดกรองได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ถูกแยกออกจากตัวอาคารโรงพยาบาล จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อให้กับทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งยังสร้างความปลอดภัยกับผู้ป่วยอื่นๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

ด้าน นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการมูลนิธิเอสซีจี และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า ด้วยความห่วงใยในการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นด่านหน้าในการต่อสู้และยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ เอสซีจี จึงได้เร่งออกแบบประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของ SCG HEIM และ Living Solution พัฒนามาเป็นห้องคัดกรองและตรวจผู้เสี่ยงติดโควิด-19 โดยใช้เวลาติดตั้งเพียง 2 วัน เพื่อส่งมอบให้ทีมแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลราชวิถี ให้สามารถรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้อย่างทันท่วงที และช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล 

ขณะที่นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Living Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวเสริมว่า หลังจากที่ทีมงานได้ศึกษาความต้องการและสังเกตการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาล ที่โรงพยาบาล  ทำให้สามารถพัฒนาห้องคัดกรองและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง ที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด กล่าวคือ นอกจากโครงสร้างกว่าร้อยละ 70-80 จะถูกประกอบขึ้นรูปภายในโรงงาน ที่มีการควบคุมคุณภาพและความสะอาดตลอดกระบวนการผลิตแล้ว ภายในห้องยังถูกออกแบบให้มีระบบและความดันที่เหมาะสม โดยทีมแพทย์จะอยู่ในห้องที่ไม่มีอากาศเสียจากภายนอกเข้าไป อากาศภายในจึงบริสุทธิ์ปลอดภัย ส่วนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจะอยู่ในห้องที่ป้องกันไม่ให้มีอากาศฟุ้งกระจายออกไปภายนอก เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์ นอกจากนี้ มูลนิธิเอสซีจี ยังส่งมอบห้องน้ำสำเร็จรูป (Modular Bathroom) ให้โรงพยาบาลราชวิถีจำนวน 12 ห้อง โดยโครงสร้างผลิตจากคอนกรีตเบาแบบเบ็ดเสร็จพร้อมใช้งานจากโรงงาน ทำความสะอาดฆ่าเชื้อง่ายจึงช่วยสร้างสุขอนามัยที่ดี โดยจัดวางแยกพื้นที่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจคัดกรองอีกด้วย 

ห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง (Modular Screening & Swab Unit) ภายในห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง มีระบบที่ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่

  • ระบบการป้องกันอากาศรั่วไหล (Air tightness) ที่ช่วยป้องกันฝุ่น เสียง และอากาศ เข้า-ออกตัวอาคาร ทำให้ในตัวอาคารสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เป็นอย่างดี 
  • ระบบ Smart Indoor Air Quality (IAQ Smart) โดย Living Solution ของเอสซีจี ซึ่งมีระบบควบคุมแรงดันและการหมุนเวียนของอากาศที่สะอาด ปลอดภัย 

ห้องตรวจและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยง แบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อย คือ 

1) ห้องคัดกรอง (Modular Screening Unit) จะแบ่งพื้นที่ของแพทย์ พยาบาลที่ทำหน้าที่ตรวจคัดกรอง ออกจากพื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

  • บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายใน Modular Unit (พื้นที่สีฟ้า) ที่ปิดสนิท มีประตูเข้าออก 2 ชั้น เพื่อป้องกันอากาศรั่วไหล และพูดคุยซักประวัติของผู้ที่มีความเสี่ยงผ่านกระจกที่มีอุปกรณ์สื่อสาร (Intercom) และภายในห้องคัดกรอง จะถูกปรับความดันอากาศให้เป็นความดันบวก (Positive pressure) ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดแรงดันอากาศภายในห้องที่ผลักอากาศเสียออก และเพิ่ม Bio-polar Ion เพื่อจับเข้ากับโมเลกุลของเชื้อไวรัสที่อาจหลุดรอดเข้ามา จึงช่วยเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรทางแพทย์
  • พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจจะเป็นพื้นที่โล่ง (พื้นที่สีส้ม) มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้เกิดการระบายอากาศ และลดโอกาสการติดเชื้อ

2) ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) ในขั้นตอนนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากขณะที่ตรวจ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้ออาจจะไอหรือจามทำให้เชื้อไวรัสฟุ้งกระจายออกมา ดังนั้น การออกแบบห้องตรวจจึงจำเป็นต้องมีความรัดกุม 

  • บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายในห้องตรวจหาเชื้อ (พื้นที่สีฟ้า) จะถูกปรับความดันอากาศให้เป็นความดันบวก (Positive pressure) ซึ่งเป็นการสร้างให้เกิดแรงดันอากาศภายในห้องที่ผลักอากาศเสียออก และเพิ่ม Bio-polar Ion เพื่อจับเข้ากับโมเลกุลของเชื้อไวรัสที่อาจหลุดรอดเข้ามา
  • พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจ (พื้นที่สีส้ม) จะถูกแยกออกมาและปรับความดันอากาศให้เป็นกึ่งลบ (Semi-Negative Pressure) หรือความดันลบ (Negative Pressure) เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัส พร้อมเพิ่มการใช้แสงยูวีที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษเพื่อฆ่าและทำลายเชื้อโรคต่างๆ (UV Germicide) ทุกครั้งหลังการใช้งานห้อง 
  • การดำเนินการเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิกที่เจาะเป็นช่อง โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติกเพื่อทำการเก็บตัวอย่างให้กับผู้ที่เข้ารับการตรวจ เพื่อลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนจากผู้ที่เข้ารับการตรวจ ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการทั้งหมดจะแยกเป็นส่วนย่อยๆ (Cell) เพื่อให้สามารถแยกปิดได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีการรั่วระหว่างห้องบุคลากรทางการแพทย์กับห้องผู้เข้ารับการตรวจอีกด้วย
  • ห้องปฏิบัติการทั้งหมด จะแยกเป็น Cell ย่อย เพื่อให้สามารถแยกปิดได้กรณีฉุกเฉิน (เกิดการรั่วระหว่างห้องบุคลากรทางการแพทย์กับห้องผู้เข้ารับการตรวจ)
  • จำนวนและขนาดห้องสามารถปรับได้ เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้ารับการคัดกรองและตรวจ และพื้นที่จัดวาง Modular Unit
Tags: , ,