การประท้วงสมัยใหม่เต็มไปด้วยมีม (meme)
ไม่ต้องมองไปไหนไกล – มองเฉพาะม็อบปลดแอกในไทยก็ได้ ผู้ชุมนุมทั้งออฟไลน์และออนไลน์มีความเชี่ยวชาญในการสร้างมีมสูงอย่างที่นักการตลาดต้องทึ่ง ตั้งแต่ชื่อขบวนการก่อนหน้าอย่าง #บดินทรไม่อินเผด็จการ หรือ #หอวังจะพังเผด็จการ ที่มีความเป็นมีมอยู่ในตัวตรงที่สถาบันอื่นๆ จะหยิบไปปรับเปลี่ยนแปรรูป ‘ทำให้เป็นของตนเอง’ ได้ง่าย ไปจนถึงการหยิบสัญลักษณ์ของป็อปคัลเจอร์มาใช้ เช่น ฉากเปิดวาร์ปจากภาพยนตร์ Avengers หรือฉากเสกคาถาหมุดคณะราษฎรจาก Doctor Strange หรือการนำสิ่งที่เป็นสัญญะของฝ่ายตรงข้ามมายั่วล้อเช่น กรอบทองคำลายไทยที่เอามาใส่รูปอาจารย์ปวิน ชัชชวาลพงศ์พันธ์ หรืออาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล การหยิบวลี ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ มาเพิ่มชั้นความหมาย หรือการรีมิกซ์เพลงข่าวในพระราชสำนักให้เป็นสามช่า หรือเพลงรถบั๊มป์
มีมกับม็อบในสมัยนี้มีความขนานกัน ตรงที่ทั้งสองต่างไร้แกนนำ เผยแพร่อย่างออร์แกนิก ซึ่งนั่นทำให้มันสามารถหลบเลี่ยงการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ได้อย่างร้ายกาจ ไม่ต่างจากที่ขบวนประท้วงในฮ่องกงเคยทำเพื่อต่อกรกับการเซ็นเซอร์ เมื่อคำคำหนึ่งถูกตรวจตรา เขาก็เลี่ยงที่จะไปพูดถึงคำอื่นแทน อย่างเช่น 發夢 Faht Moong ที่แปลว่าฝัน ก็ถูกเอามาใช้ในประโยคอย่าง “ฉันฝันว่าเมื่อคืนฉันลงถนน และได้ไปงัดข้อกับตำรวจ” เพื่อสื่อความหมายว่าเมื่อคืนไปประท้วงมาจริง เมื่อโพสต์ลงโซเชียลว่า “ฝัน” ก็ไม่อาจเอาผิดได้อย่างตรงไปตรงมานัก หรือที่ไทยเรียกสายลับ (ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนเข้าฝั่งไหน) ว่า ‘นาตาชา’ ฝั่งผู้ประท้วงฮ่องกงก็มีคำเรียกสายลับฝั่งตำรวจที่แฝงตัวเข้ามาว่าเป็น ‘ผี’
มีมมีความแข็งแกร่งตรงที่มันคือการเข้ารหัสไอเดียผ่านการหยิบยืมสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาใช้ ไม่มีใครเป็น ‘เจ้าข้าวเจ้าของ’ มีมอย่างแท้จริง กระทั่งคนที่เป็นผู้เริ่มต้นมีมก็รู้เต็มอกว่า เมื่อปล่อยมีมลงอินเทอร์เน็ตแล้ว สิ่งสิ่งนั้นจะไม่ใช่สิ่งของเราอีกต่อไป หากมันจะเป็นสมบัติของสาธารณะที่ใครจะมาหยิบ ปรับ ตบ แต่ง รีมิกซ์ เอาไปใช้ในความหมายที่เดิมทีเราไม่ต้องการ อย่างไรก็ได้ ความอยู่รอดของมีมคือหลักฐานเดียวที่บอกเราได้ว่าไอเดียภายใต้มีมนั้นแข็งแรงหรือไม่
นอกจากไอเดียตั้งต้นการประท้วงจะมีลักษณะเหมือนมีมแล้ว ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าแทคติกในการประท้วง ทั้งวิธีการส่งสัญญะ ไปจนถึงการต่อกรกับขั้วอำนาจ ก็มีลักษณะเป็นมีมเช่นกัน และเป็นมีมที่ไม่จำกัดอยู่ในวงแคบๆ เท่านั้น แต่กลับสามารถโอนถ่ายความคิดข้ามทวีปกันได้เลยทีเดียว
…..
บทความ Why Protest Tactics Spread Like Meme ใน New York Times ตั้งข้อสังเกตว่าในการประท้วงปี 2019 ในฮ่องกง กลุ่มผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยต่อกรกับระเบิดควันด้วยการใช้โคนจราจรสีส้มครอบมันไว้ เพื่อไม่ให้ควันฟุ้งออกมา ต่อมาอีกเก้าเดือน ในการประท้วง Black Lives Matter ในมินเนียโพลิส ก็พบว่าผู้ประท้วงใช้แทคติกเดียวกัน เพื่อต่อกรกับอุปสรรคอย่างเดียวกัน เช่นเดียวกับการใช้เครื่องเป่าใบไม้เพื่อสลายแก๊สน้ำตา ใช้ไม้ตีเทนนิสเพื่อตบระเบิดควันกลับไป ใช้เลเซอร์ยิงแสงสู่กล้องให้จับภาพไม่ได้ หรือใช้ร่มเพื่อกันน้ำ กันแก๊ส หรือการใช้แฟลชมือถือชูขึ้นพร้อมกันเพื่อแสดงจุดยืนร่วม
Katharin Tai นักศึกษาปริญญาเอกรัฐศาสตร์จาก MIT ตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งปันข้อมูลระหว่างม็อบในฮ่องกงและสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก
แบบแรกคือการแบ่งปันแทคติกจากกลุ่มผู้ประท้วงต่อกลุ่มผู้ประท้วง ด้วยความที่การประท้วงไม่มีลำดับชั้น ดังนั้นการแบ่งปันประเภทนี้อาจไม่จำเป็นต้องถูกจัดการจาก ‘ข้างบน’ เสมอไป ส่วนแบบที่สองคือการแบ่งปันจากคนหนึ่งๆ สู่โลกกว้าง เช่นการทำอินโฟกราฟิกขึ้นมาเพื่อสอนว่าหน้ากากกันแก๊สแบบใดดีที่สุด
Mark Bray ผู้จัดการประท้วง Occupy Wallstreet บอกว่าถึงแม้กลยุทธ์และยุทธวิธีการประท้วงจะมีมานานแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียมีพลังในการขับเคลื่อนให้คนพบยุทธวิธีใหม่ๆ มากขึ้นจริงเพราะมัน “ย่นระยะระหว่างขบวนการขับเคลื่อนหนึ่งสู่อีกขบวนการจากมุมโลกให้ใกล้กันมากขึ้น”
กล้า สมุทวณิช เคยตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับการประท้วงในไทยคล้ายกับว่าฝ่ายอำนาจนิยมกำลังเล่นเกมหมากรุกอยู่ หมากแต่ละตัวมีลำดับชั้นชัดเจนตั้งแต่เบี้ยไปจนไนท์และคิง ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยกำลังเล่นเกมโกะ ที่หมากแต่ละตัวมีศักดิ์เสมอกัน กลยุทธ์เกิดจากรูปแบบการวางหมากโดยรวม ไม่ได้ขึ้นกับการตายของหมากตัวใดตัวหนึ่ง
ในระนาบเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะไปกันได้ดีกับโซเชียลมีเดียและมีม ในขณะที่ฝ่ายอำนาจนิยม ยังคงหลงอยู่กับการบริหารตามลำดับชั้นที่ถึงจะมีความพยายามในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อต่อกรขบวนการบนถนน แต่ก็เป็นไปได้อย่างอิหลักอิเหลื่อ อย่างที่เราอาจเคยผ่านตากันมาบ้างว่า มีความพยายามในการปั่นแฮชแท็ก แต่ก็เป็นการก็อปปี้ข้อความซ้ำๆ ต่อๆ กันไปเรื่อยๆ โดยไม่ใส่ความคิดของตัวเองลงไป ไม่มีความเป็นมีม แต่เป็นการสื่อสารจากบนลงล่างแบบทหาร
เมื่อดำเนินเกมคนละเกมกัน จึงน่าติดตามต่อไปว่า ในโลกที่มีความเป็นมีมมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ที่ทางของอำนาจควรจะถูกวางไว้ ณ จุดไหนกันแน่ การปฏิรูปไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงเปลือกนอก เพราะหากไอเดียข้างใต้ไม่แข็งแรง ไม่มีโอกาสในการอยู่รอดมากพอ มีมนั้นก็จะสูญสลายไปได้อย่างง่ายดาย
Tags: ม็อบ, มีม