สัปดาห์ที่ผ่านมา, หลังจากที่พยาบาลใส่สายสวนปัสสาวะให้คุณปู่ อาการปวดท้องน้อยจากโรคปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันก็ทุเลาลงอย่างเห็นได้ชัด ใบหน้าเหยเกกลับมายิ้มได้แล้ว ทว่าปัสสาวะที่ไหลออกมาตามสายสวนลงมาอยู่ในถุงที่ห้อยข้างเตียงนั้นกลับเป็นสีน้ำเงินเข้มเหมือนสีของน้ำบลูฮาวายหรือสีน้ำคั้นดอกอัญชันอย่างไรอย่างนั้น จำได้ว่าครั้งแรกผมประหลาดใจมากว่าโรคอะไรทำให้ปัสสาวะของคนไข้เป็นสีนี้ เพราะเป็นสีที่อยู่นอกเหนือตำรา

แต่เมื่อถามคนไข้ไม่ว่าจะกี่ครั้งที่เห็นปัสสาวะเช่นนี้ก็จะได้คำตอบในทำนองเดียวกันว่า “กินยาขับปัสสาวะ” หรือไม่ก็ “กินยาล้างไต” มา

สรรพคุณของยาชวนให้ผมประหลาดใจให้ผมยิ่งกว่าสีของปัสสาวะ เพราะในบรรดายาขับปัสสาวะที่เคยสั่งจ่ายไม่มียาตัวใดทำให้สีปัสสาวะเปลี่ยนไปเช่นนี้ อาจแค่สีของปัสสาวะใสขึ้นจากปริมาณน้ำมากที่ถูกขับออกมาเจือจางเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นยาล้างไตก็ไม่เคยมีให้สั่งจ่ายเลยด้วยซ้ำ ถ้าจะมีก็ต้องล้างไตผ่านทางหลอดเลือดต่อเข้ากับเครื่องล้างไต หรือทางหน้าท้องต่อกับถุงน้ำยาล้างไตในโรคไตวายระยะสุดท้ายเท่านั้น

มีอยู่หนหนึ่งที่คนไข้เอายาที่ว่ามาด้วย ผมเลยขออนุญาตจับมือกับยาในตำนานนี้เสียหน่อย เป็นยาเม็ดสีแดงเลือดหมู รูปร่างกลมหรือสามเหลี่ยมขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตบรรจุในขวดแก้ว ฉลากข้างขวดระบุสรรพคุณและข้อบ่งชี้ไว้ว่า “ช่วยขับปัสสาวะและบรรเทาอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ” และ “ใช้บรรเทาอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ และหลอดปัสสาวะอักเสบ” ตามลำดับ ที่สำคัญคือวงเล็บปิดท้าย

“(โปรดสังเกตปัสสาวะของท่านจะเปลี่ยนสี)”

ทำให้คนที่กินเข้าไปเข้าใจว่ายาออกฤทธิ์ล้างไตและขับเอาของเสียออกจากร่างกาย จึงต้องหาซื้อจากร้านขายของชำหรือร้านขายยามากินเวลามีอาการเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขัด หรือปัสสาวะไม่ออก ทั้งที่สาเหตุที่ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินคือ เมทิลีนบลู (Methylene blue) ที่ผสมอยู่ในเม็ดยาสีแดงเลือดหมูเม็ดนั้นต่างหาก ซึ่งบริษัทผู้ผลิตยาก็ระบุไว้บนฉลาก ไม่ได้มีการปกปิดแต่ประการใด

สาเหตุที่ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินคือ เมทิลีนบลู (Methylene blue) ที่ผสมอยู่ในเม็ดยาสีแดงเลือดหมูเม็ดนั้นต่างหาก

สำหรับคนทั่วไปอาจไม่เคยได้ยินชื่อสารชนิดนี้มาก่อน แต่สำหรับนิสิตนักศึกษาแพทย์ปี 4-6 จะรู้จักมักคุ้นกับสารชนิดนี้เป็นอย่างดี เพราะใช้ในการย้อมสีเสมหะเพื่อตรวจหาเชื้อวัณโรค (Acid-fast stain) เป็นประจำบนหอผู้ป่วยอายุรกรรม ซึ่งเมื่อส่องแผ่นสไลด์ผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเห็นเชื้อเป็นแท่งสีแดงบนพื้นเสมหะสีน้ำเงินของเมทิลีนบลู นอกจากนี้ในห้องผ่าตัด หมอผ่าตัดมะเร็งเต้านมก็อาจใช้เมทิลีนบลูฉีดย้อมต่อมน้ำเหลืองแรกที่รับการเทน้ำเหลืองมาจากเต้านม (Sentinel lymph node) เพื่อตัดเอาไปตรวจการแพร่กระจายของมะเร็ง ดังนั้นแทนที่เมื่อกินยาที่ว่านี้เข้าไปเพื่อล้างไต กลับกลายเป็นว่าไตต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อขับเอาสีย้อมนี้ออกมาจากร่างกายด้วย

ทั้งนี้ใช่ว่าเมทิลีนบลูจะมีโทษต่อร่างกายเพียงอย่างเดียว หากใช้ในขนาดที่เหมาะสมก็สามารถใช้รักษาโรคเมธฮีโมโกลบินนีเมีย (methemoglobinemia)-ภาวะที่เม็ดเลือดแดงไม่สามารถจับกับออกซิเจนได้ตามปกติ เกิดจากการกินสารพิษบางชนิดเข้าไป เช่น ยาฆ่าหญ้ากลุ่มโพรพานิล ดินประสิวเกินขนาด ซึ่งหากรักษาไม่ทันท่วงทีก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ แต่รูปแบบของยาจะเป็นชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ทว่ามีข้อห้ามใช้ในกรณีที่เป็นโรคพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency) เนื่องจากเมทิลีนบลูทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย และห้ามใช้ในกรณีคนไข้มีภาวะไตวายรุนแรง ดังนั้นการใช้ยาชนิดนี้จึงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของหมอ

ส่วนสรรพคุณรักษาการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะยังไม่ทีหลักฐานว่าใช้ได้ผลจริงในร่างกายมนุษย์ แม้เมทิลีนบลูจะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อในห้องทดลองก็ตามที ล่าสุดเมื่อ 9 มีนาคมที่ผ่านมาราชกิจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 79/2561 เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของเมทิลีนบลูทั้งตํารับยาเดี่ยวและยาสูตรผสมที่มีและไม่มี ส่วนประกอบของโพแทสเซียมไนเตรต (Potassium nitrate) แล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรมีร้านขายยาหรือร้านค้าใดจำหน่ายยากลุ่มนี้อีก ในขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมยังพบคนไข้ซื้อยากลุ่มนี้กินเองอยู่ ก็แสดงว่ายังมีคนที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้

ข้อสังเกตจากทะเบียนตำรับยาแนบท้ายประกาศดังกล่าว ยาในกลุ่มนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนครั้งแรกตั้งแต่ปี 2527 จนกระทั่งถึงปี 2532 มีการจดทะเบียนยามากถึง 8 จากทั้งหมด 11 ชื่อการค้า เท่ากับว่ายากลุ่มนี้มีขายมาก่อนที่ผมจะเกิดเสียอีก ดังนั้นผู้ที่ยังมีความเชื่อมั่นว่ายากลุ่มนี้สามารถขับปัสสาวะหรือล้างไตได้อยู่ก็คือผู้สูงอายุในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นลูกหลานก็ต้องคอยระมัดระวังไม่ให้ผู้สูงอายุที่บ้านซื้อยากลุ่มนี้มากิน (ดูชื่อการค้าได้ที่ท้ายประกาศ) หรืออาจมีค้างอยู่ที่บ้านก็ได้

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจึงบอกคุณปู่ว่า ที่ปัสสาวะไม่ออกเพราะเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ไม่เกี่ยวอะไรกับไต ไม่ต้องกินยาขับปัสสาวะหรือล้างไต และที่สำคัญ ให้ญาติคุณปู่เพิกถอนตำรายานี้ออกจากบ้านและความเชื่อเดิมด้วย

Tags: , , , ,