เป็นอีกงานที่คนรอชมกันทุกปี กับความสร้างสรรค์ (หรือไม่ก็ใกล้เคียง) ในการตีความแฟชั่นพรมแดงของเหล่าเซเลบริตี ณ งาน Met Gala ที่ปี 2018 นี้มาในธีม ‘Heavenly Bodies: Fashion and the Catholic Imagination’ อย่างที่หลายคนคงเห็นภาพกันไปแล้ว เช่นชุดธีมโป๊ปของ ริฮานน่า ชุดนางฟ้านางสวรรค์ของเคที่ เพอร์รี่ หรือชุดพระเยซูของ จาเรด เลโต้ ที่มาพร้อมเทพธิดา ลานา เดล เรย์ ฯลฯ
ธีมงาน Met Gala ในแต่ละปี ไม่ได้มีมาแค่ให้คนดังแต่งตัวเดินพรมแดงแล้วจบ แต่ยังเป็นธีมสำหรับนิทรรศการหลักประจำปีนั้นๆ ที่จะจัดแสดงในพิพิธภัณธ์ Met เป็นเวลาหลายเดือน และการหยิบเอาชุดของศาสนาคริสต์นิกาย ‘คาทอลิก’ มาพิเคราะห์พิจารณ์ในนิทรรศการ ก็เป็นการตรึกตรองของคิวเรเตอร์ แอนดรูว โบลตัน (Andrew Bolton) ที่ต้องการนำเสนอชุดความรู้เรื่องแฟชั่นกับศาสนาที่เขาสนใจศึกษามาตลอด 5 ปี โดยทางวาติกันส่งเครื่องประดับและชุดแต่งกายของนักบวชและเหล่าชีขั้นสูงมาร่วมจัดแสดงกว่า 40 ชิ้น ซึ่งจะถูกจัดแสดงร่วมกับชุดของดีไซเนอร์ที่รับแรงบันดาลใจจากเอเลเมนท์ทางศาสนา
ในเริ่มแรก โบลตันอยากหยิบเอาแฟชั่นของศาสนาอิสลาม พุทธ ฮินดู และยูดาห์มาร่วมนิทรรศการด้วย แต่ด้วยความกว้างใหญ่ไพศาลของหัวข้อซึ่งมีรายละเอียดมากเกินกว่าจะเล่าหมดในโชว์เดียว รวมถึงเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการตีความชุดของเหล่าเซเล็บในประเด็นอันละเอียดอ่อน ธีมจึงถูกย่นย่อไปโฟกัสแต่เพียงคาทอลิกเท่านั้น โบลตันยังกล่าวว่า 80% ของงานแฟชั่นร่วมสมัยในโลกตะวันตก ล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิกายคาทอลิก รวมถึงดีไซเนอร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส อิตาเลียน และอังกฤษ ส่วนใหญ่ก็เติบโตมาในครอบครัวคาทอลิก จึงทำให้ธีมนี้น่าจะมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม งาน Met Gala จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1948 โดยสถาบันเครื่องแฟชั่นแห่งพิพิธภัณธ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน (Metropolitan Museum of Art Costume Institute) แห่งกรุงนิวยอร์ก เป็นงานระดมทุนเพื่อนิทรรศการแฟชั่นประจำปี ซึ่งมี แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue อเมริกาเป็นประธานจัดงานมาตั้งแต่ปี 1995 โดยในปี 2018 นี้ก็มี ริฮานน่า ดอนนาเทลลา เวอร์ซาเช่ และแอมัล คลูนีย์ เข้ามาร่วมเป็นประธานจัดงานด้วย และด้วยศักดิ์ศรีระดับงานออสการ์แห่งวงการแฟชั่น คนดังทั้งหลายจึงลงทุนใหญ่โตกับแฟชั่นพรมแดง ซึ่งหลายครั้งก็ทั้งสวยและเล่นกับธีมได้ดีเยี่ยม หลายครั้งก็กลายเป็นมีมในอินเทอร์เน็ตอยู่พักใหญ่
และบางครั้งไม่ใช่แค่เรื่องขำ งานพรมแดง Met Gala ยังแสดงให้เห็นปัญหาในวงการแฟชั่น เช่นปี 2015 กับธีม ‘China: Through the Looking Glass’ ที่ก่อนหน้านั้นมีชื่อว่า ‘Chinese Whispers: Tales of the East in Art, Film and Fashion’ ถูกติงเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและการสร้างภาพเหมารวมต่อชาวจีนและชาวเอเชียในสายตาชาวตะวันตก และถึงจะเปลี่ยนชื่อแล้วแฟชั่นพรมแดงของปีนั้นก็ยังคงเผยภาพจำว่า จีน=เอเชีย ให้เห็นอยู่ ทั้งยังมีความเห็นที่โจมตีเรื่อง cultural appropriation หรือการหยิบฉวยวัฒนธรรมไปใช้อย่างฉาบฉวยด้วย
หากเรามองว่าคนดังและทีมงานสร้างสรรค์แฟชั่นพรมแดงของพวกเขา ก็คือคนทั่วไปบนโลกใบนี้ พรมแดงของ Met Gala ก็อาจทำให้เราเห็นภาพมุมมองที่ผู้คนมีต่อประเด็นนั้นๆ ที่เป็นธีมในแต่ละปี ทำให้เรามองเห็นว่ามีการตีความและความเข้าใจเช่นนี้อยู่บนโลก ไม่ว่าจะถูกสื่อออกมาโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม นี่จึงกลายเป็นอีกงานที่แค่ดูภาพเพลินๆ อย่างเดียว อาจไม่พอ (นึกภาพธีมปีนี้มีพุทธ อิสลาม ฮินดู ยูดาห์ ด้วย…)
ที่มา:
- https://www.metmuseum.org/about-the-met/curatorial-departments/the-costume-institute
- https://www.telegraph.co.uk/fashion/events/met-gala-2018-theme-fashion-religion/