แปดโมงเช้าวันพุธเรานั่งรอให้รถไฟออกจากสถานีกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยใจตุ้มๆ ต่อมๆ แล้วครุ่นคิดกับคำถามที่ตอบเองไม่ได้วนไปเวียนมาว่า “ขบวนรถไฟจะหยุดวิ่งไหม” “ตำรวจจะหยุดรถที่ชายแดนไหม” “เราจะข้ามชายแดนทันไม่ทันเที่ยงหรือเปล่า”
ก่อนหน้านี้สามชั่วโมงเราลากกระเป๋าจากหอพักในเมืองไลเดนตั้งแต่ก่อนสว่างเพื่อนั่งรถไฟมารอขึ้นรถบัสที่ให้บริการวิ่งทั่วยุโรปที่ป้ายรถบัสที่ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟในกรุงเฮก ในใจเราลุ้นอยู่ตลอดเวลาว่าขอให้รถบัสโผล่มาเสียทีเพื่อที่เราจะได้ข้ามพรมแดนไปประเทศเบลเยี่ยมให้ทันเวลาเที่ยง เพราะตั้งแต่เช้ามืดแอปฯ บริษัทรถบัสบนหน้าจอมือถือแทบไม่ให้ข้อมูลอะไรที่อัปเดตเลยนอกจากการแจ้งถึงสัญญาณจีพีเอสรถบัสที่หายไป และการคาดการณ์ว่ารถอาจจะมาช้า 20-30 นาที แต่แต่จนแล้วจนรอดเลยเวลาไปแล้ว รถก็ยังไม่โผล่มาสักที เรากับผู้หญิงเม็กซิกันอีกสองคนที่มารอขึ้นรถคันเดียวกันต่างตัดสินใจทิ้งตั๋วรถบัสแล้ววิ่งกลับเข้าไปยังสถานีรถไฟแล้วซื้อตั๋วรถไฟใบใหม่ทันที
ไม่ถึง 48 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ เราเพิ่งคุยกับพี่สาวว่าเย็นวันพุธจะนั่งรถบัสแล้วต่อรถไฟจากเนเธอร์แลนด์ไปพักกับครอบครัวเขาในเบลเยี่ยม แต่เมื่อเย็นวันอังคารรัฐบาลเบลเยี่ยมมีประชุมกันอย่างเร่งด่วนและหลังการประชุมก็มีประกาศเตรียมปิดชายแดนประเทศทันทีในเที่ยงวันถัดมา ทำให้เราต้องเลื่อนการเดินทางจากตอนเย็นมาเป็นเช้าตรู่เพื่อให้ข้ามชายแดนทันเวลาปิดพรมแดนตอนเที่ยงวัน เพราะไม่มีใครรู้ว่าในสถานการณ์คับขันที่คล้ายอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบที่ทุกชาติกำลังต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็นแบบนี้ ความเข้มงวดของการปิดพรมแดนจะหมายถึงรถไฟและรถบัสหยุดวิ่งหมดทันทีหรือไม่
จริงอยู่ว่าเราไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามที่ผู้คนบาดเจ็บล้มตายบนกองเลือด แต่การต้องหลบสายตากับคนที่เดินสวนกันหรือนั่งร่วมขบวนรถไฟเพราะเกรงจะเสียมารยาทไปสงสัยว่าเขาอาจจะมีเชื้อไวรัส การต้องกักตัวเองอยู่เพียงแค่ในบ้าน หรือเข้าคิวห่างกันอย่างน้อยสองเมตรตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ social distancing ที่หลายแห่งได้ถือปฏิบัติตั้งแต่ก่อนประกาศปิดประเทศเพื่อป้องกันโอกาสแพร่เชื้อ หรือแม้แต่การเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อของอาหารและของใช้จากซูเปอร์มาร์เก็ตเพราะเกรงว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ทำให้ผู้คนสามารถจินตนาการถึงช่วงภาวะสงครามได้ไม่ยากเย็นนัก
ภาพ Market Square ในเมืองบรูจ ประเทศเบลเยี่ยมที่ครั้งหนึ่งคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว กล้องถ่ายรูป รถม้า แต่ในวันนี้มีเพียงความว่างเปล่า
ปิดประเทศ ลดการแพร่เชื้อ
เพียงชั่วข้ามคืนยุโรปก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ภาพความเงียบเหงาไร้ผู้คนที่เราเห็นในไลเดนและเบลเยี่ยมสัปดาห์นี้ช่างแตกต่างจากภาพของผู้คนที่ขวักไขว่ในตลาดฮิปสเตอร์หรือสวนสาธารณะในวันเสาร์แรกของฤดูใบไม้ผลิในกรุงเบอร์ลินก่อนประกาศปิดประเทศ จากเมืองที่เต็มไปด้วยนักศึกษาและจักรยานจอดเต็มหน้าห้องสมุด ถนนในไลเดนวันนี้ร้างผู้คน ร้านรวงถูกปิดล็อกเหลือไว้แต่ไฟหน้าร้าน เมืองท่องเที่ยวอย่างบรูจแทบไม่เหลือผู้คนบนถนนเพราะธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ ร้านกาแฟ ร้านเสื้อผ้าต้องปิดตามคำสั่งรัฐบาลเฉกเช่นหลายเมืองในยุโรป คงไว้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารสั่งกลับบ้าน และร้านขายยา ถนนไฮเวย์ระหว่างประเทศต่างว่างเปล่าเพราะการขับรถข้ามประเทศในโอกาสอย่าง คนดัชต์ขับรถข้ามมาบ้านพักตากอากาศ เติมน้ำมันหรือช้อปปิ้งในเบลเยี่ยมเพราะสินค้าราคาถูกกว่านั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็นในเวลานี้
ความเงียบเหงาเริ่มคืบคลานเข้าสู่ยุโรปตั้งแต่รัฐบาลอิตาลีตัดสินใจปิดประเทศทันทีเมื่อวันที่ 11 มีนาคมหลังจากพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าประเทศจีนไปแล้ว โดยที่ไม่ได้สนใจว่าการปิดประเทศดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวที่ดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกปีละมากกว่า 63 ล้านคนและสร้างรายได้มากกว่าปีละ 1.2 ล้านล้านบาท
หลายคนอาจจะมองว่ารัฐบาลในยุโรปรับมือสถานการณ์โควิดอย่างใจเย็นเหลือเกิน เพราะมัวแต่ชะล่าใจคิดว่าระบบสาธารณสุขของตนจะรับมือกับโคโรนาไวรัสได้อย่างไร้ปัญหา ไม่ว่าเขาจะมั่นใจเกินไปหรือชะล่าใจกับสถานการณ์แต่รัฐบาลในประเทศแถบนี้มีความจริงใจและมีความเด็ดขาดมากพอ กล้าที่จะยืดอกรับกับประชาชนของตนเองว่า สถานการณ์นั้นเกินรับมือและทำการปิดประเทศในทันทีโดยไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้เศรษฐกิจพังหรือยอดนักท่องเที่ยวจะลดลง
ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตในบรูจเริ่มปรับตัวและมีแอลกอฮอล์ไว้บริการให้ลูกค้าทำความสะอาดมือที่ทางเข้า
แต่เมื่อเทียบกับบ้านเราที่รอระยะเวลามากกว่าสองเดือนก่อนที่กทม.จะตัดสินใจประกาศปิดเมืองเมื่อเสาร์ที่ผ่านมาแล้ว (โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมถึง 12 เมษายน) ต้องถือว่ายุโรปมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดมากกว่านัก เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ในยุโรปเริ่มทยอยปิดพรมแดนกับเพื่อนบ้านและปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์เมื่อต่างก็พบว่าสถานการณ์โควิดนั้นเกินควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม นอร์เวย์ เชก เดนมาร์ก หรือบางประเทศเช่นโครเอเชียกำหนดให้มีการกักตัวอย่างน้อย 14 วันเมื่อเดินทางเข้าประเทศ
การป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสเป็นไปอย่างเข้มงวดเมื่อประชาชนทุกคนถูกสั่งให้อยู่กับบ้าน และการออกนอกบ้านทำได้เมื่อจำเป็นหรือเพียงลำพังหรือสองคนเท่านั้น การซื้อขนมปังหรือเนื้อร้านที่ยังเปิดบริการทำได้ทีละคน การต่อคิวต้องห่างกันอย่างน้อยสองเมตร ร้านค้าต่างรับแค่บัตรเดบิตเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเหรียญจากลูกค้า การรวมตัวกันเกินสองหรือห้าคนเป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายเมือง การขับรถข้ามพรมแดนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป การปรับเงินคนที่ต้องการเดินทางข้ามแดนโดยไม่จำเป็นก็เริ่มปฏิบัติจริงหลังจากการตักเตือนในสองสามวันแรก
แต่นอกเหนือไปจากความเข้มงวดแล้ว สิ่งที่น่านับถือของผู้นำในย่านนี้คือความจริงใจและความกล้ายอมรับความจริง ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงถึงกับประกาศว่า “เราอยู่ในภาวะสงคราม” กับศัตรูที่มองไม่เห็น ในขณะที่ผู้นำเยอรมันอย่างอังเกลา แมร์เคิลยอมรับต่อสาธารณชนว่าโคโรนาไวรัสเป็นความท้าทายที่ยากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองที่ต้องการความเป็นหนึ่งเดียวของประชาชน ส่วนนายกรัฐมนตรีโซฟี วิลแมส์ของเบลเยี่ยมก็ประกาศว่าความรับผิดชอบของทุกคนจะเป็นโอกาสเดียวที่จะนำพาให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้
หน้าร้านขายวัตถุดิบปรุงอาหารที่ยังเปิดบริการในบรูจเริ่มติดป้ายเป็นการสื่อสารกับลูกค้า
มาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเร่งด่วน
รัฐบาลในอังกฤษและยุโรปต่างออกมาตรการจ่ายเงิดชดเชยเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ขาดรายได้ชั่วคราวและผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวชั่วคราวในวิกฤตครั้งนี้ รัฐบาลประเทศอังกฤษมีมาตรการอัดฉีดงบประมาณถึง 30 พันล้านปอนด์เพื่อประคองเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งยังมีการตั้งงบเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ไม่สามารถทำงานหารายได้ด้วยการให้เงินชดเชย 80% ของเงินเดือน (เงินเดือนสูงสุด 2,500 ปอนด์) ทั้งนี้นายจ้างต้องติดต่อกับทางหน่วยงานรัฐบาลขอเงินสนับสนุนเพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนพนักงานที่ถูกพักงานแทนที่จะถูกให้ออกจากงานสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส โดยรัฐมนตรี ริชี ซูนัก ได้กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่าเป็น “การแทรกแซงทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพื่อเป็นการสนับสนุนแรงงานและรายได้ของชาวอังกฤษ“
รัฐบาลฝรั่งเศสวางแผนอัดฉีดงบประมาณ 345 พันล้านยูโรเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวมโดยสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ไปจนถึงบริษัทในตลาดหุ้น และยังตั้งงบประมาณอีก 45 พันล้านยูโรเพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและพนักงานที่ต้องประสบภาวะขาดรายได้ในช่วงวิกฤตโคโรนาไวรัส
นายกรัฐมนตรีเบลเยี่ยมได้ออกคำสั่งให้บริษัทต่างๆ ต้องจัดการระบบการทำงานทางไกลให้กับพนักงานทุกคน หากบริษัทไหนไม่สามารถจัดตั้งระบบดังกล่าวได้ต้องจัดพื้นที่ที่ตรงตามมาตรการเว้นระยะทางสังคมในบริษัทเพื่อความปลอดภัยของพนักงาน หากไม่เช่นนั้นบริษัทต้องปิดทำการชั่วคราว
ร้านขนมปังเป็นหนึ่งในร้านที่ยังเปิดบริการอนุญาตให้ลูกค้าเข้าได้ทีละหนึ่งคนและต้องชำระเงินด้วยบัตรเท่านั้น
ปัจจุบันมีแรงงานมากกว่า 5.5 ล้านคนที่ต้องประสบปัญหาตกงานชั่วคราวซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายให้เงินชดเชยในเดือนแรก 1,450 ยูโร และแรงงานจะได้เงินชดเชยเป็นจำนวน 70% ของเงินเดือน อีกทั้งรัฐบาลเฟลมมิช (เขตที่พูดดัชต์) ได้เสนอจ่ายค่าน้ำ ไฟและแก๊สให้กับแรงงานที่ต้องประสบปัญหาขาดรายได้ ในขณะที่บริษัทที่ต้องปิดชั่วคราวในเขตวาลโลเนียจะได้รับเงินชดเชย 5,000 ยูโร และบริษัทในบรัสเซลได้ 4,000 ยูโรในกรณีเดียวกัน
ทั้งนี้รัฐบาลก็ไม่ลืมกลุ่มธุรกิจส่วนตัวหรือรับจ้างอิสระ ยกตัวอย่าง ร้านทำผมที่ต้องปิดชั่วคราวในช่วงวิกฤตนานเกินหนึ่งสัปดาห์จะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 1,266.37 ยูโรสำหรับคนที่ไม่มีครอบครัว และ 1,582.46 ยูโรสำหรับคนที่มีครอบครัว
คนไทยที่ไม่คุ้นเคยกับรัฐสวัสดิการเช่นในยุโรปอาจจะตีความว่ารัฐบาลเอาใจนายจ้างด้วยการออกเงินเดือนให้พนักงาน แต่ถ้ามองให้ลึกถึงโครงสร้างทั้งระบบแล้ว วิธีการที่ปฏิบัติกันในยุโรปและอังกฤษที่รัฐตั้งงบประมาณสนับสนุนเศรษฐกิจเช่นนี้เพื่อให้แรงงานทุกระดับยังสามารถประคับประคองครอบครัวให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้แม้จะไม่สามารถทำงานได้ในช่วงเวลาดังกล่าว
ร้านขายเฟรนช์ฟรายส์หน้าหอระฆังในเมืองบรูจที่ปกติให้บริการ 365 วันต่อปี
เพราะเมื่อมองกลับมาที่บ้านเรา รัฐบาลกลับให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเป็นหลัก บรรดาผู้นำไม่สามารถตกลงกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในประเทศว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การแพร่ระดับ 3 หรือไม่ อีกทั้งยังมีนักวิชาการบางท่านได้ออกมากล่าวเตือนล่วงหน้าว่าการปิดประเทศอาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยสูงถึงวันละ 8,000 ล้านบาทหรือเดือนละ 24,000 ล้านบาท และยังส่งผลกระทบกับการค้าชายแดนที่ต้องหยุดชะงักลงถึงเดือนละ 60,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลไทยจะหลีกเลี่ยงความเป็นจริงที่ว่าประเทศได้มาถึงทางแยกที่ต้องเลือกระหว่างเศรษฐกิจในประเทศพัง หรือชีวิตคนไทยพัง จนกระทั่งวันเสาร์ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ตัดสินใจออกประกาศปิดเมืองเป็นครั้งแรกของประเทศ ด้วยการปิดสถานบริการที่อาจจะเป็นจุดเสี่ยงแพร่เชื้อไวรัสเป็นการชั่วคราว และแนะนำนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อจะช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามกทม.และรัฐบาลก็ยังไม่สามารถกำหนดนโยบายให้ทำงานที่บ้านอย่างจริงจังได้
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหลังประกาศปิดเมือง ภาครัฐกลับไม่มีนโยบายใดๆ รองรับคุณภาพชีวิตของประชากรผู้เสียภาษี (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) กทม.ทำได้เพียงขอความร่วมมือให้ขนส่งสาธารณะลดราคาค่าเดินทางเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาในปัจจุบัน และขอให้ประชาชนดูแลตัวเองด้วยการรอขึ้นรถไฟที่ว่าง (แต่กลับไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการจัดขบวนรถให้ถี่ขึ้นเพื่อเพียงพอกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร) แล้วเมืองที่มีความหนาแน่นอย่างกรุงเทพมหานครจะทำอย่างไรเมื่อคนไม่สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้ รถสาธารณะเราก็แน่นเกินจะเว้นระยะห่าง 1-2 เมตรตามข้อควรปฏิบัติได้ อีกทั้งยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ให้ความสำคัญของการเว้นระยะห่าง และยังมีการรวมตัวกันเพื่อพบปะสังสรรค์กันอย่างไม่เปิดเผย หรือแม้แต่นายจ้างที่ไม่สามารถจัดระบบให้พนักงานมีพื้นที่เว้นระยะมากพอหากไม่สามารถให้ทำงานจากที่บ้านได้
นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อรองรับแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตและการปิดกรุงเทพมหานคร เราจึงได้เห็นภาพแรงงานนับแสนทยอยออกเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาด้วยรถโดยสารประจำทางทันทีหลังประกาศปิดเมือง เพราะนั่นแปลว่าแรงงานเช่นพวกเขาไม่ได้มีความจำเป็นกับเมืองร้างแห่งนี้ไปอย่างน้อย 20 วัน ต่อให้ประชาชนโดยเฉพาะแรงงานหาเช้ากินค่ำอยากจะอยู่กับบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อไวรัสมากเพียงใดก็ไม่สามารถทำได้เพราะปัจจัยเรื่องปากท้อง หรืออาจจะถูกให้ออกจากงานได้ถ้าไม่ไปปรากฏตัวในทุกเช้า
แต่ในช่วงเวลาเดียวกันกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กลับมีแผนนำเสนอการจัดตั้งกลไลพิเศษมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทเพื่อเพิ่สภาพคล่องเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย แต่ลืมที่จะจัดตั้งงบประมาณเพื่อช่วยเหลือแรงงานหรือผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจตั้งแต่เริ่มวิกฤตจนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมยามปิดเมืองของคนบรูจคือ ออกไปเดินเล่น วิ่ง ปั่นจักรยานตามสวนสาธารณะ แต่ต้องเคารพกฎการเว้นระยะทางสังคมที่สองเมตร
กลับมาที่สถานีรถไฟเช้าวันพุธ เราเริ่มโล่งใจเมื่อเดินทางมาถึงสถานีรถไฟเมืองเบรดาซึ่งเป็นสถานีสุดท้ายของเนเธอร์แลนด์ก่อนจะข้ามชายแดนเข้าสู่เบลเยี่ยมตอนเก้าโมงกว่า เราเริ่มวิตกกังวลน้อยลงเมื่อเห็นตารางการเดินรถที่ชานชาลา รถไฟขบวนที่จะมาถึงตอน 9.42 น.จะพาเราเข้าสู่ประเทศเบลเยี่ยมก่อนที่ชายแดนจะปิดแน่ๆ แล้ว เราไม่ต้องติดแหงกอยู่ในต่างแดนอยู่คนเดียวในเมืองที่ทุกอย่างถูกปิดและห้ามทำกิจกรรมใดๆ อย่างเข้มงวด อย่างน้อยเราก็จะมีมนุษย์ตัวเป็นๆ ที่เราสามารถติดต่อสื่อสารได้ในระยะเวลาอีกหลายสัปดาห์ที่ยุโรปต่างร่วมใจกันปิดประเทศเพื่อที่จะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
อีกยี่สิบนาทีถัดมาสัญญาณมือถือเราเริ่มติดๆ ดับๆ แต่เรากลับไม่กังวลเพราะนั่นมันเป็นสัญญาณว่าเรากำลังข้ามชายแดนเข้าสู่ประเทศเบลเยี่ยม และทันทีที่เราได้รับข้อความ “ยินดีต้อนรับสู่เบลเยี่ยม” บนมือถือโดยที่รถไฟไม่ได้หยุดวิ่งหรือมีตำรวจเข้ามาขอตรวจเอกสารการเดินทาง เราถึงได้เริ่มมองเห็นวิวนอกหน้าต่างรถไฟว่าวันนี้เป็นฤดูใบไม้ผลิที่อากาศดี ที่ถ้าเหตุการณ์ปกติน่าจะออกไปเดินรับแดดจริงๆ
สถานีรถไฟและป้ายรถเมล์หลักกลางเมืองไลเดนในวันแรกที่ปิดประเทศ
ที่จอดรถจักรยานหน้าห้องสมุดมหาวิทยาลัยไลเดนที่ปกติแทบจะไม่มีที่ว่างให้รถจอด
ร้านในย่านการค้าเมืองไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ถูกปิดเป็นเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์
รถเช่าภายในสวนสาธารณะที่รอให้คนมาเช่าในสนามบินเก่าในเบอร์ลิน
สถานีรถไฟเมืองเบรดาที่ว่างเปล่าไม่ต่างจากสถานีรถไฟอื่นๆ ในยุโรป เบรดาเป็นสถานีสุดท้ายของเนเธอร์แลนด์ก่อนข้ามชายแดนเบลเยี่ยม
Tags: โคโรนาไวรัส, โควิด-19, ยุโรป