ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งเรื่องศาสนาระหว่างชนชาติอินเดียกำลังคุกรุ่น ในอีกมุมหนึ่งกลับมีปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองเกิดขึ้น นั่นคือ หนังสือ Mein Kampf (การต่อสู้ของข้าพเจ้า) อันเป็นผลงานเขียนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กลายเป็นหนังสือขายดีในหมู่ฮินดูชาตินิยม กลุ่มนาซีใหม่ในอินเดีย ซึ่งนอกจากจะยกย่องตัวตนของ ‘ฮิตเลอร์’ แล้ว ยังติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายนาซีทั่วโลกอีกด้วย

หนังสือ Mein Kampf ของฮิตเลอร์ฉบับภาษาอังกฤษในอินเดีย สามารถพบเห็นได้ตั้งแต่ที่สนามบินจนถึงร้านหนังสือ ใครๆ สามารถสั่งซื้อได้ทางออนไลน์ หรือแม้กระทั่งฉบับก๊อปปี้ราคาถูกก็มีวางขายตามแผงข้างถนน ในปี 2002 มีการสำรวจความเห็นประชากรในอินเดีย พบว่า 17 เปอร์เซ็นต์ปรารถนาจะมีผู้นำประเทศแบบเดียวกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ความคลั่งไคล้ในตัวฮิตเลอร์และนาซียังมีให้พบเห็นจากชื่อของร้านอาหาร แบรนด์เสื้อผ้า และร้านค้าปลีกต่างๆMein Kampf India

มีการตีความเกี่ยวกับเครื่องหมายสวัสติกะที่ปรากฏอยู่ตามอาคารและเอกสารสาธารณะว่า เป็นสัญญาณบอกถึงอนาคตที่สดใส ในโซเซียลมีเดียพากันยกย่องฮิตเลอร์ว่าเป็น ‘พระเจ้าสวัสติกะของอินเดีย’ ควบคู่ไปกับพระวิษณุของชาวฮินดู

แม้กระทั่งในหลักสูตรการศึกษาก็ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับฮิตเลอร์ผสมปนเปอยู่ ในปี 2004 หนังสือเรียนสำหรับนักเรียนเกรด 10 ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นเพื่อยกย่องลัทธิฟาสซิสม์และฮิตเลอร์ บทที่พาดหัวเช่น ‘ฮิตเลอร์ มหาอำนาจ’ และ ‘ความสำเร็จระหว่างประเทศของนาซี’ มีข้อความหนึ่งตัดตอนมาจากตำราที่ตีพิมพ์ในรัฐทมิฬนาฑู…

“ฮิตเลอร์นำเกียรติยศและชื่อเสียงมาสู่รัฐบาลเยอรมัน เขานำกลยุทธ์ของฝ่ายค้านมาใช้กับชาวยิว และใช้อำนาจการปกครองสูงสุดเพื่อชนชาติเยอรมัน”

แต่ Mein Kampf ในอินเดียไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อแนวคิดเรื่องลัทธิฟาสซิสม์ของพรรคสังคมนิยมแห่งชาติเท่านั้น หากยังเป็นหนังสือภาคบังคับของนักศึกษาเศรษฐศาสตร์อีกด้วย มันแสดงถึงความสำเร็จของชายร่างเล็กสีหน้าหดหู่ ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่อยู่ในคุกว่าจะพิชิตโลก ภายในเวลาหนึ่งปี…สำนักพิมพ์ครอสส์เวิร์ดของอินเดียสามารถขายหนังสือได้กว่า 25,000 เล่ม

Mein Kampf India

ท่ามกลางกลุ่มชาตินิยมนั้นมีพรรคศิวเสนา (Shiv Sena) ซึ่งบาล ทักเกอเรย์ (Bal Thackeray) หัวหน้าพรรคมีฮิตเลอร์เป็นไอดอล และปรารถนาให้มีฮิตเลอร์สำหรับอินเดีย เขาเพ้อพกไปไกลถึงขนาดเรียกร้องให้ชาวฮินดูฆ่าชาวมุสลิมด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย สาวก ‘Mein Kampf’ ในอินเดียแทนที่คำว่า ‘ยิว’ ที่ปรากฏในหนังสือด้วยคำว่า ‘มุสลิม’ ความรุนแรงต่อชาวมุสลิมเกิดขึ้นในอินเดียนับตั้งแต่ปี 1947 ที่มีการแยกดินแดน (ส่วนหนึ่งคือปากีสถาน) ในปี 2002 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมในรัฐคุชราตประมาณ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งนับเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและโหดเหี้ยมที่สุดนับตั้งแต่อินเดียประกาศเอกราช โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ ทั้งถูกทารุณกรรมทางร่างกายและทางเพศ

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมที (Narendra Modi) เองก็ล้มเหลวกับการติดตามและพิจารณาโทษผู้กระทำความผิดในครั้งนั้น

 

อ้างอิง:

Fact Box

Mein Kampf – การต่อสู้ของฮิตเลอร์

  • เป็นโปรแกรมการเมืองในอุดมการณ์ที่เขียนโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แบ่งเป็นสองบรรพ บรรพแรกกล่าวถึงชีวประวัติของฮิตเลอร์ ซึ่งเกิดและเติบโตในออสเตรีย ก่อนก้าวย่างสู่การเป็นนักการเมืองในเยอรมนี บรรพที่สองเป็นทฤษฎีและวิสัยทัศน์การมองโลก แต่ก็เกริ่นถึงการต่อสู้และโฆษณาชวนเชื่อในการตั้งพรรคนาซี (NSDAP) ขึ้นใหม่ ภายใต้การนำของเขาเอง
  • บรรพแรกของหนังสือถือกำเนิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1923 หลังจากที่ฮิตเลอร์ร่วมก่อปฏิวัติสาธารณรัฐไวมาร์ไม่ประสบความสำเร็จ เขาต้องโทษจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี บรรพแรกปรากฏออกมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 1925 บรรพที่สองปรากฏออกมาวันที่ 11 ธันวาคม 1926 ที่น่าสังเกตก็คือ จนถึงปี 1932 หนังสือบรรพแรกของฮิตเลอร์ติดอันดับขายดีในสาธารณรัฐไวมาร์
  • หนังสือทั้งสองบรรพมีขนาด 12 x 18.9 เซนติเมตร วางจำหน่ายครั้งแรกเล่มละ 12 ไรช์มาร์ค ตั้งแต่ปี 1928 ขึ้นราคาเป็นเล่มละ 14 ไรช์มาร์ค หนังสือทั้งสองบรรพตีพิมพ์รวมกันครั้งแรกจำนวน 10,000 เล่ม ใช้เงินทุนของพรรคนาซีในการจัดพิมพ์
  • ฮิตเลอร์มีรายได้จากการขายหนังสือจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์หรือสูงสุดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ต่อเล่ม ในปี 1933 หนังสือมียอดขายสูงสุดถึง 1,080,000 เล่ม อีกทั้งยังมีฉบับอักษรเบรลล์สำหรับคนตาบอดออกมาด้วย จนถึงปี 1939 ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 5.45 ล้านเล่ม และขึ้นสูงถึง 10.9 ล้านเล่ม
  • ในปี 1944 มีรายงานแจ้งภายหลังฮิตเลอร์เสียชีวิตไปแล้วว่า สำนักพิมพ์ฟรานซ์ เอแฮร์ ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคนาซี ได้เซ็นจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้ให้กับฮิตเลอร์เมื่อปลายปี 1943 เป็นจำนวนเงิน 5.5 ล้านไรช์มาร์ค
  • ระหว่างปี 1934-1944 หนังสือ Mein Kampf ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น เดนิช (1934) สวีดิช (1934 และ 1941) โปรตุกีส (1934) บัลแกเรียน (1934) สแปนิช (1935) ฮังกาเรียน (1935) จีน (1936) เชก (1936) ฝรั่งเศส (1934 และ 1939) นอร์เวเจียน (1941) ฟินนิช (1941) ทมิฬ (1944) ฉบับภาษาไทยแปลโดย ศ.ป. ชื่อเล่ม ‘การต่อสู้ของข้าพเจ้า’ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2480 (1937) และฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1939
  • ปี 2005 มีการประมูลหนังสือ Mein Kampf เล่มพิมพ์ครั้งแรกและมีลายเซ็นของฮิตเลอร์ไปในราคา 23,800 ปอนด์สเตอริง ปี 2009 มีการประมูลอีกครั้ง และเป็นหนังสือพิมพ์ครั้งที่สอง เล่มที่ฮิตเลอร์เซ็นมอบเป็นของขวัญเทศกาลคริสต์มาสให้กับโยฮันน์ เกออร์ก เมาเรอร์ (Johann Georg Maurer) เพื่อนร่วมห้องขังของเขาในลันด์สแบร์ก มีคนประมูลไปในราคา 21,000 ปอนด์
  • ลิขสิทธิ์หนังสือ Mein Kampf ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของรัฐบาวาเรียมาโดยตลอด เหตุเพราะก่อนเสียชีวิต ฮิตเลอร์ได้แจ้งจดทะเบียนสำมะโนครัวไว้ที่นั่น และแม้ว่าฮิตเลอร์จะเสียชีวิตมานานกว่า 70 ปีแล้ว ซึ่งจะทำให้ลิขสิทธิ์หมดอายุไปโดยปริยาย แต่ก็ยังอยู่ในความดูแลของรัฐบาวาเรียเช่นเดิม มีการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ใหม่อีกครั้งในเยอรมนีปี 2016 ถือเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1945

 

Tags: , , , , , , ,