ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คิดเสมอว่าเป็นคนที่มี Sense of Direction ที่โอเคระดับหนึ่ง ด้วยความที่เป็นคนชอบสังเกต มองนู่นนี่อยู่ตลอด ก็เลยมักไม่ค่อยหลงทางนัก และไม่ต้องใช้แผนที่สักเท่าไร ซึ่งความมั่นใจนี้ได้มาพังทลายลงเมื่อได้มาที่เฟซ (Fez) หนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของโมร็อกโก

          นึกย้อนไปแล้วยังจำวันนั้นได้ดี เราขอให้ทางริยาดจัดไกด์มาให้พาทัวร์ครึ่งวันเช้า หลังจากพาเราเดินซอกแซกไปทั่วเขตเมืองเก่าที่เรียกว่า Medina of Fez ตลอดช่วงเช้าไกด์ก็พาเรามาส่งยังที่พัก พอล้างหน้าล้างตาเสร็จสรรพ ก็ถึงเวลาลุยเอง เราเดินออกจากริยาดแล้วพุ่งตรงเข้าไปในเมดินา กะว่าจะเดินย้อนไปตามทางที่เพิ่งเดินมาเมื่อสักครู่ และเพียงแค่ห้านาทีเท่านั้น

          หลง!

          แถมยังไม่ได้หลงธรรมดา เป็นการหลงแบบเดินวนมาที่เดิมสองรอบ จนต้องหยุดอยู่นิ่งๆ แล้วตั้งสติสักพักว่าทำอย่างไร จึงจะหลุดออกจากวังวนแห่งถ้วยชามรามไหนี้ได้ ท้ายสุดต้องเปิดแผนที่ออนไลน์เพื่อนำทาง จึงได้เดินไปตามทางที่ถูกที่ควรที่นำไปสู่สถานที่สำคัญที่ซุกซ่อนอยู่ในเมดินานี้ได้

          แต่ถ้ามีเวลา ต้องยอมรับว่าการได้เดินหลงทางในเมดินาของเฟซนั้นเป็นเรื่องที่สนุกไม่น้อย เมดิน่าของที่นี่มีบรรยากาศแตกต่างจากเมดินาของมาร์ราเกซอยู่พอสมควร เพราะในขณะที่โซนเมดิน่าของมาร์ราเกซกลายเป็นโซนท่องเที่ยวเต็มตัวและมีความประดิษฐ์สูงมาก เมดิน่าของเฟซยังคงความเป็น ‘เมือง’ ที่ยังมีชีวิตไว้ได้ ‘เรียล’ พอตัว บ้านเรือนยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวมากนัก ร้านขายของที่ระลึกก็ยังไม่มีมากเท่าไร และคนที่นี่ก็ยังใช้ชีวิตกันอยู่ในเมดิน่าแห่งนี้ ความสนุกจึงอยู่ที่การได้ดูคนที่เดินใช้ชีวิตประจำวัน ไปซื้อของที่ตลาดสด ทำอาหาร ชงชามิ้นต์ ไปสุเหร่า โดยมีเราเป็นแค่ตัวประกอบ… บรรยากาศ ‘ธรรมชาติ’ แบบนี้แหละที่เราชอบที่สุด

 

          เมดินาของเฟซนี้ถือเป็นเมืองยุคกลางที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Al Quaraouiyine ที่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และที่แปลกที่สุดคือแม้จะเป็นสถานศึกษาของชาวมุสลิม แต่กลับก่อตั้งโดยผู้หญิงซึ่งอพยพมาจากตูนีเซียนาม Fatima al-Fihri

          นอกจากนี้ไม่ไกลจากตลาดสดนักยังเป็นที่ตั้งของนาฬิกาน้ำซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบอกเวลาที่เก่าแก่ที่สุดประเภทหนึ่งของโลก แม้จะมีของดีระดับโลกมากมายขนาดนี้ แต่ดูเหมือนภาพของเฟซในสายตานักท่องเที่ยวจะมีแต่ภาพของโรงฟอกหนังอันโด่งดังเท่านั้น

          เขตเมดินาของเฟซยังถือเป็นเขตปลอดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้อยู่ เพราะเมืองที่ดูเหมือนรังผึ้งขนาดใหญ่ประกอบด้วยตรอกซอกซอยเล็กๆ กว่า 12,000 เส้นที่มีระยะกว้างแค่คนเดินสวนกันได้เท่านั้น แถมยังไม่ใช่ทางราบแต่เต็มไปด้วยขั้นบันไดมากมาย คนที่นี่จึงใช้ลาสำหรับบรรทุกสิ่งของ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินเสียงตะโกนว่า “Balak, balak!” เมื่อไรละก็ เตรียมหลบได้เลย เพราะนั้นหมายถึงว่าน้องลากำลังจะเคลื่อนผ่าน  

          นอกจากในโซนเมดินาแล้ว ไกด์ทัวร์มักจะพานักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมเวิร์กช็อปผลิตโมเสก เนื่องจากเฟซขึ้นชื่อเรื่องงานฝีมือ โดยเฉพาะงานโมเสกและเครื่องปั้นดินเผาสีฟ้าโคบอลต์ ซึ่งเวิร์กช็อปแต่ละแห่งจะมีการสาธิตขั้นตอนการทำและมีสินค้าให้เลือกซื้อได้ตามใจชอบ ซึ่งถ้าไม่ได้ตั้งใจไปซื้อก็ไม่เป็นไร แค่ไปชมวิธีการเรียงกระเบื้องโมเสกทีละชิ้นด้วยมือก็นับว่าคุ้มแล้ว เพราะผู้คนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังผลงานกระเบื้องโมเสกที่ประดับอยู่ตามน้ำพุและสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง

          ว่ากันว่าศิลปะกระเบื้องที่เรียกว่า Zillege หรือ Zillij (แปลว่ากระเบื้องในภาษาอารบิก) ถูกคิดค้นโดยช่างฝีมือชาวมุสลิมที่ต้องการจะตกแต่งศาสนสถานของตนให้สวยงาม แต่เนื่องจากศาสนาอิสลามไม่ให้บูชารูปเคารพใดๆ พวกเขาจึงเลือกที่จะสร้างสรรค์รูปแบบที่เป็นนามธรรมแทน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วรูปแบบนามธรรมนี้สามารถสื่อถึงปรัชญาของศาสนาอิสลามได้ชัดเจนกว่าด้วยซ้ำ

 

          ปัจจุบัน งานกระเบื้องโมเสกกลายเป็นสไตล์การตกแต่งที่เป็นสัญลักษณ์ของโมร็อกโกไปโดยปริยาย และฉันเองก็อดไม่ได้ที่จะพุ่งเข้าไปถ่ายรูปน้ำพุสวยๆ ทุกครั้งที่ได้เห็น

          แต่ที่ชอบที่สุดเกี่ยวกับเฟซ… ก็คงเป็นริยาดของเรานี่แหละ แม้จะรู้สึกติดใจริยาดที่มาร์ราเกซที่มีอาหารเช้าที่เลิศสุดๆ แต่ริยาดที่เฟซกลับชนะใจเราขาดลอย นอกจากโลเคชั่นที่อยู่ในเขตเมดิน่าที่ไปไหนมาไหนสะดวกแล้ว Riad Sunrise ยังมีผู้จัดการที่เป็นมิตร แถมวิวบนดาดฟ้าก็อลังการจริงๆ เพราะมองออกไปเห็นวิวเมดินาของเฟซแบบเต็มตา

          ในขณะที่ด้านในแม้จะไม่มีช่องอากาศตรงกลางเหมือนริยาดส่วนใหญ่ในมาร์ราเกซ แต่ก็ดูไม่อึดอัด และแน่นอนว่าตกแต่งอย่างวิจิตรอลังการไม่แพ้ที่ไหน หากมองจากนิยามทางสถาปัตยกรรมแล้ว ริยาดนั้นแปลว่าบ้านหรือวังที่มาพร้อมกับสวนหรือลานพร้อมน้ำพุที่อยู่ตรงกลาง (สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง) การออกแบบริยาดเน้นความสำคัญของความเป็นส่วนตัวตามหลักของศาสนาอิสลาม และความงามของ ‘ภายใน’ มากกว่า ‘ภายนอก’ ความมหัศจรรย์จึงเป็นช่วงที่ก้าวผ่านประตูใหญ่ของอาคารเรียบๆ เข้ามาเจอกับพื้นที่ที่อยู่ด้านใน ตลอดทั้งทริป คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่น่าตื่นเต้นและ ‘ฟิน’ ได้มากกว่าวินาทีนี้อีกแล้ว

Tags: , ,