16 ตุลาคม 2564 นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับคณะอาจารย์ที่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของนักศึกษา นำโดย ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี  อาจารย์คณะวิจิรศิลป์ มหางวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ายึดพื้นที่บริเวณหอนิทรรศการศิลปะวัฒนธรร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) หลังจากทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ผลงานของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าจัดแสดงในพื้นที่หอศิลป์ฯ

เนื่องจากงาน Whiplash ที่เป็นนิทรรศการแสดงรวมธีสิสของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิจิตรศิลป์ มีกำหนดการแสดงในวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคมนี้ และนักศึกษา ต้องนำงานผลงานเข้าติดตั้งจัดแสดงในพื้นที่ในวันเสาร์ ที่ 16 ตุลาคม ตามกำหนดการเดิมที่เคยขออนุญาตใช้พื้นที่ และทางหอศิลป์แจ้งกลับมาว่า ตารางการจัดกิจกรรมว่างตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ถึง 25 ตุลาคม แต่ทางผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์กลับยังไม่อนุมัติการใช้พื้นที่ โดยอ้างว่าผลงานของนักศึกษามีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมถึงพยายามยื้อเวลาด้วยการขอเอกสารชี้แจงรายละเอียดงาน และการประชุมหารือภายใน โดยวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ กลับมา

เมื่อถึงกำหนดการการจัดเตรียมพื้นที่แต่ยังไร้คำตอบจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางนักศึกษาจึงเข้ายึดพื้นที่หอศิลป์ เพื่อเข้าจัดเตรียมงานนิทรรศการตามตารางงานที่วางไว้ แต่ทั้งนี้นักศึกษาไม่สามารถจัดเตรียมงานได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่สามารถใช้น้ำและไฟ จากอาคารได้ สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด ทางนักศึกษาจึงต้องหาทางออกโดยการหาเครื่องปั่นไฟ เพื่อใช้ในการจัดตั้งผลงานให้เป็นไปตามกำหนดการณ์

ทั้งนี้นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้เน้นย้ำ 4 ข้อเรียกร้องต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้ 1. ขอใช้พื้นที่ตามเวลาที่จับจองเอาไว้ 2. จะไม่มีการปรับแก้งานที่ทางคณะบอกว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง 3. ให้มหาวิทยาลัยพิจารณาเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารวิจิตรศิลป์ชุดนี้ 4.ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกมารับรองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก

ก่อนหน้านี้นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับคณะอาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยต่อมาตรการของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยถูกกลุ่มผู้บริหารคณะ เก็บผลงานศิลปะลงถุงขยะดำ เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้องกับเรื่องการเมือง จน ผศ.ดร.ทัศนัย ต้องออกมาปกป้อง และกลายเป็นกระแสร้อนแรงในสังคมเช่นจนเป็นที่มาของวลี “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร”