“ถ้าตอนนี้คุณยังไม่เริ่มขั้นตอนนี้ มันจะไม่ทันแล้วนะครับ เร็วครับ!”

          “เราเตือนคุณแล้วใช่ไหม”

          “ครับ/ค่ะเชฟ”

คือประโยคติดหูที่ได้ยินมาตั้งแต่ตอนแรกของรายการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ ซีซัน 2 รายการแข่งทำอาหารที่มียอดวิวในการดูย้อนหลังแตะหลักล้านทุกตอนและอาจจะสูงกว่าละครดังหลายเรื่องที่ออนแอร์ในระยะเวลาเดียวกัน

ความสนุกสนานของรายการเป็นสิ่งที่ทำให้มาสเตอร์เชฟซีซันนี้กลายเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ และก่อนที่จะรู้ในอีกไม่กี่วันว่าใครจะเป็นผู้ชนะของซีซันนี้ เราได้คุยกับ นครินทร์ เศรษฐิศักดิ์โก โปรดิวเซอร์ของ Heliconia Group บริษัทผู้ผลิตรายการนี้ เกี่ยวกับขั้นตอนการทำรายการให้ออกมาน่าอร่อยไม่แพ้อาหารที่ได้เห็นในแต่ละสัปดาห์ และนำบทสนทนาทั้งหมดมาแปลงเป็นสูตรความอร่อยในแบบมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ ที่มีครบทั้งส่วนผสม ขั้นตอนการทำ และเคล็ดลับในการปรุงรสให้อร่อยโดนใจคนดู

ส่วนผสมหลัก

เชฟเอียน เชฟป้อม และคุณอิ๊งค์ 3 คน
ป๊อก-ปิยธิดา พิธีกรที่มีดีกรีเลอ กอร์ดอง เบลอ 1 คน
ผู้เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายที่ได้ใส่ผ้ากันเปื้อนมาสเตอร์เชฟ 20 คน
เสื้อผ้าผู้เข้าแข่งขัน 20 สไตล์
โจทย์ในการทำอาหาร อย่างน้อย 2 หัวข้อ/ตอน
ทีมงานเบื้องหลัง 150-200 คน/ตอน
วัตถุดิบในการประกอบอาหาร ขึ้นอยู่กับโจทย์
ความดราม่า ตามความเหมาะสม
ความคาดไม่ถึง ตามสถานการณ์

     

ระยะเวลาที่ใช้ในการทำรายการแต่ละซีซัน

       1 ปี

ขั้นตอน

  1. ทีมงานเริ่มวางไทม์ไลน์ของซีซัน 2 ทันทีหลังจากถ่ายทำรายการซีซันแรกจบ
  2. โปรดิวเซอร์ ฟู้ดโปรดิวเซอร์ และทีมครีเอทีฟ ใช้เวลา 2-3 เดือนในการช่วยกันวางแผนเกี่ยวกับโจทย์ต่างๆ ในแต่ละสัปดาห์ ทั้ง Team Challenge, Invention Test, Pressure Test และ Mystery Box โดยเน้นให้รสชาติการแข่งขันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
  3. ส่งแผนงานทั้งหมดไปให้ทางเจ้าของลิขสิทธิ์ที่สหรัฐฯ ตรวจก่อน
  4. หลังจากที่แผนงานเบื้องต้นเรียบร้อย ฟู้ดโปรดิวเซอร์จะลงรายละเอียดในเรื่องวัตถุดิบต่างๆ ว่า นอกจากวัตถุดิบหลักที่เป็นโจทย์ใหญ่แล้ว จะต้องมีวัตถุดิบอะไรอีกบ้างที่จะมาซัพพอร์ตวัตถุดิบหลักได้อย่างเหมาะสม แต่ในขณะเดียวก็ท้าทายความสามารถของผู้เข้าแข่งขันด้วย
  5. วางแผนเรื่องการสั่งวัตถุดิบต่างๆ จากซัพพลายเออร์ให้ตรงตามไทม์ไลน์ เพื่อให้มีวัตถุดิบที่สดใหม่ตรงตามโจทย์ในแต่ละสัปดาห์
  6. รับสมัครผู้เข้าแข่งขันจากทั่วประเทศ ทั้งจากคลิปวิดีโอและการวอล์กอินเข้ามาสมัคร โดยคัดจากสกิลการทำอาหารและคาแรกเตอร์ให้เหลือประมาณ 150 คนที่จะเข้าสู่รอบต่อไป
  7. คัดผู้เข้าแข่งขันให้เหลือ 30 คนเพื่อเข้าสู่รอบออดิชั่นที่ผู้ชมได้เห็นในตอนที่ 1 โดยคัดจากทักษะการทำอาหารที่มีกรรมการ พิธีกร และฟู้ดโปรดิวเซอร์เป็นคนชิม และให้คะแนน จากนั้นสัมภาษณ์เดี่ยวเพื่อให้รู้จักแบ็กกราวน์ของแต่ละคนเพิ่มขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เข้าแข่งขันทุกคนที่มาเข้าร่วมรายการ แม้จะมีคาแรกเตอร์และแบ็กกราวน์ที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมตรงที่ทุกคนมุ่งมั่นที่จะเติบโตในสายงานอาหารจริงๆ
  8. หลังจากรอบออดิชั่น เมื่อได้ผู้เข้าแข่งขัน 20 คนสุดท้ายแล้ว ทีมงานต้องเตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะกับคาแรกเตอร์ของแต่ละคน เพื่อให้เกิดภาพจำ อย่างเช่นเดียวกับเสื้อฮาวายของเขา หมอตั้มกับเสื้อโนบิตะของเขา ยูริกับชุดเอี๊ยมไหล่ขวาของเขา เป็นต้น
  9. เริ่มต้นการถ่ายทำ กรรมการทั้งสามคนจะรู้โจทย์ในเช้าวันนั้น ซึ่งหากเป็นวัตถุดิบหรือชนิดของอาหารที่กรรมการไม่ได้ถนัด แต่ละคนก็จะหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนเวลาถ่ายทำ เพราะวัตถุดิบบางชนิด กรรมการบางคนก็ไม่เคยใช้เองมาก่อน อย่างบ้องตันหรือเนื้อจระเข้ ที่แม้แต่เชฟป้อมยังตกใจเมื่อเห็นโจทย์ที่มาทั้งหาง แต่โชคดีที่เชฟเอียนเคยใช้วัตถุดิบนี้มาก่อน เลยสามารถให้ข้อมูลได้อย่างดี
  10. ผู้เข้าแข่งขันไม่มีใครรู้โจทย์ก่อน ส่วนเวลาทำอาหารในแต่ละโจทย์จะเป็นไปตามกฎที่กำหนดไว้ในไบเบิ้ลของมาสเตอร์เชฟต้นฉบับ ยกเว้น Pressure Test ที่ฟู้ดโปรดิวเซอร์จะทดลองทำก่อนจะกำหนดเวลาที่ใช้ในการแข่งขัน ในแบบที่พลาดไม่ได้สักขั้นตอน
  11. ถึงจะไม่ได้เห็นภาพในรายการ แต่เบื้องหลังนั้นกรรมการจะได้ชิมอาหารของผู้เข้าแข่งขันทุกคน เพื่อความยุติธรรมในการตัดสินว่าในสัปดาห์นั้นใครจะเป็นคนที่ต้องคืนผ้ากันเปื้อน ยกเว้น Team Challenge ที่กรรมการรับเชิญในแต่ละสัปดาห์จะเป็นคนลงคะแนน
  1. หลังจากจบการถ่ายทำในแต่ละตอน วัตถุดิบที่เหลือจากการแข่งขันจะนำไปบริจาค ซึ่งรวมถึงเนื้อจระเข้ด้วย

เคล็ดลับเพิ่มรสชาติให้รสจัดจนถูกปาก

  • วัตถุดิบในซูเปอร์มาร์เก็ตของ MasterChef จะถูกจัดเรียงใหม่ทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้ผู้เข้าแข่งขันจำได้ว่าของแต่ละอย่างวางอยู่ตรงไหน ความโกลาหลในการวิ่งหาวัตถุดิบก่อนจะลงมือปรุงอาหารจึงเป็นความวุ่นวายของจริง
  • ทางรายการมีทีม Food Reporter ซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูล ซักถามผู้เข้าแข่งขันระหว่างทำอาหาร เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนกำลังทำเมนูไหน ใช้วัตถุดิบอะไร และเจอปัญหาอะไรระหว่างทำบ้างหรือเปล่า
  • สูตรของรายการมาสเตอร์เชฟไม่ใช้แต้มบุญเป็นส่วนผสม ทุกอย่างวัดกันจานต่อจาน โจทย์ต่อโจทย์​ ไม่มีการสะสมคะแนนมาเรื่อยๆ ทำให้ผู้เข้าแข่งขันเก่งๆ บางคนพลิกโผตกรอบได้เสมอ
  • ความคาดไม่ถึงในการถ่ายทำคือเครื่องปรุงลับที่ทำให้รสชาติของรายการอร่อยถูกใจคนดู ในระดับที่ทีมงานเองก็ลุ้นระทึกกันทุกตอน อย่างเช่นสัปดาห์ที่หมอตั้มคืนผ้ากันเปื้อนทั้งที่อยู่ในช่วงที่พัฒนาการดีขึ้นก็ทำเอาทีมงานพูดไม่ออก เงียบกริบกันทั้งสตูดิโอ
  • ดราม่าที่เกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทำที่ไม่สามารถกำกับหรือเขียนสคริปต์ได้ โดยเฉพาะดราม่าระหว่างยูริและเบลล่าระหว่างจับคู่กันทำติ่มซำ ซึ่งทีมงานยืนยันว่าไม่ได้บรีฟ แต่ก็คาดว่าน่าจะต้องมีซีนเกิดขึ้นทันทีที่เห็นว่าสองคนนี้ต้องคู่กัน

Fact Box

  • รายการมาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์ เป็นรายการแข่งทำอาหารที่ได้ลิขสิทธิ์มาจากรายการมาสเตอร์เชฟ อเมริกา ซึ่งคอนเซปต์ของรายการคือการเปิดโอกาสให้มือสมัครเล่นที่มีใจรักในการทำอาหารได้เข้ามาแข่งขันตามโจทย์ต่างๆ และมีกรรมการเป็นคนตัดสิน ซึ่งสำหรับเวอร์ชั่นประเทศไทย ก็ได้แก่ คุณอิ๊งค์-ม.ล.ภาสันต์ สวัสดิวัตน์, เชฟป้อม-ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล และ เชฟเอียน-พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย
  • สำหรับมาสเตอร์เชฟ อเมริกา ที่เป็นต้นฉบับของเมืองไทย ออกอากาศมาแล้วทั้งหมด 9 ซีซัน ส่วนในไทย มี 2 ซีซัน และกำลังเปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันตัวจิ๋วเพื่อมาแข่งในรายการมาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ซึ่งงานนี้ทีมงานคาดว่าจะต้องมีความคาดไม่ถึงยิ่งกว่าเดิมด้วยธรรมชาติของเด็กๆ วัยประถมนั่นเอง
Tags: , , ,