สถานการณ์ที่สื่อมวลชนถูกข่มขู่โดยรัฐดูเหมือนจะไม่ได้เกิดขึ้นที่เมืองไทยแห่งเดียว เพราะล่าสุดเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์เข้าจับกุม ‘Maria Ressa’ ผู้ร่วมก่อตั้ง ประธานกรรมการบริหาร และบรรณาธิการบริหารของสื่อออนไลน์ ‘Rappler’ ในข้อหาหมิ่นประมาทจากเนื้อหาในบทความที่เผยแพร่เมื่อปี 2012 ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะข่มขู่เพื่อปิดปากสื่อมวลชนและมีพฤติกรรมละเมิดเสรีภาพสื่อ
โดยที่ผ่านมา Rappler ที่ Ressa นั่งแท่นเป็น บก.บห. อยู่นั้นคือสื่อที่วิพากษ์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติดและการบริหารงานของรัฐบาลประธานาธิบดีดูแตร์เต (Duterte) และการจับกุมนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ที่ผ่านมา Rappler ได้รับแรงกดดันย่างต่อเนื่องจากรัฐบาล เพื่อให้ยุติบทบาทลง โดยย้อนกลับไปเมื่อเดือนก่อน กระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์ปฏิเสธที่จะยกเว้นการเก็บภาษีจาก Rappler
และก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2018 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ได้เพิกถอนใบอนุญาตของ Rappler โดยระบุว่า เว็บไซต์ข่าวละเมิดกฎหมายห้ามชาวต่างชาติเป็นเจ้าของสื่อ โดยการรับเงินลงทุนจากเครือข่าย Omidyar ในสหรัฐฯ แต่ถึงอย่างนั้น Rappler ก็ยังคงทำงานต่อไปตามปกติ
จนมาถึงการจับกุมครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากการประกาศเริ่มต้นแคมเปญหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่ง Rappler ทำหน้าที่เป็นพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นของ Facebook เพื่อช่วยในการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผู้คนโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย
หลังจากการจับกุมดังกล่าวทวิตเตอร์แอคเคาท์ของ Rappler เผยว่า “Ressa จะต้องใช้เวลาทั้งคืนในสำนักงานสืบสวนสอบสวยแห่งชาติ เพราะศาลท้องถิ่นปฏิเสธที่จะให้ประกันตัว” และ Ressa ก็ตั้งข้อสงสัยถึงช่วงเวลาที่เธอถูกจับกุมซึ่งดูเหมือนจะมีความจงใจเลือกช่วงเวลาที่ทำให้เธอไม่สามารถประกันตัวได้ นอกจากนั้น เธอยังท้าทายว่า “ฉันพร้อมที่จะใช้เวลาทั้งคืนในคุก แต่มันจะไม่สามารถทำให้ฉันยอมแพ้”
ฝ่ายสหภาพสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติของฟิลิปปินส์ เผยว่า การจับกุมตัว Ressa ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะปิดปากสื่อของรัฐและข่มขู่สื่ออิสระอื่นๆ ของฟิลิปปินส์ที่ยังเหลืออยู่
ในขณะที่ Salvador Panelo โฆษกของประธานาธิบดีดูแตร์เต เผยกับ ABS-CBN News Channel ว่า “คดีของ Ressa ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนแต่อย่างใด” และตอบข้อสงสัยด้านเวลาจับกุมว่า กฎหมายยกเว้นไม่ให้ออกหมายจับในวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประธานาธิบดีดูแตร์เตมีความพยายามที่จะกดดันองค์กรสื่อให้หยุดวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหลายครั้ง อาทิ ในปีที่ผ่านมา ดูแตร์เต ได้พยายามปิดกั้นการต่อสัญญาของสำนักข่าว ABS-CBN ที่กำลังจะหมดอายุในปี 2020 รวมถึงเขายังขู่ที่จะดำเนินคดีด้านภาษีในธุรกิจอื่นๆ ของเจ้าของสำนักข่าว the Philippine Daily Inquirer จนทำให้มีการประกาศขายกิจการในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์ไม่ใช่เพียงประเทศเดียวที่มีปัญญาด้านละเมิดเสรีภาพสื่อ เพราะจากการจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนในปีที่ผ่านมา ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดล้วนอยู่ในอันดับที่ไม่ดีนัก โดยมีเพียงติมอร์เลสเตเพียงประเทศเดียวที่อยู่ในท็อป 100 ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 133 ส่วนไทยเองอยู่ในอันดับที่ 140 จาก 180 ประเทศทั่วโลก
ที่มา
Tags: ฟิลิปปินส์, ดูแตร์เต, Maria Ressa