1
ฤดูหนาวในเบอร์ลิน ผับ และจิตวิปลาส

ในช่วงรอยต่อระหว่างฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวในเบอร์ลิน สรรพชีวิตเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ต้นไม้สลัดใบร่วงเกลื่อนเต็มพื้น เพื่อต้องการเก็บออมพลังงานและถนอมชีวิตให้ข้ามพ้นความเย็นเยียบตลอดระยะเวลา 6 เดือน  บรรดาสัตว์เล็กจำพวกนกและกระรอกบางชนิดต่างสาละวนเก็บตุนอาหาร ผู้คนในเมืองก็เช่นกัน…

เราอาจจะเห็นคนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มเปลี่ยนเสื้อผ้าให้รัดกุมและหนาแน่นขึ้น มนุษย์เราอาจปรับตัวเรื่องเครื่องนุ่งห่มง่ายกว่า ทว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมันไม่ใช่แค่เรื่องของอุณหภูมิ

Visual scape หรือ การไหลเวียนของการมองเห็น กลายเป็นเรื่องสำคัญที่รับมือได้ยากแสนสาหัส สภาวะที่ระยะทางสายตาของเราเริ่มถูกขวางกั้นด้วยหมอกและปริมาณแสงที่เริ่มน้อยลง จนเมืองทั้งเมืองกลายเป็นกองคอนกรีตทึมเทา  เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ชุดใหม่ที่ไหลเวียนเข้าสู่การมองเห็น Visual scape ในแง่นี้ สัมพันธ์กับจุดเริ่มต้นของการรับรู้ (perception) โลกผ่านความเปลี่ยนแปลงของมุมมอง

ฤดูกาลไม่ใช่สาเหตุ ทว่ามันก็นับเป็นบทเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางจิต

ที่เบอร์ลิน เราจะพบเห็นคลินิกให้คำปรึกษาและบำบัดทางจิตแทบทุกมุมตึก เราสามารถเดินหาคลินิกประเภทนี้จากห้องพักในเมืองได้ไม่เกินสิบนาที บางครั้งขึ้นรถเมล์ รถไฟ และรถใต้ดินก็จะพบคนยืนบ่นพึมพำคนเดียว แววตาเหม่อลอย คนกลุ่มนี้จำนวนมากเป็นวัยกลางคนขึ้นจนไปถึงวัยชรา บ้างก็เป็นคนไร้บ้าน ขณะเดียวกัน คนในช่วงวัยรุ่นและทำงานจำนวนมากมักเริ่มกินยาแก้โรคซึมเศร้าเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

ฤดูกาลไม่ใช่สาเหตุ ทว่ามันก็นับเป็นบทเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางจิต

รอยต่อแห่งฤดูกาลนี้เองเป็นช่วงเวลาที่ผมเดินทางเข้าไปพำนักในเบอร์ลิน การปรับตัวต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือ การเข้าไปในผับเพื่อพบปะเพื่อนใหม่ ผับที่ผมเข้าในช่วงแรก คือผับที่น่าสนใจที่สุดในความคิดของผม ที่นั่นเปรียบเสมือนที่พำนักของชนชราที่มีความหลังอันหลากหลาย เป็นดั่งผับของชุมชนที่คนหน้าเดิมมานั่งโขกหมากรุก เคล้าฟองเบียร์ บ้างก็ดื่มกาแฟ และกินอาหารเมนูซ้ำกันทุกวัน สมาชิกจำนวนไม่น้อยเคยเป็นศิลปินที่ไม่เคยขายงานได้และไม่เคยประสบกับความสำเร็จ แทบทุกคนเคยเผชิญหน้ากับชีวิตหลังจากความพ่ายแพ้ของสงครามและการที่เบอร์ลินถูกแบ่งออกเป็นตะวันออกและตะวันตก บางคนเคยนิยมในลัทธินาซีแต่ต้องมายอมรับความผิดพลาดของตนเองยามชรา หลายคนเคยสิ้นเนื้อประดาตัวและยังคงอยู่อย่างไร้ทรัพย์สิน

ที่สำคัญคือ ทุกคนยังคงอยู่เพียงลำพัง ทั้งยังเดินเข้าออกระหว่างคลินิกบำบัดทางจิตกับผับราวกับเป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง

ไม่แปลก ที่บทสนทนาในผับจึงมักมีเรื่องราวของความฝันอันเศร้าสร้อย บางเรื่องราวก็ดูเหนือจริงจนยากที่จะเชื่อ และบางครั้ง เราอาจพบว่าชายที่เคยดื่มเบียร์เงียบๆ คนเดียวในมุมสลัวของผับจะออกไปตะโกนลั่นข้างนอกแล้วเดินเข้ามาที่เดิมเพื่อสั่งเบียร์เพิ่มอีกแก้ว

ผมเคยเล่าประสบการณ์ในผับนี้ให้เพื่อนคนเยอรมันฟังและได้รับคำเตือนด้วยความหวังดี เขาบอกว่ามีผับจำนวนไม่น้อยที่รองรับคนซึ่งมีจิตสภาวะไม่สมประกอบหรือวิปลาส (insanity) เขาแนะนำให้ผมไปดื่มที่อื่น แน่นอน ผมตอบรับคำชวนของเขา แต่ก็ยังคงเดินเข้าผับแบบนี้อยู่เป็นประจำ

2
เพราะมีเหตุผล คนจึงเป็นบ้า

ในบรรดางานเขียนและการศึกษาความบ้า งานของ มิเชล ฟูโกต์ เรื่อง ความบ้าและกระบวนการทำให้เกิดความศิวิไลซ์: ประวัติศาสตร์ของความวิปลาสในยุคแห่งเหตุผล (Madness and Civilization: A History of Insanity in the Age of Reason) นับว่าเป็นงานอันดับต้นๆ ซึ่งถูกแนะนำให้อ่านในชั้นเรียนมหาวิทยาลัย รวมไปถึงผู้สนใจโดยทั่วไป

ในหนังสือเล่มนี้ เขาสนใจที่จะอธิบายความบ้า ไม่ใช่คนบ้า โดยเฉพาะความบ้าซึ่งถูกสร้างขึ้นผ่านบริบททางประวัติศาสตร์ของการถือกำเนิดขึ้นมาของยุคแห่งเหตุผล ควบคู่กับการพยายามพิทักษ์รักษามาตรฐานทางศีลธรรม

ยุคคลาสสิกของยุโรป หรือในช่วงปี 1660 จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงเป็นยุคที่ฟูโกต์ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงเวลานี้มีการก่อโครงสร้างของสังคมที่ทันสมัย อันเป็นฐานสำคัญของสภาวะความทันสมัย รวมไปถึงสถาบันที่รองรับโครงสร้างความทันสมัยต่างๆ

งานเขียนชิ้นนี้จึงกล่าวถึงการก่อกำเนิดของสถาบันสำคัญอย่างคุกและโรงพยาบาล ในฐานะสถานที่คุมขังคนบ้าเพื่อแยกคนบ้าออกจากชนศิวิไลซ์ในสังคม ขณะเดียวกัน สถาบันดังกล่าวยังทำหน้าที่บำบัดความบ้าให้หายไปจนเป็นปกติ  สิ่งที่น่าสนใจในงานเขียนชิ้นนี้ของฟูโกต์ก็คือคำอธิบายว่า ท่ามกลางการก่อเกิดของสถาบันที่ทันสมัยเหล่านี้ ศีลธรรมอันดีงามได้แทรกตัวอยู่และยังคงทำงานในยุคของเหตุผล โรงพยาบาลบ้าจึงมิได้ทำหน้าที่เยียวยาความบ้า แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในการชำระล้างคนบ้าให้มีความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนบ้าในความหมายของฮีสทีเรีย

สำหรับฟูโกต์ ความบ้าเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เขาศึกษาความบ้า มิใช่คนบ้า นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมไม่สนใจงานเขียนชิ้นนี้มากเท่าไรนัก เพราะผมเห็นว่าโลกของคนบ้าหรือคนที่ถูกตัดสินว่ามีปัญหาทางจิต กลับน่าสนใจมากกว่าการประกอบสร้างทางประวัติศาสตร์ของความบ้า โดยเฉพาะในสิ่งที่พวกเขาได้เห็นและรับรู้ ซึ่งมิอาจใช้สายตาแห่งเหตุผลเข้ามาเป็นมาตรวัด

โรงพยาบาลบ้าจึงมิได้ทำหน้าที่เยียวยาความบ้า แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในการชำระล้างคนบ้าให้มีความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนบ้าในความหมายของฮีสทีเรีย

มองจากจุดยืนเช่นนี้ เราอาจต้องหันกลับมาทลายกำแพงที่กั้นระหว่างเหตุผลและความบ้าทิ้งไป เนื่องจากโลกของเหตุผลได้ก่อกำแพงกีดกันความไร้เหตุผล (Unreason) ออกไป พร้อมเรียกขานอาการที่อยู่ด้านตรงข้ามของกำแพงแห่งเหตุผลผ่านถ้อยคำต่างๆ

ความเพ้อคลั่ง/ขาดสติ (Delirium) เป็นคำหนึ่งที่หยิบยืมมาจากคำว่า Deliro ในภาษาละติน อันหมายถึง การออกไปจากหนทางอันถูกต้องเหมาะสม ในบริบทนี้คือความเป็นเหตุเป็นผล ฟูโกต์ก็ใช้คำนี้เพื่ออธิบายรูปแบบสองประการของความเพ้อคลั่งในยุคคลาสสิก รูปแบบแรก อาการโดยทั่วไปของความบ้าที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย รูปแบบที่สองคือ รูปแบบหนึ่งของวาทกรรมในความสัมพันธ์อันบิดเบี้ยวที่คนบ้ามีต่อความจริง อาการเพ้อคลั่งจึงคล้ายกับชุดของภาษาที่ด้านหนึ่งคือสิ่งที่เหตุผลไม่สามารถอธิบายได้ ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือสิ่งที่ถือกำเนิดมาจากความเป็นเหตุเป็นผล

ความยอกย้อนของอาการเพ้อคลั่งนี้ คล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับคำว่า การเห็นภาพหลอน หรือ Hallucination เพราะนอกจากจะถูกโยนเข้าไปในอีกฝั่งฟากของกำแพงแห่งเหตุผลแล้ว  มันยังถูกมองและเชื่อว่าไม่ได้ดำรงอยู่จริง

งานเขียนของฟูโกต์ชิ้นนี้ แม้จะไม่ได้ศึกษาคนบ้าโดยตรง แต่งานของเขาก็ทำให้เกิดภาพวาดในเชิงอุปลักษณ์ขึ้นมา ในฐานะกำแพงซึ่งกั้นอยู่ระหว่างโลกของเหตุผลและความไร้เหตุผล และกำแพงนี้เปรียบเสมือนขอบเขตในการกำหนดความรับรู้เกี่ยวกับความจริง

ในแง่นี้ งานเขียนของเขาจึงสำคัญในแง่ที่ทำให้ตัวของผมเข้าใจกำแพงที่ก่อขึ้นมากั้นการรับรู้โลกทั้งสองใบ ก่อนที่จะกระโจนเข้าไปในโลกของความบ้าอย่างเต็มตัว

จะว่าไป ฟูโกต์ก็ให้ความสำคัญกับการข้ามกำแพงนี้อยู่เหมือนกัน บางส่วนของงานเขียนชิ้นนี้สนใจการเข้านอกออกในระหว่างโลกของเหตุผลและความบ้า ประเด็นนี้ ดูเหมือนฟูโกต์จะให้ความสำคัญกับกลุ่มศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะเป็นสำคัญ เช่น เขาเอ่ยถึง อองโตแนง อาร์คโตด์ (Antonin Artaud, 1896-1948) ศิลปิน นักเขียน และนักทฤษฏีทางการละครชาวฝรั่งเศส  เจ้าของผลงานสำคัญที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการละครศึกษาคือ The Theater and its Double  เขาเป็นที่รู้จักกันอีกแง่มุมหนึ่งว่า ผลงานสร้างสรรค์ของเขามีแกนกลางมาจากความบ้า

ฟูโกต์กล่าวถึงความบ้าของเขาในฐานะสิ่งที่ไม่ปรากฏและซ่อนเร้นอยู่ในการผลิตงานศิลปะ ขณะเดียวกันชีวิตของ อาร์คโตด์ เองก็ต่อสู้ดิ้นรนระหว่างความสร้างสรรค์และความวิปลาส ราวกับเป็นการสลับเข้าออกระหว่างโลกที่เขาดำรงร่วมกับคนอื่นกับโลกที่เขาอยู่เพียงลำพัง

สำหรับฟูโกต์ การสร้างสรรค์งานศิลปะจำนวนไม่น้อยเชื่อมโยงและได้รับแรงบันดาลใจจากความบ้า  ทว่า มันก็สามารถทำลายการผลิตผลงานทางศิลปะได้เช่นกัน

ฟูโกต์กล่าวถึงอาร์คโตด์เพื่ออ้างอิงถึงความวิปลาสที่ส่งผลถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะเท่านั้น มิได้วิเคราะห์ตัวตนของเขาในเชิงลึกมากมายนัก เฉกเช่นกับ มีเกล เซร์บันเตส (Miguel Cervantes, 1547-1616) นักประพันธ์ชื่อดังชาวสเปนผู้ประพันธ์ ดอน กิโฆเต้ (Don Quixote)  สำหรับฟูโกต์ ดอน กิโฆเต้คือตัวละครที่เซร์บันเตสประพันธ์ขึ้นมาในฐานะสัญลักษณ์ซึ่งบูรณาการเอาความบ้า (Madness) เข้าสู่ชีวิตในช่วงฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ความบ้าและเพ้อฝันของตัวละครซึ่งเป็นขุนนางต่ำชั้นคนหนึ่งจึงกลายเป็นภาพสะท้อนขอบเขตอันไกลสุดของความเป็นจริง (Ultimate limit of reality)

ความไร้เหตุผลนับเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในสังคมที่ทันสมัย ราวกับมีกำแพงไร้รูปกางกั้นระหว่างความศิวิไลซ์และความบ้า สำหรับฟูโกต์ การสร้างสรรค์งานศิลปะจำนวนไม่น้อยเชื่อมโยงและได้รับแรงบันดาลใจจากความบ้า ความบ้าในลักษณะนี้อาจเชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ ทว่า มันก็สามารถทำลายการผลิตผลงานทางศิลปะได้เช่นกัน

ผลงานทางศิลปะสามารถเผยให้เห็นถึงการทำงานของความไร้เหตุผล ขณะเดียวกัน ความไร้เหตุผลก็คือจุดจบของการสร้างผลงานทางศิลปะได้อีกเช่นกัน สภาวะอันยอกย้อนเช่นนี้เองคือภาพที่ฟูโกต์วาดไว้ถึงการข้ามกำแพงไร้รูปหรือการเข้านอกออกในระหว่างโลกสองใบ  อย่างไรก็ตาม ความบ้าในความหมายที่เชื่อมโยงกับศิลปะของเขาจำเป็นต้องวางอยู่ในพื้นฐานของโลกแห่งเหตุผล การสร้างสรรค์จึงจะบังเกิดขึ้นและได้รับการยอมรับ แม้ฟูโกต์จะเขียนถึงความบ้าได้อย่างน่าสนใจ เขาทำให้เราเห็นถึงโลกที่เหตุผลสร้างขึ้นและในโลกใบนั้นมีกำแพงกั้นระหว่างความศิวิไลซ์และความบ้าปรากฏอยู่ภายใน แต่เขาก็มิเคยกระโดดไปสู่โลกของคนบ้าอย่างแท้จริง

3
มองโลกผ่านสายตาคนบ้า กับการทำลายกำแพงล่องหน

เหตุใดเราจึงต้องมองผ่านสายตาของคนบ้าและคนซึ่งถูกกล่าวหาว่าบ้า? ผมถามตัวเองหลายต่อหลายครั้งยามที่เข้าไปนั่งดื่มกับชนชราและรับฟังเรื่องราวอันเหลือเชื่อในผับแห่งนั้น คำเตือนของเพื่อนเกี่ยวกับอันตรายของคนประเภทนี้เริ่มถี่ขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่พวกเขาทราบว่าผมขยับจากการพูดคุยกับคนในผับมาสู่การสัมภาษณ์คนไร้บ้านซึ่งพักอาศัยอยู่ริมทางเท้า

ในกลุ่มอ่านหนังสือของพวกเรา หนังสือของฟูโกต์เล่มที่กล่าวถึงนี้จัดว่าเป็นภาคบังคับที่ทุกคนต้องอ่านแล้วมานั่งถกเถียงกัน ผมให้ความสำคัญกับการทำงานของฟูโกต์ก็จริง แต่ด้วยอคติส่วนตัว ผมโต้แย้งกับเพื่อนว่า นอกจากเขาไม่ได้กระโจนเข้าสู่โลกของคนบ้าแล้ว ข้อจำกัดของฟูโกต์ที่สำคัญคือการที่เขายังคงยึดอยู่กับกระบวนการทำงานของเหตุผล กระทั่งน้ำหนักของการทำความเข้าใจโลกของความไร้เหตุผลหรือความบ้าถูกทอนให้น้อยลง ลำพังการหยิบยกกรณีการทำงานทางศิลปะ ก็ออกจะเป็นการมอบสิทธิพิเศษให้กับศิลปินไปสักหน่อย เมื่อเปรียบกับจำนวนคนอีกมากมายที่บ่นพึมพำอยู่ลำพังข้างทาง หรือคนซึ่งเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นและรับรู้ถึงสิ่งที่คนทั่วไปมิอาจรับรู้

นอกจากเขาไม่ได้กระโจนเข้าสู่โลกของคนบ้าแล้ว ข้อจำกัดของฟูโกต์ที่สำคัญคือการที่เขายังคงยึดอยู่กับกระบวนการทำงานของเหตุผล

ข้อจำกัดทางวิธีวิทยาเช่นนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เรายังคงติดอยู่ในกรงขังของเหตุผล ด้วยการสร้างความเป็นเป็นเหตุเป็นผลให้กับสรรพสิ่ง รวมไปถึงสิ่งที่มิอาจอธิบายด้วยเหตุผล

แน่นอน ข้อถกเถียงระหว่างเพื่อนกับผมกินระยะเวลาที่ยาวนานเกินกว่าจะบอกเล่าได้ในที่นี้ ครั้งนั้นผมปิดบทสนทนาว่า ด้วยการมองผ่านสายตาของคนบ้า ความบ้าต่างหากที่จะทำให้เราเข้าใจถึงขอบเขตอันไกลสุดของความเป็นจริง การกระทำเช่นนี้จึงจะสามารถทำลายกำแพงล่องหนซึ่งกั้นระหว่างความศิวิไลซ์และความบ้าลงไปได้ และเมื่อเราทำลายกำแพงนี้ลงได้ เราจึงจะสามารถกำหนดสร้างความเป็นมนุษย์ในรูปแบบใหม่ขึ้นมาได้

ผมทิ้งท้ายว่า หากการก่อสร้างกำแพงคือ State of being การทำลายกำแพงก็ต้องนับว่าเป็น State of being อีกรูปแบบหนึ่ง

ฤดูหนาวปีนั้นที่เบอร์ลิน ผมตัดสินใจข้ามกำแพงนั้นไปสู่โลกของความบ้า โดยพกพาแนวคิดว่าด้วยการไหลเวียนของการมองเห็นเข้าไปด้วย พร้อมกับยาแก้โรคซึมเศร้าที่เพื่อนยื่นให้

 

 

 

ติดตามตอนต่อไป
รูปแบบของกำแพง: กำแพงระหว่างความศิวิไลซ์และความบ้า (จบ)

Tags: , , ,