ท่ามกลางบริบทสังคมโลกที่ประเด็นคนรักเพศเดียวกันกลายเป็นประเด็นที่สื่อไหนๆ ก็พูดถึง น่าสนใจว่าเมื่อไรที่พูดถึงประเด็นนี้ทีไร มันก็มักจะมาพร้อมกับเรื่องเซ็กซ์เสมอ เช่นถ้าเห็นหนังเกย์เมื่อไรต้องมีฉากร่วมรักเมื่อนั้น อาจเป็นเพราะเพศสัมพันธ์เป็นคีย์หลักที่เอาไว้แยกว่า คุณจะมีเพศวิถีแบบไหน ดังนั้นการจะพูดประเด็นเรื่องคนรักเพศเดียวกันจึงต้องขมวดเอาเรื่องเซ็กซ์เข้าไปไว้ด้วยโดยปริยาย

แต่ล่าสุด การปรากฏขึ้นของภาพยนตร์เรื่อง Love, Simon ในฐานะภาพยนตร์เกย์ที่ถูกจำแนกประเภทว่าเป็นโรแมนติกคอมเมดี้นี้ กลับเบลอประเด็นเรื่องเพศสัมพันธ์และหันไปขับเน้นประเด็นความสัมพันธ์อันแสนสามัญของคู่รักเกย์

ความสามัญนี้บอกอะไรแก่เรา? และในความสามัญนี้สำคัญอย่างไร?

Love, Simon เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดยเกร็ก เบอร์แลนที (Greg Berlanti) และดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง Simon vs. the Homo Sapiens Agenda ของเบ็กกี้ อัลเบอร์ทัลลี (Becky Albertalli) บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่ม ไซม่อน ผู้ไม่กล้าเปิดเผยตัวตนว่าเป็นเกย์ต่อคนรอบข้าง รวมถึงเพื่อนสนิทและคนในครอบครัว

แต่วันหนึ่ง เขาเกิดรู้ว่ามีเพื่อนร่วมโรงเรียนที่ใช้นามแฝงว่า ‘บลู’ เข้าไปเปิดเผยว่าตัวตนว่าเป็นเกย์ในเว็บบอร์ดของโรงเรียนซึ่งมีชื่อว่า Creeks’s Secrets ไซม่อนพยายามติดต่อกับบลูโดยใช้นามแฝงว่า ‘ฌาคส์’ ทั้งสองคุยกันผ่านอีเมลแบบลับๆ จนกระทั่งวันหนึ่งไซม่อนใช้คอมพิวเตอร์ในห้องสมุดเพื่อส่งอีเมลตอบบลูแต่ลืมล็อกเอาต์ออกจากระบบ ‘มาร์ติน’ ซึ่งแอบชอบ ‘แอ๊บบี้’ เพื่อนสนิทของไซม่อนมาเห็นเข้า จึงเก็บรูปหน้าจอการสนทนานี้เอาไว้ เพื่อนำไปเป็นข้อต่อรองให้ไซม่อนช่วยเขาจีบแอ๊บบี้

แต่เมื่อแอ๊บบี้ก็ปฏิเสธความรักของมาร์ติน มาร์ตินจึงนำความลับของไซม่อนมาแฉผ่าน Creeks’s Secrets การเปิดเผยตัวตนแบบไม่ได้ตั้งใจนี้ ทำให้ไซม่อนต้องพยายามปรับความเข้าใจกับคนรอบข้าง และสุดท้ายคนเหล่านั้นเข้าใจและให้กำลังใจเขา ทำให้เขามีความสุขกับสิ่งที่เป็นและสมหวังกับความรักในตอนท้ายเรื่อง

คงต้องบอกว่าเป็นหนังเกย์ไม่กี่เรื่องที่จบสวย แต่การ ‘จบสวย’ นี้อยู่บนพื้นฐานของอะไร และมีผลตอบรับเป็นอย่างไรในสายตาคนดู

ความปกติสุดพิเศษของ Love, Simon

ประเด็นหลักที่น่าสนใจคือ Love, Simon กลับมาพูดเรื่องราวความรักของเกย์ในอีกรูปแบบที่ไม่ได้เต็มไปด้วยเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่กลับเป็นความรักสามัญที่เกิดได้กับมนุษย์ทุกคน  

เป็นไปได้ไหมว่า Love, Simon ในบริบทของประเทศอื่นๆ กำลังจะบอกกับเราว่า สังคมไม่ได้ต้องการสำรวจความเป็นเกย์หรือต้องสร้างความเข้าใจผ่านเพศสัมพันธ์ที่เป็นตัวชี้วัดว่าคุณจะเป็นเพศอะไรอีกต่อไปแล้ว แต่ภาพยนตร์มองเกย์เหมือนคนทั่วๆ ไป มองความรักของเกย์แบบโรแมนติกได้ไม่ต่างจากความรักของชายกับหญิง เหมือนที่หนังสือพิมพ์ The Guardian ได้อธิบายไว้ว่า “ภาพยนต์กระแสหลักเริ่มทำให้ประเด็นความรักของเกย์เป็นเหมือนเรื่องราวความรักของคนทั่วไป”

ด้วยเหตุนี้ ถ้าใครหวังว่าจะไปดูฉากฟินๆ ก็บอกได้เลยว่าอาจจะต้องผิดหวัง เพราะตลอดทั้งเรื่องคนดูจะไม่เห็นฉากเปลือยหรือฉากเซ็กซ์ มากสุดก็แค่เพียงเกย์สองคนอยู่ใกล้กัน จูบกันบนชิงช้าสวรรค์เหมือนเจ้าชายกับเจ้าหญิงในการ์ตูนดิสนีย์  ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นไปตามคำพูดประโยคเปิดเรื่องของไซม่อนที่ว่า “ผมก็เป็นเหมือนกับคุณนั่นแหละ”

แม้หนังเรื่องนี้จะโดนวิจารณ์ไม่น้อยว่าแสนจะเป็นโลกในอุดมคติและละเลยในหลายประเด็น เช่น ไซม่อนเป็นคนขาว อยู่ในบ้านที่ครอบครัวมีเงิน และมีแม่เป็นเฟมินิสต์หัวก้าวหน้า การเปิดเผยตัวตนจึงอาจจะไม่ได้ยากลำบากเหมือนกับเกย์ในชีวิตจริง

แต่การวิจารณ์ประเด็นนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะภาพยนตร์ Love, Simon ได้นำเสนอตัวละครอย่าง ‘อีธาน’ ตัวละครเกย์ผิวดำผู้ออกสาวชัดเจน และเป็นคนที่อธิบายให้ไซม่อนฟังว่า แม้ว่าเขาจะออกสาว ซึ่งดูเผินๆ แล้วการเปิดเผยตัวตนให้คนรอบข้างรู้ก็ดูไม่ได้จะเป็นเรื่องยากเท่าไร เพราะคนรอบตัวก็ดูเหมือนจะรู้อยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง แม่ของเขาก็ยังต้องโกหกตายายที่เป็นคนเคร่งศาสนาว่าอีธานไปออกเดทกับสาวๆ เมื่อไปทานข้าวเย็นกับพวกเขาทุกวันอาทิตย์

การใส่อีธานเข้ามาในเรื่องน่าจะเป็นความพยายามในการที่จะบอกว่า หนังไม่ได้ละเลยประเด็นสำคัญๆ เช่น เรื่องชนชั้นหรือศาสนาหรอก แต่แค่อยากจะนำเสนอความรักและความสัมพันธ์ของเกย์ที่แมสมากๆ มากแบบที่หนังส่วนใหญ่ทั่วๆ ไปเป็น และในความแมสของความสัมพันธ์เกย์ใน Love, Simon นี่แหละที่น่าจะเป็นคลื่นลูกแรกๆ ซึ่งฟ้องว่าความเป็นเกย์ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญขึ้นไปทุกที สวนทางกับอคติที่น้อยลงไป

อย่างไรก็ตาม เราก็จะปล่อยให้เป็นข้อถกเถียงของประเทศที่เจริญแล้วเขาเถียงกันต่อไป หันมากลับมาดูหนังเกย์กระแสหลักในประเทศไทย ตำแหน่งแห่งที่ของความเข้าใจความสัมพันธ์ของเกย์ในสังคมอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับ Love, Simon  

จดหมายรักขอไซม่อนที่คนไทยควรอ่าน

คิดๆ ดูแล้ว หากเทียบ Love, Simon  กับภาพยนตร์เกย์ไทยสักเรื่องที่พอจะมีจุดร่วมใกล้เคียงกันบางคงจะเป็น รักแห่งสยาม ในเรื่องความพยายามเปิดเผยตัวตนและความรักความสัมพันธ์ของเกย์วัยรุ่น แต่การเทียบกันใน พ.ศ. นี้ก็อาจจะไม่ยุติธรรมสำหรับ รักแห่งสยาม เท่าไรที่ก็ขาดไปในหลายประเด็นที่ Love, Simon มี เพราะ รักแห่งสยาม ก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีในช่วงเวลาของมัน

แต่ล่วงเลยมาจนถึง พ.ศ. นี้ มีภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนในสื่อกระแสหลักบ้างที่เทียบกันได้?… และแม้ว่าประเด็นการเปิดเผยตัวตนของเกย์ในเรื่อง Love, Simon  จะถูกตั้งคำถามจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ต่างชาติไม่น้อยว่ามันยังจำเป็นอยู่หรือไม่สำหรับสังคมอเมริกา แต่สำหรับสังคมไทย… มันจำเป็นแน่นอน

ตลอดทั้งเรื่อง เราจะเห็นว่าหนังพยายามชูประเด็นเรื่องคนทุกคนคือมนุษย์ เช่นตอนที่ครูเวิร์ธ รองผู้อำนวยการโรงเรียนพูดกับไซม่อนว่า “รอง ผอ. ออกเดทไม่ได้หรอก แหวะ (เสียงประชด) จริงๆ ฉันก็ชอบออกไปเที่ยวข้างนอก ชอบmujจะมีช่วงเวลาดีๆ ชอบที่จะได้มีเซ็กซ์ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ใช่มั้ย”

ไซม่อนตอบกลับไปว่า “ไม่ครับ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผมก็คิดว่าครูเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งนั่นแหละ”

เห็นได้จากบทสนทนานี้ว่า ยังไม่ต้องไปให้ถึงประเด็นเกย์ หนังเรื่องนี้ก็เผยให้เห็นถึงความประสงค์ของตนแต่แรกเริ่มว่าอยากจะสื่อสารอะไรกับคนดู คือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศไหน ทำอาชีพอะไร มนุษย์ทุกคนก็อยากจะมีความสุข อยากจะมีความรักด้วยกันทั้งนั้น

ครูเวิร์ธมีบทบาทที่น่าจับตามองอีกครั้งเมื่อสั่งลงโทษนักเรียนสองคนที่ไปล้อไซม่อนหลังจากที่เขาโดนเปิดเผยตัวตนผ่านอินเทอร์เน็ตว่าเป็นเกย์ คีย์เวริ์ดที่สำคัญคือคำว่า “tolerance” ที่อาจแปลเป็นไทยได้อย่างไพเราะว่า “การมีขันติธรรมต่อความแตกต่าง” ซึ่งก็ได้มีการอธิบายความหมายกันไป

แต่สิ่งที่ดูเหมือนภาพยนตร์กำลังประชดประชันคือ ในขณะที่ครูเวิร์ธสอนความหมายคำคำนั้นให้กับนักเรียนเอง เขาก็ดูมีท่าที่จะเข้าใจความเป็นเกย์แบบผิดๆ รวมถึงอาจไม่มีขันติธรรมนั้นด้วยซ้ำ แต่มันจะสำคัญอะไร เพราะเพียงแค่คนดูเข้าใจความไม่เข้าใจของครูเวิร์ธ หนังก็สัมฤทธิ์ผลในตัวมันแล้ว

อีกหนึ่งเรื่องที่ดูเหมือนหนังเรื่องนี้จะย้ำบ่อยๆ คือเรื่อง ‘สิทธิ์’  เมื่อมาร์ตินเข้ามาขอโทษไซม่อนโดยอธิบายว่า เขาไม่คิดว่าการบอกความลับของไซม่อนจะทำให้คนทั่วไปมองไซม่อนแย่ขนาดนี้ ไซม่อนตอกกลับไปว่า  “นายไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจ ฉันเองต่างหากที่ควรมีสิทธิ์ตัดสินใจว่า เมื่อไร ที่ไหน และกับใคร ที่ฉันอยากจะให้เขารู้ มันเป็นสิทธิ์ของฉัน ซึ่งแกเอามันไปจากฉัน”

ประเด็นเรื่องนี้ถูกย้ำอีกครั้งตอนที่แม่ของไซม่อนพยายามปรับความเข้าใจกับเขา แม่พูดว่า “แม่รู้ว่าลูกมีความลับ (…) แม่เคยอยากจะถามเรื่องนั้นเหมือนกัน แต่ไม่อยากละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัว” คำพูดนี้แสดงให้เห็นว่า แม่ของไซม่อนเชื่อว่าแต่ละคนมีสิทธิ์ในชีวิตที่จะเลือกทำหรือไม่ทำอะไรด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ในฐานะแม่ เธอก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของชีวิตลูกซึ่งสามารถเข้ามาจัดการทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องเพศ เพราะเมื่อเราเชื่อว่าคนทุกคนมีสิทธิ์ในชีวิตของตัวเอง มันจึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะเคารพการเลือกทางเดินของชีวิตของเขา

การทำความเข้าใจเรื่องเกย์หรือความหลากหลายทางเพศจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปสำหรับสังคมที่คนเชื่อว่าตัวเองมีสิทธิ์ของตัวเอง บวกกับการที่ไซม่อนเกิดมาในครอบครัวที่มีแม่เป็นเฟมินิสต์ สำหรับเขามันจึงยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่  

ยกตัวอย่างคำพูดของแม่ที่ปลอบประโลมไซม่อนและสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน อาจทำให้เกย์ไทยสะเทือนใจ

การเป็นเกย์มันเป็นเรื่องของลูก มีหลายสิ่งที่ลูกต้องเผชิญตามลำพัง ซึ่งแม่ไม่ชอบเลย ตอนที่ลูกบอกกับแม่ว่า “(ผมเป็นเกย์) แต่ผมยังเป็นคนเดิม” แม่อยากให้ลูกฟังคำนั้นจากปากแม่มากกว่า ลูกยังเป็นลูกคนเดิมที่ชอบหยอกแม่ เป็นลูกชายคนเดิมที่พ่อพึ่งพาได้ทุกเรื่อง เป็นพี่ชายของน้องสาวที่ชิมอาหารที่น้องทำ และชื่นชมน้องทุกครั้งแม้ว่าอาหารจะไม่อร่อย ลูกหยุดกลั้นหายใจเสียที ลูกสามารถเป็นตัวของตัวเองอย่างที่ลูกอาจไม่เคยเป็นมาก่อน ลูกคู่ควรกับทุกสิ่งที่ลูกปรารถนา

ตามมาด้วยคำพูดของพ่อ ที่แสนจะเป็นสไตล์ผู้ชายแมนๆ แบบมาโช (macho) แต่อ่อนโยนเหลือเกินเมื่อต้องปรับความเข้าใจกับสิ่งที่ลูกเป็น

พ่อขอโทษ พ่อรักและภูมิใจในตัวลูก พ่อจะไม่เปลี่ยนอะไรในตัวลูกเลย

ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะได้ยินสิ่งเหล่านี้ในครอบครัวเราเอง? เป็นไปได้ไหมที่เราจะเห็นพ่อแม่ยอมรับในตัวลูกและในสิ่งที่ลูกเป็น โดยไม่เรียกร้องว่า “จะเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี”… ทำไมต้องเป็นคนดี? และ ‘ดี’ สำหรับใคร? ไม่เป็นคนดีแล้วเป็นเกย์ที่เป็นมนุษยธรรมดาเหมือนคนทั่วๆ ไปไม่ได้หรือ? คนทั่วไปที่มีดีมีเลวและทำผิดได้ไม่ต่างกัน

พอไหมกับการบอกตัวเองว่าเป็นคนดีเลยได้รับการยอมรับ?

พอไหมกับการบอกว่าตัวเองเป็นเพศสร้างสรรค์?

เราไม่อยากเป็นคนทั่วไปที่เดินตามท้องถนนโดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าใครจะมองเราด้วยอคติหรือ?

ความอึดอัดกดดันทั้งหมายนี้จะถูกตอบด้วยจดหมายฉบับสุดท้ายของไซม่อนใน Creeks’s Secrets  

“ถึงเพื่อนที่โรงเรียนครีกวูด

“ใครก็ตามที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ คงรู้ว่าโพสต์เมื่อไม่นานมานี้ประกาศว่าผมเป็นเกย์ แม้ว่าประกาศนี้จะมีที่มาที่เลวร้าย แต่มันคือเรื่องจริง ผม เป็น เกย์

“ผมฝืนตัวเองมานานเพื่อปิดบังความจริงนี้ ผมแค่คิดว่ามันไม่ยุติธรรมที่มีแค่เกย์เท่านั้นที่ต้องมาเปิดเผยตัวตน แต่จริงๆ แล้วผมแค่กลัวความเปลี่ยนแปลง ที่แรกคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นกับเกย์ แต่มันก็เป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นไม่น้อยที่ต้องสารภาพ เพราะถ้าเกิดโลกไม่ชอบเราขึ้นมาละ (…)

“พอทีกับความกลัว พอทีกับการไม่เป็นตัวเอง ผมคู่ควรที่จะมีเรื่องราวความรักที่ยิ่งใหญ่ (…)

“ก็อย่างที่ฉันบอกเอาไว้ตั้งแต่ต้น ฉันก็เหมือนนาย บลู หลังละครเวทีในคืนวันศุกร์จบ นายรู้แน่ว่าฉันจะไปที่ไหน ไม่ได้กดดันให้นายมา แค่คาดหวังว่านายจะมา เพราะนายก็คู่ควรกับเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่เช่นกัน”

ไซม่อนไม่ได้บอกว่าตัวเองต้องทำความดีเพื่อแลกมากับการยอมรับ ไซม่อนไม่ได้เคลมความพิเศษเหนือเพศอื่น แต่ไซม่อนเรียกร้องในสิ่งสามัญที่มนุษย์พึงมี นั่นคือความรัก คนทุกคนคู่ควรที่จะมีประสบการณ์ความรักที่ยิ่งใหญ่

นานเท่าไรแล้วที่ความรักของเกย์ถูกปิดบัง แอบซ่อน และถูกสร้างตราบาป การเรียกร้องในสิ่งที่สามัญของไซม่อนจึงยิ่งใหญ่และทรงพลัง แน่นอนว่าไซม่อนคงไม่ได้ชวนแค่บลู เพราะหากคุณคือคนที่ปิดบังตัวเองอยู่และไม่กล้าบอกให้ใครรู้ คุณก็ถูกเชื้อเชิญจากไซม่อนให้ออกไปมีประสบการณ์ความรักอันยิ่งใหญ่เหมือนคนเพศกระแสหลักทั่วไปที่เขามี

พูดตรงๆ ว่าฉันเองก็รู้สึกเหมือนแม่ของไซม่อน ที่บอกว่าเขาดูอึดอัดเหมือนกับเขา “กลั้นหายใจ” อยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง แต่อีกใจก็อดอิจฉาไม่ได้ว่าในตอนท้ายเรื่อง เขามีโอกาสได้ขึ้นไปสูดอากาศเต็มปอดบนชิงช้าสวรรค์กับคนรักของเขา

หันกลับมาเช็กลมหายใจของตัวฉันเอง ฉันก็คิดว่าฉันหายใจคล่อง แม้ว่าจะมีแน่นหน้าอกบ้าง แต่หายใจออกในสังคมนี้ก็ถือว่าโชคดีแค่ไหนแล้ว

แล้วลมหายใจของคุณเป็นอย่างไรบ้าง? ฉันเองก็ได้แต่หวังว่าเราจะหายใจคล่องกันขึ้นเรื่อยๆ

และคงจะได้ขึ้นไปหายใจแบบสุดปอดบนยอดชิงช้าสวรรค์แบบไซม่อนสักวัน

ด้วยรัก,

ณัฐ

Tags: , , , , ,