ในวัย 21 หญิงสาวคนนี้เข้าไปพัวพันอยู่ในความสัมพันธ์แบบสามคนโดยปราศจากเซ็กซ์ ชายสองคนในความสัมพันธ์นั้นคือ ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) และเพื่อนของเขาพอล เร (Paul Rée) ทั้งสองชายได้ใกล้ชิด หากแต่ไม่ได้ใจเธอ นั่นเพราะลู ฟอน ซาโลเม’ (Lou von Salomé) สาวลูกครึ่งรัสเซียนเยอรมันรูปงามถือใจตนเองเป็นสำคัญ และไม่เคยฝันอยากเติมเต็มความคาดหวังของใคร

ซาโลเมเกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1861 ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แม่เป็นชาวเยอรมันจากเมืองฮัมบวร์ก ส่วนพ่อเป็นนายทหารยศนายพลของพระเจ้าซาร์ ตั้งแต่วัยเด็กเธอมักปฏิเสธที่จะสวมใส่เสื้อผ้าชุดงามหรือบ่ายเบี่ยงที่จะไปงานบอลล์ และเธอก็มีความขัดแย้งกับพระผู้เป็นเจ้า เธอจึงไม่ยอมรับในคำสอน และถอนตัวออกจากโบสถ์เช่นกัน

ความดื้อดึง เอาแต่ใจตัว ยังกลายเป็นนิสัยสืบเนื่องถึงช่วงวัยสาว ซาโลเมปฏิเสธคำขอแต่งงานของบาทหลวงวัยแก่กว่า 25 ปีที่เป็นครูสอนปรัชญา และเพราะความใคร่รู้ใคร่เรียนใคร่รู้จักโลก ปี 1880 เธอจึงโยกย้ายไปอยู่เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าฟังบรรยายวิชาเทววิทยา ปรัชญา และตรรกวิทยาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจำนวนไม่กี่แห่งของยุโรป ที่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าเรียนได้

ที่ไหนก็ตามที่ซาโลเมเยื้องกรายเข้าไป ความเฉลียวฉลาด ความเย้ายวน แต่ยากที่จะเข้าถึงตัวของเธอมักสร้างแรงจูงใจให้ใครต่อใครเสมอเราพลัดหลงเข้ามาบนดาวดวงไหนกันหรือนีตซ์เชเคยรำพึง เมื่อแรกเห็นเธอในกรุงโรมปี 1882 เธอเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิด และผู้ปราดเปรื่องที่สุดในบรรดาสตรีเพศหรือคำชื่นชมอีกมากมาย แต่ไม่เคยเป็นประโยชน์สำหรับเขาเลยแม้แต่น้อย

ทัศนคติแบบชายมาโช (macho) ของนีตซ์เชที่ว่าชายทุกผู้ควรได้รับการเลี้ยงดูให้เป็นนายทหารและผู้หญิงคือที่พักพิงของทหารไม่เคยได้ผล ซาโลเมปฏิเสธคำขอแต่งงานของนีตซ์เชถึงสองครั้งสองคราว รวมทั้งอีกครั้งหนึ่งของพอล เร   

ภาพถ่ายที่มีชื่อเสียงจากปี 1882 ของทั้งสามคนเกิดขึ้นในสตูดิโอเมืองลูเซิร์น ครั้งนั้นนีตซ์เชเป็นคนจัดการให้ซาโลเมนั่งชันเข่าบนรถลาก ในมือข้างหนึ่งถือแส้ มืออีกข้างถือบังเหียน นีตซ์เชและเรยืนอยู่ที่ด้านหน้ารถลาก นัยน์ตาจ้องมองไปที่กล้อง แสดงสีหน้าคล้ายเด็กหนุ่มโดนจับได้ว่าสูบบุหรี่ในโรงเรียน

จะเข้าหาผู้หญิงอย่างนั้นหรือ จงอย่าลืมแส้เล่าเป็นเสียงกระซิบของหญิงชราในหนังสือ Also sprach Zarathustra (คือพจนาซาราทุสตรา, 1883) ของนีตซ์เชในเวลาต่อมา แต่ก่อนหน้าเป็นเขานี่ละที่ต้องทนทุกข์กับแส้จากการโบยตีของซาโลเม กระทั่งเขาเริ่มหมดความอดทน แล้วความสัมพันธ์แบบสามคนของพวกเขาก็ถึงจุดสิ้นสุด พร้อมการโยกย้ายไปกรุงเบอร์ลินของซาโลเมและเร เพื่อสร้างงานในแวดวงการศึกษาร่วมกัน

ปี 1885 ลู ซาโลเมมีผลงาน Im Kampf um Gott (ในการต่อสู้เพื่อพระเจ้า) ออกมา เป็นนิยายที่เธอเขียนเกี่ยวกับการสูญเสียความเชื่อและศรัทธา นักวิจารณ์กล่าวถึงผลงานของเธอในแง่บวก ทำให้ชื่อเสียงของเธอเริ่มขจรขจายไปทั่วเบอร์ลิน

…..

ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนกับเรสิ้นสุดลง เมื่อลู ซาโลเมตัดสินใจแต่งงานในปี 1887 กับฟรีดริช คาร์ล อันเดรียส (Friedrich Carl Andreas) ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออก เคยสอนภาษาเตอร์กิชและอิหร่านในกรุงเบอร์ลิน ก่อนย้ายไปเป็นอาจารย์ภาควิชาปรัชญาอิหร่านที่มหาวิทยาลัยเกิตทิงเงนในเวลาต่อมา

อันเดรียสเคยเน้นย้ำความตั้งใจที่จะแต่งงานกับเธอเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า ด้วยการพยายามฆ่าตัวตายต่อหน้าเธอ และเธอโอนอ่อนตามด้วยความรู้สึกคล้ายถูกกรรโชก แต่เธอก็ยังตั้งข้อแม้ได้ว่า ห้ามมีความสัมพันธ์ทางร่างกายระหว่างครองคู่ ซึ่งเขาก็ยอมรับ ชีวิตคู่ของเธอจึงดูราบรื่น เป็นสุข ในยุคที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคาร และจะประกอบอาชีพอื่นใดได้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้เป็นสามีเท่านั้น

ซาโลเมเพิ่งมาเสียพรหมจรรย์ครั้งแรกก็ตอนอายุ 36 ปี กับไรเนอร์ มาเรีย ริลเค (Rainer Maria Rilke) กวีเชื้อชาติโบฮีเมียนออสเตรียน วัยอ่อนกว่า 15 ปี ที่เธอเปลี่ยนชื่อหน้าของเขาในบันทึกจากเรเน’ (René) เป็นไรเนอร์ ตามคำบอกเล่าของเธอในหนังสือ Lebensrückblick (Life Review) ซึ่งรวบรวมและตีพิมพ์ในปี 1951 หลังจากเธอเสียชีวิตแล้ว 15 ปี

ระหว่างที่ซาโลเมคลุกคลีอยู่กับกวีหนุ่ม อันเดรียสสามีของเธอก็หลงระเริงอยู่กับสาวใช้ในบ้าน ซาโลเมอาสาตรวจแก้งานบทกวีให้ริลเค อีกทั้งยังร่วมเดินทางกับเขาไปรัสเซีย เพื่อเยี่ยมเยียนเลโอ ตอลสตอย กระทั่งริลเคเข้าใกล้เธอมากเกินไป เธอจึงเริ่มผลักไสเขาออกจากตัว แต่เธอยังยึดมั่นในอุดมคติฉันซื่อสัตย์ต่อความทรงจำเสมอ

อันเดรียสมีลูกสองคนกับสาวใช้ คนหนึ่งตายตอนแรกเกิด เมื่อเขาถูกเรียกตัวไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยในเกิตทิงเงน ซาโลเมเริ่มกล่าวหาเขาเรื่องเพศสัมพันธ์ของเขานั้นเป็นสิ่งไม่สมควร แต่ด้วยพื้นฐานการอยู่ร่วมกันฉันเพื่อนทำให้ชีวิตคู่ของทั้งสองจึงสืบต่อยาวนานไปตลอดชีวิต

…..

งานเขียนแนวปรัชญาของ ลู อันเดรียสซาโลเม วนเวียนอยู่กับเรื่องของพระเจ้า ละคร อีโรติก และจิตวิเคราะห์ ความคิดของเธอทันสมัยและก้าวล้ำ นางเอกในนิยายของเธอเป็นผู้หญิงที่กล้าฉีกกฎสังคม แต่เธอไม่เคยยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิของสตรี อีกทั้งยังถอยห่างจากประเด็นทางสังคมหรือการเมือง 

เธอเดินทางไปยังกรุงเวียนนาตอนอายุ 50 และเข้ารับการฝึกอบรมกับซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เพื่อเป็นหนึ่งในนักจิตวิเคราะห์หญิงคนแรกของโลก ฟรอยด์เรียกขานเธอว่าเป็นกวีหญิงแห่งจิตวิเคราะห์และเคยเขียนถึงผลงานชิ้นหนึ่งของเธอว่าเป็นข้อพิสูจน์อย่างปราศจากความกังขาว่า เธอเหนือกว่าพวกเราทุกคน

ในวัยชรา ซาโลเมป่วยด้วยโรคหัวใจและเบาหวาน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหลายต่อหลายครั้ง มารีเชน (Mariechen) ลูกสาวของอันเดรียสสามีของเธอกับสาวใช้ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดมรดกของเธอ คอยเฝ้าพยาบาลจนถึงวาระสิ้นลมของเธอ ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1937

ไม่กี่วันหลังจากนั้น ห้องสมุดของเธอก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเกิตทิงเงนตรวจค้นและยึดตามใบสั่งของเกสตาโป เนื่องจากว่าเธอเคยเป็นนักจิตวิเคราะห์และเป็นศิษย์ของนักวิชาการยิวอย่างซิกมุนด์ ฟรอยด์ แต่สมุนของฮิตเลอร์ก็ไม่สามารถทำลายมรดกทางจิตวิญญาณของเธอที่ยังสืบทอดต่อมาได้

โลกรังแต่จะทำให้คุณแย่ เชื่อฉัน! ถ้าอยากจะมีชีวิตละก็ปล้นมันมา!”

อ้างอิง:     

https://www.spiegel.de/geschichte/lou-andreas-salome-femme-fatale-und-freifrau-a-1099355.html?fbclid=IwAR2TsG1ZYGqfPHl9C0rtULkFRtuGuE1wK99GOtcNXA5mRSNHJv_FDkzeSZI

https://www.belladonna-bremen.de/historische-frau-mai-2019/

https://www.sueddeutsche.de/leben/historie-freifrau-1.3046258

Tags: