“ทำไมเราถึงยังตายไม่ได้?” 

คือคำถามที่ กฤตไท ธนสมบัติกุล คุณหมอวัย 30 ผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ถามตัวเองระหว่างรับการรักษาในช่วงที่ผ่านมา ว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้มนุษย์ต้องอดทน ดิ้นรนอยู่ต่อ ท่ามกลางชีวิตที่แสนเปราะบางและไม่อาจควบคุมอะไรได้ 

แน่นอนว่าในชีวิตที่ผ่านมาของมนุษย์ ล้วนเต็มไปทั้งความยินดียินร้าย หลายสิ่งทำให้อยากมีชีวิตต่อ หรือมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่ทำให้เรายังตายไม่ได้ แต่ไม่ว่าจะด้วยอะไรก็ตาม ในวันที่แสนเปราะบางและนักหนาสาหัสที่สุด เหตุผลเหล่านั้นยังจะมีพลังมากพอให้เราสู้ต่ออีกหรือไม่?

Lost in Thought วาระพิเศษ หยิบหนังสือ สู้ดิวะ ของคุณหมอผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตจริง การต่อสู้กับโรคร้ายในทุกทาง พร้อมกับการมองเห็นคุณค่าของลมหายใจ ขีดเขียนในโมงยามที่เข้มแข็งและเปราะบางที่สุดในชีวิต และจากไปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา

เรื่องราวจากเจ้าของเพจที่มีผู้อ่านได้รับแรงบันดาลใจนับแสน ที่จะทำให้เราตระหนักถึงความเป็นและความตายว่าทุกคนมีเวลาในนาฬิกาชีวิตจำกัดขนาดไหน และเราจะรับมือกับห้วงเวลาที่ลดถอยหลังอย่างไร แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณหมอกฤตไทยังตายไม่ได้ จนออกมา ‘สู้ดิวะ’ กับโรคร้ายทุกทาง

คำตอบทั้งหมดทั้งมวลจะถูกเปิดเผยในบทความฉบับนี้

[1]

มนุษย์เราโคตรเปราะบางเลยครับ

“สวัสดีครับ ผมเป็นมะเร็งปอดครับ”

“ทั้งที่กำลังบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ได้เพียงสองเดือน ก็ได้ตั๋วเลื่อนเป็นอาจารย์ใหญ่เฉยเลย” – หน้า 25 

หลายคนคงรู้จักและเคยอ่านเรื่องราวของคุณหมอกฤตไทมาบ้าง ทั้งผ่านเพซบุ๊กแฟนเพจสู้ดิวะ หรือหนังสือ สู้ดิวะ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคุณหมออนาคตไกล ผู้กำลังจะมีชีวิตราบรื่น หลังเรียนจบแพทย์เฉพาะทางควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาโทวิทยาการข้อมูล และสมัครเป็นอาจารย์แพทย์ต่อ 

นอกจากชีวิตการงานกำลังราบรื่นแล้ว ชีวิตรักก็ไม่น้อยหน้า เพราะเขาเพิ่งคุกเข่าขอแฟนแต่งงานและมีบ้านเป็นของตัวเอง ทั้งคู่กำลังจะไปเรียนคอร์สสั้นๆ ที่สวิตเซอร์แลนด์ปลายปีนี้ ชีวิตห้อมล้อมไปด้วยผู้คนที่คอยสนับสนุน เริ่มวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุม แต่ท้ายที่สุดหมอกฤตไทกลับตรวจพบว่า เขาป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย

[2]

ทำไมต้องเป็น (คนไทย) เรา 

“ทำไมต้องเป็นผม?”

“ทำไมต้องเป็นผม ทำไมมันต้องเกิดขึ้นกับผม?” 

ใช่ครับ ผมไม่อยากเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ผมไม่ได้อยากมีก้อนเนื้อในหัวสิบสามก้อน แต่ผมก็เป็น มันเกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะคิดอย่างไร – หน้า 74 

หากเรามาดูกิจวัตรประจำวันและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของหมอกฤตไท ก็จะเห็นว่าเขาเป็นเด็กอนามัยคนหนึ่ง และคงเป็นคนหนุ่มที่อายุยืน เขาเข้ายิมอย่างสม่ำเสมอ เล่นกีฬา กินคลีน ไม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอลล์น้อยมาก เข้านอนตอนสี่ทุ่ม ตื่นนอนตอนหกโมงเช้ามาอ่านหนังสือและเตรียมตัวสอนนักศึกษา แน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้การันตีว่าหมอกฤตไทจะมีอายุยืนยาวไปถึงร้อยสองร้อยปี แต่เขาที่ดูแลสุขภาพตัวเองขนาดนี้ กลับเสียชีวิตลงด้วยโรคร้ายในวัย 30 ปี ก็ดูเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ รับไม่ได้ โหดร้าย และน่าเศร้ายิ่งนัก 

“เช้านี้ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับค่าฝุ่นควันพิษที่เกินค่ามาตรฐานไปเกือบสิบเท่า ผมไม่ได้บอกว่าฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมเป็นมะเร็งหรอกครับ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผล” – หน้า 152

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราค่อนข้างชื่นชมหมอกฤตไทคือ การที่เขาออกมาพูดอย่างซื่อตรง จริงใจ ถึงผลกระทบและสิ่งที่คนในประเทศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่แม้แต่อากาศหายใจยังต้อง ‘ซื้อ’ 

คุณหมอตั้งคำถามไว้อย่างเที่ยงตรงและหนักแน่นว่า มันเป็นความรับผิดชอบของประชาชนจริงหรือ ที่ต้องแบกรับค่าหน้ากากอนามัย ค่าเครื่องฟอกอากาศ รวมถึงเครื่องแรงดันบวก ขณะที่ประชาชนจำนวนมากไม่อาจหลีกเลี่ยงการทำงานในที่แจ้งได้ 

และ เราเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริงๆ หรือ? ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ของโลกในฐานะประเทศที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน หมอกฤตไทมีมุมมองต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 และมีข้อเสนอว่า ประเทศไทยไม่ควรแก้ปัญหาฝุ่นควันแบบ ‘เร่งด่วน’ ทุกปี แต่ควรมองปัญหาและแก้ให้ตรงจุด ต้องศึกษาลึกไปถึงต้นตอแหล่งกำเนิด PM2.5 มีการจัดลำดับความสำคัญ และต้องแก้ไขปัญหาฝุ่นจิ๋วอย่างจริงจัง ผ่านการร่วมมือในหลายภาคส่วน

“ผมน่ะคงอยู่ได้อีกไม่นานหรอกครับ แต่เด็กน้อยน่ารักที่ทักทายผมในลิฟต์หลังจากที่ผมไปฉายแสงมาเมื่อวานนี้ ยังอยู่อีกนาน และเขาเป็นคนที่ต้องเจอกับปัญหานี้ต่อไป เด็กเหล่านี้ไม่ควรต้องมารับความเสี่ยงกับโรคร้ายหรือภาวะเจ็บป่วยเหมือนกับผม เขาควรจะได้มีสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ คือการได้มีอากาศสะอาดหายใจ ได้เล่นบาสกับเพื่อนกลางแจ้ง โดยที่ไม่ต้องใส่หน้ากาก เขาไม่ควรต้องมาซื้ออากาศหายใจ” – หน้า 156

หมอกฤตไทอธิบายถึงผลกระทบของ PM2.5 อย่างเข้าใจง่ายไว้ว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กสามารถผ่านขนจมูกผ่านการกรองของร่างกายได้ทันที เรียกได้ว่าหากเราสูดอากาศหายใจปุ๊บ ฝุ่นเหล่านั้นก็จะเดินทางเข้าเส้นเลือดเราทันที 

หากเด็กสูดฝุ่นขนาดเล็กเข้าไปจะทำให้เป็นภูมิแพ้ หอบหืด สมองทำงานแย่ลง และฉลาดน้อยลง ถ้าเป็นวัยรุ่นสูดฝุ่นเข้าไปก็เป็นมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร ส่วนคนอายุน้อยมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองเหมือนคนสูบบุหรี่ โรคหลอดเลือดสมอง ความจำแย่ลง สมองเสื่อม ฯลฯ

ใช่ เด็กๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดคืออนาคตของชาติ คำถามสำคัญอีกข้อคือ ทำไมสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นกับพวกเรา ทำไมการเกิดเป็นคนไทยถึงต้องแบกรับทุกอย่าง แม้กระทั่งอากาศที่หายใจก็ยังต้องซื้อ 

[3]

อย่าเอาเวลาชีวิตที่แสนจำกัดไปใช้กับสิ่งที่ไม่ชอบ

“มาคิดดูดีๆ ยังไงมันก็เป็นเรื่องที่ดูผิดปกติเหมือนกันนะครับ ที่ผมจะต้องมาตายก่อนที่จะแก่ เมื่อก่อนผมดูแลตัวอย่างดี เพื่อที่จะให้ตอนแก่ไม่เป็นโรคเรื้อรังอย่าง เบาหวาน ไขมัน ความดัน ผมอยากเป็นคนแก่ที่ผมหงอกแต่มีกล้าม สุขภาพแข็งแรง แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีโอกาสไปถึงวันนั้นเสียแล้ว ยอมรับว่ามันก็รู้สึกเจ็บปวดจริงๆ แต่ก็นี่แหละครับ ชีวิต ชีวิตที่แสนเปราะบาง ชีวิตที่เราเคยเข้าใจผิดไปว่าเรามีสิทธิ์ในการจะบงการมันไปอีกยาวนาน” – หน้า 184 

แต่ก็นี่แหละ ชีวิต ชีวิตที่แสนเปราะบาง ชีวิตที่เราเคยเข้าใจผิดว่ามีสิทธิ์จะบงการมันไปอีกยาวนาน บทส่งท้ายของคุณหมอช่วยกระตุกความคิดและสั่นหัวใจอย่างแรง เพราะชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่ไม่นอน สุดท้ายเราก็ต้องตาย จงอยู่กับปัจจุบัน ใช้แต่ละวันให้เหมือนวันสุดท้าย และอย่าเอาเวลาแสนจำกัดไปใช้กับสิ่งที่ไม่ชอบ

คุณหมอยกตัวอย่างผ่านเรื่องราวของตัวเองว่า หากเรากำลังจะตายเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เราจะไม่คิดถึงมันเลย และจะไม่เสียเวลาให้กับเรื่องเล็กๆ หากตอนนี้ยังมีแรงก็ลองหาวันว่างๆ ไปออกกำลังกายในขณะที่ยังออกได้ พร้อมกับดูแลสุขภาพจิต หากสังคมที่เราอยู่ทำให้เราแย่ลง หรือรู้สึกไม่ดีก็ไม่จำเป็นต้องทนอยู่ เราเปลี่ยนความคิดคนรอบข้างไม่ได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนคนรอบข้างได้ 

คุณหมอกฤตไทเน้นย้ำให้เราอย่าทนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ ทำอย่างอื่นที่นอกเหนือจากงานบ้าง เพราะเราไม่ได้มีชีวิตดำรงอยู่เพื่อทำงานเพียงอย่างเดียว และชีวิตไม่ได้ยาวนานพอที่จะอยู่อย่างฝืนทน คอยให้เวลากับคนรัก เพื่อน ครอบครัว คนที่เรารัก มากกว่าภาระ การงาน ตำแหน่ง และเงินทอง

“ทุกคืนที่คุณล้มตัวลงนอนแล้วนอนหลับได้ การที่คุณไม่ต้องฝันถึงท่อช่วยหายใจ ทุกวันที่คุณตื่นขึ้นมาแล้วไม่ได้หายใจแล้วเจ็บ ไม่ได้มีอาการหอบเหนื่อย ถ้าคุณไม่ได้มีอาการปวดกระดูกทุกครั้งที่คุณขยับตัว หรือคุณไม่ต้องมากลัวว่าวันไหนที่ตื่นมาแล้วคุณจะมองไม่เห็น เดินไม่ได้ พูดไม่ชัด ขยับแขนขาไม่ได้ ในขณะที่ผมเขียนข้อความนี้อยู่ ผมปวดกระดูกและเจ็บเส้นประสาทมาก ผมมีอาการเหมือนโดนน้ำร้อนลวกที่หลัง และโดนมีดแทงที่ลำตัวข้างขวาตลอดเวลา ผมต้องกินยาแก้ปวดมหาศาลเพื่อให้ผมยังเขียนข้อความนี้ได้” – หน้า 188

ความจริงใจในบทนี้ถูกถ่ายทอดมาอย่างเรียบง่ายว่า ชีวิตแสนปกติของเรานี่แหละ เป็นของขวัญที่ดีที่สุด และเราควรใช้ทุกวันอย่างเต็มที่ ทำสิ่งที่ยังทำได้ อย่ารอเวลา เพราะหากสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมันอาจจะสายเกินไป และจงดูแลร่างกายที่แสนเปราะบางเพื่อให้มีเวลาอยู่บนในโลกใบนี้ยาวนานขึ้น

“ขอบคุณชีวิตที่แสนปกติของคุณเถอะครับ แล้วใช้มันให้เต็มที่กับทุกวันที่โลกนี้มอบให้กับคุณ ชีวิตที่ปกติและธรรมดาในแต่ละวันของคุณมันคือของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว

คุณไม่มีทางรู้เลยว่าพรุ่งนี้คุณจะตื่นมาแล้วมีทุกอย่างแบบที่คุณมีวันนี้อยู่ไหม

วันก่อนที่ผมจะได้รับการวินิจฉัย ผมก็คิดเหมือนทุกคนแหละครับ ว่าคงไม่ใช่ผมหรอกที่ต้องมาเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ดังนั้น อย่าทำอะไรให้ต้องมาเสียใจทีหลังเลยครับ” – หน้า 189

[4] 

ทำไมเราถึงยังตายไม่ได้?

“ผมเองไม่ใช่วัยรุ่นคนเดียวของประเทศนี้ที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายครับ มีอีกหลายคนที่ชีวิตต้องเผชิญกับปัญหาหรือโรคร้ายที่ไม่รู้จะผ่านไปได้ยังไง ต้องเจอกับความจริงที่แสนโหดร้ายของโลกใบนี้ที่อาจจะมากกว่าที่ผมเจอด้วยซ้ำ” – หน้า 168

ความเปราะบาง ความสั่นไหว ความสามัญของมนุษย์นี่แหละ ที่ดึงใจผู้อ่านได้ตลอดทั้งเล่ม เขาไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโรหรือตัวละครยอดมนุษย์ใดๆ การที่เขาจะหมดกำลังใจ สิ้นหวัง สลับกลับฮึกเหิมและต่อสู้ ล้วนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้มากๆ ว่า เวลาเราสู้กับอะไรมาสักพักก็จะเกิดอาการท้อแท้ อ่อนแอ และอาจยอมแพ้ไปเสียอย่างนั้น

มันคงเป็นธรรมดาหากเราจะเกิดคำถามว่า

“เราสู้ไปทำไมวะ?

“เราอดทนต่อไปเพื่ออะไรวะ?

“ผมคงจะเป็นไอ้ขี้โม้คนหนึ่ง ถ้าจะมาบอกว่าผมรับมือกับทุกอย่างได้ดี มีสภาพจิตใจและทัศนคติอันทรงพลังยอมรับกับทุกความทรมานที่ต้องเจอ แล้วยิ้มให้กับมัน สู้ไปกับมันได้ตลอด ผมกลับมองว่า ‘ผมเป็นคนธรรมดา’ ที่กำลังเกิดคำถามต่อสิ่งที่ตัวเองกำลังสู้อยู่” – หน้า 168

แล้วทำไมถึงยังตายไม่ได้กันนะ? หมอกฤตไทยอมรับว่า เขาใช้เวลาในการหาคำตอบนานมากในคำถามนี้ พร้อมๆ กับเกิดคำถามเราไม่ต้องอดทนต่อแล้วก็ได้ไหม?

“ผมอยากใช้เวลากับพีมให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” 

และนี่คือคำตอบของการดิ้นรนมีชีวิตอยู่ของคุณหมอกฤตไท เพราะยังอยากมีช่วงเวลาที่น่าจดจำ อยู่เป็นของขวัญซึ่งกันและกัน อยากร้องเพลงในงานแต่งงานตัวเอง อยากชวนเพื่อนไปบ้านใหม่ และหวังจะเห็นรัฐบาลที่จริงจังในการแก้ปัญหาฝุ่นควันของประเทศ และใช้ชีวิตอยู่กับผู้หญิงที่คอยบอกเขาทุกวันว่า “เช้าแล้วนะ วันนี้โลกให้เวลาเรามาใช้ด้วยกันเพิ่มอีกหนึ่งวันแล้ว ดีจังเลยเนอะ” 

และด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้หมอกฤตไทอยากมีชีวิตต่อ และมีพลังมากพอที่จะช่วยให้เขาอดทนกับทุกอย่างที่กำลังจะเข้ามาในชีวิตหลังจากนี้

[5]

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีความหมาย

ผมรักชีวิตของผมตอนนี้มาก ผมรักทุกคนรอบตัวผม รักทุกอย่างที่ผมมี รักทุกสิ่งที่ผมเป็น แน่นอนว่าผมไม่อยากจากไป แต่ผมก็ทำอะไรไม่ได้ ผมหวังว่าเรื่องของผมจะช่วยให้คุณกลับมามองชีวิตตัวเองแล้วฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาเป็นโรคร้ายแบบผม” – หน้า 184

แน่นอนว่าหมอกฤตไทเป็นมนุษย์ธรรมดาเช่นเรา ไม่ผิดแปลกที่เขาจะสงสัยและต่อว่าโชคชะตาว่าทำไมต้องเป็นเขา แต่สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากคุณหมอท่านนี้คือ การเปลี่ยนมุมมองความคิดในยามป่วย หากการที่เราคอยเฝ้าถามตัวเองซ้ำๆ ด้วยชุดความคิดดังกล่าวโรคร้ายก็ไม่หายไป และจะยิ่งทำให้เราทุกข์ทรมานมากขึ้น 

หากเราลองเปลี่ยนจากคำถามในแง่ลบและแทนที่มันด้วยเหตุผล ว่าต้องมีเหตุผลอะไรสักอย่างแน่ๆ ถึงต้องเป็นเขา หรือต้องเป็นเรา หรือแท้จริงแล้วโลกต้องการให้เขาทำอะไรบางอย่างกันแน่ 

สิ่งที่เขาแชร์ในบทนี้คือ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีความหมาย และไม่ควรรีรอเพื่อนับวันให้เกิดปาฏิหารย์ได้ ดังนั้น ‘เขา’ จะไม่รอให้ถึงวันที่ได้หยุดกินยา เขาจะไม่รอให้เส้นผมขึ้น หรือรอให้ภูมิคุ้มกันกลับมาเป็นปกติ ถึงจะออกไปใช้ชีวิตที่อยากใช้ หรือรอให้ก้อนเนื้อ ทุกแผลหาย ถึงจะออกไปมีความสุข เขาจะใช้ชีวิตทุกวันเหมือนเดิมที่อยากใช้ 

เพราะทุกช่วงเวลาล้วนสำคัญ ทุกวันล้วนมีความหมาย และทุกนาทีคือโอกาส เราควรเลือกที่จะมองสิ่งที่มีอยู่ และเอนจอยกับการใช้ชีวิตในทุกวัน หรืออย่างน้อยที่สุดตอนนี้ก็รู้ว่ากำลังสู้อยู่กับอะไร

[6]

วันนี้เท่านั้นที่เรามี

3 วันต่อมา หลังจากอ่านหนังสือ สู้ดิวะ ของคุณหมอกฤตไทจบ เขาเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายหลังจากรบรากับมันมาตลอด 1 ปี ทุกเรื่องราว ความคิด การต่อสู้ ที่หลั่งไหลตลอด 195 หน้า ฉันนับถือ เคารพ รัก รู้สึกเจ็บปวดไปทุกการต่อสู้ และการสูญเสีย

เสียใจ ต่อคุณพีม ครอบครัว และผู้คนที่รักคุณหมอ

เราเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้ได้มอบแรงบันดาลใจ เปลี่ยนแง่คิดของคนจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือฉัน 

ขอบคุณหมอกฤตไทที่เขียนเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นมา ขอบคุณที่ทำให้ฉันได้ตระหนักรู้ถึงเงื่อนไขแสนเปราะบาง ที่ขีดเส้นใต้ตัวแดงว่า ‘วันนี้อาจเป็นวันสุดท้ายของชีวิต’ ซึ่งหมายถึงไม่อาจเหลือชีวิตให้ใช้ในวันพรุ่งนี้อีกต่อไป และทำให้ฉันตอบคำถามตัวเองได้ว่า ทำไมเราถึงยังตายไม่ได้?

“เพราะหากฉันตายวันนี้ ใครจะให้ข้าวน้องเมอร์รี่ (แมวอายุใกล้ 2 ขวบ) กันล่ะ” 

Tags: , , , , , ,