หนึ่งในอาวุธทรงพลังที่สุดของนักเขียน ที่ช่วยการันตีว่าจะสามารถดึงดูดกลุ่มผู้อ่านให้ติดตามผลงานนั้นๆ ได้จนจบ คือการสร้างตัวละครให้มีเสน่ห์น่าหลงใหล พ่วงมากับเป้าหมายชีวิตที่ท้าทาย จนเราอดไม่ได้ที่จะเอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้พวกเขาไปถึงฝั่งฝัน

แต่เห็นได้ชัดว่า อาร์.เอฟ. กวง (R.F. Kuang) ผู้เขียน Yellowface กลับเลือกที่จะทำตรงข้าม เพราะดูเหมือนว่า จูน เฮย์เวิร์ด (June Hayword) นางเอกเจ้าปัญหาของเรื่องนั้น คงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกระโถนรองรับความรำคาญและความหมั่นไส้จากนักอ่านทั่วทุกสารทิศโดยเฉพาะเลยทีเดียว

เพราะจูนไม่ใช่แค่เพียงตัวอย่างของตัวละคร ‘ผู้เล่าที่ไม่น่าเชื่อถือ’ (Unreliable Narrator) ธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ยังควรค่ากับคำว่า ‘Unbelievable’ ที่แปลเป็นภาษาได้ทั้ง เชื่อไม่ได้ และ น่าทึ่ง ในเวลาเดียวกัน เพราะเธอช่างเป็นผู้เล่าที่ทำตัวไว้ใจไม่ได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบเสียจนน่าทึ่ง

 

1

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากมิตรภาพประหลาดๆ ที่ว่าจะปลอมเปลือกไปเสียหมดก็คงไม่ใช่ แต่จะบอกว่าจริงใจไปทุกอณู…ก็ยิ่งไม่ใช่เข้าไปใหญ่ ระหว่างจูน เฮย์เวิร์ด นักเขียนอเมริกันผิวขาวโนเนมที่ไม่มีใครรู้จัก และอะธีนา หลิว (Athena Liu) นักเขียนสาวเชื้อจีนทรงเสน่ห์มากความสามารถ เจ้าของผลงานฮิตติดอันดับขายดีมากมายหลายเรื่อง

พวกเธออายุเท่ากัน เรียนวรรณคดีปีเดียวกัน จบจากเยล (Yale University) มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และเข้ายากเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มไอวีลีกส์เหมือนกัน มีผลงานเดบิวต์ที่สำนักพิมพ์เดียวกัน ต่างกันก็แค่เพียงเชื้อชาติเท่านั้น

ทว่าในท้ายที่สุดแล้ว กลับมีเพียงอะธีนาเท่านั้นที่ได้กลายเป็นนักเขียนซูเปอร์สตาร์ ส่วนจูนกลับต้องลงเอยเป็นนักเขียนไส้แห้งที่ถูกความริษยากัดกิน จูน เฮย์เวิร์ดเชื่ออย่างหมดใจว่าสาเหตุเดียวที่อะธีนาประสบความสำเร็จมากกว่าเธอ เป็นเพราะนี่คือวงการหนังสือในยุคที่ ‘หมกมุ่นกับความหลากหลายทางเชื้อชาติ’ นักเขียนผิวสีอย่างอะธีนาถูกหยิบยื่นโอกาสให้ก่อนนักเขียนผิวขาวอย่างเธอเสมอ

แต่แล้วอยู่ๆ จูนก็ถูกโชคสิบชั้นหล่นทับ เมื่ออะธีนาดันมาแพนเค้กติดคอตายไปต่อหน้าต่อตาเธอเสียอย่างนั้น เป็นโชคดีของจูนที่เจ้าหล่อนได้ทิ้งความลับอย่างหนึ่งเอาไว้กับเธอด้วย นั่นคือต้นฉบับของนิยายเรื่องใหม่ของตนที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แถมยังไม่มีใครรู้ว่ามีอยู่!

แม้จะลังเลอยู่บ้าง แต่ในที่สุดจูนก็ฉวยโอกาสนี้ขโมยต้นฉบับไปเป็นของตัวเอง หาข้อมูลเขียนเติมส่วนที่ขาดหายไปอย่างเต็มความสามารถ และจัดการส่งมันไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาเสียเลย

 

2

ผู้เล่าที่ไม่น่าเชื่อถือของกวง ต่างจากผู้เล่าที่ไม่น่าเชื่อถืออันแสนโด่งดังของนาโบคอฟ (Nabokov) อย่างฮัมเบิร์ต (Humbert) ในผลงานอมตะเรื่อง โลลิต้า (Lolita) ซึ่งกลายมาเป็นต้นแบบผู้เล่าที่ไม่น่าเชื่อถือของนักเขียนรุ่นใหม่มากมาย

ในขณะที่ฮัมเบิร์ตเป็นตัวละครผู้บรรยายที่ช่ำชองโวหารอย่างหาที่เปรียบได้ยาก และเก่งกาจด้านการซ่อนตัวตนที่แสนบิดเบี้ยวของตัวเองเอาไว้เบื้องหลังบทบรรยายที่งดงาม พฤติกรรมและความในใจของ จูน เฮย์เวิร์ด ได้ใบ้ให้ผู้อ่านเห็นแบบโต้งๆ ตั้งแต่เริ่มต้นว่า เธอไม่ใช่ผู้บรรยายที่ทุกคนควรไว้ใจ

ด้วยความเป็นนิยายแนวเสียดสี (Satire) ที่จะต้องมีความเวอร์นิดๆ  Melodrama หน่อยๆ เป็นธรรมดา เรามั่นใจว่าการสร้างจูนให้เป็น Unreliable Narrator ที่แสนตื้นเขินและซ่อนอคติของตัวเองไม่เก่งเอาเสียเลยนั้น คงจะเป็นความตั้งใจของกวงมาตั้งแต่แรก แต่เมื่อต้องเป็นตัวแทนแบกรับความริษยาอันยิ่งใหญ่ ความหลงตัวเองจนน่าขำ รวมไปถึงอคติทางเชื้อชาติฝังลึก จูนจึงกลายเป็นตัวละครเอกที่ขาดมิติและความเป็นมนุษย์ไปเสียหน่อยในบางโอกาส

แน่นอนว่านั่นไม่ได้หมายความว่า การเฝ้ารอให้ความฉิบหายมาเยือนหล่อนเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนุก แต่หากจูนมีด้านอื่นที่นอกเหนือจากด้าน ‘ตัวอิจฉา Starter Kit’ ให้ได้ดูชมเสียบ้าง บางทีการเสพเรื่องผ่านตัวละครนี้อาจมีรสที่กลมกล่อมขึ้นอีกนิด เพิ่มขีดศักยภาพดึงดูดให้ผู้อ่านรู้สึก ‘รักที่จะเกลียด’ หล่อน (ให้ยิ่งกว่านี้)

 

3

วัฒนธรรมการแคนเซิล (Cancel Culture)

การฉกฉวยทางวัฒนธรรม (Cultural Appropriation)

ความสองมาตรฐานของวงการหนังสือ

อาจกล่าวได้ว่าสามสิ่งนี้คือหัวใจของ Yellowface ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่กวงพยายามจะวิพากษ์และจิกกัด  

ในการตีพิมพ์ผลงานที่ขโมยไปจากอะธีนา จูนและสำนักพิมพ์ต้นสังกัดของเธอ ตัดสินใจเลือกใช้นามปากกา ‘Juniper Song’ โดยเอาชื่อกลางภาษาอังกฤษที่อ่านว่า ‘ซอง’ (Song) ของตัวเองมาใช้ แล้วปล่อยให้ผู้อ่านเข้าใจไปเองว่า Song คงจะเป็นแซ่ ‘ซ่ง’ อย่างไม่ต้องสงสัย และจูนิเปอร์ผู้นี้ก็คงจะมีพื้นเพเป็นอเมริกันเชื้อสายจีนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเธอเป็นผู้เขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับแรงงานชาวจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

นี่อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้แค่ในนิยาย แต่เหตุการณ์นักเขียนที่นักเขียนคนขาวถือโอกาสฉกฉวยตัวตนของคนชายขอบมาใช้นั้น เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่หลายคนคาดคิด

ตัวอย่างเช่น ในปี 2015 ไมเคิล เดอร์ริก ฮัดสัน (Michael Derrick Hudson) ตัดสินใจส่งผลบทกวีของตัวเองไปยังกองบรรณาธิการของ The Best American Poetry เพื่อพิจารณา ภายใต้นามปากกา ‘อี้เฟิ่น โจว (Yi-fen Chou)’ เพราะคิดว่าชื่อของคนผิวสีอาจทำให้มีโอกาสได้รับเลือกมากกว่า

แม้ตัวละครอะธีนาจะตายไปตั้งแต่ต้นเรื่อง แต่ตัวตนเธอยังคงกลับมาหลอกหลอนจูนเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเรื่อง

อันที่จริง การมีอยู่ของอะธีนาในหนังสือนี่แหละที่ทำให้ อาร์.เอฟ. กวง ถูกครหาจากนักอ่านว่า ‘ใส่ตัวเอง’ ลงไปในนิยายมากเกินไป แถมฟีดแบ็กของนิยายในเรื่องยังได้รับคำวิจารณ์ที่เธอเคยได้รับในอดีต จนดูคล้ายกับว่านิยายเรื่องนี้จะถูกเขียนขึ้นเพื่อ ‘ดีเฟนด์’ ตัวนักเขียนเองและบริภาษความรุนแรงของคำวิจารณ์เหล่านั้น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าสาเหตุที่กวงเขียนนิยายเล่มนี้ขึ้น จะเป็นเพื่อการดีเฟนด์ตัวเองจริงๆ หรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่ากับการที่เธอทำมันได้อย่างน่าตื่นเต้นและเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน

นอกจากประเด็นน่ารู้อย่างวิธีการทำงานและกระบวนการภายในในการตีพิมพ์และทำการตลาดให้กับหนังสือสักเล่มหนึ่ง กวงยังทิ้งคำถามสำคัญให้เราใคร่ครวญถึงอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ๆ

ในฐานะนักเขียน เรามีสิทธิที่จะหยิบเอาความเจ็บปวดของผู้อื่น ตลอดจนประวัติศาสตร์อ่อนไหวที่เราไม่ใช่ผู้ประสบ มาใช้ในการทำมาหากินได้มากน้อยแค่ไหน?

Fact Box

  • นวนิยาย Yellowface, อาร์.เอฟ. กวง (R.F. Kuang) เขียน, สำนักพิมพ์ The Borough Press, จำนวน 323 หน้า 
  • รีเบกกา เอฟ. กวง (Rebecca F. Kuang) เกิดปี 1996 ที่มณฑลกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน และย้ายถิ่นฐานมายังดัลลัส รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ เมื่ออายุได้ 4 ขวบ
  • ผลงานที่น่าจดจำก่อนหน้าคือจินตนิยายไตรภาคชุด The Poppy War ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเมืองและภาวะสงครามของจีนในยุคกลางศตวรรษที่ 20 และ Babel นวนิยายแนว Dark Academia ที่ชวนผู้อ่านไปสำรวจมรดกของลัทธิอาณานิคมผ่านแง่มุมภาษาศาสตร์
  • ปัจจุบันยังไม่มีฉบับแปลไทย
Tags: , , , , , , , , , ,