1

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี ซึ่งผมรู้สึกทึ่ง เพราะเบอร์ลินเป็นเมืองที่ ‘แพ้แล้วแพ้อีก’ ซึ่งทำให้เมืองหลวงเยอรมันแห่งนี้แข็งแกร่งเป็นพิเศษ

ที่ ‘แพ้แล้วแพ้อีก’ เพราะเบอร์ลินเป็นเมืองที่สร้างคนอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซีขึ้นมา จากความอ่อนปวกเปียกและความง่อนแง่นของรัฐบาลชุดก่อนหน้านั้นที่ทำให้อดีตนักเรียนละครอย่างฮิตเลอร์กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด การพาเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ของฮิตเลอร์ ทำให้เบอร์ลินพ่ายเป็นครั้งที่หนึ่ง ประชาชนตั้งเมืองตกอยู่ในความยากลำบาก 

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เบอร์ลินก็ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งที่อยู่ภายใต้โลกเสรีนิยมและฝั่งที่อยู่ภายใต้คอมมิวนิสต์โซเวียต โดยมีกำแพงเบอร์ลินเป็นปราการ ขณะเดียวกัน ประเทศทั้งประเทศยังถูกหั่นออกเป็น 2 ซีก คือเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตก ภายใต้การปกครองและชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

แล้วประวัติศาสตร์ของเยอรมนีก็เริ่มต้นขึ้นใหม่ในปี 1989 ในวันที่กำแพงเบอร์ลินถูกทุบทิ้ง การ ‘รวมชาติ’ ของหลายๆ ประเทศไม่ได้ทำได้ง่ายๆ แต่เยอรมนีทำสำเร็จ และ ณ ทศวรรษที่ 21 เยอรมนียังเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
คำถามสำคัญก็คืออะไรบ้างที่ประกอบสร้างเยอรมนีให้ยังคงเป็นประเทศชั้นนำ เยอรมนีออกแบบประเทศอย่างไร ทั้งในเชิงระบบการเมือง ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ และในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนั้น คนเยอรมันใช้ชีวิตกันแบบไหน ทัศนคติอย่างไรที่พาให้ประเทศเจริญงอกเงยได้ถึงวันนี้

2

คิดแบบเยอรมันเขาทำกันยังไง หรือ Why the Germans Do it Better: Notes from a Grown-up Country เป็นหนังสือของ จอห์น แคมป์ฟเนอร์ (John Kampfner) นักข่าวชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่เยอรมันนานนับสิบปีในช่วงสงครามเย็นและหลังจากนั้น โดยตั้งใจถ่ายทอดมิติต่างๆ ที่ประกอบสร้างความเป็นเยอรมนีในวันนี้ 

หากอ่านจากชื่อหนังสือ อาจรู้สึกว่าเป็นการ ‘อวย’ หรือยกย่องเยอรมนี หากแต่ภายในไม่ใช่อย่างนั้น หนังสือเล่มนี้คือการวิพากษ์ผู้นำประเทศของเยอรมนีในหลายครั้ง ไม่ว่าจะท่าทีของหญิงเหล็กในศตวรรษใหม่อย่าง อังเกลา แมร์เคิล (Angela Markel) ซึ่งปกครองเยอรมนีนานกว่า 16 ปี ทั้งเรื่องนิสัยใจคอ นโยบายการต่างประเทศที่เปลี่ยนไปมาบ่อย หรือ แกร์ฮาร์ท ชเรอเดอร์ (Gerhard Schroder) นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าแมร์เคิล ที่แทบจะเป็น ‘ตัวร้าย’ ไปเลย หากพูดถึงความสัมพันธ์กับรัสเซีย และประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน 

ว่ากันด้วยการเมืองเยอรมันนั้นปั่นป่วนมาก ด้วยมีตัวละครเต็มไปหมด ทั้งพรรคฝ่ายขวาจัด พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี หรือพรรค AfD ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา พรรค SPD ที่มีพื้นฐานแบบสังคมนิยม หรือพรรค CDU ของแมร์เคิล ที่สะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองเชิงอนุรักษนิยม

ถึงบทนี้อาจต้องตั้งใจอ่านสักหน่อย เพราะอุดมการณ์ของพรรคการเมืองเหล่านี้ ล้วนมีรากจากประวัติศาสตร์ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น รวมถึงผูกกับการเมืองระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา นโยบายของรัสเซีย หรือนโยบายของสหภาพยุโรป

แต่ด้วย ‘ระบบ’ ที่ออกแบบไว้เป็นอย่างดี ถึงรัฐบาล พรรคการเมืองจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างไร ก็แทบไม่มีผลกระทบ จนถึงวันนี้ อาคารอาคารไรชส์ทาค (Reichstag Building) ที่ตั้งอยู่ใจกลางเบอร์ลินเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของเมืองหลวงแห่งนี้ ทุกๆ วันจะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินวนขึ้นไปยังโดมที่อยู่ ณ จุดศูนย์กลาง พร้อมกับรับฟังประวัติศาสตร์ของอาคารรัฐสภาจาก Audio Guide เมื่อขึ้นไปจุดสูงสุด นอกจากจะเห็นทิวทัศน์ของทั้งเบอร์ลินแล้ว สิ่งที่มองลงมาเห็นอีกอย่างคือห้องประชุมสภาฯ ซึ่งอยู่ใต้ประชาชน เป็นกระจกแบบโปร่งแสง สะท้อนให้เห็นว่า สภาฯ นั้นต้องทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ทำตัวเหนือคนในชาติ

3

ข้อสรุปอีกอย่างว่าทำไมเยอรมันถึงทำได้ดีกว่า คือเรื่องว่าด้วย ‘การกระจายอำนาจ’ เยอรมนีนั้นมีบทเรียนสำคัญจากการรวบอำนาจไว้ที่ผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว แล้วทำให้ทั้งประเทศ รวมถึงทั่วโลกต้องวุ่นวายไปด้วย เพราะฉะนั้นเยอรมนีจึงให้อำนาจรัฐบาลในแต่ละรัฐอย่างถึงที่สุดในการบริหารจัดการภายในรัฐของตัวเอง แต่ละรัฐมีเมืองเอกที่โดดเด่น

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น หากกรีซปราศจากเอเธนส์ จีดีพีจะหายไปถึง 20% หากฝรั่งเศสไม่มีปารีส จีดีพีจะหายไปกว่า 15% และหากอังกฤษไม่มีลอนดอน จีดีพีจะหายไปราว 11% แต่สำหรับเยอรมนีหากไม่มีเบอร์ลิน ทั่วประเทศจะรวยขึ้นกว่า 0.2% 

เพราะถึงตรงนี้ เยอรมนีมีเมืองเอกจำนวนมากทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นแฟรงเฟิร์ต มิวนิก ฮัมบูร์ก ซตุทท์การ์ท โคโลญ ดึสเซลดอร์ฟ ไม่ต้องพึ่งพาเมืองหลวงอย่างเดียว และเมืองเอกของแต่ละรัฐเหล่านี้ล้วนมีจุดขายทางเศรษฐกิจ จนเฉิดฉายได้ด้วยตัวเอง

ทำให้ต้องย้อนดูว่า กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยนั้นมีจีดีพีคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ คำตอบก็คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น มีจีดีพี คิดเป็นกว่า 1 ใน 3 หรือเกิน 30% ของจีดีพีทั้งประเทศ 

ทำให้เห็นว่าความเจริญของประเทศไทยนั้น ‘กระจุก’ จริงๆ และคงไม่มีทางแก้ในเร็ววันนี้ หากไม่แก้ด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

4

ไม่ใช่ว่าเยอรมนีไม่เคยมีโครงการที่ล้มเหลว สนามบินแห่งใหม่ของเบอร์ลินอย่างท่าอากาศยานเบอร์ลินบรันเดินบวร์คนั้นใช้เวลาสร้างนานหลายสิบปี แต่เมื่อสร้างเสร็จสิ้นก็กลายเป็นความอับอาย เมื่อมีจุดบกพร่องเต็มไปหมด จนต้องเลื่อนเปิดสนามบินออกไป ธุรกิจและที่อยู่อาศัยรอบสนามบินแทบจะพังพินาศ ไม่ต่างกับโครงการ Stuttgart 21 สถานีรถไฟแห่งใหม่ของรัฐบาเดิน-เวอร์ทเทิมแบร์ค ที่ต้องใช้เวลาสร้างยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 2010 และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เสร็จ เนื่องจากท้องถิ่นหาข้อสรุปไม่ได้ทั้งในเรื่องการเวนคืน ประโยชน์ใช้สอย และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยอาจต้องรอถึงปี 2025 เป็นอย่างน้อยกว่าสถานีรถไฟแห่งใหม่จะเสร็จสิ้น ไปจนถึงเรื่องอื้อฉาวระดับโลกอย่างการโกงซอฟต์แวร์ของโฟล์คสวาเกน เพื่อหลบมาตรฐานการปล่อยไอเสียในสหรัฐอเมริกา

แต่เรื่องเหล่านี้เมื่อเป็นปัญหาการเมือง ก็ต้องแก้ด้วยการเมือง ข้อดีของเยอรมนีก็คือประชาชนเรียนรู้จากความผิดพลาดเสมอ และไม่ยอมให้การจัดการเกิดขึ้นอย่างนอกระบบและไร้ระบบ

“ความเป็นชาติที่ชาวเยอรมันสร้างหลังสงครามมีพื้นฐานมาจากความหวาดกลัวและความอับอายสิ่งที่นาซีทิ้งไว้และบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ มันช่วยนำทางประเทศผ่านวิกฤตมากมายที่ต้องเผชิญในหลายทศวรรษ ค่านิยมที่โลกแองโกล – แซกซอนปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงว่าล้าสมัย เช่น ครอบครัว ความรับผิดชอบ และบทบาทของรัฐ ไม่จำเป็นต้องฟื้นฟูในเยอรมนีตอนช่วงต้นของทศวรรษที่สามของศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดเพราะมันไม่เคยหายไปไหนเลย” คือท่อนหนึ่งที่อธิบายความเป็นเยอรมันในหนังสือ

5

ถึงตรงนี้ มีสิ่งที่ให้เรียนรู้อีกมากทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลวของเยอรมนี ซึ่งหนังสือเรื่องนี้รวบรวมไว้ทุกประเด็น ตั้งแต่เรื่องการรับผู้ลี้ภัย การจัดการการศึกษา การเป็น ‘เดอะแบก’ ของสหภาพยุโรป หรืออาจเป็น ‘เดอะแบก’ ของประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ความผูกพันกับประเด็นศิลปะ วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ ทีมฟุตบอล ชีวิตของผู้คนที่เชื่อมโยงกับบริษัทยานยนต์ชั้นนำ ไปจนถึงเรื่องนโยบายพลังงานสะอาด และความตื่นตัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เยอรมนีเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ออกมาผลักดัน 

เรื่องเหล่านี้ ประกอบสร้างเยอรมนีและคนเยอรมันให้มีสำนึกหน้าที่ต่อกัน และมีความเชื่อร่วมกันว่ากฎ ระเบียบ กติกา เป็นรากฐานอันมีประโยชน์ รวมถึงต้องใช้บทเรียนทั้งหมดมาตรวจสอบตัวเอง และหมั่นตรวจสอบกันและกันอย่างสม่ำเสมอ

จริงอยู่ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีปัญหา ทุกที่ล้วนมีปัญหาของตัวเอง แต่ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้อยู่กับปัญหาได้ และพัฒนาไปได้ท่ามกลางปัญหาเฉพาะเหล่านี้

หากไม่เรียนรู้ ไม่ถอดบทเรียนจากปัญหา แล้วใช้เป็นรากในการ ‘ไปต่อ’ ประเทศนั้นก็จะวนเวียนกับเรื่องเดิมซ้ำซาก ไม่ต้องพูดถึงอนาคต

แต่อยู่กับ ‘อดีต’ ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ

Fact Box

คิดแบบเยอรมัน เขาทำกันยังไง Why the Germans Do it Better ผู้เขียน: จอห์น แคมป์ฟเนอร์ (John Kampfner), แปล: เจนจิรา เสรีโยธิน,  สำนักพิมพ์ Being, ราคาปก: 359 บาท

Tags: , , ,