หากใครอยู่ในแวดวง Booktok ต้องเคยคุ้นชื่อ เฮาส์เมด อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นนิยายแนวระทึกขวัญ (Thriller) ที่ฮือฮามากจนเสียงแตกเป็น 2 ฝั่ง บ้างก็ว่าเฮาส์เมดมีข้อบกพร่องจนเผยจุดหักมุม (Plot Twist) แบบตะโกนจนเกินไป หรือแม้กระทั่งตอนจบที่รวบรัดกลายเป็นยัดเยียด ขณะที่บางส่วนก็ชื่นชอบเฮาส์เมด เพราะจังหวะการดำเนินเรื่องสั้น กระชับ ไม่ยืดเยื้อ แถมโปรยปริศนาทิ้งไว้ระหว่างทางทำให้น่าติดตามต่อจนวางไม่ลง
ถึงแม้กระแสแบ่งเป็น 2 ฝั่งแต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความโด่งดังของเฮาส์เมดได้ จากยอดขายกว่า 1 ล้านเล่มทั่วโลก นักอ่านให้ดาวสูงถึง 4.3/5 ในแอปพลิเคชัน Goodreads นับเป็นหนังสือที่มีดาวสูง หากเทียบกับจำนวนนักอ่าน ที่สำคัญคือได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Goodreads Choice Award ประจำปี 2022 ในหมวดหมู่นวนิยายยอดเยี่ยมประเภท Mystery & Thriller
เฮาส์เมดเป็นหนังสือเล่มแรกของ The Housemaid Series จากปลายปากกาของ ฟรีดา แมกแฟดเดน (Freida McFadden) ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ The Housemaid (2022), The Housemaid’s Secret (2023) และ The Housemaid Is Watching (2024) สำหรับเฮาส์เมดได้รับการแปลเป็นภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์ Words ส่วนอีก 2 เล่มยังไม่มีฉบับแปลภาษาไทย
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ มิลลี ได้รับงานเป็นแม่บ้านประจำให้กับตระกูลวินเชสเตอร์ ครอบครัวคนรวยย่านลองไอแลนด์ ทันทีที่มิลลีถือกระเป๋าก้าวเท้าเข้าสู่บ้านหลังนี้ กลิ่นอายความแปลกประหลาดน่าขนลุกที่ซุกซ่อนอยู่ก็พุ่งเข้าหาเธอ หนึ่ง กลอนประตูห้องนอนที่ล็อกได้เฉพาะข้างนอก สอง คำสั่งและพฤติกรรมแปลกประหลาดของครอบครัว และสาม การที่นักจัดสวนเตือนเธอว่า บ้านหลังนี้ ‘อันตราย’
แต่สถานะทางการเงินก็ทำให้มิลลีไม่มีทางเลือกมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเธอมีความลับปกปิดอยู่ข้างหลัง บางทีงานเงินสูงและมีที่พักให้แบบนี้ก็นับเป็นโชคดี ถึงแม้ลางสังหรณ์จะบอกให้เธอหนีไปทั้งที่ยังมีโอกาสก็ตาม
1
ความประสาทแดกของคน
บ้านวินเชสเตอร์มีสมาชิกทั้ง 3 คน ประกอบด้วยแอนดรูว์ (พ่อ), นีนา (แม่) และเซซีเลีย (ลูก) เหมือนเป็นสูตรสำเร็จของครอบครัวสุขสันต์ทั่วไป แต่ความแปลกประหลาดก็เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ‘นีนา’ บุคคลผู้เลือกรับมิลลีเข้าทำงาน กลับกลายเป็นคนเดียวกันที่ทำให้มิลลีอยากออกจากงาน (ถ้าไม่ติดที่เรื่องเงิน) เพราะนีนามีท่าทีเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจากรับเธอเข้าทำงาน ทั้งสั่งให้ทำนู่นนั่นนี่ เวลาต่อมาก็เหวี่ยงวีนด่ามิลลีว่า เธอไม่ได้สั่ง หรือการที่กล่าวหาว่า มิลลีบกพร่องต่อหน้าที่ ทั้งที่บางงานนีนาเป็นคนบอกว่าไม่ต้องทำ ยังไม่รวมถึงในทุกๆ วันสภาพบ้านจะอัดแน่นไปด้วยกองขยะ เศษซากผ้าอนามัยเปื้อนเลือด ผ้าเช็ดตัวชุ่มน้ำกระจัดกระจายอยู่บนพื้น กระดาษห่อลูกอม ขนม ของหวานซุกอยู่แทบทุกมุมของบ้าน จนมิลลีเริ่มสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับนีนากันแน่
“เรียกฉันว่าคุณนายวินเชสเตอร์ อย่าให้ฉันต้องเตือนความจำเธออีกล่ะ”
ฉันจ้องเธอเขม็งด้วยความตกตะลึง วันแรกที่เจอกัน เธอเป็นคนสั่งให้ฉันเรียกว่านีนาเองนะ
(หน้า 86-87)
พฤติกรรมแปลกประหลาดระหว่างนีนากับมิลลีถือเป็นการปั่นประสาท หรือที่คุ้นหูกันดีในชื่อ Gaslighting สามารถพบได้ในทุกความสัมพันธ์ทั้งในรูปแบบครอบครัว คนรัก มิตรภาพ หรือบนพื้นที่ทำงาน
Gaslighting เป็นหนึ่งในรูปแบบการชักจูงทางจิตวิทยา (Psychological Manipulation) มีเป้าหมายสำคัญคือ บงการให้เป้าหมายรู้สึกเคลือบแคลงใจ นำไปสู่ความสงสัยในตัวเอง (Self-doubt) และส่งผลให้ความภาคภูมิใจต่ำลง จนสุดท้ายอาจตกเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship)
เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจอเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าที่เป็น Gaslighter ผู้ทำให้พื้นที่ทำงานเปรียบดั่งนรก ทั้งหน้าไหว้หลังหลอก ตั้งคำถามต่อความสามารถของเรา โยนความดีเข้าตัว ความชั่วให้เรารับผิดชอบ ไปจนถึงใช้คำพูดล่อลวงไปสู่ผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งหากสังเกตเสียงในใจของมิลลีคงคล้ายคลึงเสียงในใจของใครหลายคนเช่นกัน
“ฉันบอกเธอเรื่องภูมิแพ้แล้วนะ มิลลี ฉันรับเรื่องนี้ไม่ได้นะ”
เธอไม่เคยบอกฉัน เธอไม่เคยพูดสักคำว่าเซซีเลียแพ้ถั่ว ฉันเอาชีวิตเป็นเดิมพันเลย และถึงเธอจะเคยบอกจริงๆ แล้วทำไมเธอถึงเก็บกระปุกเนยถั่วไว้ในตู้เก็บอาหารเล่า มันวางอยู่หน้าสุดเลยด้วยซ้ำ!
(หน้า 32)
ใครบ้างจะไม่อยากแก้แค้นเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าด้วยเรื่องเล็กๆ น้อย อย่างการส่งอีเมลโดยใช้ Bcc (Blind Carbon Copy) ไปให้เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าอีกฝั่ง เพื่อเป็นพยานถึงพฤติกรรมของตัวพ่อตัวแม่ Gaslighting มีจุดประสงค์คือ ให้ทุกคนเห็นถึงการปั่นประสาทของฝ่ายตรงข้าม แน่นอนตามปกติแล้วผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ต้องยับยั้งไม่ให้เกิดความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมเช่นนี้ แต่ขอยอมรับอยู่ลึกๆ ว่า บางครั้งก็อยากแก้แค้นมากกว่าแก้ไขหรือปล่อยวางแต่ในความจริงแล้ว หากอีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่า หรือมีเรื่องเงินค้ำคอก็คงได้แต่ก้มหน้าทนต่อไปเหมือนมิลลี
จู่ๆ ก็รู้สึกถึงแรงกระตุ้นอันเย้ายวนให้จุ่มแปรงสีฟันของเธอลงในโถส้วม
สุดท้ายฉันก็ไม่ได้จุ่มแปรงสีฟันของเธอลงในโถส้วม
(หน้า 64)
นอกจากนีนาที่เป็นตัวแม่แห่งความประสาทแดก ยังมี ‘เซซีเลีย’ ลูกสาวเหลือขอเอาแต่ใจ (ตามเสียงในใจของมิลลี) ผู้ชอบสวมใส่ชุดผีเด็กยุควิกตอเรียสุดหลอน (แน่นอนว่านี่ก็เป็นเสียงในใจของมิลลี) ที่ดูแล้วเธอก็ไม่ชอบมิลลีเช่นเดียวกัน ถึงแม้มิลลีจะพยายามทำดีกับเธอแค่ไหน เซซีเลียก็ยังเป็นปิศาจตัวน้อยที่คอยปั่นประสาทเธอไม่แพ้นีนาอยู่ดี
2
ความแปลกประหลาดของบ้าน
บ้านวินเชสเตอร์คือบ้านหลังใหญ่โอ่อ่าที่สุดในย่านลองไอแลนด์ รวมถึงสวนหน้าบ้านที่ใหญ่ยิ่งกว่าสวนของบ้านจัดสรรหลังอื่นรวมกันเสียอีก ภายในโถงทางเดินไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่ง แค่มองก็รู้แล้วว่าเป็นของหรูหราเกินกว่าจะจินตนาการถึงราคาไหว แต่ใครจะไปคิดว่าภายในบ้านหลังนี้จะมีโรงหนังส่วนตัวซ่อนอยู่อีก
ทุกอย่างดูดีไร้ที่ติ แต่ความรู้สึกกวนใจของมิลลีมันเริ่มชัดขึ้นมาตั้งแต่ตอนไหน
คงเป็นเพราะโถงทางเดินคับแคบที่นำไปสู่ห้องใต้หลังคาของบ้านหลังนี้ ห้องนอนของมิลลีที่ลูกบิดฝืด กลอนล็อกข้างนอกแทนที่จะล็อกจากข้างใน รอยขีดข่วนบนผนังราวกับมีใครเคยสลักความทุรนทุรายไว้ แถมเพดานยังลาดเอียงตามหลังคาบ้าน และความประหลาดของหน้าต่างด้านหลังที่เปิดไม่ได้ ราวกับห้องนี้คือ ‘ห้องขัง’ ที่ปิดตายอย่างสมบูรณ์แบบ
แต่ถ้าห้องนี้คือห้องขังจริง แล้วที่นี่เคยขัง ‘อะไร’ หรือ ‘ใคร’ ไว้?
ถึงแม้ภาพลักษณ์ภายนอกของบ้านหลังนี้ดูสวยหรู แต่ข้างในกลับซุกซ่อนความลับอะไรอยู่ ว่ากันตามจริง ทุกคนก็มีความลับทั้งนั้น รวมถึงตัวมิลลีเองด้วยเช่นกัน แต่ลางสังหรณ์ก็ดังขึ้นมาราวกับสัญญาณเตือนไฟไหม้ว่า แล้วความลับที่ซุกซ่อนอยู่ภายในบ้านหลังนี้คืออะไร มันเลวร้ายถึงขนาดที่นักจัดสวนต้องเตือนให้หนีไปทันทีที่ยังหนีได้
เราหวาดกลัวต่อสิ่งที่มองไม่เห็น แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เห็นคือเรื่องจริง โดยเฉพาะถ้าเป็นสิ่งที่อีกฝ่าย ‘ตั้งใจ’ ทำให้เห็น
นี่จึงเป็นเรื่องราวสุดระทึกขวัญที่ทำให้เรารู้สึกสั่นกลัว แต่ไม่รู้ว่าต้องหวาดกลัวอะไร ระหว่างความลับของมิลลี ห้องใต้หลังคาของบ้าน หรือพฤติกรรมประหลาดของครอบครัววินเชสเตอร์
และเมื่อความลับคลี่คลายลง ถึงคราวใครต้องหวาดกลัวใครกันแน่
3
ความเก่งกาจของนักเขียน
การกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจ สงครามประสาทแห่งบ้านคนรวย คล้ายเป็นธรรมเนียมที่เห็นจากภาพยนตร์ โฆษณา ซีรีส์ และหนังสือบ่อยๆ เฉกเช่นซีรีส์สืบสันดาน (2024) ที่เล่าผ่านสายตาของสาวรับใช้ เจาะลึกพฤติกรรมแปลกประหลาดของเหล่าสมาชิกครอบครัวคนรวย หรือการปฏิบัติกับลูกน้องราวกับเป็นสิ่งอื่น เหมือนเป็นส่วนผสมต้นแบบที่มีอยู่แทบจะทุกเรื่อง แต่ด้วยฝีมือการเขียนของฟรีดาจึงทำให้เฮาส์เมดมีรสชาติที่แตกต่างออกไป
ลีลาการใช้ภาษาของฟรีดาสร้างตัวละครให้มีมิติ ทั้งเสียงในใจที่จิกกัดครอบครัววินเชสเตอร์แบบลับๆ ของมิลลี ซึ่งดังตรงกับความคิดของเราขณะอ่าน และความประสาทของนีนาที่ชวนให้เรารู้สึกประสาทแดกไม่แพ้มิลลี แต่ก็สร้างความกระหายใคร่รู้จนวางไม่ลง
ฟรีดามีความสามารถในการสร้างบรรยากาศความตึงเครียดอบอวลบนหน้ากระดาษ หยอดร่องรอยปริศนาชวนให้นักอ่านสงสัย แบ่งบทแยกย่อยถี่ๆ ชวนให้อยากรู้ในหน้าถัดไป และทุกครั้งเมื่อพลิกกระดาษ กลิ่นอายความเข้มข้นก็ทวีคูณขึ้น ยามใดที่เราคาดเดาแบบนั้นแบบนี้ ฟรีดาจะตลบหลังเราพร้อมนำไปหนึ่งก้าวเสมอ
ไม่แปลกใจว่า ทำไมเฮาส์เมดถึงเป็นนิยายระทึกขวัญ (Thriller) ที่ครอบครองพื้นที่หัวใจของใครหลายคน
Fact Box
เฮาส์เมด (The Housemaid), ฟรีดา แมกแฟดเดน (Freida McFadden) เขียน, ณัฐมน เอกนันท์ แปล, สำนักพิมพ์ Words, จำนวน 318 หน้า, ราคา 355 บาท