1
ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มีขึ้นเพื่อต้องการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายสุรา ให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถผลิตเพื่อการค้า ความพยายามผลักดันประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง และคราวนี้ก็เป็นอีกครั้งที่คณะรัฐมนตรีมีมติไม่รับร่างหลักการ
เหตุการณ์คลาสสิกเกี่ยวกับกฎหมายสุรา ทำให้นึกถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวงการสุราไทยและสภาวะเศรษฐกิจช่วงปี 2540 อีกผลงานสร้างชื่อของ วัฒน์ วรรลยางกูร
‘สิงห์สาโท’ ว่าด้วยเรื่องของ ‘สิงห์’ ชายหนุ่มนักฝันที่โชคไม่ดีเพราะดันมีความฝันในยุคที่ผู้คนต่างถูกบีบบังคับให้ไขว่คว้าหาแต่ความเป็นจริง สิงห์อายุสามสิบเอ็ด ตกงาน แฟนทิ้ง วันๆ เอาแต่วาดรูปและหมักเหล้าสาโทอยู่คนเดียวในห้องเช่าคับแคบกลางเมืองใหญ่ ชีวิตล้มเหลวไปทุกทางไม่ต่างจากฟองสบู่ที่แตกกระจาย ถึงกระนั้นเขาก็ยังมีความฝันและจินตนาการเต็มเปี่ยม
เพราะเมืองกรุงไร้ฝันที่กำลังตามหา สิงห์จึงตัดสินใจออกเดินทางไปยังจังหวัดแถบชายแดนด้วยภาพของชนบทอันสดสวย ที่ซึ่งเขาเชื่อว่าเมื่ออยู่แล้วจะได้ตื่นมาวาดรูปแบบศิลปินยุคอิมเพรสชันนิสม์ ได้หนีพิษเศรษฐกิจวิกฤตต้มยำกุ้ง ในบ้านมุงหญ้าแฝกกลางทุ่ง สิงห์จะวาดรูปหรือแต่งกวีกี่บทก็ย่อมได้ ไม่ต้องกังวลกับเงินหรือหน้าที่การงานที่คอยแต่จะบีบคั้นเขาอีกต่อไป
แต่ฝันไม่อาจเป็นจริง เพราะดูเหมือนว่าทุนนิยมจะกลายเป็นความจริงหนึ่งเดียวไปเสียแล้ว
เงินก้อนสุดท้ายไม่พอประทังชีวิต ไม่มีผักปลาให้เก็บกินตลอดไป จากเคยเป็นครีเอทีฟโฆษณาครั้งยังอยู่กรุงเทพฯ เมื่อมาที่นี่สิงห์ได้ลองเปลี่ยนไปหลายอาชีพทีเดียว เขาไม่ได้เป็นเพียงคนตกงานหรือจิตรกรที่ผลงานขายไม่ออก ทว่าได้เป็นตั้งแต่คนจับนก เลี้ยงไก่ ไปจนถึงนายหน้าขายที่ดิน และลงเอยด้วยการเปิดกิจการสาโท
‘สิงห์สาโท’ คืออาชีพที่เขารัก อาชีพที่ทำเงินได้ ไม่เพ้อฝัน แต่ดันผิดกฎหมาย
2
“ผิดกฎหมาย แต่ไม่ผิดสามัญสำนึก กฎหมายนั้นเป็นประโยชน์สำหรับการผูกขาดขายเหล้า แต่ก่อความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านที่อยากจะหาความสุขง่ายๆ และยังทำให้คนมีฝีมือทางนี้ในท้องถิ่นต่างๆ หมดโอกาสก้าวหน้า” (หน้า 44)
‘สิงห์สาโท’ คือสมญานามที่พรรคพวกของสิงห์แต่งตั้งให้ เขาชื่นชอบการหมักสาโทมาแต่ไหนแต่ไร หลังโดนไล่ออกจากงาน งานหลักของเขาก็กลายเป็นการหมักเหล้า ความสามารถนี้ตกทอดมาจากปู่ ซึ่งสิงห์ชื่นชอบมันไม่แพ้การวาดรูป ความหลงใหลในการหมักสาโททำให้ห้องเล็กๆ และเนื้อตัวของสิงห์คลุ้งไปด้วยกลิ่นข้าวเหนียวหอมหวานที่เขาว่าทำให้นึกถึงท้องทุ่งบ้านเกิด
การหมักเหล้าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การผลักดันอย่างหนึ่ง
นวนิยายเรื่องสิงห์สาโท ตีพิมพ์ในปี 2543 ผ่านมาราว 22 ปี นานพอที่จะเป็นทั้งชีวิตของใครบางคน แต่ไม่มากพอที่จะให้คนบางกลุ่มได้ทำความเข้าใจ จนถึงตอนนี้ พ.ร.บ.สุราในประเทศไทย ก็ยังคงไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้มีพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์รสชาติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สู่ท้องตลาดอย่างถูกกฎหมาย
เหตุผลใดที่กีดขวางไม่ให้รายย่อยได้ผลิตสุรา ทั้งที่มันช่วยเพิ่มทางเลือกให้นักดื่ม สร้างอาชีพให้คนทั่วไป เพราะรัฐบาลห่วงใยสุขภาพประชาชนและคำนึงถึงคุณภาพในการผลิตอย่างที่กล่าวอ้างจริงหรือ คำตอบสั้นๆ คงอยู่ในประโยคด้านบนจากหน้าที่ 44 ของหนังสือ
เหล้าข้าวเหนียวสาโท ไวน์ลูกหว้าสีแดงใสรสหวานอร่อย ต้นหมากเม่า ไวน์สับปะรด ฯลฯ วัตถุดิบสุราน่าลิ้มรสที่ปรากฏในเล่ม เป็นเพียงตัวอย่างความเป็นไปได้ของรสชาติที่เราไม่อาจเดินเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเปิดเจอได้ง่ายๆ
และผู้บริโภคอย่างเราก็ยังต้องจิบเบียร์รสฝืดเฝื่อนซ้ำซากต่อไป คงต้องดื่มให้เมาไวๆ เพื่อที่จะได้จินตนาการถึงรสชาติอันหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น
3
ตัวละครสิงห์เป็นนักฝัน และยังมีความสามารถที่โดดเด่นในการวาดรูปและหมักสาโท แต่สิ่งแรกนั้นไม่ตอบโจทย์สังคมที่กำหนดว่าความสามารถควรที่จะหาเลี้ยงชีพได้ด้วย
“ฉันจะต้องมีชีวิตที่เป็นจริง คุณเข้าใจไหม ฉันจะไปล่องลอยไปกับความฝันของคุณไม่ได้อีกแล้ว”
“คุณเรียนพาณิชยศิลป์มา คุณน่าจะทำงานโฆษณาให้ดีได้ ขายได้ หรือถ้าจะวาดรูปเป็นจิตรกรเอก คุณก็ต้องเป็นในแบบที่คุณเป็นได้จริงในสังคมไทย ไม่ใช่ฝันแต่จะเป็นแวนโก๊ะ” (หน้า 18)
การที่สังคมนี้ไม่อนุญาตให้ใครมีความฝัน เป็นประเด็นสำคัญของยุคสมัย นวนิยายเรื่องนี้จึงยังสามารถสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงในแง่ของประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ง่ายที่คนเราจะฝันตามใจได้ในสังคมที่ปิดกั้น ห้องเช่าแคบๆ ที่เต็มไปด้วยพู่กัน ถาดสี และสาโท จึงเป็นพื้นที่สำหรับความฝันที่สิงห์ไม่อาจทำให้มันเป็นจริงได้ในเมืองใหญ่
นอกจากจะฉายภาพของเมืองที่พรากความฝันแล้ว สิงห์สาโทยังเล่าถึงภาพของชนบทในแบบที่มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง ต่างจังหวัดไม่ได้เป็นเพียงแหล่งพักใจไว้ปลูกผัก เลี้ยงปลา ตื่นมาท่ามกลางอากาศสดชื่นตามภาพฝันที่คนกรุงมอง แต่ยังมีการปะทะกันของอำนาจทางการเมืองจากการรวมศูนย์อำนาจของรัฐและการผูกขาดจากนายทุน อันเป็นสิ่งกีดขวางการพัฒนาท้องถิ่น
“นกไม่เห็นด้วยกับระบบผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นในทางการผลิตสุรา หรือในทางการเมืองการปกครอง ชุมชนต้องมีอำนาจในตัวเอง” (หน้า 273)
ชัดเจนว่าผู้เขียนมุ่งอธิบายถึงสภาพความเป็นจริงของท้องถิ่นที่ถูกกีดกันผลประโยชน์จากรัฐและทุน มิเพียงแต่ในประเด็นของสุราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาที่เกิดจากการไม่กระจายอำนาจ การผลิตสาโทจึงเป็นดั่งภาพแทนของความเป็นท้องถิ่นและคนในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอำนาจผูกขาด ที่ทำให้ไม่อาจลืมตาอ้าปากได้จริงๆ เสียที
4
‘นวนิยายนอกขนบระบบทุน ที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจสำหรับผู้มีฝัน’
คำอธิบายบนหน้าปกของ สิงห์สาโท ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 5 ทำให้คนที่ไม่สันทัดเรื่องสุราแต่โหยหาแรงบันดาลใจอย่างเราตัดสินใจหยิบมันขึ้นมาอ่าน หนังสือเล่มนี้มิได้มอบเพียงแง่มุมในการวิพากษ์ระบบทุน เรื่องความเป็นเมืองหรือเรื่องท้องถิ่น แต่ยังทำให้ได้คิดตั้งคำถามต่อคำตอบในกรอบสังคมอีกหลายประเด็น มันเป็นนิยายของวัยแสวงหา
สิงห์สาโทถือเป็นผลงานคุณภาพอีกหนึ่งชิ้นจากหลายชิ้นที่โด่งดังของวัฒน์ วรรลยางกูร ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ตำบลช่อมะกอก, ด้วยรักแห่งอุดมการณ์, มนต์รักทรานซิสเตอร์ ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่แฝงคุณค่าของอุดมการณ์ที่เขาถือมั่นไว้ได้อย่างชัดเจน
“โลกนี้มีอย่างเหลือพอสำหรับชีวิตทุกชีวิต แต่ไม่เพียงพอเลย สำหรับความตะกละตะกลาม ที่ไม่สิ้นสุดของคนหนึ่งคนใด” (หน้า 424)
แด่สาโทของสิงห์ และฉากชีวิตของวัฒน์ วรรลยางกูร
Tags: วัฒน์ วรรลยางกูร, Lost in Thought, สิงห์สาโท