ผมใช้เวลาในการอ่านหนังสือเล่มนี้ 2 ชั่วโมง 34 นาที
มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นกว่าวัน
ส่วนโลกที่เรารู้จักมีอายุมากกว่า 4.7 พันล้านปี
เมื่อเทียบตัวเลขอาจเห็นว่า ‘โฮโม เซเปียนส์’ หรือ มนุษย์ นั้นช่างแสนเล็กจิ๋วเหลือเกินสำหรับโลกใบนี้ แต่ด้วยอายุไขเพียง 2 หมื่นกว่าวันของมนุษย์หลายล้านคนกลับสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้อย่างพลิกฝ่ามือ
เริ่มจากบรรพบุรุษของเราที่เริ่มรู้จักไฟเพื่อคลายหนาว พัฒนาความรู้จนเกิดการถนอมอาหาร กระทั่งเริ่มเปลี่ยนโลกด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด และเริ่มทะนงตนว่าเราคือเผ่าพันธ์ุผู้ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกใบนี้
ขณะเดียวกัน ความภาคภูมิใจดังกล่าวกลับแลกมาด้วยความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ไม่อาจหวนคืนได้ดั่งเดิม แต่คงไม่สายเกินไปหากวันนี้ พวกเราจะก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อมกับการเข้าใจและเรียนรู้ว่าธรรมชาติเองก็มีหัวใจไม่ต่างจากพวกเรา ต้นไม้และสัตว์นานาชนิดอาจจะกำลังพูด เพียงแต่เราหลงลืมวิธีการรับฟังพวกเขา
Homo Gaia มนุษย์กาญ่า จึงเสมือนเป็นประตูบานเล็กๆ ในการพาผู้อ่านเปิดประตูแห่งความเข้าใจระหว่าง ‘ธรรมชาติ’ และ ‘มนุษย์’ เพื่อให้พวกเราได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอีกครั้ง
การเดินทางสู่โพรงกระต่ายของ ‘อลิซ’ ในดินแดนแห่ง ‘กาญ่า’
เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกับนวนิยายขึ้นหิ้งอย่าง Alice in wonderland เป็นอย่างดี ว่าด้วยเด็กหญิงคนหนึ่งที่ตกลงไปในหลุมปริศนาและไปโผล่ยังโลกที่เธอไม่รู้จัก ซึ่งโลกดังกล่าวเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ที่สวยงาม สัตว์นานาชนิดและผู้คนที่คุยกับสัตว์ได้
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เล่าว่า ไม่ว่าจะครั้งไหนที่เธอเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ เธอมักจะได้พบกับเรื่องราวสุดแสนมหัศจรรย์จากธรรมชาติอยู่เสมอจนเพื่อนๆ เรียกเธอว่า ‘แม่มด’
ครั้งหนึ่งเธอเดินทางไปสำรวจธรรมชาติในแถบทะเลเซลิซ ย่านใจกลางของชนพื้นเมืองอเมริกัน ในทริปนี้เธอตั้งใจว่าจะได้เจอกับวาฬออร์กา ซึ่งก่อนเรือจะออก เพื่อนของเธอกล่าวว่าวาฬออร์กาเป็นสัตว์ที่เดินทางตลอดเวลาทำให้ไม่ได้เห็นกันบ่อย แม้แต่ชาวบ้านยังมีโอกาสเจอได้น้อย แต่เหมือน ‘ธรรมชาติ’ เข้าใจในสิ่งที่อยากสื่อสาร ไม่นานเธอก็ได้เจอกับวาฬจริงๆ และเธอยังบอกเพื่อนๆ ว่าอยากเห็นแมวน้ำ ไม่นานก็มีแมวน้ำตัวใหญ่โผล่มาทักทายที่กาบเรือของเธอ
ผู้เขียนอธิบายว่าในชั่วขณะที่ได้เจอกับสัตว์เหล่านั้น ราวกับชั่วโมงต้องมนต์ในดินแดนวิเศษ ราวกับตัวเองคือหนูน้อย ‘อลิซ’ ที่หลงมาเจอกับความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่
ทำให้หลังจากกลับมาจากทริปดังกล่าว เธอสนใจว่าความพิเศษที่ธรรมชาติมอบให้เธอคืออะไร เพียงเธอร้องขอ ธรรมชาติก็มอบของขวัญสุดแสนพิเศษให้
อีกทั้งรับรู้มาตลอดว่าไม่ใช่แค่เธอที่เป็นเหมือนอลิซ ยังมีอีกหลายคนที่สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้เพียงแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าการสื่อสารกับธรรมชาติเช่นนี้คืออะไร
การสื่อสารกับธรรมชาติ อาจดูเหมือนเรื่องราวเพ้อฝัน แต่สำหรับหลายคนล้วนเป็นสิ่งที่ทำได้จริงๆ อาทิ อันนา ไบรเทนบัค นักสื่อสารข้ามสายพันธ์ุชื่อดังจากสารคดี The Animal Communicator ที่สามารถพูดคุยและทำความเข้าใจกับสัตว์ได้ หรือ แฮรีร์ บราวเออร์ เอสกิโมที่สามารถสื่อสารกับวาฬได้ นอกจากนี้ยังมี ซูซาน ซีมาร์ แห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียที่ค้นพบระบบโครงข่ายเส้นใยราใต้ดิน เชื่อมต่อรากกับต้นไม้ทั้งป่า เพื่อบอกว่าต้นไม้ทุกต้นกำลังคุยกันและไม่แน่ว่าพวกเขากำลังพยายามพูดคุยกับเราเสมอมา
ผู้เขียนอาจเป็นหนึ่งในคนเหล่านี้ที่สัมผัสได้กับพลังงานหรืออะไรบางอย่างที่ทำให้เธอติดต่อกับธรรมชาติได้ และแน่นอนเธอเชื่อว่าทุกคนก็สามารถทำได้เพียงแค่ต้อง ‘เปิดใจ’ เพื่อให้ธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและหัวใจ เมื่อผัสสะของเราขยายการรับรู้เข้าใจถึงธรรมชาติ เมื่อนั้นโพรงกระต่ายที่กำลังพูดคุยกับเราก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นการโอบอุ้มระหว่างกันและกันอย่างไรข้อกังหา
ขยายผัสสะเพื่อสัมผัสธรรมชาติ
พลังงานหรืออะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้เขียนหนังสือติดต่อกับธรรมชาติอาจดูเหมือนเป็นเรื่อง ‘วิเศษ’ แต่ผู้เขียนได้นิยามว่าสิ่งเหล่านี้ว่า ‘เกรซ’ ซึ่งโดยทั่วไปอาจใช้คำเดียวกับคำว่า การอวยพรของพระเจ้า (Grace) แต่ในความหมายของผู้เขียน เกรซคือใจกลางของสรรพสิ่งหรือความเข้าใจในทุกชีวิต ผู้เขียนอธิบายว่า เราไม่จำเป็นต้องบรรลุธรรมชั้นสูงหรืออะไร เพียงแค่วางอคติ อารมณ์ที่ขุ่นมัว ตัวตนหรือการวิเคราะห์สรรพสิ่งลงชั่วคราวเหมือนการวางเป้ใส่ของที่หนักอึ้งลงข้างกาย แล้วเปิดหัวใจให้นำทางก็คือการเข้าสู่ เกรซ
แน่นอนว่าคงไม่ต่างจากการที่ ‘มนุษย์’ อยากพาตัวเองออกจากเมืองไปสู่ ‘ธรรมชาติ’ และในขณะที่คุณไปถึงได้ สัมผัสอากาศบริสุทธิ์ เจอบรรยากาศที่ดีภาพวิวทิวทัศน์ที่ละลานตาด้วยธรรมชาติ เพียงนั่งมองคุณก็พบว่าหัวใจคุณปลอดโปร่งและเต็มไปด้วยความสุขตรงนี้เองอาจเป็นเกรซก็เป็นได้
หรือหากเทียบในโลกภาพยนต์ อวตาร AVATAR (2009) เกรซคงไม่ต่างจากสายสัมพันธ์ของชาวนาวีกับโลกแพนดอร่า ที่รับรู้เรื่องราวระหว่างกัน แต่การจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกแพนดอราจำเป็นต้องเข้าใจในวิถีการใช้ชีวิตร่วมกับเอวา (พระแม่ผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งในดาวแพนดอร่า) และ ผัสสะ การเข้าใจธรรมชาติเสียก่อน
ซึ่งเกรซและผัสสะดังกล่าว เป็นเรื่องที่ผู้เขียนกล่าวว่าทุกคนสามารถทำได้เพียงแต่ต้องเปิดหัวใจและค่อยๆ ขยายผัสสะออกไปให้กว้างขึ้น ดั่งกับที่ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของเหล่าโฮโม เซเปียนส์ เคยมีทักษะเหล่านี้เพื่อใช้ในการเข้าใจป่าหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่อเอาตัวรอดนั่นเอง
เริ่มจากการเปลี่ยนตาของเราให้กลายเป็นเลนส์แบบไวด์แองเกิล หรือ ตาแบบ ‘นกฮูก’ เพื่อมองเห็นได้ไกลและกว้างขึ้นเพื่อหารายละเอียดของการมองให้ลึกและเอียดขึ้นกว่าเดิม
ต่อมาก็เปลี่ยนจมูกให้เป็นแบบ ‘สุนัข’ คือให้จมูกจดจำและรับผัสสะกลิ่นด้วยตนเอง ดังเช่นสุนัขที่ใช้กลิ่นในการนำทาง ซึ่งยิ่งเราเพ่งสติไปที่จมูกเราจะค่อยเริ่มแยกออกว่ากลิ่นของสิ่งต่างๆ เป็นอย่างไร และสิ่งที่ไหนคือกลิ่นของสิ่งที่มนุษย์สร้างและไหนคือกลิ่นของธรรมชาติ ซึ่งหากใครเริ่มลองทำอาจต้องใช้น้ำพรมลงบนมือแล้วแตะๆ ที่ผิวรูจมูกจะช่วยให้สัมผัสกับกลิ่นได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่แน่ว่าเมื่อเริ่มแยกกลิ่นออก คุณอาจสัมผัสได้ถึงคำว่า ‘กลิ่นอาย’ ของสิ่งต่างๆ ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ถัดไปเป็นการเดินอย่าง ‘หมาจิ้งจอก’ แน่นอนว่าหมาจิ้งจอกคือสัตว์นักล่าดังนั้นเวลาจะล่าอะไรการไปอย่างเงียบๆ และกระโจนเข้าตะคลุบเหยื่อครั้งเดียว มีโอกาสสำเร็จมากกว่าการวิ่งกระโตกกระตากออกไปทำให้เหยื่อรู้ตัว ซึ่งการเดินอย่างหมาจิ้งจอกนั้นอาจจะเริ่มจากการถอดรองเท้า และค่อยๆ ให้เท้าของเราสัมผัสกับยอดหญ้ารับรู้ว่าการเหยียบบนดินให้สัมผัสอย่างไร แล้วระหว่างทางที่เท้าของเราสัมผัสกับอะไรบ้าง โดยอาจไม่ต้องใช้ตามองแต่ให้เท้าเป็นผู้บอกว่าสัมผัสนั้นเป็นอย่างไร
และสุดท้ายคือรับรู้อย่าง ‘กวาง’ กวางคือสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้ถูกล่า กวางจึงต้องมีเซนส์ประสาทที่ยอดเยี่ยมอยู่เสมอ โดยเฉพาะการฟังเสียงและความรู้สึก ไม่เช่นนั้นหากมันพลาดก็กลายเป็นอาหารอันโอชะของผู้ล่าได้โดยง่าย จึงจำเป็นต้องฝึกแยกแยะอยู่เสมอ
การฝึกนี้อาจต้องเพิ่มตัวช่วยนั้นคือการทำ ‘แผนที่เสียง’ โดยเริ่มจากการนั่งปิดตานั่งฟังเสียงที่รายล้อมรอบตัวเรา และลองใช้ปากกาหรือดินสอ วาดรูปหรือกำหนดว่าเสียงที่เราได้ยินมาจากทิศทางใด รวมถึงลองแยกแยะว่าเสียงเหล่านั้นสิ่งใดคือต้นกำเนิดของเสียง และเสียงใดที่เป็นต้นกำเนิดที่ทำให้เกิดอันตรายเกิดขึ้นได้ หรือเสียงใดคือเสียงของธรรมชาติที่กำลังขับขานบทเพลงให้เราฟัง
เมื่อเราเริ่มเปิดผัสสะทั้งหมด เราจะเริ่มรับรู้ว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีเราเป็นศูนย์กลาง แต่ยังมีสัตว์และพืชนานาชนิดต่างรายล้อมเรา บนพื้นมีหญ้าบนฟ้ามีเมฆ ขณะเดียวกันก็มีสัตว์นานาชนิดที่ส่งเสียงร้องทักทายตลอดเวลา เพียงแต่ในช่วงเวลาปกติเราอาจไม่เคยรับรู้เท่านั้นเอง
นอกจากนี้ผัสสะทั้งหมดยังอาจช่วยให้เราใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเวลาฉุกเฉิน อาทิ ช่วงเวลารถติดบนถนน หากขี่มอเตอร์ไซค์ เราอาจรู้ได้ทันทีว่ารถข้างขวากำลังจะแซง ดังนั้นจะขี่อย่างไรให้ปลอดภัย
เชื่อมโยงเพื่อเติมเต็มสู่โลกแห่ง ‘มนุษย์กาญ่า’
ทุกคนรู้ว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ท่ามกลางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 (sixth mass extinction) หรือการสูญพันธุ์สมัยแอนโทรโปซีน (Anthropocene extinction) ซึ่งจะเป็นการสูญพันธ์ุของสัตว์ป่าและพืชพรรณานานาชนิดอย่างยิ่งใหญ่โดยมาจากน้ำมือของมนุษย์
เมื่อสมองของมนุษย์ที่ฉลาดล้ำกลับกลายเป็นหลุมพรางที่ทำให้เราขับเคลื่อนทุกสิ่งโดยใช้เพียงแต่สมอง แต่อาจหลงลืมใช้ใจพร้อมกับเอาใจใส่ในทุกชีวิตที่อยู่บนโลกใบนี้
ในทฤษฏีของกาญ่า ผู้เขียนนิยามว่าเป็นการมองโลกไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ขับเคลื่อนด้วยอวัยวะที่เป็นดั่งทุกสิ่งในโลก ไม่ว่าจะเป็น เห็ด รา ต้นไม้ สรรพสัตว์นานาขนิด และแน่นอนมนุษย์คือหนึ่งในนั้น เปรียบดั่งอวัยวะที่ทุกส่วนต้องช่วยกันขับเคลื่อนกลไกและวัฎจักรให้กาญ่า ขับเคลื่อนต่อไปได้
ดังนั้น ‘มนุษย์กาญ่า’ คือสิ่งที่ผู้เขียนนิยามว่า ‘เป็นสายพันธ์มนุษย์ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสังคมชีวิตโลกเคียงคู่ไปกับสรรพชีวิตอื่นๆ เป็นสายพันธ์มนุษย์ที่วิวัฒนาการผ่านพ้นวิกฤตการทำลายล้างธรรมชาติของโฮโม เซเปียนส์’
หากวันใดที่มนุษย์เริ่มทำตัวเหินห่างจากธรรมชาติ ราวกับว่า ธรรมชาติคือสิ่งที่ไม่เจริญหรือไม่พัฒนา การพัฒนาต้องมาจากน้ำมือมนุษย์เท่านั้น และหันมาเปลี่ยนธรรมชาติให้กลายเป็นตึกรามบ้านเรือนที่ทันสมัยโดยขาดความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เมื่อนั้นพวกเราก็ไม่ต่างจากเซลล์มะเร็งที่กำลังทำลายโลกผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งใบนี้
จะดีกว่าไหมหากมนุษย์สามารถเชื่อมโยง (connect) กับธรรมชาติอันเป็นแหล่งกำเนิดของสรรพชีวิตได้อีกครั้งผ่านฑูตทางธรรมชาติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนกที่ร้องเพลงข้างหน้าต่าง หรือใบไม้ที่พลิวไหวขับกล่มบทเพลงตามสายลมเพื่อให้พวกเราได้สนทนาและรู้จักโลกของเรามากยิ่งขึ้น
เชื่อว่าเวลาเพียง 2.30 ชั่วโมง อาจจะไม่พอในการทำความรู้จักธรรมชาติ แต่ช่วงเวลานี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพาให้ผู้อ่านทุกคนมาเปิดประตูผัสสะ ร่างกาย และหัวใจ เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ
ลองถอดรองเท้าสัมผัสหญ้าแบบ ‘หมาป่า’ เปิดผัสสะแบบ ‘กวาง’ หรือใช้หัวใจโอบกอดคุณปู่ต้นไม้ บางทีคุณอาจจะได้ยินสิ่งที่ธรรมชาติกำลังเปร่งเสียงออกมา เพราะเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และในโลกแห่ง ‘กาญ่า’ ทุกสรรพสิ่งล้วนดำเนินไปโดยต่างเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน
หากสิ่งใดหายไปย่อมกระทบกับสิ่งอื่นเสมอ แน่นอนพวกเราคงไม่อยากให้ธรรมชาติต้องสูญเสียไปโดยฝีมือมนุษย์ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายมนุษย์คือโลกที่ธรรมชาติกับมนุษย์ต่างอยู่ร่วมกันโดยเข้าใจ ไม่ทำร้ายกัน และนั่นคือ ‘โลกกาญ่า’ ที่แท้จริง
Fact Box
- Homo Gaia มนุษย์กาญ่า เขียนโดย สรณรัชฎ์ กาญจนะวนิชย์ พิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดยสำนักพิมพ์ Salt จำนวน 168 หน้า ราคา 260 บาท
- สรณรัชฎ์ กาญจนะวนิชย์ หรือที่หลายรู้จักในนาม ‘ดร.อ้อย’ เธอเป็นทั้งนักนิเวศวิทยาผู้สนใจในเรื่องราวของธรรมชาติมานานหลายสิบปี ในฐานะเลขาธิการของมูลนิธิโลกสีเขียว นอกจากนี้เธอยังร่วมกับสามี ‘วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์’ ในการก่อตั้ง ‘ทุ่งน้ำนูนีนอย’ กลางทุ่งนาแถบเชียงดาวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ และเป็นศูนย์เรียนรู้เยียวยาฟื้นสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ (Nature Connection)
- สรณรัชฎ์ยังเป็นนักเขียนและนักแปลมากความสามารถที่ตีพิมพ์หนังสือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘แม่หมี’ ซึ่งได้รางวัลรองชนะเลิศเว่นบุ๊กอวอร์ด รวมถึง ‘The World WithoutUs เมื่อโลกไม่มีเรา’ ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีในงานหนังสือที่ผ่านมา