ย้อนกลับไปวันที่ 9 มิถุนายน 2565 มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกัญชา-กัญชง ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 แน่นอนว่าการประกาศเช่นนี้เท่ากับว่าประเทศไทยเข้าสู่ ‘กัญชาเสรี’ เป็นที่เรียบร้อย ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะออกมากล่าวว่าการปลดล็อกเป็นไปเพื่อการสนับสนุนด้านการแพทย์และทางเศรษฐกิจก็ตาม

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปรากฏการณ์กัญชาฟีเวอร์ก็แห่กันออกมาไม่หยุดหย่อน บ้างก็เข้าใจว่าสามารถนำกัญชานำมาสูบในที่สาธารณะได้ หรือบ้างก็เร่ขายกัญชาราวกับไร้กฏควบคุม ขนาดตู้ขายน้ำอัจฉริยะยังมีน้ำสกัดกัญชา แต่ไม่นานหลายที่ก็โดนกระแสสังคมกดดันให้นำออกไปเพราะใครซื้อก็ได้ ในสภาวะการณ์เช่นนี้หลายคนเรียกว่า ‘สุญญากาศ’ เป็นทั้งความไม่แน่นอนและความสับสนของข้อกฏหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ แม้จะมีการออก พ.ร.บ.ควบคุม เพื่อกำหนดการใช้อย่างรอบคอบเพื่อทำลายสภาวะสุญญากาศเช่นนี้ แต่กว่าจะถึงเวลานั้น ‘กลิ่นควัน’ และ ‘กัญชา’ คงมีขายกันเต็มท้องถนนสายกลางคืนอย่างแน่แท้

ผู้เขียนจึงนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งของ ‘พญาอินทรีแห่งสวนอักษร’ แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่ได้พูดถึงเรื่องกัญชาโดยตรงหรือความเสรีของกัญชา แต่กระนั้นก็สามารถพาพวกเราผู้อ่านไปรู้จักกับวิถีของเหล่า ‘บุปผาชน’ ที่ใช้ชีวิตในห้วงที่ ‘ทุนนิยม’ กำลังเบ่งบาน

ก่อนจะเริ่มอยากจะพาผู้อ่านเข้าใจความหมายของคำว่า เทอร์น ออน (Turn on), ทูน อิน (Tune in) และดร๊อพ เอ๊าท์ (Drop out) ที่พญาอินทรีได้อธิบายความหมายไว้เสียก่อน

เทอร์น ออน ในความหมายอย่างย่น คือการผลักดันตัวตนเข้าไปอยู่ในสภาพของการมึนเมายาเสพติด ชนิดไหนก็ตามอัธยาศัย เพื่อจะค้นพบทรรศนะแปลกใหม่ของชีวิต

ทูน อิน จงสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ทุกผู้ทุกนามด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ด้วยความเมตตากรุณา และด้วยความรักอันปราศจากเงื่อนไขและแล้วจะมีความรู้สึกอบอุ่นในโลกที่หนาวเยือก ในโลกที่น่าสะพรึงแห่งการเบียดเบียนกันและกัน

ดร๊อพ เอ๊าท์ ละทิ้งโลก และจงดำเนินชีวิตตามปรารถนาแห่งตน

เป็นที่รู้กันว่า คาถาหกคำสามความหมายได้กลายเป็นบัญญัติสำคัญของเหล่าบุปผาชน

Turn on กับกลิ่นควันและกัญชา ผ่านสายตา ‘พญาอินทรี(หนุ่ม)’

“การพาตัวตนเข้าไปเปื้อนสีสัน และท่วงทำนองของถิ่นนั้น แม้จะไม่เห็นด้วยกับการใช้ยาเสพติดเป็นกุญแจไขปัญหาชีวิต (และสังคม) หรือใช้มันเป็นพาหนะสู่ความหลุดพ้นตามความเชื่อมั่นของบุปผาชน หากการเป็นผู้มีคราบกิเลสหนาแน่น และการเป็นผู้ใคร่รู้กับห้วงกรรมของสัตว์โลก แล้วอย่างนั้นจะหักห้ามตีนไม่ให้เดินไปที่นั่นได้อย่างไร” – ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

Turn on คือองค์แรกของบันเทิงคดีเล่มนี้ที่จะพาเราเข้าไปรู้จักผู้คนและการร่ายรำตามท่วงทำนองที่พาหนะ (กัญชา) จะพาพวกเขาไปท่ามกลางมหานครซานฟรานซิสโก หลังอ่านคงกล่าวได้ว่านี่คือการบรรยายภาพการลิ้มรสกัญชาได้อย่างถึงรสถึงชาติ คิดว่าหากผมมิเคยเต้นรำด้วยกัญคงต้องหามาลองสักครา

ผมคงไม่กล้าหาญพอที่จะบอกตัวเองมิเคยเข้าไปยุ่งหรือรู้จักกับสารเสพติด ยิ่งนิสัยการใช้ชีวิตที่บันเทิงหลงระเริงแสงสียิ่งแล้วใหญ่ ในขณะเดียวกันก็คงไม่ได้จะหมายความว่าสารเสพเป็นสิ่งที่ต้องควรลิ้มลองเฉกเช่นเดียวกัน เพราะสิ่งเดียวที่ผมหลงกลิ่นไอคือความล่องลอยยามมันทำหน้าที่นำทางไม่ต่างจากเชือกคล้องสุนัขที่พร้อมเตลิดไปกับจักรวาลที่เคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า แต่ทุกข์ของมันที่นำมาด้วยก็นานับปการเช่นกัน ‘กัญชา’ มันออกฤทธิ์เช่นนั้นแล ถ้ามันดีจริงคงไม่ถูกบรรจุอยู่ในยาเสพติดในหลายประเทศหรอกจริงไหม โดยเฉพาะในช่วงปี 1960 เป็นต้นมาจนกระทั่งพญาอินทรี (หนุ่ม) ได้เดินทางไปถึงย่าน เฮท-แอชบิวรี (Haight-Ashbury) ซึ่งเป็นย่านหนึ่งในนครซานฟรานซิสโก ถิ่นที่อยู่ของฮิปปี้ส์นับพันชีวิต

แน่นอนว่าภาพของกัญชาในปัจจุบันกับในยุคฮิปปี้ส์นั้นต่างกันมากทีเดียว เจตนาของนักเขียนหนุ่มคนหนึ่งไม่ใช่การมาอธิบายผลดี-ร้ายของกัญชาเสียเมื่อไร หากแต่คือการมาเล่าเรื่องราวของฮิปปี้ส์แต่ละคนที่เจอผ่านม่านตัวอักษรและลีลาที่ยากจะหาใครเทียบ

ฮิปปี้ส์มากหน้าหลายตาที่พญาอินทรีได้บันทึกไว้ล้วนแต่ตกอยู่ภายใต้คาถาหกคำ สามความหมาย โดยมีจุดเริ่มต้นคือการ turn on สู่ tune in และนิพพานดั่ง drop out ทุกคนล้วนแต่มีเส้นทางการเดินทางที่แตกต่างกันและใช้พาหนะที่หลากหลาย บ้างก็ใช้ ‘กัญชา’ กับสารเสพติดชนิดอื่นที่พญาอินทรีเรียกว่า ‘โอสถลวงจิต’ (Psychedelic) เพื่อหลอนประสาทว่าตนกำลังล่องสู่เส้นทางธรรม บ้างก็ผันตัวสู่การนับถือพุทธนิกายเซนที่มีคำสอนมาจากธิเบต แต่ผู้เขียนคือคนอเมริกันแท้ๆ ทำให้หลักคำสอนบางกระการอาจบิดเบี้ยวไปบ้าง ขณะเดียวกัน เขายังเป็นผู้จัดจำหน่ายทั้งสมุนไพรสีเขียวและโอสถนี้ไปพร้อมกัน นอกจากนี้ยังนิยมใช้เสียงดนตรีประเภท dopesong เพื่อเร่งสปีดของพาหนะแห่งความมึนเมาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

มีบ้างเช่นกันที่มารวมตัวกันหน้าดร็อกสตอร์กาแฟสถาน (Drogstore Cafe) เพื่อขอเศษเงินนำไปบริจาคให้เด็กยากไร้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเวียดนามที่บุปผาชนต่อต้านมาโดยตลอด แต่น้อยครั้งที่เหรียญเงินเหล่านั้นจะถูกควักมาจากกระเป๋าเงินของผู้ผ่านไปมา เพราะมองว่าคนเหล่านี้นำไปซื้อสิ่งเสพติดเสียมากกว่า หรือไม่ก็รวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องให้ยุติสงครามหรือพูดคุย เพื่อหาคำตอบสู่การนิพพานที่แท้จริง

คงไม่มีทางรู้ว่า ‘นิพพาน’ ที่พวกเขาฝันใฝ่เป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยก็ได้รู้จักกลิ่นควันและกัญชาผ่านสายตา ‘พญาอินทรี (หนุ่ม) ไปบ้างแล้ว 

Tune in กับเหล่าบุปผาชนที่เคลื่อนไหวตามใจเสรี

“ผมเห็นว่าอย่างนี้มันไม่เป็นธรรมกับฮิปปีส์ไม่เป็นธรรมกับนักต่อสู้ จึงเขียนหนังสือหลงกลิ่นกัญชาขึ้นมา เขาเป็นนักต่อสู้กับทุนนิยม ต่อสู้กับอเมริกาที่เป็นนักขูดรีด เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน….ต้องมีอุดมการณ์ในการช่วยกันขัดขวางพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จมาจากอุตสาหกรรม…” – ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

“ผมเป็นหนึ่งในขบวนการฮิปปีส์ กัญชา หรือเซ็กซ์ เป็นส่วนประกอบ แต่แท้จริงเราเรียกร้องแม้กระทั่งการพูดที่เป็นเสรี ซึ่งในอเมริกาไม่มีครับ อย่าคิดว่ามี อย่านึกว่ามีแต่ในประเทศของคุณกับผมเท่านั้น ในอเมริกานั่นแหละ ถ้าพูดไม่เข้าหูนักการเมือง ก็โดนฆ่าเหมือนกัน” – ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

ไม่ว่าจะนิยามว่าบุปผาชนคือใคร แต่คาถาหกคำสามความหมายคือสิ่งที่พวกเขายึดถือเสมอมา โดยมี ทิมอธี เลียรี (Timothy Francis Leary) อดีตศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้คิดค้นคาถาเหล่านั้นขึ้นมา บางคนก็เรียกว่าเขาคือศาสดาของกลุ่มฮิปปี้ส์ในซานฟรานซิสโกเลยทีเดียว แต่อีกด้านเขาคืออดีตนักวิจัยที่ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย เพราะเขาเชื่อว่าสารเสพติดชนิด LSD (แอลเอสดี) สามารถทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่งานวิจัยดังกล่าวนั้นล้มเหลว จึงผันตัวกลายเป็นชาวฮิปปี้ส์ไปเสียอย่างนั้น เขาจึงถูกสังคมด่าทออย่างรุนแรง แต่กลับเขาวางเฉยต่อคำประณามทางสังคม ออกมาเรียกร้องวิงวอนให้ผู้ที่เชื่อฟังเขาจงเป็นผู้ที่รักสงบและอดทนต่อปฏิกริยาทางสังคมต่างๆ ที่จะมีต่อพวกเขาไปอีกนาน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามิใช่สาเหตุจาก ทิมอธี เลียรี เพียงส่วนเดียวที่ทำให้เหล่าบุปผาชนเกิดขึ้นใหม่นับแสนรายภายในช่วงเวลาไม่กี่ศตวรรษ แต่เป็นเพราะแรงขับทางเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนให้คนต้องกลายเป็นเครื่องจักรเห็นเชิดชูความฝันแบบอเมริกันชน (American Dream) แต่บุปผาชนเหล่านี้เห็นว่านั่นเป็นความสุขอันจอมปลอมที่จับต้องได้แบบชั่วคราวเท่านั้น หาใช่ความสุขที่แท้จริง พวกเขาจึงฝันใฝ่ในนิพพานว่าเป็นทางออกที่เป็นสรณะและสมบูรณ์แบบ

แน่นอนว่าเมื่อพญาอินทรีหนุ่มได้พาเราเข้าไปพบปะพูดคุยรับฟัง บ้างก็ร่วมแลกเปลี่ยนกัญและสัญญาอีกนานับประการ จนทราบว่าบุปผาชน (อย่างน้อยก็ในเฮท-แอชบิวรี) ใช้ชีวิตมากมายหลายแบบหลายกลุ่ม หลายช่วงวัย ส่วนมากก็เป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษา มีหน้ามีตาในสังคม หรืออาจจะลดหลั่นกันลงมา จนถึงขอทานอาจมีความเชื่อตามวิถีฮิปปี้ส์เช่นกัน เพียงแค่ต่างคนต่างต้องหาวิธีทำให้มีชีวิตรอดต่อไปในแต่ละวัน แต่ทั้งหมดต่างใช้ชีวิตอยู่ในด้านตรงข้ามกับความฝันแบบอเมริกันชนทั่วไป 

พฤติกรรมที่พญาอินทรีมักพาเราไปเรียนรู้กับฮิปปี้ส์คือตอนที่พวกเขามักจะนัดรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อสังสรรค์ในฉบับของพวกเขา บ้างก็ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความสนใจ อ่านปรัชญาหลีกหนีจากความวุ่นวายในโลกทุนนิยม รวมถึงแสดงออกผ่านบทกวีหรือบทเพลงที่บรรยายความรู้สึกนึกคิดแบบสุดโต่ง อาจเรียกว่านี่คือปรากฏการณ์ ดิแฮปเพนนิง The Happening จนบางครั้งก็ทำให้คนภายนอกต่างเอือมระอากับพฤติกรรมที่หลีกหนีความเป็นจริง และความแตกต่างของสังคมโดยสิ้นเชิง และขับกลุ่มคนเหล่านี้ให้กลายเป็นพวกขี้เกียจ ไม่สนใจสังคมไปในที่สุด

Drop out กับ ชีวิตแบบทุนนิยมสู่นิพพานที่ไร้ความหมาย

นอกจากเรื่องราวอันหลากหลายของฮิปปี้ส์ในเฮท-แอชบิวรี พญาอินทรียังถ่ายทอดเรื่องของการต่อสู่ทางชนชั้น การขับเคี่ยวระหว่างความเป็นปัจเจกชนกับทุนนิยมที่บังคับให้ทุกคนต้องต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเงินตรา สงครามและสันติภาพ นักการเมืองผู้ไม่สนใจอื่นใดเซ็นสัญญาให้ทหารผู้มีลูกน้อยต้องออกไปรบ รวมถึงการพยายามหยุดสงครามด้วยดอกไม้ตรงปลายกระบอกปืน แต่เสียงปืนนัดนั้นก็ดังขึ้นอย่างไร้ใยดี 

พญาอินทรีพาเราบินข้ามขอบฟ้าของฤทธิ์อันเมามายของกัญชาสู่การเสียดสีและเย้ยหยันสังคมได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยผมไม่รู้เลยว่าอ่านมาถึงบทสุดท้ายได้อย่างไร บทสรุปของ ดร๊อพ เอ๊าท์ เพื่อดำเนินชีวิตตามปรารถนาแห่งตน และความฝันนิพพานจึงกลายเป็นส่วนเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้น คนในสังคมฮิปปี้ส์กลับไม่ได้เข้าใจความหมายเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง ทำให้ความพยายามในการค้นหา ‘นิพพาน’ นั้นกลับไร้ความหมาย

ในขณะเดียวกัน ก็เหลือคำถามสุดท้ายที่เชื่อว่าใครมาถึงจุดนี้ต่างสงสัยหรืออย่างน้อยก็อยากได้รับความคลี่คลายในระดับหนึ่งทีเดียวว่า เหตุใดบุปผาชนถึงฝันใฝ่ในการนิพพานเป็นดั่งสรณะสำคัญของชีวิต คงต้องขอนำคำตอบตามพญาอินทรีมากล่าวให้ทราบกัน

“คนอเมริกัน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว (ในขณะนั้น) รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสิ้นหวังมีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตทั้งมีความสงสัยในความหมายชีวิต อาจเป็นผลเนื่องมาจากการประสบความสำเร็จถึงขีดสุดของอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา สร้างหอคอยแห่งความมั่งคั่งและความรุ่งเรืองทางวัตถุอย่างปราศจากขอบเขต ทำให้จำต้องแปลงสภาพของผู้คนให้กลายเป็นเพียงอวัยวะชิ้นหนึ่งของเครื่องจักรกลมีหน้าที่ทำงานให้ลุล่วงไปวันต่อวันนาทีต่อนาทีโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าความรุ่งเรืองทางวัตถุและอุตสาหกรรมนำมาสู่ผลกระทบทางจิตใจที่ต้องเดินทางให้ประสบความสำเร็จอยู่เสมอ หากจะเรียกแบบบ้านเราคงคล้ายกับคำว่า 

‘งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข’ 

ที่ได้ก่อร่างสร้างกฏเกณฑ์ ความฝันแบบ ‘อเมริกัน’ ที่ต้องใส่เสื้อสูททำงานในสถานที่โอ่อ่า มีเงินขับรถหรูบ้านใหญ่โต 

“เมื่อหนุ่มสาวและนักคิดมีความคิดเห็นขัดแย้งกับสภาพเหล่านั้น ในสังคมจึงพากันปฏิเสธในลักษณะเย้ยหยันและประชดด้วยการกระทำตรงกันข้ามกับกฎเกณฑ์เรานั้นโดยสิ้นเชิง เช่นการปล่อยผมให้ยาวรุงรังหรือการยังดำเนินชีวิตโดยไม่ทำงาน”

ในขณะเดียวกัน คนอเมริกันยกย่องและบูชาความรักว่าเป็นสิ่งดีงามแท้จริงและนิรันดร์ แต่สำหรับฮิปปี้ส์คือความธรรมดาสามัญและเป็นไปตามธรรมชาติ สุดท้ายพวกเขาจึงต้องการหาคำตอบในความแตกต่างเหล่านี้ เมื่อพึ่งพาโบสถ์ ครอบครัว หรือแม้แต่สรวงสวรรค์ไม่ได้ นำมาสู่ทางออกที่พวกเขาเจอคือการเข้ามาของพุทธนิกายเซนที่หลายคนในขณะนั้นยังเข้าใจผิดๆ และเหล่าฮิปปี้ส์ต่างได้ยินคำว่า ‘นิพพาน’ แม้ว่าจะไม่เข้าใจถ่องแท้ แต่ก็ยอมรับเอาไว้ก่อนว่านิพพานเป็นของสูงเป็นแสงสว่างไสวทางปัญญาและเป็นสภาพเดียวที่ตนจะได้รับคำตอบของชีวิต

“นี่คือคำตอบอย่างย่นย่อว่าทำไมบุปผาชนจึงกระตือรือร้นจะเดินทางไปถึงนิพพานและขณะเดียวกันผิดเมาของกัญชาได้เปลี่ยนสภาพจิตปกติให้เคลื่อนให้มองเห็นภาพหลอนและสีสันเคลื่อนไหวอยู่ในห้วงของความมึนเมานั้นเป็นภาพที่ไม่อาจมองเห็นได้ในสภาพนอกเหนืออำนาจของยาเสพติดดังนั้นบุปผาชนทึกทักเอาว่าตนได้ถึงซึ่งนิพพานแล้วอันเป็นความเข้าใจผิดมหันต์”

อย่างไรก็ตาม ในบทสร้อยนั้นได้มีเขียนเพิ่มเติมความหมายของฮิปปี้ส์และบุปผาชนเข้ามา โดยเป็นบทความของ ดร.บรรพต วีระสัย อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงกลุ่มฮิปปี้ส์ได้อย่างน่าสนใจว่า

“การพยายามเข้าใจพวกฮิปปี้ส์ในแง่สังคมศาสตร์คือเป็นการมองกลุ่มชนฮิปปี้ส์ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาโดยเป็นผลสะท้อนจากความรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรม ปรากฏการณ์ทางสังคมนี้เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่าการมุ่งพัฒนาชาติแต่ในแง่วัตถุอย่างเดียวนั้นย่อมก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงปรารถนา พวกฮิปปี้ส์เป็นพวกเบื่อหน่ายในสภาวะอันฟุ้งเฟ้อ พยายามหันมาสนใจวิถีทางตะวันออกเช่นการมักน้อยและรังเกียจการแข่งขัน”

สุดท้ายแม้ว่าจุดมุ่งหมายของพวกฮิปปี้ส์คือการแสวงหาความสุขที่ไม่ได้อยู่ในระบบสังคมอุตสาหกรรม หันหานิพพานทางธรรมะแบบเอเชีย แต่กลับหลงผิดไปว่า พาหนะที่จะนำไปสู่ความสุขอันเลอเลิศนั้นคือการได้มาซึ่งอันโอสถลวงจิตที่มีกัญชา และสารเสพติดอื่นเป็นส่วนผสม แสดงให้เห็นว่าเค้ายังติดอยู่ในบ่วงมายา….

**************************************************************************************************************

ด้วยปรารถนาดี แม้พญาอินทรีมิได้เขียนบอกไว้อย่างชัดแจ้งว่ากัญชานั้นดีหรือร้าย แต่ผู้เขียนเชื่อว่าใดๆ ในโลกที่มากเกินไปย่อมเป็นทุกข์มากกว่าผลดี แม้ว่าสถานการณ์ ‘กัญชา’ ในบ้านเรายังคงเป็นสุญญากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้สักที

“แต่ว่าการเมาไม่ใช่ข้ออ้างของการเป็นศิลปิน ศิลปินมีสิทธิ์กินเหล้า มีสิทธิ์เมา อันนี้เป็น logic กินเหล้าหรือการแต่งตัวรุงรัง ไม่แปรงฟัน ไม่ตัดผม นี้ไม่ใช่ข้ออ้างว่าต้องทำอย่างนั้นเสียก่อนถึงจะบรรลุการเป็นศิลปินขึ้นมาได้…” ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

Fact Box

  • หลงกลิ่นกัญชา ผู้เขียน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ และได้รับการรวมเล่ม โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2512 ล่าสุดพิมพ์ครั้งที่ 6 สำนักพิมพ์ เดอะไรเตอร์ซีเคร็ท, 2564 , จำนวน 248 หน้า ราคา 280 บาท
  • ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นักเขียนผู้มากฝีมือฝากไว้กับหนังสือมากกว่า 100 เล่มและผลงานได้รับการตีพิมพ์ซ้ำตลอดเวลา จนปี 2538 ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ มีประโยคติดปากคือ “ไม่มีผู้อ่าน ไม่มี ‘รงค์ วงษ์สวรรค์”
  • หนังสือเล่มนี้ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นิยามว่าเป็น ‘เซไม–ฟิกชั่น อาร์ติเกิ้ล’ (semi-fiction article)* นิยายกึ่งสารคดี หรือในบรรดานักเขียนยุคทองมักคุ้นชินกับคำว่า บันเทิงคดีเสียมากกว่า
Tags: , , , ,