ฉันได้รับหนังสือเล่มนี้จากผู้ใหญ่ในวงการสื่อที่นับถือ แม้ว่าช่วงหลัง ฉันจะอ่านหนังสือแนวรวมบทความน้อยลงมากจากเมื่อก่อน เพราะหันไปหานิยายแปลที่ทำให้หลีกหนีจากโลกความจริงได้มากกว่า แต่พอคิดว่าพี่เขาคงเห็นอะไรบางอย่างในรวมบทความเล่มนี้ ฉันก็ลัดคิวหนังสือในลิสต์กองดองอ่านทันที

นอกจากคำโปรยที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็น ‘รวมบทความเชิงท่องเที่ยวที่ไม่ชวนใครไปทำอะไรที่ไหนเลย’ ชื่อนักเขียน ‘ผาด พาสิกรณ์’ ที่อยู่บนปกก็สร้างความน่าสนใจให้ฉันไม่แพ้กัน

เมื่อไปหาข้อมูลถึงได้รู้ว่านามปากกาที่คุ้นๆ ตาชื่อนี้คือ ‘วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ’ ลูกชายของนักเขียนนามอุโฆษ ‘พนมเทียน’

แม้จะเคยเห็นผลงานของ ‘ผาด พาสิกรณ์’ ผ่านตามาบ้าง แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ฉันอ่านงานเขียนของเขา ซึ่งเป็นรูปแบบบทความที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ชีวิตและมุมมองของเจ้าตัวเสียด้วย

01

ถึงจะบอกว่าเป็นรวมบทความเชิงท่องเที่ยวที่คัดสรรมาจากนิตยสาร หนีกรุง ที่เขาเป็นคอลัมนิสต์ (บวกกับหนึ่งบทความที่มาจาก Entry ใน Facebook) แต่ผาดก็ออกตัวตั้งแต่คำนำว่า สิ่งที่เขียนไม่ใช่การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหน และให้ไปดูอะไร ทว่าเขาเพียงชอบเดินทาง ย้ายที่อยู่ เข้าไปลองใช้ชีวิตในแบบต่างๆ และเกลียดการเป็นทัวริสต์ที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าฉันเองก็ไม่ได้อยากอ่านบทความแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอะไรเทือกนั้นอยู่แล้ว นั่นจึงทำให้ฉันไปต่อกับหนังสือเล่มนี้

ส่วนชื่อ ‘มือโล้ลม’ ทีแรกฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออากัปกิริยาแบบไหน จนกระทั่งอ่านข้อความที่นักเขียนอธิบายว่า มันคืออาการที่เขาชอบยื่นมือไปนอกรถที่กำลังแล่น แล้วปล่อยมันร่อนสูงบ้างต่ำบ้างไปในสายลม ช่วยทำให้เขารู้ว่าการเดินทางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เอาเข้าจริง ฉันเองไม่ได้เป็นสายท่องเที่ยวอะไรนัก ปีปีหนึ่งไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศแค่ไม่กี่ครั้ง ไม่ใช่คนชีพจรลงเท้า ไม่ชอบโยกย้ายที่อยู่ พูดง่ายๆ ว่าน่าจะเป็นคนนิสัยตรงข้ามกับผู้เขียนสุดๆ แต่ตอนที่เริ่มอ่านบทความในเล่ม ก็พบว่ามันไม่ได้พูดถึง ‘การท่องเที่ยว’ ในรูปแบบการเดินทางออกไป ‘ข้างนอก’ เป็นสำคัญ ทว่าคือการเที่ยวท่องไปในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และเดินทางกลับไปในความทรงจำมากกว่า 

หลายๆ ครั้งในขณะอ่าน แม้ฉันไม่เคยประสบเหตุการณ์หรือมีประสบการณ์แบบเดียวกับผู้เขียน แต่กับมุมมอง สิ่งที่คิด ความรัก ความผูกพัน ผองเพื่อน ครอบครัว หรือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องเล่าที่มีความเป็นส่วนตัวมากนั้นๆ กลับตรึงฉันให้อยู่กับตัวอักษรบนหน้ากระดาษได้เป็นอย่างดี และปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่า ชั้นเชิงการเขียนของเขานั้นมีเสน่ห์ อ่านสนุก จนเมื่อมีเวลาว่างเมื่อไร เป็นต้องหยิบขึ้นมาอ่านทุกที

02

หากถามว่าฉันชอบบทความชิ้นไหนเป็นพิเศษ อาจเลือกได้ค่อนข้างยาก เพราะแต่ละบทความต่างพูดถึงหลากหลายเรื่องกระจายกันออกไป บางเรื่องก็มีอารมณ์เหมือนคนรำลึกความหลัง บางเรื่องเหมือนบ่นปรากฏการณ์ในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งฉันก็เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง รวมถึงรู้สึกเข้าอกเข้าใจว่ายุคสมัยของเขาคงสนุกและท้าทายกว่า เพราะไม่ได้มีสูตรสำเร็จแบบตอนนี้ แต่ไม่แน่ว่า ในอนาคตฉันอาจเป็นแบบเขาก็ได้นะ

บทความใน มือโล้ลม มีตั้งแต่เรื่องการเดินทางกับพ่อ การหวนคิดถึงตัวเองในอดีตจากการได้ยินบทสนทนาของกลุ่มวัยรุ่น บทสนทนาของผู้เขียนกับลูกชาย ตะกอนความคิดจากสิ่งที่นึกขึ้นได้ หรือกระทั่งเรื่องเล่าถึงความสนใจของผู้เขียนอย่างเรื่องเพลงกับดนตรี อ่านๆ อยู่ ก็เหมือนตัวเองกลายเป็นเพื่อนของนักเขียนยังไงไม่รู้ เพราะยิ่งอ่านตัวอักษรของเขาก็ยิ่งเห็นชีวิตของเขามากขึ้น ถือเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักเวลาอ่านหนังสือรวมบทความแบบนี้

ในบรรดาบทความทั้ง 16 เรื่อง ฉันรู้สึกฉุกใจกับบทความ พิลกริมจากฮอร์นบี ถึง ฮาฟิซ เป็นพิเศษ เพราะผาดหยิบยกเอาคำว่า Pilgrimage มาพูดถึง แม้ว่าพจนานุกรมส่วนใหญ่จะแปลคำนี้เป็นการเดินทางแสวงบุญ การจาริกแสวงบุญ การเดินทางไกล แต่ผู้เขียนคิดว่าจริงๆ มันยังควบรวมถึงการเดินทางเพื่อไปทำในสิ่งที่ชอบ ที่ไม่จำเป็นต้องไกล และไม่เกี่ยวกับศาสนาเลยก็ได้ ยกตัวอย่าง การที่แฟนวรรณกรรมเดินทางไปดูหลุมฝังศพของเชคสเปียร์ หรือแฟนมวยที่เดินทางมาดูบัวขาวโชว์ฟันศอกบนเวที เป็นต้น 

บทความนี้ทำให้ฉันตระหนักได้ว่า ในยุคสมัยที่เรียกร้องความโปรดักทีฟและเป้าหมายใหญ่ๆ Pilgrimage คือการเดินทางแสนสำคัญที่ฉันคิดว่าทุกคนควรมี เพื่อดึงสติและเรียกจิตวิญญาณให้กลับมาอยู่กับตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีบทความอื่นๆ ที่ทำงานกับจิตใจของฉัน และนี่คือเนื้อหาบางส่วนที่ฉันประทับใจ

“แต่ความจริงก็คือ ในชีวิตปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเครื่องมือช่วยประหยัดเวลาสารพัน เรากลับมีเวลาน้อยลงโดยเฉพาะเวลานิ่งๆ เพื่ออยู่กับตัวเอง” (หน้า 145 จากบทความ ชั้นหินและช่างซ่อมนาฬิกา)

“บนเตียงนอนหลังเก่า คุณอดไม่ได้ที่จะคิดถึงชีวิตของเด็กคนนั้น ผู้เคยมีอนาคตยาวไกล อนาคตที่เขาไม่รู้ แต่คุณรู้ ความทรงจำนับเนื่องจากนี้ที่เขายังไม่มี แต่คุณมี คุณเริ่มเข้าใจว่าชีวิตของคนเรานั้นเหมือนการพายเรือกรรเชียง สิ่งที่เห็นคือหนทางที่ผ่านมา ไม่ใช่หนทางที่จะมุ่งไป” (หน้า 155 จากบทความ กลับบ้าน)

03

หากให้สรุป ฉันคงต้องบอกว่ารวมบทความเล่มนี้ไม่เหมาะกับคนที่อยากได้แหล่งท่องเที่ยวเจ๋งๆ หรือสถานที่อันซีนที่ยังไม่มีใครพูดถึง และว่ากันตามจริง ฉันเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้เป็นใคร

แต่ถึงอย่างนั้น ฉันได้บันทึกชื่อของ ‘ผาด พาสิกรณ์’ ไว้ในลิสต์นักเขียนที่จะไปไขว่คว้าหางานเขียนเล่มอื่นๆ มาอ่านต่อไปเรียบร้อยแล้ว เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เขาคือคนที่หยิบจับตัวอักษรมาบอกเล่าได้อย่างชวนติดตาม และมุมมองความคิดที่อยู่เบื้องหลังแป้นพิมพ์นั้นก็แสนละเอียดลออ

ฉันไม่รู้ว่าคนอื่นมีกฎเกณฑ์เงื่อนไขในการจัดกลุ่มหนังสือที่อ่านยังไงบ้าง แต่ของฉัน นอกจากหนังสือเล่มโปรดที่หยิบมาอ่านกี่รอบก็ยังสนุก หนังสือดีที่ไม่ขออ่านซ้ำ และหนังสือที่อ่านแล้วจำเนื้อเรื่องไม่ได้แต่จำความรู้สึกได้ดี ก็ยังมีกลุ่มหนังสือที่เหมาะกับการนำมาอ่านในช่วงท้ายปีหรือต้นปี เพื่อชะล้างตะกอนความรู้สึกที่สะสมมาทั้งปี คล้ายกับเป็นการปรับสภาพจิตใจให้สงบนิ่ง พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ

ใช่ ฉันจัดให้ มือโล้ลม อยู่ในชั้นหนังสือประเภทนั้น

เพราะมันคือหนังสือที่ชักชวนให้เรากลับมาโฟกัสตัวเอง ผ่อนปรนลมหายใจ หวนคิดถึงวันวาน ย้อนมองเส้นทางชีวิตที่ผ่านมา บนเรือกรรเชียงที่เราในภาคที่เด็กกว่าเป็นฝีพาย และบังคับทิศทางมาด้วยความทุลักทุเลทว่างดงาม

Fact Box

มือโล้ลม, ผู้เขียน: ผาด พาสิกรณ์, สำนักพิมพ์คเณศบุรี

Tags: , , ,